Proton บริษัทเจ้าของบริการอีเมล Proton Mail, Proton Drive, Proton VPN, Proton Pass ฉลองครบ 10 ปี ด้วยการปรับโครงสร้างใหม่เป็นองค์กรใหม่หวังผลกำไร โดยตั้งมูลนิธิ Proton Foundation ขึ้นมาเป็นองค์กรแม่
โครงสร้างใหม่ของ Proton คล้ายกับ Mozilla คือมีหน่วยงานไม่หวังผลกำไร Proton Foundation เป็นองค์กรระดับสูงสุด มีหน้าที่ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท Proton AG ทำหน้าที่ให้บริการต่างๆ ในเชิงพาณิชย์อีกที เหตุผลที่ใช้โครงสร้างแบบนี้เพราะต้องการให้บริการในเครือ Proton เลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืนด้วยการขายบริการให้ผู้ใช้โดยตรง ซึ่งต่างจาก Signal Foundation ที่อยู่ได้ด้วยเงินจากนายทุนใจบุญ หรือ Mozilla Foundation ที่อยู่ด้วยสัญญาเชิงพาณิชย์บริษัทอื่น และต่างจาก Wikimedia Foundation ที่อยู่ด้วยเงินบริจาคจากผู้ใช้
กลุ่มผู้ก่อตั้ง Proton จะบริจาคหุ้นของตัวเองให้ Proton Foundation เพื่อให้ตัวมูลนิธิกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Proton AG มีสิทธิมีเสียงในการกำหนดทิศทางของบริษัท ส่วนบอร์ดของมูลนิธิ ประกอบด้วยผู้ก่อตั้ง Proton ทั้งสองรายคือ Andy Yen และ Dingchao Lu ร่วมกับคนนอกอีกสามราย หนึ่งในนั้นมี Sir Tim Berners Lee ผู้คิดค้น world wide web ด้วย
ในมุมของผู้ใช้งาน การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ Proton ไม่ส่งผลกระทบต่อบริการปัจจุบัน แต่ผู้ก่อตั้งบอกว่าการปรับโครงสร้างจะช่วยให้ Proton มีความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใสมากขึ้นในระยะถัดไป
ที่มา - Proton
Comments
เห็นด้วยกับแนวทางแบบนี้ แต่ทำตลาดยากเหลือเกินเพราะเจ้าอื่นเสนอของฟรี T-T
เจ้านี้ก็มีของฟรีให้ใช้ครับ
ไม่จำกัดปริมาณข้อมูล
แต่จำกัดให้ใช้ได้ทีละ 1 เครื่อง Proton VPN
ความน่าเชื่อถือสูงกว่าไอ้พวกของฟรีเจ้าอื่นหลายขุมครับ
จริงๆ พูดถึงตัวหลักอย่าง email น่ะฮะ เพิ่งรู้ว่ามีตัวฟรีให้ใช้เมื่อวานตอนเปิดไปดูเว็บเค้าเหมือนกันฮะแต่คงไม่ย้ายเมล T-T
VPN ลองติดตั้งดูแล้วเมื่อวาน เผื่อไว้จำเป็น (แต่ยังนึกเคสที่ว่าจำเป็นไม่ออกเท่าไหร่) กับว่าจะลองย้ายมาใช้ตัว password manager ของเค้าดู