บริษัท Radiant ซึ่งบริหารงานโดยอดีตพนักงาน SpaceX ได้เปิดตัวโครงการ Kaleidos เตาปฏิกรณ์ปรมาณูขนาดเล็กแบบเคลื่อนย้ายได้ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานผลิตไฟฟ้า
Kaleidos เป็นชุดปั่นไฟที่ประกอบไปด้วยเตาปฏิกรณ์ปรมาณูแบบฟิสชั่นสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าด้วยกำลัง 1.2 เมกะวัตต์ นานต่อเนื่อง 8 ปี มันถูกออกแบบมาเพื่อทดแทนการใช้งานเครื่องปั่นไฟแบบเครื่องยนต์ดีเซล ผู้ใช้สามารถเดินเครื่องเพื่อเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงหลังการติดตั้ง โดยทาง Radiant ระบุว่า Kaleidos สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายไม่ว่าจะเพื่อการทหาร, ใช้เพื่อการบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งใช้งานในพื้นที่ทุรกันดารต่างๆ
Doug Bernauer ซีอีโอของ Radiant ซึ่งเคยทำงานให้ SpaceX นาน 12 ปี ได้อธิบายถึงที่มาของ Kaleidos ว่าเป็นการหยิบเอางานที่เคยพัฒนาให้กับ SpaceX ในแผนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร โดยงานของเขาในตอนนั้นคือการพัฒนาแหล่งพลังงานเพื่อการดำรงชีวิตบนดาวเคราะห์สีแดง ตัว Bernauer เองคิดว่าผลงานการคิดค้นเหล่านั้นสามารถนำมาใช้งานบนโลกได้ด้วยเช่นกัน
ภาพจำลองของ Kaleidos แสดงให้เห็นเตาปฏิกรณ์และส่วนประกอบอื่นๆ ติดตั้งอยู่ในโครงสร้างตู้คอนเทนเนอร์
กระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์โดยส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้น จะใช้เตาปฏิกรณ์สร้างพลังงานความร้อน ภายในเตาจะมี "แกนเชื้อเพลิง" ที่บรรจุเม็ดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เอาไว้ ซึ่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่นิยมใช้ส่วนใหญ๋คือไอโซโทปของยูเรเนียม เมื่อปฏิกิริยานิวเคลียร์ถูกเริ่มด้วยการยิงนิวตรอนไปยังแกนเชื้อเพลิงเหล่านี้ นิวตรอนของสารเชื้อเพลิงที่อยู่ในแกนจะแตกตัวและพุ่งไปกระทบอะตอมอื่นๆ ของสารเชื้อเพลิงต่อกันไปอีกเป็นทอดๆ เกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่และมีการปลดปล่อยพลังงานความร้อนออกมา
การควบคุมระดับพลังงานของเตาปฏิกรณ์สามารถทำได้ด้วยการสอดหรือดึงสิ่งที่เรียกว่า "แกนควบคุม" เข้าหรือออกจากเตา โดยแกนควบคุมนี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวดูดซับนิวตรอนที่พุ่งไปมาภายในเตา การสอดแกนควบคุมลงลึกไปในเตาจะเป็นการหน่วงปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดขึ้น ในทางกลับกันหากทำการดึงแกนควบคุมออกมาจากเตามากเท่าไหร่ก็จะเป็นการเร่งให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่มากขึ้นนั่นเอง
พลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาฟิสซั่นดังที่อธิบายข้างต้นจะถูกถ่ายเทผ่านแผงระบายความร้อนต่อไปยังสารหล่อเย็นซึ่งโดยทั่วไปก็คือน้ำ โดยน้ำหล่อเย็นเหล่านี้จะมีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีเนื่องจากสัมผัสกับแกนเชื้อเพลิงภายในเตาโดยตรง ดังนั้นมันจะถูกหมุนเวียนอยู่ในระบบปิดเท่านั้นเพื่อป้องกันการรั่วไหลของกัมมันตรังสีออกสู่ภายนอก จากนั้นน้ำหล่อเย็นที่ร้อนจัดจนเปลี่ยนสถานะเป็นไอน้ำจะถูกหมุนเวียนไปแลกเปลี่ยนความร้อนให้กับน้ำอีกส่วนหนึ่ง และน้ำส่วนที่สองนี้เมื่อได้รับความร้อนจนอยู่ในสถานะไอน้ำเช่นกันจะหมุนเวียนไปขับใบพัดของเครื่องปั่นไฟได้เป็นพลังงานไฟฟ้าออกมาในท้ายที่สุด (อย่างไรก็ตาม มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์บางแห่งจะใช้ไอน้ำของสารหล่อเย็นที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีไปขับใบพัดของเครื่องปั่นไฟโดยตรงเช่นกัน)
สำหรับ Kaleidos เองก็มีกลไกการทำงานคล้ายคลึงกับระบบการผลิตไฟของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ทั่วไปดังที่อธิบายข้างต้น หากแต่มีการออกแบบที่มุ่งเน้นเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในกระบวนการขนาดเล็กและมีความปลอดภัยในระหว่างการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์และการใช้งานเพิ่มมากขึ้น เตาปฏิกรณ์ของ Kaleidos มีแกนควบคุมทั้งหมด 16 แกน โดย Radiant ออกแบบแท่งควบคุมให้สามารถเคลื่อนที่ขึ้น-ลง ในตำแหน่งที่ล้อมแกนเชื้อเพลิงเอาไว้โดยรอบ
เตาปฏิกรณ์ของ Kaleidos มีแกนเชื้อเพลิงอยู่ในใจกลางของเตาและแท่งควบคุมเรียงตัวล้อมรอบด้านนอก
โดยเชื้อเพลิงที่บรรจุภายในแกนคืออนุภาค TRISO (TRi-structural ISOtropic) อันเป็นอนุภาคที่ประกอบไปด้วยองค์ประกอบธาตุยูเรเนียม, คาร์บอน และออกซิเจนอยู่ตรงใจกลาง และมีเปลือกหุ้มภายนอก 3 ชั้นซึ่งประกอบไปด้วยชั้นของไพโรไลติกคาร์บอนและซิลิกอนคาร์ไบด์ซึ่งล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัติทนความร้อนสูง ผลพวงจากโครงสร้างที่พิเศษของอนุภาค TRISO ที่มีเปลือกหุ้ม 3 ชั้นนี้ ทำให้มันมีคุณสมบัติพิเศษคือไม่มีทางหลอมละลาย (การหลอมละลายของแกนเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ถือเป็นอุบัติภัยที่ร้ายแรง อาจกล่าวได้ว่ามหันตภัยของอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหลายเกิดขึ้นทันทีที่แกนปฏิกรณ์หลอมละลาย) จึงมีความปลอดภัยในการใช้งานสูงมาก
โครงสร้างอนุภาค TRISO ซึ่งมีเปลือกหุ้มภายนอก 3 ชั้น โดยมีไพโรไลติกคาร์บอนชั้นใน, ซิลิกอนคาร์ไบด์ และไพโรไลติกคาร์บอนชั้นนอก
พลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิสชั่นที่ได้จากเตาจะถูกถ่ายเทไปขับเคลื่อนระบบปั่นไฟผ่านการพาความร้อนของสารหล่อเย็น โดย Kaleidos ใช้ฮีเลียมเป็นสารหล่อเย็นแกนเชื้อเพลิงแทนการใช้น้ำ ทั้งนี้ฮีเลียมเป็นก๊าซที่ไม่สามารถแตกตัวเป็นไอโซโทปที่ปลดปล่อยกัมมันตรังสีได้ จึงถือได้ว่าเป็นการออกแบบที่เน้นเรื่องความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีกจุดหนึ่ง
อีกสิ่งหนึ่งที่ Kaleidos แตกต่างจากกระบวนการผลิตไฟของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ทั่วไปคือการออกแบบระบบปั่นไฟโดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์แบบยิ่งยวด (sCO2 Power Cycle) แทนการใช้ไอน้ำมาปั่นเครื่องผลิตไฟ ทั้งนี้การใช้คาร์บอนไดออกไซต์แบบยิ่งยวดมีข้อดีเหนือกว่าไอน้ำในแง่ของค่าสัมประสิทธิ์ความร้อน กล่าวคือจะมีการสูญเสียพลังงานความร้อนไปแบบสูญเปล่าน้อยกว่าไอน้ำนั่นเอง
นอกจากนี้ Radiant ได้ใช้ชุดโปรแกรม NEAMS มาช่วยในการพัฒนา Kaleidos และจะใช้มันช่วยในการควบคุมระบบการทำงานของ Kaleidos ด้วยในอนาคต โดย NEAMS คือโปรแกรมจำลองการทำงานเตาปฏิกรณ์ที่พัฒนาโดยสำนักพลังงานนิวเคลียร์ของกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Energy-Office of Nuclear Energy)
การใช้งาน NEAMS จะทำให้สามารถคำนวณได้ว่าระดับอุณหภูมิของแกนเชื้อเพลิง, แท่งควบคุม, สารหล่อเย็น และชิ้นส่วนอื่นๆ รวมทั้งฉนวนหุ้มเตาควรมีอุณหภูมิเท่าไหร่ในระหว่างที่เตาปฏิรกรณ์กำลังทำงาน ซึ่งค่าที่คำนวณได้จะถูกเปรียบเทียบกับค่าอุณหภูมิที่ได้จากการวัดค่าจริงเพื่อนำไปสั่งการกลไกการเคลื่อนแกนควบคุมของเตาเพื่อปรับระดับการทำงานให้เหมาะสม
การใช้งาน NEAMS คำนวณค่าอุณหภูมิของชิ้นส่วนต่างๆ ของระบบเตาปฏิกรณ์ เปรียบเทียบกับค่าที่วัดจริงเพื่อใช้สำหรับควบคุมการทำงาน Kaleidos
ในตอนนี้ Kaleidos ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา โดย Bernauer ให้สัมภาษณ์แก่ Interesting Engineering ว่าตั้งเป้าจะพัฒนาอุปกรณ์ให้สมบูรณ์และทดสอบระบบต่างๆ ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นในอีกราว 4 ปีข้างหน้า โดยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้จะมีการทดสอบชุดระบายความร้อนขนาด 20 ตัน (ชุดระบายความร้อนนี้ คือตัวนำความร้อนจากภายในเตาออกมาสู่ฮีเลียมอันเป็นสารหล่อเย็นที่จะพาความร้อนไปปั่นไฟ) และคาดว่าระบบปั๊มฮีเลียมจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นปีนี้ ทั้งนี้หากการพัฒนา Kaleidos สำเร็จและผ่านการทดสอบตามแผน ก็คาดว่าจะสามารถผลิตออกจำหน่ายจริงภายใน 1-2 ปีหลังทดสอบเสร็จสิ้น โดยตอนนี้ Radiant ได้เปิดรับสมัครพนักงานเพิ่มอีกหลายตำแหน่งเพื่อเดินหน้าพัฒนา Kaleidos
Comments
ต้องจ้างคนเฝ้ามันด้วย
ปัญหาอยู่ที่ว่าจะสามารถควบคุมได้ตลอดเวลาหรือไม่ กลัวถ้านำมาใช้จริงๆ แรกๆ มันจะดูแลอย่างดี แต่พอเวลาผ่านไปก็อาจหละหลวมลืมดูแล
ไม่มีทางหลอมละลาย
ฟังดูคล้ายๆ ไม่มีวันจม
แกนเชื้อเพลิงไม่หลอม แต่ตัวยึดจะหลอมมั้ยนะ
ดีเลยนะ เพราะอยากให้มีการพัฒนาด้านนิวเคลียร์แบบจริงๆจังๆมากขึ้นกว่านี้ครับ เพราะเหมือนเราถูกแช่แข็งไว้ด้วยความกลัวในยุค 90-2000 เลย ถ้าเทคโนโลยีนี้มันไปได้สุดทางนั่นแหละ จะแก้ปัญหาพลังงานโลกได้จริงๆ
การพัฒนาในด้านนิวเคลียเพื่อสันติภาพก็ยังคงมีอยู่ครับแต่เนื่องจากในแง่ของงบประมาณการบริหารระยะยาว ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มการพัฒนาในอนาคตที่มุ่งเน้นการวิจัยนิวเคลียฟิวชันทดแททำให้เราเห็นเทคโนโลยีด้านนี้น้อยลงครับ
ในแง่ของเทคโนโลยีที่ควรพัฒนาจริงๆคืออุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าที่ยังคงใช้การแปลงพลังงานกลเป็นไฟฟ้าหรือรูปแบบกังหัน(Turbine Generator)ที่ยังไม่มีอะไรทดแทนได้ในด้านความคุ้มค่าและต้นทุนการผลิต
จริงๆเทคโนโลยีนิวเคลียขนาดเล็กถ้าทำออกมาได้จริงศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ควรใช้ไปเป็นแหล่งพลังงานหลักทดแทนเพราะปัจจุบันใช้พลังงานกันหลัก MW แถมเพิ่มขึ้นทุกปีด้วยถ้ามีแหล่งผลิตหลังงานของตัวเองน่าจะช่วยลดปัญหาพลังงงานโลกและภาวะโลกร้อนไปได้อีกมาก
ก็อยากให้มันเป็นจริงเหมือนกัน แต่ปัญหาตอนนี้คือยังไม่เห็นการทำงานของเครื่องจริง มีเพียงแค่ 3D Animation ที่อธิบายการทำงานและการออกแบบ
ซึ่งเดี๋ยวนี้มีหลายบริษัทและกลุ่มระดมทุนที่โม้แต่ทำไม่ได้จริง หรือทำงานได้แต่ไม่ได้ดีเท่าที่ว่างแผนเอาไว้ แต่ดันเก่งหรือไปจ้างคนทำ Graphic Design มาสร้างเป็น Video แสดงการสาธิตและชิ้นส่วนออกมาซะเยอะเลย แล้วก็เงียบหาย ไม่เห็นสินค้าจริงไปหลายเจ้า
แม้ว่าจะมีพนักงานมาจาก SpaceX และมีความรู้เรื่องนิวเคลียร์ก็ตาม ผมขอดูอยู่ห่างๆ ก็แล้วกันครับ จนกว่าจะเห็นเครื่องจริงที่ทำงานได้ออกมาแสดงให้เห็นแล้วนำไปติดตั้งใช้งานในพื้นที่จริง ถึงจะโอเคครับ
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
มาเลย ไม่กลัว แถวบ้านเนี่ยไฟตกกลางวันแสกๆแม้จะมีโซล่าฟาร์มขนาดใหญ่ห่างไป 15 กม.ก็เหอะ 😐
อ่านจากหนังสือ Science ตอนนี้ก็มีบริษัทในอเมริกาก็กำลังพัฒนาเครื่องนิวเคลียร์ฟิวชั่นขนาดเล็กเหมือนกัน กำหนดการอยูที่ปี 2030 ผมว่ายังดูน่าสนใจกว่าในเชิงการวางแผนในอนาคต เอามาสร้างความร้อนปั่นเครื่องจักรเทอร์ไบน์เพื่อผลิตไฟฟ้ายังดูน่าสนใจก็กว่า
มันอยู่ได้กี่ปีนะครับก่อนจะต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิง
ตามข่าวคือ 8 ครับ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
ขอบคุณครับ
ผมว่าผมอ่านครบนะ ทำไมหลุด พักหลัง skim เยอะไปโดยไม่รู้ตัวแน่เลย พลาดบ่อยแล้วคงต้องพยายามแก้