เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2022 เวลา 1:13 น. ตามเวลาประเทศไทย SpaceX ได้ทำภารกิจยิงจรวด Falcon 9 เพื่อปล่อยดาวเทียม Starlink ตามปกติ โดยการยิงจรวดผ่านไปด้วยดี แต่หลังจากปล่อยดาวเทียมจำนวน 49 ดวงออกไป ดาวเทียมกลุ่มนั้นเจอกับพายุแม่เหล็กโลก (geomagnetic storm) ที่ทำให้ชั้นบรรยากาศร้อนขึ้น รวมถึงความหนาแน่นสูงขึ้น
ระบบ GPS บนดาวเทียมระบุว่าความรุนแรงของพายุทำให้แรงเสียดทานในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นกว่าปกติที่เคยเจอมาถึง 50% โดยทีมงาน SpaceX ได้สั่งให้ดาวเทียมเข้าสู่เซฟโหมดและบินแบบทำตัวแบนที่สุด (คล้ายแผ่นกระดาษ) เพื่อลดแรงเสียดทาน
อย่างไรก็ตาม แรงเสียดทานที่เพิ่มขึ้นทำให้ดาวเทียมออกจากเซฟโหมดไม่ได้ซึ่งก็ทำให้ขึ้นสู่วงโคจรที่กำหนดไว้ไม่ได้ ส่งผลให้ดาวเทียมมากถึง 40 ดวงต้องตกกลับเข้าชั้นบรรยากาศของโลกและเผาไหม้หายไปหมดในที่สุด
SpaceX ระบุว่าทุกครั้งที่ปล่อยดาวเทียมจะปล่อยที่ความสูงต่ำกว่าวงโคจรที่กำหนดไว้ เพราะหากดาวเทียมมีปัญหาใดๆ ที่ทำให้ใช้การไม่ได้หลังจากปล่อยก็จะได้ตกกลับโลกและเผาไหม้ทิ้งไปเลย ไม่กลายเป็นขยะอวกาศ นอกจากนี้ยังระบุว่าการทำแบบนี้เพิ่มค่าใช้จ่ายเพราะตัวดาวเทียมต้องมีความสามารถมากขึ้น แต่เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อสิ่งแวดล้อมในอวกาศ
ที่มา - SpaceX
ภาพโดย SpaceX
Comments
เพิ่งรู้จักพายุแม่เหล็กโลกก็วันนี้
ค้น Geomagnetic storm ใน Google ผลออกมาเป็น พายุสุริยะ (Geomagnetic storm)
Geo = โลก
Geomagnetic storm เลยเป็นพายุแม่เหล็กโลก
แต่ Geomagnetic storm มีสาเหตุมาจากดวงอาทิตย์ครับ ถ้าลมสุริยะหรือพายุสุริยะแรงเกินไป หรือดันส่งก้อนพลาสมาใหญ่ๆ (CME) เข้ามาโลก แล้วขั้วแม่เหล็กตรงข้ามกันพอดี มันจะเกิดการถ่ายพลังงานมหาศาลในรูปกระแสไฟฟ้าลงสู่บรรยากาศชั้นบนของโลก
ส่งผลให้บรรยากาศร้อนและขยายตัวขึ้น
ที่เรียก Geomagnetic storm เพราะสนามแม่เหล็กที่ปั่นป่วนเป็นของโลก แม้สาเหตุจะมาจากดวงอาทิตย์ก็ตาม
น่าเสียดายมาก ขนาดคิดแผนรับมือเผื่อไว้แล้ว ยังไม่รอด
คงไม่เหมือนในหนังที่สามารถทีมกู้ภัยขึ้นไปได้ T-T
สูงขนาดนั้นยังมีอากาศมาให้ต้านอีกเหรอเนี่ย