หลังจากที่เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ได้เปิดวิสัยทัศน์ในการตั้งเป้าองค์กรสู่การเป็น Tech Company ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อยกระดับธุรกิจในเครือฯ ให้ทันต่อการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก
การจะนำพาซีพีสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีได้จิ๊กซอว์สำคัญคือการสร้างนวัตกรรมและงานวิจัย ดังนั้นเครือซีพีจึงได้เร่งจัดทัพองค์กรสร้าง Innovation Ecosystem ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ พัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับกระบวนการทำงานในธุรกิจที่หลากหลาย โดยได้จัดตั้ง CP IP Service Center หนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญที่จะช่วยทำหน้าที่รวบรวมนวัตกรรมต่างๆ ขององค์กร ในการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ให้แก่ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ไปพร้อมกับการสร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
คำถามคือ แล้วเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และ CP IP Service Center เป็นจิ๊กซอว์สำคัญของเครือซีพีอย่างไร คุณดวงฤดี เถลิงโชค Head of CP IP Service Center อธิบายว่า ถ้าเราไปย้อนดูบริษัทเทคโนโลยีในระดับโลก สิ่งหนึ่งที่จะพิจารณาสถานะของการเป็นบริษัทเทค คือจำนวนของสิทธิบัตรหรือ IP ที่บริษัทมี และการจะจดสิทธิบัตรได้ นวัตกรรมนั้นต้องเป็นของใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนและล้ำหน้าในระดับโลก
อย่างเช่นกรณีของ Amazon ที่เริ่มต้นการเป็นเว็บขายหนังสือออนไลน์ ปัจจุบันแม้จะมีส่วนที่ขายหนังสืออยู่ แต่ภาพลักษณ์และภาพจำของ Amazon คือบริษัทเทค ส่วนหนึ่งก็คือบริษัทมีการวิจัย พัฒนานวัตกรรมและเป็นเจ้าของสิทธิบัตรจำนานมาก ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เครือซีพีมุ่งหวังจะไป คือยังมีธุรกิจดั้งเดิมอย่าง ธุรกิจอาหาร, เมล็ดพันธุ์, ค้าปลีกหรือโทรคมนาคมอยู่ แต่ภาพใหญ่ของเครือซีพี คือบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก
เพราะฉะนั้นเครือซีพีจึงพยายามสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในกลุ่มธุรกิจตามนโยบายของคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ด้วยการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีอีกหลายแขนง อาทิ Biotech, Foodtech , Robotics & Automation, E-Commerce และ Digital Media
โดยการจะเป็น Tech Company ต้องพิจารณาหลายด้าน ทั้งบริษัทมีการลงทุนใน Research & Development (R&D) มากน้อยขนาดไหน มีนักวิจัยจำนวนเท่าไร ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ทั้งซีพีเอฟ, ซีพี ออลล์, ทรู และบริษัทอื่นๆ ในเครือซีพี มีการคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้บริษัทไปพร้อมกับสร้างประโยชน์ให้สังคมเป็นจำนวนมาก แต่นวัตกรรมเหล่านั้นอาจจะยังไม่ได้นำมารวบรวม และจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา
ดังนั้น CP IP Service Center จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการเป็นตัวกลางคอยสนับสนุน ให้คำปรึกษาและผลักดันเรื่องสิทธิบัตรในเครือซีพี เพราะปัจจุบันในเครือฯ มีหลากหลายธุรกิจย่อยและบริษัทย่อย ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็จะมีฝ่ายนวัตกรรมหรือวิจัยเป็นของตัวเอง และก็มีการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ออกมาอยู่ตลอด แต่การไปจดสิทธิบัตรค่อนข้างมีรายละเอียดและกระบวนการที่หลายขั้นตอน ซึ่ง CP IP Service Center จะเข้ามาช่วยประสานงานเรื่องการจดสิทธิบัตรตรงนี้ให้กับบริษัทในเครือฯ รวมถึงอนุสิทธิบัตรหรือแม้แต่เรื่องของลิขสิทธิ์ด้วย
ปัจจุบันเครือซีพีมีสิทธิบัตรอยู่ในมือรวมกันราว 3,000 สิทธิบัตร และก็มีที่ยังไม่ได้จดอีกเป็นจำนวนมาก โดยเป้าหมายของ CP IP Service Center คือภายในปี 2030 (พ.ศ. 2575) เครือซีพีจะต้องมีสิทธิบัตรในมือไม่ต่ำกว่า 7,500 ฉบับ
คุณดวงฤดี เถลิงโชค, Head of CP IP Service Center เครือเจริญโภคภัณฑ์
คุณดวงฤดี แสดงความเห็นด้วยว่า นวัตกรรมหรืองานวิจัยใหม่ๆ จะไม่ได้แค่สร้างประโยชน์ให้กับองค์กรที่เป็นเจ้าของ แต่มันยังช่วงส่งเสริมเศรษฐกิจทางอ้อมด้วย เนื่องจากนวัตกรรมหรืองานวิจัยใหม่ๆ จะเป็นปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุน หรือเป็นองค์ประกอบให้บริษัทได้ขยายไปยังธุรกิจใหม่ๆ เกิดการจ้างงาน ดึงดูดคนเก่งๆ จากต่างชาติ ให้เข้ามาต่อยอดนวัตกรรมในไทย และทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น รวมถึงอาจทำให้ประเทศไทยมี S-Curve ใหม่ๆที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้นนอกเหนือจากเรื่องการจดสิทธิบัตรทาง CP IP Service Center จึงได้เร่งสร้างพันธมิตรองค์กรด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งระดับโลกทั้ง MIT, Plug and Play Tech Center, Enterprise Singapore ในการส่งเสริมแลกเปลี่ยนงานวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อสร้างเครือข่ายนวัตกรรม และนำพาองค์กร รวมถึงประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีแห่งอนาคต
เครือซีพีได้ไปร่วมงานจัดแสดงนวัตกรรมในงาน IP Fair 2022 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 กรกฎาคม ที่ผ่านมาโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนวัตกรรมที่เครือซีพีนำไปแสดง เช่น หุ่น True5G Temi Connect & Carebot หุ่นยนต์บริการอัจฉริยะภายใต้ True Robotic Platform ซึ่งเป็นผลงานของฝ่ายวิจัยและพัฒนา True Robotics ของ True
ความน่าสนใจของ True Robotic Platform คือเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้การพัฒนาต่อยอดหุ่นยนต์สามารถทำได้ง่ายและหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยคุณเจริญศักดิ์ รัตนวราห หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนา True Robotics บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เล่าว่า True Robotic Platform ช่วยให้หุ่นยนต์ Temi มีความหลากหลายในแง่การใช้งาน อย่างเช่นในช่วงโควิด True Robotic Platform มีการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับหมอและพยาบาลในการวัดไข้และวัดอุณหภูมิทางไกล ซึ่งก็สามารถต่อยอดเป็นแพลตฟอร์ม telemedicine ได้ในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
คุณเจริญศักดิ์ รัตนวราห หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนา True Robotics, บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
ปัจจุบัน True Robotics มีสิทธิบัตรในมือแล้วราว 20 สิทธิบัตร เช่น สิทธิบัตรเกี่ยวกับ Home Robot ซึ่งก็ได้รับรางวัลจากรัสเซียและกำลังส่งประกวดต่อหรือสิทธิบัตรหุ่นยนต์ที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเวลาเชื่อมต่อกับ โมดูลที่เป็น accessories เช่น ใส่หู ก็จะแสดงออกเป็นแมว หรือใส่เนคไทด์ก็จะสามารถวัดความดันได้ เป็นต้น
คุณเจริญศักดิ์แนะนำเหล่านักนวัตกรที่มีผลงานวิจัยหรือคิดค้นอะไรใหม่ๆ ด้วยว่า อยากชวนให้ทุกคนจดสิทธิบัตรของตัวเอง เพราะคนไทยอาจจะห่างเหินไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิบัตรมากนัก แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจในการประดิษฐ์อะไรสักอย่างหนึ่งแล้วมีคนใช้งานกันเยอะๆ สามารถนำไปขายในต่างประเทศได้ด้วย ไม่ว่าจะในแง่ไลเซนส์สิทธิบัตรหรือตัวผลิตภัณฑ์
นอกจากแพลตฟอร์มหุ่นยนต์ของ True ก็ยังมี RoboLab และหุ่นยนต์ส่งของ 7-Eleven ของ CP All โดยหุ่นยนต์ส่งของ 7-Eleven ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและทดสอบ ซึ่งคาดหวังว่าจะถูกนำมาใช้ในการส่งสินค้าจากร้านไปยังคอนโดและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อลดภาระของพนักงานประจำร้านลง
ขณะที่ RoboLab เป็นสถาบันการศึกษาวิทยาการหุ่นยนต์ของเครือซีพี ที่เปิดหลักสูตรสอนด้าน Coding และ Robotics สำหรับเด็ก ตั้งแต่เด็กราว 5-16 ปี เปิดสาขาแรกซึ่งเป็นสาขา flagship ณ อาคาร Siam Scape ชั้น 9
คุณชูศักดิ์ ทวีกิติกุล Chief Information Technology Officer, ALL WELLNESS COMPANY LIMITED ระบุสาเหตุที่เครือซีพีหันมาให้ความสำคัญด้าน Coding และ Robotics สำหรับเด็ก เพราะเครือซีพีมองว่าสองเรื่องนี้เป็นทักษะแห่งอนาคต โดยทาง RoboLab มีการพัฒนาหลักสูตรสำหรับแต่ละช่วงอายุโดยเฉพาะ อย่างเช่นวัย 5-7 ปี จะเป็นหลักสูตรแบบ Tangible Coding ผ่านตัวต่อ Cubelet ให้เด็กๆ ได้พัฒนาโลจิก วิธีคิดและความสนุกไปพร้อมๆ กัน ซึ่งการฝึกโลจิกตั้งแต่เด็กก็จะสามารถต่อยอดไปยังทักษะอื่นๆ โดยเฉพาะการโค้ดดิ้งที่ซับซ้อนได้ในอนาคต
คุณชูศักดิ์ ทวีกิติกุล, Chief Information Technology Officer, ALL WELLNESS COMPANY LIMITED
จะเห็นได้ว่าเบื้องหลังของเครือซีพีในการนำองค์กรสู่เป้าหมายการเป็นบริษัทเทคโนโลยี เรื่องของการพัฒนา “คน” และ “การจดสิทธิบัตร”หรือทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายด้านนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย ดังนั้นการมี CP IP Service Center ถือเป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญที่จะทำให้องค์กรเปลี่ยนผ่านกลายเป็น Tech Company ได้สำเร็จในอนาคต ในขณะเดียวกันยังเป็นการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ สร้าง New S-Curveให้อุตสาหกรรมของไทยทัดเทียมระดับโลก
Comments
ถ้า CP จับมือกับบริษัทผลิตชิบได้ จะดีขึ้นไปอีกเลยครับ