หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าผู้ให้บริการคลาวด์อย่าง AWS นั้นมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกมอยู่ด้วย โดยใช้ชื่อตรงไปตรงมาว่า AWS for Games ซึ่งให้บริการโซลูชันตั้งแต่การพัฒนาเกม ไปจนถึงการรันเกมบนคลาวด์เลย ที่งาน AWS re:Invent 2022 เราได้มีโอกาสเข้าฟังทีมงานที่มาจากทีม AWS for Games โดยเฉพาะ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รู้จักธุรกิจส่วนนี้มากขึ้น
ผู้ที่มาพูดคือ Rob Schoeppe ตำแหน่ง General Manager – Game Tech Solutions และ Business Development ของ AWS โดยเขาอยู่กับ AWS ในฝั่งที่เกี่ยวข้องกับเกมมานาน 7 ปีแล้ว และก่อนหน้านั้นก็ทำงานด้านเกมมาตลอด เช่นที่ Namco, Bandai Namco และ Sony Mobile รวมแล้วกว่า 20 ปี ซึ่งเขาก็เคลมว่าตนเองเป็นคนที่เล่นเกม, ทำเกม และหายใจเป็นเกม
Rob บอกว่าการทำเกมมักแบ่งเป็น 3 เฟส คือสร้างเกม, ให้บริการเกม และทำให้เกมเติบโต ซึ่ง AWS ได้แบ่งโซลูชันสำหรับเกมออกเป็น 5 ด้านคือ เซิฟเวอร์เกม, การวิเคราะห์เกม, การให้บริการเกม, AI/ML และความปลอดภัยของเกม โดยลูกค้าของ AWS มักบอกว่าสิ่งที่ยากคือแม้ AWS จะมีโซลูชันและบริการมากมาย แต่บางทีพวกเขาก็ไม่รู้ว่าควรจะเริ่มตรงไหน (อย่าลืมว่าลูกค้ามีตั้งแต่สตูดิโอเกมอินดี้เล็กๆ ที่อาจไม่เชี่ยวชาญด้านคลาวด์มากนัก ไปจนถึงบริษัทเกมใหญ่ๆ) ทำให้ AWS เช้ามาช่วยให้คำแนะนำได้ว่าลูกค้าอยากได้ผลลัพธ์เป็นแบบไหนและต้องทำอะไรบ้าง
เมื่อกลางปี 2021 AWS ได้เปิดตัว Amazon GameSparks เป็นบริการสำหรับรัน backend ของเกมที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่าย มีความยืนหยุ่นสูง ให้บริการด้านการเก็บโปรไฟล์ผู้เล่น, การล็อกอินเข้าเกม, เก็บข้อมูลและความคืบหน้าของผู้เล่น รวมถึงสามารถทำงานร่วมกับ AWS Lambda และ DynamoDB ได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้มีขึ้นเพื่อให้สตูดิโอพัฒนาเกมที่ไม่เชี่ยวชาญด้านคลาวด์มากนักสามารถใช้งานได้ง่ายๆ เพราะระบบล็อกอินหรืออื่นๆ เป็นสิ่งสำคัญของเกมแต่มักน่าเบื่อและกินเวลาเยอะหากต้องทำขึ้นเอง การใช้ GameSparks จึงง่ายกว่าและผู้พัฒนาเกมสามารถเอาเวลาไปโฟกัสกับสิ่งหลักๆ ในการทำเกมได้เยอะขึ้น โดยขณะนี้ GameSparks อยู่ในสถานะ Public Preview เปิดให้ใช้งานได้ฟรี และเมื่อเดือนที่แล้วก็เพิ่งเปิดให้บริการในรีเจี้ยนโตเกียวเพิ่มเติม
ของใหม่อีกอย่างที่เพิ่งเปิดตัวคือ Community Health เป็นบริการดูแลผู้เล่นและป้องกันการกระทำไม่เหมาะสมในชุมชนผู้เล่นของเกม เช่น hate speech และการโกงเกม โดย Rob ระบุว่าชุมชนผู้เล่นนั้นสำคัญมาก เกมจะอยู่หรือดับก็ขึ้นอยู่กับผู้เล่น หากเกมไหนมีการด่าหรือการกระทำด้านลบหนักๆ ก็จะทำให้ผู้เล่นเอือมระอาและเลิกเล่นเกมนั้นๆ ไปในที่สุด ซึ่ง Community Health ใช้ AI ที่สามารถตรวจจับ hate speech รวมถึงพฤติกรรมน่าสงสัยว่าจะโกงเกมได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นผู้ให้บริการเกมก็มีหน้าที่จัดการกับผู้เล่นที่ระบบชี้ตัวให้ ซึ่งหวังว่าจะช่วยให้บรรยากาศโดยรวมในเกมดีขึ้น
ต่อมาเป็นของใหม่ด้าน infrastructure ชื่อ Amazon GameLift Anywhere เป็นบริการที่เปิดให้ลูกค้ายกเกมไปรันบนเซิฟเวอร์ใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น AWS แต่ยังจัดการผ่าน AWS ได้อยู่ ประโยชน์คือสามารถเอาเกมไปรันในที่ที่ใกล้กับผู้เล่นได้มากขึ้นหากเรามีเซิฟเวอร์อยู่แล้วหรือแม้กระทั่งเป็นคลาวด์เจ้าอื่น ไม่จำเป็นต้องมากังวลกับการจัดการเซิฟเวอร์มากนัก และนำเกมออกให้บริการได้เร็วขึ้น
อีกอย่างที่ AWS เปิดตัวใหม่ชื่อ RealityScan เป็นผลงานร่วมกับ Epic Games คือแอพมือถือสำหรับถ่ายรูปวัตถุใดๆ ในโลกจริงแล้วแอพจะสร้างเป็นโมเดลสามมิติให้อัตโนมัติ พร้อมนำเข้าไปเป็นวัตถุในเกมได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาวาดวัตถุขึ้นมาจากความว่างเปล่า โดยเบื้องหลังทำงานบน Unreal Engine และรันบน AWS ซึ่ง Rob ยกตัวอย่างการทำเกมแข่งรถ ก็ไม่ต้องเสียเวลาสร้างโมเดลสามมิติขึ้นมาเอง แต่ออกไปถ่ายรูปรถก็ได้โมเดลพร้อมใช้งานเลย ขณะนี้แอพ RealityScan มีให้บริการบน iOS อย่างเดียวเท่านั้น
อย่างสุดท้ายที่ Rob พูดถึงของใหม่คือ AWS SimSpace Weaver เป็นบริการสร้างโลกจำลองเพื่อดูว่าการออกแบบของเรานั้นดีหรือไม่ เช่นผู้พัฒนาเกมอาจจำลองเมือง Las Vegas ขึ้นมาแล้วใส่คนเดินถนนเข้าไปจำนวนมาก มีรถแล่นไปมา มีไฟจราจร จากนั้นก็อาจเพิ่มวัตถุบางอย่างเข้าไปแล้วดูว่าพฤติกรรมของคนเดินถนนจะเป็นอย่างไร และปรับการออกแบบกันต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าบริการนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เฉพาะด้านเกมเท่านั้น แต่ใครก็ตามที่ทำงานด้านการออกแบบก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน โดย SimSpace Weaver นั้นทำงานร่วมกับ Unreal Engine และ Unity ผู้พัฒนาเกมอาจใช้การสร้างโลกจำลองมาปรับเข้ากับเกมที่ออกแบบอยู่ก็ได้
ในช่วงถามตอบ Rob ได้พูดถึงความปลอดภัยที่ AWS มอบให้ โดย AWS มีบริการหลากหลายเช่น Shield และ Shield Advanced สำหรับป้องกันการถูกโจมตีแบบ DDoS
Rob ยังได้กล่าวถึง cloud gaming หรือบริการเล่นเกมผ่านคลาวด์ที่ผู้เล่นไม่ต้องลงทุนซื้อคอนโซลหรือพีซีราคาแพงสำหรับเล่นเกม เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์ทั่วไปกับอินเทอร์เน็ตที่แรงพอแล้วสตรีมเกมเข้ามาแทน เช่น Stadia, Xbox Cloud Gaming (ชื่อเดิม xCloud) และ Nvidia GeForce Now โดยเขาบอกว่าคลาวด์เกมมิ่งนั้นมีอนาคตที่สดใสอย่างมาก เพราะปัจจุบันผู้ผลิตเกมต้องตัดสินใจว่าจะทำเกมลงแพลตฟอร์มใดบ้าง (พีซี, PlayStation, Xbox, มือถือ) และต้องจัดลำดับความสำคัญ แต่หากทำเกมลงคลาวด์เกมมิ่งเลยก็ไม่ต้องเลือก เพราะสตรีมเกมไปหาผู้เล่นทั่วโลกได้ทันที ไม่ต้องพัฒนาหลายแพลตฟอร์ม แถมยังเข้าถึงผู้เล่นได้เยอะกว่ามาก เพราะที่ผ่านมาผู้เล่นบางคนก็อดเล่นเกมใหม่ๆ เพราะไม่มีอุปกรณ์ที่แรงพอ
อย่างไรก็ตาม Rob ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุที่ Google Stadia ล้มเหลวและต้องปิดบริการไปในที่สุด เขาเพียงแต่บอกว่ากุญแจสำคัญที่จะทำให้คลาวด์เกมมิ่งสำเร็จคือการที่มี infrastructure ใกล้กับผู้เล่นให้มากที่สุด รวมถึงมีพลังการประมวลผลกราฟิกที่สูงและใกล้ผู้เล่นมากพอ เพื่อให้ประสบการณ์ของผู้เล่นดีที่สุด ซึ่ง AWS พร้อมอยู่แล้วเพราะมีรีเจี้ยนทั่วโลกและ edge location ที่มาในรูปแบบ Local Zones
Rob ให้ความเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกมในอาเซียนว่าแข็งแกร่งมาก มีเกมดีๆ ออกมาจากภูมิภาคนี้มากมายที่ผู้เล่นฝั่งตะวันตกนิยม เขาสังเกตเห็นว่ามีนวัตกรรมใหม่ๆ เยอะ รวมถึงมีกลไกของเกม (game mechanics) และวิธีการเล่นที่แปลกใหม่ออกมามากมาย
สุดท้าย Rob บอกว่าเกมที่เขาชอบมากที่สุดคือ Horizon Forbidden West เกม RPG แบบ open world ที่เพิ่งออกมาเมื่อต้นปี 2022 บนแพลตฟอร์ม PS4 และ PS5 ขึ้นชื่อเรื่องกราฟิกที่สวยงาม กระแสตอบรับรวมถึงรีวิวดีมาก แต่หากเป็นเกมที่รันอยู่บน AWS เขาบอกว่าชอบ League of Legends มากที่สุด รวมถึง PUBG และ Fortnite เช่นกัน