ประเทศไทยถือว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมากมาย ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการบ่มเพาะสตาร์ทอัพให้เติบโตและก้าวไปได้ไกลกลายเป็น ยูนิคอร์น ของวงการ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีปัญหาสำคัญที่ถือว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตของสตาร์ทอัพในไทย นั่นก็คือ โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและผู้มีประสบการณ์ที่จะเข้ามาให้คำปรึกษานั้นมีน้อย จึงทำให้เปอร์เซ็นต์แห่งความสำเร็จลดลง หรือไปได้ไม่ไกลอย่างที่ตั้งเป้าไว้ เรียกได้ว่ามีสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จนั้นน้อยมากๆ ทำให้ในปัจจุบันมีหลายภาคส่วนที่เล็งเห็นความสำคัญและต้องการสนับสนุน จึงเข้ามามีบทบาทในการเปิดพื้นที่มอบโอกาสเพื่อเป็นแรงผลักดันและสนับสนุนให้กับสตาร์ทอัพไทยประสบความสำเร็จ
เราจึงอยากพามาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งสุดยอดโปรแกรมปั้นสตาร์ทอัพคุณภาพที่เพิ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก แต่กลับได้รับกระแสตอบรับดีเป็นอย่างมาก นั่นคือ Krungsri UPcelerator ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรุงศรี ฟินโนเวต และ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ STeP มาดูกันว่าทำไมถึงได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากเกินคาดขนาดนี้ และมีสตาร์ทอัพทีมไหนที่น่าสนใจ มาถอดความสำเร็จของโปรแกรมนี้ไปด้วยกัน
แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด เล่าให้ฟังว่า “Krungsri UPcelerator ถูกจัดขึ้นมาจากการที่ กรุงศรี ฟินโนเวต เล็งเห็นปัญหาของวงการสตาร์ทอัพไทยที่ถึงแม้จะเป็นแหล่งรวมสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพมากมายอีกประเทศหนึ่ง แต่ก็มีสตาร์ทอัพจำนวนไม่มากที่ก้าวไปถึงฝั่งฝันแห่งความสำเร็จได้ เพราะเรายังขาดผู้สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและที่ปรึกษาเฉพาะด้านที่มีองค์ความรู้รวมถึงประสบการณ์จริง ที่จะเป็นส่วนช่วยนำพาสตาร์ทอัพไปสู่ความสำเร็จจนกลายเป็น ยูนิคอร์น แห่งวงการสตาร์ทอัพ ซึ่งผมมองว่าหากเราสามารถเข้าไปช่วยลดช่องว่างในส่วนนี้ให้น้อยลงได้ จะทำให้เปอร์เซ็นต์ของสตาร์ทอัพในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้น กรุงศรี ฟินโนเวต จึงอยากเข้ามาช่วยสนับสนุนในส่วนนี้เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพไทยเข้าถึงทั้งแหล่งเงินทุนและที่ปรึกษามากประสบการณ์ในวงการสตาร์ทอัพ ผ่านโปรแกรมดีๆ อย่าง Krungsri UPcelerator อีกหนึ่งโปรแกรมที่จะอยู่เคียงข้างสตาร์ทอัพไทยและพัฒนาศักยภาพสร้างความเติบโตไปด้วยกัน”
โดยความสำเร็จในครั้งนี้ของโปรแกรม Krungsri UPcelerator ที่ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ไม่ใช่เพียงแค่ความน่าเชื่อถือและความที่เป็นองค์กรระดับประเทศของ กรุงศรี ฟินโนเวต และ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ STeP เท่านั้น แต่สิ่งที่ Krungsri UPcelerator จัดเตรียมไว้ให้เหล่าสตาร์ทอัพเมื่อผ่านเข้ารอบไปสู่ Boot Camp นั่นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นโอกาสทองที่ไม่ได้หากันง่ายๆ ซึ่งจะช่วยเสริมแกร่งและเพิ่มศักยภาพให้กับสตาร์ทอัพได้มากขึ้น ทั้งยังมีเหล่าสุดยอด Mentor ระดับประเทศ ที่มีองค์ความรู้ความเข้าใจเฉพาะด้านอย่างลึกซึ้ง ทั้งยังประสบความสำเร็จในธุรกิจเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้ นอกจากนั้นทีมที่ชนะเลิศยังได้รับเงินรางวัลกว่า 300,000 บาท ได้รับโอกาสร่วมงานกับ Krungsri Innovation Center และบินลัดฟ้าไปเปิดโลกทัศน์เพิ่มประสบการณ์ในงานสตาร์ทอัพสุดยิ่งใหญ่ Echelon Asia Summit 2023 ที่ประเทศสิงคโปร์อีกด้วย จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเปิดโปรแกรมเพียงปีแรก ก็ทำให้มีสตาร์ทอัพสนใจและส่งใบสมัครเข้ามากันอย่างล้นหลาม
โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยค้นหาที่สุดของสตาร์ทอัพ ได้แก่ 1) คุณแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด 2) ผศ.ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการ STeP 3) คุณชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท ไฟร์ วัน วัน จำกัด 4) คุณธานี ศรีกุญชร ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ 5) คุณพลิศ ฐิตธรรมพันธุ์ ผู้จัดการการลงทุน บริษัท เอ็น-เวสต์ เวนเจอร์ จำกัด
หลังจาก Krungsri UPcelerator เปิดรับสมัครได้ไม่นานก็มีใบสมัครส่งเข้ามามากถึง ถึงแม้จะเป็นปีแรก แต่มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 104 ทีม และถูกคัดเลือกให้เข้ารอบเพื่อรับการติวเข้มเพียง 12 ทีมเท่านั้น จากสุดยอด Mentor ระดับประเทศที่มีองค์ความรู้เฉพาะด้าน และมีประสบการณ์ความสำเร็จในธุรกิจ เข้ามาช่วยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ถือเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายๆ โดยทั้ง 12 ทีมจะได้รับการติวเข้มใน Boot Camp เป็นเวลา 2 เดือน จากนั้นต้องมานำเสนอธุรกิจให้กับคณะกรรมการ โดยการ Pitching ในครั้งนี้ถือว่าดุเดือดมาก แต่ละทีมแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ งัดไม้เด็ด กลยุทธ์ต่างๆ ออกมาสู้กันจนทำให้คณะกรรมการหนักใจ แต่ในที่สุดคณะกรรมการก็ลงมติให้ ทีม Daywork ซึ่งเป็นทีมที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับแพลตฟอร์มสรรหา และบริหารงานพนักงานพาร์ทไทม์ ช่วยลดความยุ่งยากและเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นผู้ชนะเลิศ ที่สามารถแสดงความโดดเด่นออกมาได้อย่างน่าประทับใจ โดยมีหัวหน้าทีมคือ คุณธีรศักดิ์ มูลตุ้ย CTO, Daywork
นอกจากนั้น ทีมรองชนะเลิศอย่างทีม Hangles ก็เป็นอีกทีมที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยทีมนี้เป็นแพลตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าแฟชันมือสองที่เป็นคอมมูนิตี้สำหรับสายแฟแคร์โลก โดยมี คุณเพ็ญพิชา สันตินธรกุล, คุณพิชชาธร สันตินธรกุล Co-founder, Hangles เป็นผู้นำทีม และยังมีอีก 3 ทีมที่ทำผลงานได้ดีเยี่ยม ได้แก่ OneCharge, Tambaan, cWallet ที่ได้รับรางวัลพิเศษจาก Krungsri Innovation Center พร้อมทั้งจะได้รับโอกาสร่วมงานกับกรุงศรีกรุ๊ปอีกด้วย
ทางด้าน ผศ.ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการ STeP เสริมอีกว่า “จากการได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดโปรแกรม Krungsri UPcelerator ขึ้นในครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาของสตาร์ทอัพที่เพิ่มมากขึ้น เห็นถึงประโยชน์ที่ไม่ใช่เพียงแค่เงินรางวัล แต่เป็นองค์ความรู้และประสบการณ์ที่สามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ได้จริง นอกจากนั้นเมื่อทั้ง 12 ทีมได้นำเสนอผลงาน ทำให้ผมมองเห็นถึงศักยภาพและอนาคตของสตาร์ทอัพไทยที่จะสามารถไปถึงเป้าหมายแห่งความสำเร็จได้อย่างแน่นอน”
Krungsri UPcelerator เป็นพื้นที่แห่งโอกาสของสตาร์ทอัพไทยที่จะช่วยเสริมองค์ความรู้ เพิ่มประสบการณ์ และพัฒนาศักยภาพของธุรกิจให้สามารถก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้นต่อยอดความสำเร็จให้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น บอกได้เลยว่าเหล่าสตาร์ทอัพที่มองหาโอกาสและความสำเร็จ ต้องห้ามพลาด!! ที่จะเข้าร่วมโปรแกรมในครั้งต่อไป
สามารถดูข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊คเพจ Krungsri Finnovate หรือ https://www.facebook.com/KrungsriFinnovate/