หลังจากเกิดไวรัสโควิด-19 และบริษัทส่วนใหญ่เปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน หลายบริษัทมีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์มากไปจนทำให้เกิดสภาวะหมดไฟ(Burnout Syndrome) พอสถานการณ์กลับเป็นปกติ หลายบริษัทก็ยังให้ความสำคัญกับชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น จริง ๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานมีส่วนช่วยให้พนักงานมี work-life balance ทำให้สามารถสร้างงานที่มีคุณภาพไปพร้อม ๆ กับการใช้ชีวิตส่วนตัวได้
มีเทรนด์การเปลี่ยนเวลาการทำงาน 4 อย่างที่อาจกลายเป็นรูปแบบการทำงานใหม่ในอนาคตแทนที่การทำงาน 9 to 5 เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์
การลดเวลาการทำงานในแต่ละสัปดาห์ลงเริ่มกลายเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจ หลังจากที่ในช่วงโควิด-19 พนักงานจำนวนมากรู้สึกหมดไฟในการทำงาน การทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เริ่มขึ้นในบริษัทในหลายประเทศอย่างไอซ์แลนด์และสเปน และผลปรากฎว่าการทำงานน้อยลงทำให้พนักงานมี Productivity มากขึ้นจนทำให้หลายบริษัทนำรูปแบบการทำงานแบบนี้มาใช้อย่างถาวร
หรืออย่างในสหราชอาณาจักรที่มีการทดลองให้พนักงาน 3,300 คนจาก 73 ประเทศทดลองทำงาน 4 วัน ผลการสำรวจพบว่าบริษัท 83% ยังคงใช้นโยบายทำงานแบบนี้ต่อไป
การทำงานน้อยลงในหนึ่งสัปดาห์นอกจากทำให้พนักงานประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างเช่นค่าการเดินทางหรือค่าจ้างเลี้ยงลูกในช่วงเวลาทำงานแล้ว ยังมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยที่เราคาดไม่ถึง เพราะช่วยลดจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาด้วย
การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างตรงที่อาจจะทำให้ชั่วโมงการทำงานในแต่ละวันของพนักงานยาวขึ้นซึ่งเท่ากับว่าไม่ได้ลดเวลาการทำงานลงจริง ๆ หลายบริษัทพยายามแก้ปัญหาด้วยการลดชั่วโมงการทำงานลงหรือ 32-36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะเต็มใจจ่ายเงินเดือนเท่าเดิมให้พนักงานที่ทำงานน้อยลง
เมื่อการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ช่วยสร้าง Productivity ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเลยเสนอให้ชั่วโมงการทำงานในแต่ละวันน้อยลงด้วย บางคนเชื่อว่าระยะเวลาที่กำลังดีคือ 6 ชั่วโมงต่อวัน
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการทำงานในระยะสั้นกว่าจะทำให้พนักงานมี Productivity และมีส่วนร่วมในการทำงาน อย่างนอร์เวย์และเดนมาร์กที่มีชั่วโมงการทำงานในแต่ละสัปดาห์น้อยว่า 40 ชั่วโมง และทั้ง 2 ประเทศก็เป็นประเทศที่ Productive ที่สุดเป็นอันดับ 2 และอันดับ 7 ของโลกตามลำดับ
แม้ว่าจะยังอยู่ในขั้นชิมลางและไม่ได้รับความนิยมเท่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ แต่การลดชั่วโมงการทำงานในแต่ละวันลงก็อาจจะกลายเป็นความจริงในอนาคตถ้าทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน
โดยปกติแล้วพนักงานถูกคาดหวังว่าจะต้องทำงานติดกัน 8 ชั่วโมงแบบ 9 to 5 แต่ในช่วงโควิด-19 หลายบริษัทปรับให้ชั่วโมงการทำงานยืดหยุ่นมากขึ้น พนักงานสามารถกำหนดชั่วโมงการทำงานได้เองโดยยังมีการควบคุมให้อยู่ในกรอบเวลาที่เหมาะสม
การให้พนักงานสามารถเลือกเวลาได้เองทำให้สามารถทำงานในเวลาที่รู้สึก Productive และยังออกแบบเวลาให้เข้ากับการใช้ชีวิตได้ด้วย อย่างคนที่ชอบทำงานตอนเช้า ก็ตื่นมาทำงานแต่เช้าเลยได้ หรือจะเอาเวลาระหว่างวันซัก 1-2 ชั่วโมงไปรับลูกที่โรงเรียนแล้วค่อยกลับมาทำงานช่วงหัวค่ำก็ยังได้
โดยปกติแล้ว แม้บริษัทใหญ่ ๆ ที่มีพนักงานจากหลายประเทศ หลาย Time Zone บริษัทก็ยังกำหนดเวลาให้พนักงานเข้าทำงานตรงกัน แต่การทำงานแบบสลับกะหรือ Asynchronous work คือการที่บริษัทอนุญาตให้พนักงานทำงานเวลาไหนก็ได้ที่อาจจะไม่ตรงกับเวลาของเพื่อนร่วมงานเลยก็ได้ การทำงานแบบนี้ทำให้พนักงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ด้วย
เทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาช่วยในการทำงานทำให้ Asychronous work กลายเป็นรูปแบบการทำงานที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม รูปแบบการทำงานนี้ก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะงานที่สามารถทำสลับกะกันได้ เช่น งานในสายเทคโนโลยีหรือในบริษัทที่สามารถทำงานนอกสถานที่ได้ 100%
รูปแบบการทำงาน 4 ข้อนี้ถือเป็นตัวเลือกที่บริษัทสามารถเก็บไปคิดเพื่อช่วยเพิ่ม Productivity และคุณภาพงานของพนักงานไปพร้อม ๆ กับการให้พนักงานได้มีเวลาในการใช้ชีวิตส่วนตัวมากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มเวลาคุณภาพทั้งเวลาทำงานและเวลาพักผ่อน แม้จะยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตทางเลือกเหล่านี้อาจมีความเป็นไปได้มากขึ้นเพราะในปัจจุบันใคร ๆ ก็มองหางานที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า
สำหรับผู้ที่ต้องการหางานประจำด้านเทคโนโลยี หางานได้เลยที่ Blognone Jobs
ที่มา: BBC
Comments
กว่าบริษัทในไทยจะยอมรับบริบทนี้ น่าจะอีกนาน