Tags:
Node Thumbnail

ภาคการศึกษากำลังเผชิญความท้าทายจากระบบการศึกษาที่พัฒนาและปรับเปลี่ยนหลักสูตรการสอนไม่ทันต่อเทรนด์โลก ผลิตคนไม่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม และยังมีความท้าทายเรื่อง reskill ในสาขาอาชีพเสี่ยงตกงานตามความต้องการในตลาดแรงงาน เราจึงเห็นองค์กรใหญ่เข้าไปทำงานกับสถาบันการศึกษา เพื่อระบุทักษะสำคัญในโลกจริงแล้วนำไปปรับใช้ในการพัฒนาหลักสูตร เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

KBTG ถือเป็นองค์กรที่ตื่นตัวในเรื่องนี้มาตลอด เห็นได้จากการทำโครงการ Tech Kampus เข้าไปร่วมพัฒนาหลักสูตรในและร่วมทำงานวิจัยกับมหาวิทยาลัย เตรียมความพร้อมนักศึกษาสู่ตลาดอุตสาหกรรมจริง รวมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานรีสกิลตัวเองอยู่เสมอ

No Description

ถือเป็นโอกาสอันดีที่สำนักวิจัย The Stanford Thailand Research Consortium ของมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างสแตนฟอร์ด จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “Future Thailand-Innovation in Education and Workforce Development” โดยมีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

ผู้ร่วมอภิปรายคือคณาจารย์และนักวิจัยในโครงการ ITS หรือ Innovative Teaching Scholars จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ด้านผู้บรรยายจากภาคธุรกิจที่มาพูดคุยและสำรวจมุมมองของภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย

  • คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มอินทัช และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
  • คุณวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
  • คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส - เทคโนโลยี กรุ๊ป (KASIKORN Business-Technology Group หรือ KBTG)

No Description

ทักษะจำเป็นในช่วง 10 ปี คือการทำงานกับเครื่องจักร

คุณกระทิง ให้มุมมองว่า ทักษะที่จะมีความสำคัญอย่างน้อยไปอีก 10 ปีต่อจากนี้คือ ทักษะการทำงานกับเครื่องจักร (machine) เพราะ 10 ปีต่อจากนี้เทคโนโลยีจะมีความสำคัญในทุกองค์ประกอบของชีวิต คนทำงานโดยเฉพาะฝั่งเทคโนโลยี ต้องเรียนรู้ที่จะทำงานกับปัญญาประดิษฐ์ ยกตัวอย่างในองค์กร KBTG ที่ปรับใช้ปัญญาประดิษฐ์ และการทำงานอัตโนมัติในทุกกิจกรรมการทำงานตั้งแต่ระดับปฏิบัติการทั่วไปจนถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์

แต่ในขณะเดียวกัน คนต้องไม่สูญเสียทักษะซอฟต์สกิลอย่างความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ความคล่องตัว (agility) หรือความสามารถที่จะเรียนรู้ใหม่ได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาสำคัญอย่างปัจจุบันนี้

คุณกระทิงคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า โลกจะเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง (continuous disruption) โดยเฉพาะฝั่งเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนเร็วมาก ดังนั้นทักษะที่จำเป็นในระยะยาวคือเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเปลี่ยนแปลง หาทางประยุกต์ทักษะตัวเองเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้

ที่ KBTG เองก็มีโครงการรีสกิลพนักงานมากมาย มีพนักงานหลายคนที่ไม่ได้เรียนจบตรงสาย แต่มารีสกิลหรือพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่ KBTG ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากพนักงานเหล่านั้นขาดทัศนคติการเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

เมื่อถามว่าเกรดและ GPA มีผลกับการทำงานจริงหรือไม่ คุณกระทิงระบุว่าองค์กรไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกรดมากขนาดนั้น เพราะในชีวิตการทำงานจริง ยังมีเนื้อหาที่อยู่นอกขอบเขตการเรียนการสอนอีกมาก ทั้งความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ความสามารถในการสื่อสารและการเป็นผู้นำในตัวเอง

เมื่อ KBTG รับพนักงานที่เพิ่งจบการศึกษา เราจะใช้เวลาราว 6 เดือนให้เขาเรียนรู้งานและรีสกิลตัวเองให้พร้อมทำงาน ในบางครั้งเราพบคนที่ได้ GPA 4.0 แต่ทำงานโค้ดดิ้งไม่ได้ตามที่เราคาดหวังไว้ ซึ่งเกิดจากปัญหาการทดสอบระดับมืออาชีพ (professional test) ที่ใช้งานจริง กับการทดสอบในมหาวิทยาลัย ไม่สอดคล้องกัน

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ KBTG เข้าไปทำงานกับสถาบันการศึกษาในโครงการ Tech Kampus กับมหาวิทยาลัย 10 แห่ง ส่งทีมงาน KBTG เข้าไปทำงานอย่างใกล้ชิดกับอาจารย์เพื่อพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน และทำงานกับนักศึกษาเพื่อวิจัยร่วมกัน ให้นักศึกษาเห็นภาพการทำงานในชีวิตจริงตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ ในระยะยาวองค์กรจะได้ใช้เวลารีสกิลพนักงานใหม่น้อยลงด้วย

No Description

นอกเหนือจากเกรดและผลการศึกษาแล้ว คุณกระทิงมองว่ายังมีการทดสอบแบบอื่นที่ใช้ประเมินศักยภาพของนักศึกษาได้เช่นกัน ที่ KBTG เองมีแบบทดสอบขององค์กรที่ช่วยให้เรารู้ว่าคนที่จะเข้ามาทำงานกับเรามีทักษะระดับใด รับมือกับอุปสรรคอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร และในอนาคตเราจะมองเห็นการทดสอบในรูปแบบอื่นจากแพลตฟอร์ม Edtech ต่างๆ ที่เติบโตขึ้น

คุณกระทิงมองว่าการศึกษาดิจิทัลที่ใครก็เข้าถึงได้ และคอร์สเรียนออนไลน์ที่ออกใบรับรองได้ ปัจจัยเหล่านี้จะมีบทบาทในการคัดเลือกคนทำงานมากขึ้น ถือเป็นความท้าทายที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลยุคใหม่ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน

โครงการ ITS จุดประกายนักการศึกษา ทดลองแนวทางใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมนักศึกษา

สถาบันการศึกษาผลิตคนไม่ตอบโจทย์การทำงานจริงไม่ได้เป็นเพียงปัญหาประเทศไทย แต่ยังเป็นปัญหาระดับโลก ดร. ลาติเซีย บริทอส คาแวคแนโร ศาสตราจารย์พิเศษ สถาบันออกแบบ Hasso PlattnerInstitute of Design กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างกำลังเผชิญกับปัญหาด้านความไม่สอดคล้องระหว่างการเตรียมความพร้อมของนักศึกษากับทักษะและวิธีคิด (mindset) ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต จึงตั้งโครงการ ITS ขึ้นเพื่อติดอาวุธให้แก่คณาจารย์มหาวิทยาลัยไทย 50 คน ได้ทดลองทำแนวทางการสอนแบบใหม่ ส่งเสริมให้อาจารย์เหล่านี้เป็นผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมงานและสถาบันของพวกเขาได้ทดลองแนวการสอนแบบใหม่ด้วย

คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม จากเอไอเอสให้ความเห็นว่า เอไอเอสเองมีโครงการรีสกิลพนักงานในองค์กรอย่าง Academy for Thai และทำงานร่วมกับภาคการศึกษาอยู่แล้วเช่นกัน และอยากเสนอทางภาคการศึกษาให้ความสำคัญกับซอฟต์สกิลซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการทำงานจริง

ด้านคุณวิทการ จันทวิมล จาก เอพี ไทยแลนด์ แสดงความเห็นว่าการเตรียมนักศึกษาให้มีความพร้อมในการทำงานในยุคปัจจุบันนั้น นอกจากจะต้องเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพของตนเองแล้ว ยังต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การสื่อสาร และการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางเอพีก็มีโครงการ AP Open House ช่วยเสริมสร้างแนวทางที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้พัฒนาทักษะดังกล่าว

สำหรับโครงการ ITS หรือ Innovative Teaching Scholars program เป็นโครงการริเริ่มของ the Stanford Thailand Research Consortium (STRC) เปิดรับสมัครนักการศึกษาในประเทศไทยที่สนใจเข้าร่วมเวิร์คชอป เน้นที่ทักษะการสอนและวิธีการที่ครูอาจารย์จะสามารถนำไปบูรณาการระหว่างภาคเรียนได้

Get latest news from Blognone

Comments

By: Esperanto on 8 June 2021 - 08:29 #1211670

แนวคิดดีแต่เกาไม่ถูกที่คัน ปัญหาของการสอนในมหาลัยคืออาจารย์มีเส้นสาย กันที่ไม่ให้คนสอนดีได้เข้ามาสอน อาจารย์ที่กำลังภายในเยอะๆเด็กประเมินต่ำก็ยังได้สอนต่อ หรือบางคนรู้ว่าตัวเองสอนไม่ดีก็ปล่อยเกรดหน่อยเด็กจะได้ไม่เกลียดและมีงานทำต่อ เด็กรุ่นถัดไปก็ต้องเรียนกับอาจารย์พวกนี้ สอนคอมแต่อ่านpowerpointให้ฟัง ในขณะที่tutฝรั่งเน้นใช้วิธีทำไปสอนไปเลย ระบบมหาวิทยาลัยมันเน่าแล้ว เงินค่าเทอมที่จ่ายไปต้องแบ่งเอาไปเลี้ยงคนห่วยๆ เอกชนต้องรับเด็กจบมัธยม/GEDเองเลยแล้วเอามาปั้น อารมณ์agencyเกาหลีรับเด็กมาปั้นเป็นนางแบบ,ไอดอล

By: mr_tawan
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 8 June 2021 - 10:54 #1211706
mr_tawan's picture

ที่จริง มองว่าบ้านเราไม่ต้องปั้นพวกคนทำงานที่มีทักษะระดับบน ๆ หรอก เป็นแค่ technology user ที่เก่ง ๆ หน่อย ก็พอแล้ว (ซึ่งก็สอดคล้องกับการสอนนอกระบบแบบออนไลน์ เน้นออกใบเซอร์) เพราะว่าจริง ๆ เราก็ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีสักเท่าไหร่ ปั้นคนกลุ่มนี้ไปเค้าก็หางานทำไม่ได้ อยู่ ๆ ไปก็หนีออกไปต่างประเทศกันหมด

บ้านเราต้องการแค่ คนที่เขียนเว็บแอพได้ เขียนเซอร์วิสได้ สร้างโปรดักท์จากเทคโนโลยีของคนอื่นได้ พอละ คุณไม่ต้องไปสร้างเทคโนโลยีใหม่ เป็นแค่ผู้ใช้ที่ดีก็พอแล้ว อะไรแบบนี้ครับ เน้นต่อยอดเอา

ฝั่งมหาวิทยาลัยเหมือนจะรู้ตัวกันละว่า คนกลุ่มข้างบน ปั้นไปเขาก็หางานไม่ได้ ตลาดไม่ได้ต้องการ ผมลองดูคอร์สเอาท์ไลน์ของบางสถาบันพบว่าวิชาพื้นฐานเริ่มหายไป วิชาที่เป็นการประยุกต์ใช้งานเข้ามาแทนที่ ภาคที่ผมจบมาวิชาอย่าง computer organization หายไปแล้ว มี web application เข้ามาแทน นั่นเป็นสัญญาณว่ามหาวิทยาลัยเองก็เน้นไม่แข่งกันที่ระดับบนแล้ว ถ้าสนใจด้านนั้นไปต่างประเทศดีกว่า

ในทางกลับกันถึงแม้ว่าเราจะเป็นฝั่ง user แต่คนที่เป็น user ที่เก่งจริง ๆ ก็หาไม่ได้ง่าย ๆ เหมือนกัน นักพัฒนาที่เก่งด้านการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีคนอื่นมาสร้างงานได้ดี ๆ นี่ก็แย่งตัวกันดุเดือด ดังนั้นในเมื่อแค่ระดับ user เรายังหากันยากขนาดนี้ก็มาเน้นปั้น user แทนละกัน เพราะเราก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปสู้กับฝั่ง technology creator แบบยูเอสหรือยุโรปเหมือนกัน

เขียนเองก็รู้สึกเสียดายเองเหมือนกัน แต่จริง ๆ มันก็ไม่ใช่แค่บ้านเรา ต่างประเทศเองตอนนี้หลาย ๆ ที่ก็เป็นแค่ user กันหมดแล้ว แม้แต่ประเทศใหญ่ ๆ คนที่สร้างเทคโนโลยีมันก็ไม่ได้มีเยอะเหมือนกัน อะไรแบบนี้ครับ


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ