ประชาชนชาวไทยน่าจะคุ้นเคยกับ "ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5" กันดี ซึ่งเป็นฉลากที่ใช้ติดกำกับผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อแสดงถึงประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างคุ้มค่า โดยฉลากที่ว่านี้เป็นโครงการที่ริเริ่มดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งในสหรัฐอเมริกาเองก็มีฉลากคล้ายๆ กัน เรียกว่า "ฉลาก Energy Guide" โดยผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญในการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยการมองหาฉลากเหล่านี้ประกอบการตัดสินใจด้วย
ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ที่จะติดฉลาก Energy Guide นั้นจะต้องผ่านการทดสอบเพื่อวัดการใช้พลังงาน แต่ตอนนี้ FTC (คณะกรรมการการค้าของสหรัฐฯ) ได้ออกประกาศเตรียมที่จะเพิ่มข้อกำหนดให้ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการขอฉลาก Energy Guide ไปติดบนผลิตภัณฑ์ต้องจัดทำคู่มือซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าวสำหรับให้ผู้บริโภคไว้อ่านเพื่อการซ่อมเครื่องด้วยตนเองได้ด้วย
ตัวอย่างฉลาก Energy Guide, ซ้าย: ฉลากแบบเก่าก่อนปี 2015, ขวา: ฉลากแบบใหม่หลังปี 2015
ไอเดียของ FTC นี้เป็นอีกขั้นของการผลักดันกฎหมายว่าด้วยเรื่อง "สิทธิ์ในการซ่อมแซม" (Right to Repair) ซึ่งเป็นนโยบายที่ Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งการมายัง FTC โดยตรงให้ร่างกฎหมายนี้ขึ้น ซึ่งเดิมทีกระแสความสนใจนั้นมุ่งไปที่อุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์กันเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ FTC เองได้ขยายขอบเขตมายังเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ภายในบ้านด้วย
อย่างไรก็ตามด้วยแนวทางการผูกติดเงื่อนไขไว้กับการขอฉลาก Energy Guide ทำให้ข้อบังคับเรื่องการจัดทำเอกสารคู่มือการซ่อมนี้ไม่ได้ครอบคลุมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านทุกชนิด แต่อย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งก้าวของความพยายามสร้างผลประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการบำรุงรักษาทรัพย์สินของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเพียงการส่งเครื่องคืนให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ช่วยซ่อมให้ (ซึ่งทำให้ขาดการแข่งขันเรื่องราคาค่าบริการซ่อมแซม)
กระบวนการในตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ และยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่กฎใหม่นี้จะไปถึงขั้นตอนที่ประกาศบังคับใช้ได้จริง
สำหรับฉลาก Energy Guide นั้นเกิดจากข้อบังคับที่ออกโดยรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาซึ่งได้ระบุประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าว่ามีชนิดใดบ้างที่ต้องแสดงฉลากนี้บนตัวผลิตภัณฑ์ ณ จุดจำหน่าย เพื่อให้ข้อมูลด้านการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงแก่ผู้บริโภคอย่างชัดเจน
ที่มา - iFixit
Comments
นึกถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าในอดีตที่มีแผ่นกระดาษระบุอะไหล่และชิ้นส่วนที่เปลี่ยนเองได้ หมายเลขอ้างอิงอะไหล่ และแผนภาพของระบบไฟฟ้าในอุปกรณ์ให้เสร็จสรรพ ซื้ออะไหล่เทียบซ่อมเองได้เลย
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
ทำไมต่างประเทศเขาให้ความสำคัญกับสิทธิผู้บริโภคดีจังเลยนะ อยากให้ประเทศเราเป็นอย่างนั้นบ้าง
ประเทศที่นายทุนไม่ใช่ทุกอย่างครับ
และเป็นประเทศที่ประชากร"ส่วนใหญ่"ไม่ได้ยึดติดกับพรรคการเมืองด้วย ทำให้การสลับขั้วการเมืองคานอำนาจไม่ให้นักการเมืองได้ใจ ต้องไปขยันคิดนโยบายที่จะได้ใจประชาชนอย่างแท้จริง
นโยบายแต่ละอย่างที่ออกมา ประชาชนก็ต้องฉลาดคิดตามได้ด้วยว่าทำได้หรือไม่ได้จริง ไม่ใช่ขายฝันก็เอาแล้วเอาไปขิงพรรคตรงข้ามอย่างเดียว
สรุปคือไม่ใช่แค่"ประเทศพัฒนาแล้ว"อย่างเดียว แต่เป็นประเทศ"ประชากรส่วนใหญ่พัฒนาแล้ว"ด้วย
แต่ประชากรส่วนที่ไม่พัฒนาของประเทศเดียวกัน ก็สุดนะครับ สุดแบบโคตรสุดเลย
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!