อินเดียได้ออกข้อกำหนดให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์พกพาอื่นที่จะทำตลาดในอินเดียให้รองรับระบบนำทางด้วยดาวเทียมของอินเดียที่ชื่อ NavIC (Navigation with Indian Constellation) (หรือก็คือระบบ GPS ที่เป็นของอินเดียเอง) เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2023 เป็นต้นไป
มาตรการผลักดันการใช้งานระบบ NavIC ล่าสุดที่กำหนดให้ผู้ผลิตชิปและผู้ผลิตอุปกรณ์พกพาสำหรับขายในอินเดียให้ผนวกชิปรองรับการใช้งานกับดาวเทียม NavIC นั้นย่อมเพิ่มโจทย์ในการทำงานให้บริษัทไอที ทั้งเรื่องต้นทุนชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งจะต้องทำงานแข่งกับเวลาให้ทันเดือนมกราคมปีหน้า
รายงานข่าวระบุว่าในการประชุมแบบปิดในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ตัวแทนของ Apple, Xiaomi และ Samsung ซึ่งเข้าร่วมการประชุมต่างก็แสดงความเห็นคัดค้านกฎใหม่นี้ ด้วยเหตุผลด้านต้นทุนและการแจ้งข้อกำหนดที่กระชั้นชิดมีเวลาทำงานที่น้อยเกินไป ที่สำคัญเรื่องนี้กระทบแผนงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และแผนการตลาดของหลายบริษัท ทั้งนี้ตัวแทน Samsung ระบุว่าในตอนนี้บริษัทวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ล่วงหน้าไปถึงปี 2024 แล้ว
กลุ่มผู้ผลิตสมาร์โฟนต้องการให้ทางการอินเดียยืดระยะเวลาบังคับใช้กฎใหม่นี้ไปเป็นปี 2025 เพื่อให้มีเวลาพัฒนาฮาร์ดแวร์รวมทั้งทำการทดสอบให้พร้อมใช้งานจริง ซึ่งทำให้การหารือเรื่องนี้ระหว่างกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์กับรัฐบาลอินเดียยังไม่ได้ข้อสรุปที่ลงตัวในขณะนี้และจะมีการนัดประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง
NavIC เป็นระบบระบุพิกัดโดยดาวเทียม 7 ดวงของ ISRO (Indian Space Research Organisation) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านอวกาศของรัฐบาลอินเดีย ระบบนี้จะเน้นบริเวณประเทศอินเดียและพื้นที่โดยรอบภายในระยะห่างประมาณ 1,500 กิโลเมตรจากเส้นพรมแดน พื้นที่ปฏิบัติการรวมส่วนต่อขยายครอบคลุมตั้งแต่เส้นละติจูด 30 องศาใต้ไปจนถึง 50 องศาเหนือ และเส้นลองจิจูด 30 องศาตะวันออกไปจนถึง 130 องศาตะวันออก
พื้นที่การใช้งานระบบดาวเทียม NavIC
เป้าหมายการใช้งานของ NavIC นั้นจะใช้เพื่อระบบนำทางทั้งภาคพื้นดิน, ทางเรือ และทางอากาศ รวมทั้งใช้ประโยชน์เพื่อการบริหารจัดการรับมือภัยพิบัติ, การติดตามตรวจสอบระบบจราจร รวมทั้งเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการระบุเวลา ซึ่งโครงการนี้ใช้เงินลงทุนไปราว 174 ล้านเหรียญ เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2006 และเพิ่งเปิดใช้งานไปเมื่อปี 2018 แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการบังคับผู้ผลิตอุปกรณ์ว่าจะต้องรองรับระบบ NavIC นี้
ในปัจจุบันนี้ระบบระบุพิกัดด้วยดาวเทียมที่ผู้คนรู้จักกันมากที่สุดคงไม่พ้น GPS ของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีพื้นที่ใช้งานครอบคลุมทั่วโลก แต่ก็ยังมีดาวเทียมเพื่อการระบุพิกัดสำหรับใช้ประโยชน์เพื่อการนำทางอื่นๆ ทั้ง Galileo ของสหภาพยุโรป, GLONASS ของรัสเซีย รวมถึง Beidou ของจีน ซึ่งล้วนแล้วแต่ครอบคลุมพื้นที่ใช้งานทั่วโลกเหมือน GPS ในขณะที่ญี่ปุ่นก็ใช้ระบบดาวเทียมของตนเองที่ชื่อ QZSS เพียงทว่ามันครอบคลุมพื้นที่ใช้งานเน้นเฉพาะบริเวณประเทศตนเองคล้าย NavIC
Comments
"30 องศาใต้ไปจนถึง 50 องศาเหนือ" หรือเปล่าครับ? (ตามรูป) 30 องศาเหนือนี่จะไปถึงเกาหลีละครับ :D
iPAtS
ใช่ครับ ตอนแรกลืมแก้ตรงข้อความ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")