ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต หนึ่งใน กสทช. เสียงข้างน้อย ในกรณีควบรวม DTAC/True โพสต์แสดงความเห็นของตัวเองผ่าน Facebook โดยให้เหตุผล 7 ข้อที่ยืนยันว่าไม่ควรอนุญาตให้เกิดการควบรวม
เหตุผลหลักๆ คือการแข่งขันในตลาดจะลดลง เหลือผู้เล่นรายใหญ่แค่ 2 ราย และเงื่อนไขการบรรเทาผลกระทบที่ออกมา ไม่น่าจะช่วยเพิ่มระดับของการแข่งขันในตลาดได้
ที่มา - Facebook Pirongrong Ramasoota
วันนี้ประชุมยาวที่สุดในชีวิตคือ 11 ชั่วโมงเศษ
ต้องขอโทษน้องๆนักข่าวที่มารอ คือหมดสภาพพพพ ไม่สามารถให้สัมภาษณ์ได้จริงๆเพราะแบตหมดเกลี้ยงค่ะ ขอโทษจริงๆค่ะ
เลยขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้อธิบายถึงเหตุผลที่สงวนความเห็น และเป็นเสียงส่วนน้อยในการพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในการประชุมกสทช. นัดพิเศษในวันนี้นะคะ
ในทางกฎหมาย การตัดสินใจสงวนความเห็นที่จะรับทราบการรวมธุรกิจ และยืนยันที่จะไม่อนุญาต เพราะเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันซึ่งสามารถส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแง่การลดหรือจำกัดการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องค่ะ
เหตุผลสนับสนุนมี 7 ข้อหลักดังต่อไปนี้ค่ะ
1) เมื่อรวมธุรกิจ TRUE และ dtac แล้ว จะทำให้เกิดบริษัทใหม่ (NewCo) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ดังนั้น ทั้ง TUC และ DTN จะกลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีความความสัมพันธ์กันทางนโยบาย หรืออำนาจสั่งการเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) ที่ไม่มีการแข่งขันระหว่างกันตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ ก่อนการรวมธุรกิจ TUC มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 31.99 และ DTN มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 17.41 ภายหลังการรวมธุรกิจ NewCo จะมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 49.40 และทำให้ในตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 ราย หรือเกิดสภาวะ Duopoly
2) SCF Associates Ltd. ที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันและนโยบายการสื่อสารระดับโลกสรุปว่า จากการศึกษาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคมากกว่าข้อดีที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งมาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ทั้งหมดในบริบทของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย เช่น การสนับสนุนให้เกิดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO) รายใหม่, การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดค้าส่ง, การร่วมใช้คลื่น (Roaming) และการโอนคลื่นความถี่ (Spectrum Transfer) เป็นต้น
ในบริบทของเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องลดช่องว่างทางดิจิทัลอย่างประเทศไทย โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอุปกรณ์ที่คนใช้มากที่สุดเพื่อเชื่อมต่อออนไลน์ การรวมธุรกิจซึ่งจะนำไปสู่การกระจุกตัวของตลาด และโอกาสที่ค่าบริการจะสูงขึ้น จึงไม่สมควรอนุญาตด้วยเหตุผลเพื่อการพัฒนาประเทศที่ต้องพึ่งพิงตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการแข่งขันสูงและเป็นตัวกระตุ้นทางเศรษฐกิจ3) การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจภายใต้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะต่างๆ ที่บังคับผู้ขอรวมธุรกิจนั้น ไม่น่าจะช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดได้ และอาจเป็นไปได้ยากในภายหลังจากการควบรวม โดยในส่วนของ กสทช. ก็จะต้องใช้อำนาจทางกฎหมายและทรัพยากรในการกำกับดูแลอย่างมาก โดยไม่อาจคาดหมายได้ว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดได้เช่นเดียวกับที่เคยมีอยู่ก่อนการควบรวมหรือไม่
4) ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะ จากเอกสารประกอบการขอรวมธุรกิจ ยังไม่ชัดเจนและเพียงพอ
5) การรวมธุรกิจมีโอกาสนำไปสู่การผูกขาดและกีดกันการแข่งขัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40, 60, 61 และ 75 และขัดต่อแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 ที่ต้องเพิ่มระดับการแข่งขันของการประกอบกิจการโทรคมนาคม
6) การให้รวมธุรกิจจะส่งผลกระทบกว้างขวางและต่อเนื่องในระยะยาว อีกทั้งยังหวนคืนไม่ได้ เพราะตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยอยู่ในภาวะอิ่มตัว ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ยาก เช่นกรณีการรวมธุรกิจของเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ ตามรายงานของที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะหวนคืนจากภาวะผูกขาดโดยผู้ประกอบการหนึ่งหรือสองรายไปสู่สภาพการแข่งขันก่อนการรวมธุรกิจ
7) หนึ่งในผู้ขอรวมธุรกิจมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจครบวงจร (Conglomerate) รายใหญ่ ซึ่งครอบครองตลาดสินค้าและบริการในระดับค้าปลีกและค้าส่งของทั้งประเทศ จึงมีโอกาสที่จะขยายตลาดโดยใช้กลยุทธ์ขายบริการแบบเหมารวม ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการรายอื่น
จึงเรียนมาเพื่อทราบค่ะ
Comments
ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร ถ้าเป็นคนของประชาชน ทำเพื่อประชาชน ประชาชนย่อมสรรเสริญ ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนอยากรู้จัก คอยปกป้อง แต่ถ้าเป็นคนของ... ไปไหนมาไหนก็ต้องคอยระวังตัว อยู่บนอำนาจ กองเงินกองทอง แต่ไม่มีความสุข อยู่แบบหวาดระแวงจะอยู่ไปทำไม
ทุกวันนี้ก็เห็นสุขสบายกันหลายคน
บุญคุณต้องทดแทน โดยที่ไม่สนใจประชาชนหรือเสียงคัดค้านใดๆ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว บริษัทใหญ่2 เจ้าไม่ควรรวมกันได้ถ้าหากทำให้ส่วนแบ่งรวมเกิน50% ไม่ว่าอย่างไรสุดท้ายต้องมีถอนทุนคืนแน่นอน
ในข่าวเขียนอยู่นะครับว่า "จะมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 49.40" ถ้าไม่ถึง 50% แบบนี้รวมกันได้?
คลิปของนายอาร์มเกี่ยวกับเรื่องอินเตอเน็ตบ้าน ผูกขาดในอเมริกาลอยเข้ามาในหัวเลย
+1
มีใครไม่รู้บ้างว่าผลจะออกมาเป็นแบบนี้
รู้ แต่ก็ยังหวังเล็กๆว่าจะไม่ออกมาแบบนี้
เหมือนซื้อหวยแล้วรู้ว่ายากจะได้รางวัล แต่ก็ยังหวังว่าจะถูกรางวัลที่หนึ่ง
ไม่แน่ใจว่ากรณีนี้โอกาสมากหรือน้อยกว่าถูกรางวัลที่หนึ่ง
ทุกวันนี้มี 3 ค่ายหลัก โปรก็ลอกกันอยู่แล้ว เหลือ 2 เจ้า จะเป็นยังไง ไปดู Coke กับ Pepsi ว่าทุกวันนี้เขายังแข่งกัน หรือจับมือกันฮั้ว
อาร์ซี, เอสโคล่า กับ บิ๊กโคล่า เสียใจแล้วนะ
เขาแข่งกัน แต่ก็แค่แข่งกันโปรโมท ไม่ได้แข่งกันลดราคานี่ครับ
คุณ พี่เปรียบเทียบแบบนี้ กับน้ำ เนี้ยนะ ตลาดน้ำอัดลมมันไม่ได้มี 2 เจ้าผูกขาดนี้ครับ
ครับ ยอมรับเถอะครับ นี่คือผลกรรมของกสทช.ทำไว้ ยอมรับแล้วเริ่มต้นใหม่ครับ... ทุกวันนี้ประเทศไทยเรามีโครงสร้างโทรคมนาคมที่บิดเบี้ยวครับ ไอ้ที่ท่านพิมพ์ ๆ มาในข้อ 2 มันคือความจริง กสทช.ควรจะออกมาจัดระเบียบ และส่งเสริมให้มันเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องครับ
ตอนนี้ไม่ต้องเพิ่มระดับของการแข่งขันในตลาด ไม่ใช่ยุคสมัยของการแข่งขันครับ หาผู้เล่นรายใหม่ ๆ มาเข้าตลาดให้ได้ก่อนครับ ตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุค คนในอยากออก คนนอกไม่อยากเข้าครับ เราอยู่ในยุคที่ จะเข้ายังไงให้ไอ้ที่ล่อแล่อยู่เนี่ย มันอยู่ได้ครับ...
เท่าที่อ่านมาคือ TCCT ลอยตัวเหนือปัญหาทั้งมวล
หลายภาคส่วนรอฟ้องอยู่ อนาคตอาจเห็นคณะกรรมการติดคุกก็ได้นะ
ทิ้งระเบิดเลยแบบนี้
ขอถามนอกเรื่องนะครับ ถ้ารายใหม่ต้องการเข้ามาในตลาด มันยุ่งยากมั้ยครับ ผมสงสัยมานานแล้วว่าทำไมบ้านเรามีแค่ 3 เจ้า
ยากครับ
1. ต้องมีคลื่นก่อน ถ้าไม่เปิดประมูลคลื่น ก็ต้องไปขอเช่าจากเจ้าที่มีคลื่นอยู่ ต้นทุนก็สู้เขาไม่ได้แน่ๆ
2. ทุนต้องเยอะมาก อย่างที่บทความบอก บ้านเรามันอยู่ในภาวะอิ่มตัว คนส่วนใหญ่ มีโทรศัพท์มือถือแล้ว เจ้าใหม่ต้องแย่งลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นโปรทุ่มตลาด หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่นับว่าการลงทุนก็สูงมาก น่าจะเผ็นสิบปีถึงจะคืนทฺน
3. คนที่มีทุนเยอะขนาดนั้น ไม่น่ามีเยอะ แถมยังออกกฎห้ามต่างชาติไปอีก (ตอนจะประมูล 3g ครั้งแรก มีการเดินสายคุยกับ operator ต่างประเทศ พอกลับมาดันห้ามต่างชาติซะงั้น)
ยากแน่นอนครับ เนื่องจากต้องการเงินลงทุนมหาศาล สมมุติค่าย NT ที่ถือว่าเป็นผู้เล่นอยู่ในตลาดอยู่แล้ว ถ้าจะตั้งใจทำให้ดีๆ เพื่อขึ้นมาแข่งกับสองเจ้าตอนนี้ผมว่ายังยากมากๆเลย
..: เรื่อยไป
จะทำยังไงให้สัญญาณครอบคลุมทั่วประเทศก่อนคนจะหนีไปซบค่อยดัง อันนี้ปัญหายากพอควรครับ
ยากครับ ต้องมีคลื่นอยู่ คลื่นในไทย นี้แพงมากๆ เกือบแพงที่สุดในโลกเลยมั้ง ยังไม่รวม พวกการตลาดอีกนะ คนที่อยู่มานาน สายป่านยาวกว่า ดั้มราคามาสู้ ได้สบายมากๆ ยังไม่รวมพวกบริการเสริมอื่นๆอีก เน็ตบ้าน iptv อีก บลาๆ
น่าจะยากมากๆที่จะคุ้มทุน
ต้องทุ่มซื้อคลื่น ตั้งเสา ทำการตลาด
อาจต้องใช้เวลา 7-10ปี เงินทุนอาจหลักแสนล้าน
แถมอาจต้องบี้ราคาเพื่อดึงผู้ใช้จนกำไรบางสุดๆ
จนอาจจะต้องใช้เวลาคืนทุน 20ปี แบบไม่มีปันผล
แล้วใครอยากจะลงทุน?
ขนาด 2 เจ้าที่เป็นรองยังเอาตัวไม่ค่อยรอดเลยครับ ดั้มราคาสู้จนกำไรบ้าง-ขาดทุนบ้าง
มีแค่เจ้าตลาดแหละครับที่มีกำไรทุกปี
จะถอนตัวก็ยากนะครับ ขายให้กลุ่มธุรกิจเดียวกันก็จะถูกมองว่าผูกขาด จะหากลุ่มธุรกิจอื่นมาลงทุนก็ยาก
ยากครับสมมุติเจ้าใหม่มาแล้วโปรโมทว่าราคาถูก อิเจ้าของเดิมก็จะปรับราคาถูกกว่าเพื่อบีบให้ออกจากตลาด ซึ่งเจ้าใหม่ที่มาจะลดราคามาแข่งเจ้าเดิมมันก็คงไม่ไหว แต่เจ้าเดิมคงไม่มีปัญหาขาดทุนนิดหน่อยแต่มันก็คุ้มที่ทำให้คู่แข่งออกจากตลาด พอเจ้าใหม่ออกไป เจ้าเดิมก็ปรับราคาเหมือนเดิม ต่างประเทศเค้าจะเรียกว่าเกม Monopoly อะครับ ให้นึกถึงเศรษฐีกับนักธุรกิจหน้าใหม่มาทำราคาแข่งกันใครจะชนะ คนที่มีทุนหนาอยู่แล้วขาดทุนนิดหน่อยคงไม่กระเทือนอะไร กับคนที่เพิ่งเริ่มจะเอาอะไรมาแข่งกับเศรษฐีที่มีเงินมากมายมหาศาลอยุ่่แล้ว
ก็เจ้าของประเทศตัวจริงเขาอยากได้มันก็ต้องได้แหละ ผู้เช่าอาศัยอย่างเราๆจะไปทำอะไรได้
ทำอะไรไม่ได้ครับ ยกเว้นย้ายบ้าน
เอาง่ายๆ ขนาด 7-11 ที่ไม่รองรับ promptpay ยังได้เลย รวมกันก็ต้องใช้บริการกระเป๋าเงินทรูเพื่อให้ทำธุรกรรมอื่นๆได้ รอดูดิ