Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

ตั้งแต่เกิดโควิด-19 การทำงานที่บ้านก็กลายเป็นไฟล์ทบังคับของการทำงาน เมื่อโควิดซาลง พนักงานก็เริ่มชินกับการทำงานที่บ้านจนหลายบริษัทต้องปรับการทำงานมาเป็นแบบ hybrid ที่ผสมระหว่างการทำงานในออฟฟิศและการทำงานที่บ้าน รูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้เทรนด์การทำงานเปลี่ยนไปด้วย สิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในองค์กรก็ได้เห็นคราวนี้

เมื่อบริษัทต้องประนีประนอมกับความต้องการของพนักงานเพื่อแข่งขันกันดึงดูดคนเก่ง ๆ และมีทักษะเข้ามาทำงาน วัฒนธรรมการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง พามาดู 10 เทรนด์การทำงานยุคใหม่ รู้ไว้ก่อนจะได้ปรับตัวได้ทัน

ความเป็นธรรมและความเท่าเทียมเป็นประเด็นสำคัญในที่ทำงาน

การถกเถียงเรื่องความเป็นธรรมธรรมและความเท่าเทียมในด้านต่าง ๆ ทั้งชาติพันธุ์ การศึกษา ศาสนา และด้านอื่น ๆ กลายเป็นเรื่องสำคัญในองค์กรไปแล้ว จากการวิเคราะห์ของ Harvard Business Review ในการประชุมพนักงานของกลุ่มบริษัท S&P 500 พบว่าซีอีโอพูดเรื่องความเท่าเทียม ความเป็นธรรมและความครอบคลุมคนทุกกลุ่มมากขึ้นถึง 658% มาตั้งแต่ปี 2018

ประเด็นความเท่าเทียมทำให้เกิดการตั้งคำถามที่ถกเถียงกันได้ไม่จบ เช่น

  • ในบริษัทเดียวกัน ทำไมผู้จัดการบางคนให้พนักงานทำงานได้ยืดหยุ่นกว่า แต่ทำไมบางคนต้องเข้าและออกงานตรงเวลาที่กำหนดเท่านั้น
  • ถ้าพนักงานย้ายมาอยู่ที่ที่ค่าครองชีพถูกลงบริษัทควรจะลดเงินเดือนหรือไม่หากพนักงานยังทำงานได้ดีเท่าเดิม
  • โดยปกติในตลาดแรงงาน แรงงานใหม่จะได้รับค่าจ้างมากกว่าแรงงานที่ทำงานอยู่แล้ว 20% แล้วแบบนี้ยังถือว่ายุติธรรมอยู่ไหม
  • คำถามเรื่องสิทธิบางอย่างก็เช่นกัน อย่างกรณีในไทย บางส่วนเรียกร้องให้บริษัทให้วันลาคลอด 180 วัน แต่บางส่วนตั้งคำถามว่าแบบนี้ถือว่าไม่ยุติธรรมกับผู้ที่ไม่มีบุตรหรือไม่

Harvard Business Review มองว่าคำถามเรื่องความเท่าเทียมอาจกลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกในปีหน้า

ลดวันทำงานแทนการเพิ่มเงินเดือน

เป็นธรรมดาที่บริษัทจะต้องแข่งกันดึงคนเก่งเข้ามาในที่ทำงานโดยการให้เงินเดือนหรือค่าจ้างสูง ๆ แต่บางบริษัทที่ไม่ได้มีเงินมากมายขนาดนั้น การแข่งขันโดยการลดจำนวนชั่วโมงการทำงานของพนักงานก็เป็นตัวเลือกที่ดี และวิธีนี้ยังตอบรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่คนต้องการเวลาพักผ่อนมากขึ้นด้วย

ในสหรัฐฯ บริษัทบางแห่งเปลี่ยนเป็นการทำงาน 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือเทียบเท่ากับการทำงาน 4 วันเท่านั้นโดยจ่ายค่าจ้างเท่าเดิมเพื่อแข่งขันกันดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถและไม่ต้องการทำงานหนักเกินไป

No Description

พนักงานลาออกจากงานมากขึ้นเมื่อการทำงานแบบไฮบริด (hybrid work) และการทำงานนอกออฟฟิศ (remote work) กลายเป็นมาตรฐานใหม่

แน่นอนว่าปัจจุบันการทำงานแบบ hybrid และการทำงานที่บ้านเป็นมาตรฐานใหม่หลังจากมีโควิด-19 บริษัทใดที่บังคับให้พนักงานต้องเข้าไปทำงานในออฟฟิศอาจจะพบว่าพนักงานลาออกมากขึ้น

แต่ในทางกลับกัน การทำงานนอกสถานที่ก็ทำให้พนักงานลาออกได้เช่นกัน เหตุผลแรก คือ พนักงานทำงานที่บ้านและไม่ได้พบเจอเพื่อนร่วมงาน ทำให้พนักงานไม่สนิทกัน เหตุผลที่ว่าไม่ยอมลาออกจากที่ทำงานเพราะมีเพื่อนร่วมงานที่ดีจึงไม่ใช่เหตุผลที่ดีในการทำงานที่บริษัทหนึ่งเป็นระยะเวลานานอีกต่อไป

ส่วนเหตุผลข้อ 2 การไม่ต้องไปทำงานที่ออฟฟิศทำให้พนักงานสามารถเลือกทำงานกับบริษัทได้หลายแห่งขึ้น เพราะไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำงานในบริษัทที่ใกล้บ้านหรือใช้เวลาเดินทางไม่นานอีกต่อไป หรือแม้ว่าจะต้องทำงานแบบ hybrid การเดินทางไกลแต่เข้าออฟฟิศแค่ 1 วันต่อสัปดาห์ก็เป็นทางเลือกที่พนักงานมองว่าคุ้มอยู่ดี

การที่พนักงานลาออกจากงานมากขึ้นจะไม่ได้กระทบกับการขาดแคลนแรงงานแบบ The Great Resignation อีกต่อไป แต่จะกลายเป็น “sustained resignation” ที่พนักงานต่างโยกย้ายเข้า-ออกในแต่ละบริษัทสลับสับเปลี่ยนกันไป

งานด้านการจัดการจะหายไปเพราะใช้เทคโนโลยีแทน ผู้จัดการจะใกล้ชิดกับพนักงานมากขึ้น

งานวิจัยของ Harvard Business Review พบว่างานปัจจุบันของตำแหน่งผู้จัดการถึง 65% จะหายไปเพราะสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแทนภายในปี 2025 เช่น การจัดตารางงาน การอนุมัติรายงานค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้จัดการจะมีเวลาพูดคุยและเข้าถึงพนักงานมากขึ้น

ฝ่ายบริษัทมี 2 ทางเลือก คือ ลดจำนวนพนักงานในตำแหน่งผู้จัดการลงหรือเปลี่ยนหน้าที่ของผู้จัดการแทนซึ่งต้องอาศัยการเปลี่ยนทัศนคติและทักษะของผู้จัดการจากการทำงานด้านการจัดการมาเป็นการทำงานด้านการสร้างประสบการณ์ทำงานที่ดีให้กับพนักงานแทน

เครื่องมือที่ใช้ในการทำงานนอกสถานที่จะกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยวัดและพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน

การทำงานนอกสถานที่ทำให้หัวหน้าหรือผู้บริหารไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วพนักงานกำลังทำอะไรอยู่ ทำให้อาจจะเกิดอคติหรือความเข้าใจผิดขึ้นมาได้ ผลสำรวจจากบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษา Gartner ในช่วงปลายปี 2020 ที่สำรวจผู้จัดการเกือบ 3,000 คนเผยว่า ผู้จัดการและผู้บริหาร 64% เชื่อว่าพนักงานที่ทำงานในออฟฟิศทำงานได้ดีกว่าคนที่ทำงานนอกสถานที่ และ 76% เชื่อว่าผู้ที่ทำงานในออฟฟิศมีความเป็นไปได้ที่จะได้เลื่อนตำแหน่งมากกว่า

เครื่องมือการทำงานจะช่วยประเมินและวัดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และช่วยให้หัวหน้างานกระตุ้นการทำงานของพนักงานด้วย ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ในอนาคตเทคโนโลยีวิดีโอคอลทางไกลที่ใช้ในการประชุมอาจจะช่วยแสดงข้อมูลของผู้เข้าร่วมประชุมได้ หรืออาจผู้จัดการสามารถกระตุ้นให้ผู้ที่ไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในการประชุมได้มีส่วนร่วมมากขึ้น

บริษัทอาจให้พนักงานเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศเพราะการทำงานแบบ hybrid จัดการได้ยาก

แม้ว่าบริษัทในสหรัฐ 90% ตั้งเป้าว่าจะปรับเปลี่ยนไปสู่การทำงานแบบ hybrid ในปีนี้ แต่ในภายหลังอาจจะมีบริษัทที่เปลี่ยนมาเป็นการให้พนักงานเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ 100% เหตุผลหลัก ๆ ก็เพราะว่าประสิทธิภาพการทำงานลดลงวมทั้งทำให้มีผู้ลาออกมากดังที่กล่าวไปแล้วในข้อ 3 นอกจากนี้ พนักงานยังอาจทำงานในบริษัทหลายแห่งไปพร้อมกัน ส่วนวัฒนธรรมองค์กรก็เข้มแข็งน้อยลงเพราะพนักงานไม่ได้เจอหน้ากัน

ทั้งนี้ บริษัทก็ต้องระมัดระวังในการปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงานเพราะการบังคับให้พนักงานต้องเข้าออฟฟิศทุกวันก็อาจทำให้พนักงานลาออกกันมากขึ้นก็ได้

No Description

บริษัทให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพนักงาน

บริษัทอาจทำความเข้าใจพนักงานและให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมถึงสถานะทางการเงินของพนักงาน บริษัท Gartner เผยผลการสำรวจผู้บริหารฝ่ายทรัพยากร 52 คนในปี 2020 พบว่าบริษัท 94% ลงทุนจำนวนมากในการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ผลการวิเคราะห์ของ Gartner พบว่าพนักงานที่ใช้ประโยชน์จากโครงการพัฒนาความเป็นอยู่ 23% สุขภาพจิตดีขึ้น 17% สุขภาพกายแข็งแรงขึ้น ซึ่งเมื่อพนักงานมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานก็มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ พอระยะเวลาผ่านไป ผลการสำรวจพบว่ามีพนักงานแค่ 40% ที่เข้าร่วมรับข้อเสนอและสวัสดิการที่บริษัทจัดหาให้

อาจมีตำแหน่ง Chief Purpose Officer ในระดับ C-Level

เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ที่ทำงานก็ไม่ได้พูดคุยกันแค่เรื่องงาน แต่ยังพูดคุยถึงประเด็นทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมด้วย การทำงานจึงมีเรื่องทัศนคติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผลวิเคราะห์ของ Gartner เผยว่า 3 ใน 4 ของพนักงานคาดหวังให้ผู้บริหารแสดงทัศนคติของตนเองในประเด็นต่าง ๆ ด้วย

การที่ทัศนคติเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน ผลสำรวจแรงงานกว่า 500 คนที่ทำโดย Gartner เผยว่าพนักงานมากกว่า 44% หลีกเลี่ยงเพื่อนร่วมงานเพราะมีมุมมองด้านการเมืองไม่ตรงกัน นอกจากนี้ ยังพบว่าการมีส่วนร่วมของพนักงานลดลง 1 ใน 3 เมื่อพนักงานรู้สึกผิดหวังในทัศนคติของผู้บริหาร

เพราะสังคมการทำงานเปลี่ยนไป ในอนาคตอาจจะมีตำแหน่ง Chief Purpose Officer เกิดขึ้นมาเพื่อบริหารและดูแลด้านทัศนคติขององค์กร การสื่อสารและความสัมพันธ์ของพนักงาน

การนั่งโดยไม่ขยับ แทบจะกลายเป็นการสูบบุหรี่

การเปลี่ยนไปทำงานที่บ้านเป็นส่วนใหญ่หลังจากเกิดโควิด-19 ทำให้พนักงานจำนวนมากนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ได้ขยับร่างกาย ส่งผลให้น้ำหนักขึ้น การไม่ได้ขยับตัวทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องปัญหาสุขภาพมากขึ้น การนั่งเลยเป็นเรื่องอันตรายเหมือนกับว่าเราสูบบุหรี่

เป็นไปได้ว่าบริษัทจะจัดหาแผน สิทธิประโยชน์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นให้พนักงานขยับร่างกาย ที่น่าสนใจคือ การที่บริษัทมีนโยบายสนับสนุนการออกกำลังกายก็อาจจะทำให้พนักงานมีความคิดแง่ลบต่อบริษัทว่าบริษัทไม่ควรเข้ามายุ่งกับสุขภาพกายของตน นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ผู้มีความบกพร่องทางร่างกายไม่อยากมีส่วนร่วมกับกิจกรรมขององค์กรด้วย

No Description

การทำงานแบบ hybrid ทำให้แนวคิด DE&I ขององค์กรแย่ลง ถ้าไม่มีการจัดการเพิ่มเติม

หลัก DE&I ย่อมาจาก Diversity, Equity และ Inclusion ที่หมายถึงความหลากหลาย ความเท่าเทียม และความครอบคลุมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลักนี้กลายมาเป็นกระแสในวัฒนธรรมองค์กร

การที่หัวหน้างานหรือผู้บริหารมักจะเชื่อว่าพนักงานที่ทำงานที่ออฟฟิศจะทำงานได้ดีกว่าและมีโอกาสได้การเลื่อนขั้นมากกว่าแบบที่กล่าวไปในข้อ 5 ทำให้แนวคิด DE&I ไม่ประสบความสำเร็จในที่ทำงาน

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่าผู้หญิงและคนผิวสี (People of Color) ชอบทำงานที่บ้านมากกว่าที่ออฟฟิศเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายผิวขาว ดังนั้น ถ้าบริษัทไม่เข้ามาจัดการอะไรเพิ่มเติม ช่องว่างความต่างระหว่างค่าแรงของผู้ชายและผู้หญิงก็จะยิ่งห่างกันมากขึ้นและความหลากหลายในที่ทำงานก็จะน้อยลง กลุ่มคนส่วนน้อยในที่ทำงานก็อาจถูกกีดกันออกจากบทสนทนา โอกาสในอาชีพและคอนเนคชันที่ทำให้เติบโตในหน้าที่การงานได้

ในโลกที่แข่งขันกันหาคนเก่งมาทำงาน เทรนด์การทำงานจะเปลี่ยนไปในแง่ที่ใส่ใจกับพนักงานมากขึ้น ทั้งในเรื่องการให้เวลาส่วนตัวมากขึ้น ใส่ใจความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นและทัศนคติของพนักงาน ส่วนเรื่องรูปแบบการทำงาน การประนีประนอมกับความต้องการของพนักงานก็เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่บริษัทควรต้องใส่ใจ

เมื่อพอมองออกแล้วว่าเทรนด์การทำงานในอนาคตจะเป็นยังไง หางานสายเทคและสายไอทีที่เหมาะกับเราได้ที่ Blognone Jobs

ที่มา: Harvard Business Review

Get latest news from Blognone