DJI เปิดสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ชื่อ DJI Sky City ใน Shenzhen เป็นตึกคู่พร้อมทางเดินลอยฟ้าเชื่อมระหว่างอาคาร ผลงานการออกแบบโดย Foster + Partners
DJI Sky City ประกอบไปด้วยตึกสูง 212 เมตร และอีกตึกสูง 194 ตั้งอยู่คู่กัน โดยมีทางเดินสะพานแขวนลอยฟ้ายาว 90 เมตรสูงจากพื้นดิน 105 เมตร เชื่อมระหว่าง 2 อาคารตรงชั้นที่ 24 รูปลักษณ์ของอาคารมีลักษณะคล้ายเสาโครงสร้างเหล็กที่มีกล่องกระจกหลายกล่องยึดติดเอาไว้โดยรอบ มีการเล่นระดับของโครงสร้างอาคารและพื้นที่ดาดฟ้าต่างๆ ให้ความรู้สึกสมกับชื่ออาคารที่แปลว่า "เมืองลอยฟ้า"
อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ DJI
สะพานแขวนลอยฟ้าทำหน้าที่เป็นทางเดินเชื่อมระหว่างอาคาร อีกหนึ่งจุดเด่นของ DJI Sky City
DJI Sky City มีพื้นที่สำหรับห้องปฏิบัติการเพื่อทีมวิจัยและทดสอบโดรนของ DJI ด้วย โดยมีการออกแบบห้องเพดานสูงและลดจำนวนเสาในห้องเพื่อให้ได้พื้นที่เหมาะต่อการบินโดรนโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นห้องเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนจากภายนอกอาคารตรงตำแหน่งที่มีโครงสร้างรูปตัว V ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ
ห้องเพดานสูงที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อใช้สำหรับงานวิจัยและทดสอบโดรน
Foster + Partners ออกแบบ DJI Sky City โดยพยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการออกแบบสวนบนดาดฟ้าอาคาร ควบคู่ไปกับการออกแบบพื้นที่ด้านล่างรอบอาคารที่มีการจัดสวนและปลูกต้นไม้จำนวนมาก
ดาดฟ้าด้านบนอาคารมีการตกแต่งทำเป็นสวนลอยฟ้าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว
พื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร 242,000 ตารางเมตร นอกเหนือจากการใช้เป็นสำนักงานและห้องปฏิบัติการเพื่องานวิจัยและทดสอบโดรนแล้ว ยังมีโรงภาพยนตร์, โรงยิม, ทั้งสนามประลองหุ่นยนต์ รองรับการใช้งานของพนักงาน DJI กว่า 8,000 ชีวิต และยังมีพื้นที่สาธารณะประโยชน์
ตัวอาคารมีการนำเอาเทคโนโนโลยีประหยัดพลังงานมาใช้งาน อาทิ การออกแบบอาคารที่เน้นการใช้กระจกเพื่อรับแสงอาทิตย์ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าสำหรับระบบแสงสว่าง, ระบบควบคุมอาคารที่จะลดการใช้งานในช่วง off-peak (หมายถึงช่วงเวลาที่ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยภาพรวมมีการใช้ไฟน้อย), ระบบลิฟต์โดยสารแบบ TWIN Elevator ของบริษัท TKE ที่มีการติดตั้งลิฟต์โดยสาร 2 ตัวให้เคลื่อนที่ขึ้นลงในปล่องลิฟต์เดียวกัน ช่วยให้ใช้งานโครงสร้างลิฟต์ของอาคารได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น (ซึ่งผู้พัฒนาระบุว่าลิฟต์แบบนี้รองรับการโดยสารได้มากกว่าแบบทั่วไป 40% และมีระบบผลิตไฟหมุนเวียนกลับทำให้ลดการใช้พลังงานได้ด้วย) นอกจากนี้ Foster + Partners ยังออกแบบอาคารให้มีการรองรับและกักเก็บน้ำฝนเพื่อมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งระบบหมุนเวียนน้ำทิ้งเพื่อนำกลับมาใช้สำหรับดูแลต้นไม้ในสวนบนอาคารด้วย
ภาพมุมกว้างของอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ DJI
หลังการก่อสร้างที่กินระยะเวลา 6 ปี ในตอนนี้เรียกได้ว่าอาคาร DJI Sky City ได้กลายมาเป็นแลนด์มาร์คใหม่อีกหนึ่งแห่งของ Shenzhen ก็คงไม่ผิด
Comments
ตึกเค้าสวยจริง ดูดีเลยละ
จ้าง Foster + Partners ซะด้วย งานดีแต่แพงนะเนี่ย...
ก็สมราคาแหล่ะครับ น่าจะกลายเป็นอาคารคลาสสิกในอนาคตได้เลย
แอบส่องกล้องเข้าไปอาจจะเห็นโดรนรุ่นทดสอบอยู่ใช่เปล่านะ
ผมว่าถ้าจะมี Lab น่าจะอยู่แกนตึกที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตรองรับมากกว่า เพราะโดยปรกติแล้วตึกโครงสร้างแบบนี้จะสร้างแกนคอนกรีต เพื่อใช้ค้ำยันโครงสร้าง และทำลิฟต์ แต่เท่าที่ดูของตึกนี้มีแกนบางส่วนที่ใหญ่เกินขนาดลิฟท์ น่าจะมีห้องอยู่ ถ้าไม่ห้องประชุม ก็น่าจะเป็น Lab แบบที่ต้องใช้ลิฟท์เฉพาะ แต่เท่าที่ผมเจอ ส่วนใหญ่บริษัทพวกนี้จะแยกหน่วยวิจัยออกจากสำนักงานนะ เพราะถ้าอยู่ในสำนักงานโอกาสความลับรั่วมีสูง เพราะคนในสำนักวิจัยยิ่งรู้จักคนเยอะ โอกาสความลับรั่วก็สูง ผมเคยมีเพื่อนทำงานอยู่ศูนย์วิจัยรถยนต์ญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง มันแทบจะไม่คุยกับใครเลย ยิ่งตอนมีรถรุ่นใหม่ๆ กำลังจะออกมาแล้วมีเพื่อนไปถาม มันจะหายเงียบเลย
ผมไม่ค่อยเข้าใจการใช้กระจกเพื่อประหยัดพลังงานสักเท่าไร
มันน่าจะเปลืองพลังงานในการทำความเย็นมั๊ยนะ
เมื่อก่อนผมก็สงสัยเหมือนคุณนี่แหล่ะ พอดีไปเจอความเห็นนึงใน Pantip ค่อนข้างอธิบายแล้วเข้าใจดี ผมขออนุญาติแปะแล้วกัน ผมตัดมาเฉพาะบางส่วน
====================================
แอร์มันจะทำความเย็นเติมลงมาที่พื้น นึกซะว่าเหมือนเทน้ำลงแก้ว ถ้าความเย็นมันลอยไปถึงระดับเดียวกับตัวแอร์ เซ็นเซอร์ในตัวแอร์มันก็จะตัดการทำงาน แค่นั้นเอง
ดังนั้นแพดานสูงเท่าไหร่ไม่เกี่ยว ขออย่างเดียวอย่าติดแอร์สูงเกินไปแค่นั้น ไม่งั้นแอร์มันจะตัดช้า(เพราะกว่าความเย็นจะเติมขึ้นไปถึง)
cr: https://pantip.com/topic/37303544
ส่วนเรื่องกระจกผมเดาว่าเขาน่าจะใช้กระจกตัดแสงทั้งหลังนั่นแหล่ะครับ แสงเข้าได้ทำให้ประหยัดไฟ แต่รังสีในย่านที่มีความร้อนเข้าไม่ได้ แต่ที่ผมสงสัยคือ ปัญหาของแสงสะท้อนกระจกไปตึกตรงข้ามเขาแก้ไขอย่างไร ในอเมริกาเคยมีกรณีฟ้องร้องเรื่องแสงสะท้อนจากตึกอื่นเข้าไปในอาคารจนรบกวนการทำงาน ไม่รู้ว่าตึกนี้เขาแก้ไขอย่างไร
เค้าน่าจะเป็นเมืองหนาวป่าวอะครับ
สะพานข้ามตึก ไม่มีหลังคาอะ
มีไม่ได้หรอกครับ มีก็พังหล่นใส่คนเดินด้านล่าง ตรงนั้นเป็นจุดลมผ่าน จุดลมผ่านต้องออกแบบให้แนวปะทะน้อยสุด ขนาดสะพานยังออกแบบเป็นสะพานขึง เท่าที่ผมเคยดูสารคดีการสร้างตึกแบบนี้เขาจะเอาเข้าอุโมงค์ลมด้วย เพราะป้องกันปัญหาความเสียหายกับโครงสร้าง โครงสร้างแขวนพวกนี้เป็นเหล็กถ้าต้านลมก็มีโอกาสเสียหาย
ไม่น่าใช่นะ หลายๆ ที่เค้าทำได้ อย่าง Petronas Towers
ผมว่าคนจีนเค้าคลั่งสะพานแขวนมากกว่า ลองดูสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เป็นสะพานแขวน, กระจกแบบใสตรงพื้น
แถว ๆ นั้น ไต่ฝุ่นเข้าบ่อย สถาปนิกก็คงออกแบบคำนึงถึงตรงนี้ด้วยครับ