นับจากไมโครซอฟท์จับมือ Qualcomm เปิดตัวพีซีพลัง Snapdragon X ช่วงกลางปี 2024 ตลาดพีซีสายวินโดวส์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป การมาถึงของซีพียูสถาปัตยกรรม Arm (รอบนี้มาแบบจริงๆ จังๆ ไม่ได้มาเล่นๆ เหมือนคราวก่อนๆ) ทำให้ตลาดมีตัวเลือกโน้ตบุ๊กวินโดวส์ที่แบตเตอรี่ใช้ได้ยาวนานกว่าเดิมมาก
ข้อจำกัดของพีซี Snapdragon ในปี 2024 คือใช้ Snapdragon X Elite รุ่นท็อป หรือ Snapdragon X Plus รุ่นรองท็อป ทำให้ค่าเครื่องยังมีราคาค่อนข้างแพง เมื่อเทียบกับพีซี x86 ตัวล่างๆ ในตลาด แต่ข้อจำกัดนี้เริ่มถูกทำลายลงไปในเดือนมกราคม 2025 เมื่อ Qualcomm ออก Snapdragon X รุ่นธรรมดา (X1-26-100) มาทำตลาด
ในบรรดาโน้ตบุ๊ก Snapdragon X ที่เปิดตัวช่วงต้นปี 2025 มีตัวหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ASUS Zenbook A14 ที่ผสมผสานทั้งแบตอึดด้วย Snapdragon บวกกับน้ำหนักเบาเพียง 980 กรัม และขายในราคาไม่แพงเกินไปนักคือ 39,990 บาท
สเปกละเอียดดูได้จาก เว็บไซต์ ASUS
ทั้งหมดอยู่ภายในน้ำหนักเครื่อง 980 กรัม ซึ่งถือว่าน่าประทับใจมากสำหรับโน้ตบุ๊กขนาดหน้าจอ 14" ราคาระดับปานกลาง ไม่ได้เป็นโน้ตบุ๊กพรีเมียมที่ราคาแพงๆ แบบในอดีตที่ผ่านมา
ต้องกำกับไว้สักนิดว่า Zenbook A14 ชูจุดเด่นเรื่อง "เบา" แต่ไม่ได้เน้นเรื่อง "บาง" มากนัก ซึ่งกลับเป็นผลดีเพราะสามารถใส่พอร์ตขนาดใหญ่หน่อยอย่าง HDMI กับ USB-A มาให้เลย ไม่ต้องไปลำบากหาตัวแปลงให้ยากลำบากอีก (เรียกได้ว่า "บางพอดีอย่างมีคุณค่า")
ทัชแพดที่ให้มาถือว่ากว้างและใช้ได้ดี สามารถตั้งค่า gesture ได้เพิ่มถ้าต้องการ (เช่น ลากจากมุมเข้ามา) คีย์บอร์ดมี backlight ระยะลึก 1.3 มิลลิเมตร ลองพิมพ์แล้วเบาและคล่องดี มีข้อติอยู่บ้างตรงที่ไม่มีปุ่ม Page Up/Down, Home, End แยกเฉพาะมาให้ด้วย ทั้งที่มีพื้นที่เพียงพอ (สามารถกด Fn+ปุ่มลูกศรแทนได้)
เคล็ดลับของน้ำหนัก 980 กรัมที่ ASUS ทำได้สำเร็จ มาจากวัสดุแบบใหม่ที่เรียกว่า Ceraluminum ซึ่งเกิดจาก เซรามิก ผสมกับ อะลูมิเนียม
ASUS โฆษณาว่า Ceraluminum ทำให้น้ำหนักเครื่องเบากว่าเดิม 30% และในทางกลับกันยังแข็งแรงขึ้น 3 เท่า ทนต่อรอยขีดข่วน และรอยนิ้วมือ ซึ่งจากการลองใช้แล้วก็เป็นจริงตามนั้น ตัวเครื่องไม่มันวาวจนเห็นรอยนิ้วมือได้ง่าย จับแล้วจะรู้สึกสากๆ ด้านๆ หน่อยแต่ก็ไม่มากเกินไป
Ceraluminum ถูกใช้ครั้งแรกใน ASUS Zenbook S14 OLED (เปิดตัวกันยายน 2024, ราคาขยับขึ้นไปอีกขั้น 62,990 บาท) แต่ตอนนั้นจำกัดเฉพาะฝาบนเท่านั้น พอมาถึง Zenbook A14 ดู ASUS มั่นใจกับวัสดุมากขึ้น จึงขยายมาใช้ Ceraluminum ให้ครอบคลุมตัวบอดี้ทั้งหมด ช่วยให้น้ำหนัก 980 กรัมเป็นจริงได้
สีของเครื่องรุ่นที่ได้มาเป็นสีเบจ Zabriskie Beige ที่แตกต่างจากโน้ตบุ๊กโทนสีเทา-เงินในตลาดอยู่พอสมควร (สีทำมาสวยดีด้วย) อีกสีที่มีให้เลือกคือเทา Iceland Gray มาตรฐานทั่วไป
ก่อนเข้าเรื่องแบตเตอรี่ ผมคิดว่าทุกคนที่ยังไม่เคยใช้โน้ตบุ๊กวินโดวส์ที่เป็น Arm คงกังขาอยู่พอสมควร ว่าต่อให้แบตอึดจริง แต่ถ้าแอพที่ต้องใช้งานกลับไม่รองรับ ก็คงไม่มีประโยชน์
ตอนนี้ปี 2025 ต้องบอกว่าสถานการณ์ของซีพียู Arm บนโลกวินโดวส์นั้นดึขึ้นมากแล้ว (แม้ยังไม่เท่ากับฝั่งแมคที่เปลี่ยนผ่านได้ดีกว่า) แอพสำคัญๆ เริ่มทยอยรองรับ Arm เพิ่มขึ้นมาก และเราสามารถตรวจสอบได้จากเว็บ WindowsOnArm.org เว็บเดียวได้เลย มีข้อมูลของแอพทั้งหมด 657 ตัว และน่าจะครอบคลุมแอพดังๆ ที่ใช้บ่อยๆ เกือบหมดแล้ว ข้อมูลบนเว็บนี้รวบรวมโดยอาสาสมัคร (ไมโครซอฟท์ไปช่วยสปอนเซอร์) และอัพเดตต่อเนื่องตลอดเวลา
แอพบน Arm แบ่งออกได้เป็น 3 สถานะหลักคือ รองรับเต็มรูปแบบ (Native), ยังไม่มีเวอร์ชัน Arm แต่ทำงานได้ (Emulated) และรันไม่ได้เลย (Not Supported)
เท่าที่ผมลองค้นหาแอพที่ตัวเองใช้บ่อยๆ พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Native และ Emulated เกือบหมดแล้ว จะมียกเว้นเยอะๆ หน่อยคือกลุ่มไคลเอนต์เชื่อมต่อ VPN บางส่วน (ต้องไปไล่เช็คเป็นรายตัว) และเกม แอพชื่อดังที่ยังไม่รองรับ Arm เลยน่าจะมีแต่ AutoCAD, Box และ VirtualBox
แอพดังๆ เกือบทั้งหมดรองรับแบบเนทีฟแล้ว เช่น เบราว์เซอร์ (Chrome, Firefox, Edge, Opera, Brave, Vivaldi) แอพสายทำงาน (Office, Google Drive, Dropbox, Photoshop, Illustrator, Lightroom, Blender) แอพสายแชท (Teams, Slack, Zoom, WhatsApp, Telegram)
กลุ่มที่ยังไม่มีแอพเนทีฟ Arm แต่สามารถรันแบบ Emulated ได้ยังมีบ้างประปราย เช่น Discord, Acrobat Reader, Apple Music, Steam ภาพรวมคือยังมีให้ใช้งานได้
โน้ตบุ๊กพลัง Snapdragon มีจุดเด่นที่แบตเตอรี่เหนือกว่า x86 แน่นอน แต่จะอึดแค่ไหนขึ้นกับการปรับจูนพลังงานของแต่ละรุ่นแต่ละค่าย ตัวอย่างโน้ตบุ๊กเด่นๆ ในกลุ่มแบตอึดตอนนี้คือ Lenovo ThinkBook 16 Gen 7 QOY ที่เว็บไซต์ Notebookcheck ทดสอบแล้วอยู่ได้จริงถึงเกือบ 27 ชั่วโมง แต่นั่นคือ โน้ตบุ๊กขนาด 16" ที่น้ำหนัก 1.86 กิโลกรัม แบตเตอรี่ 84 Whr
กรณีของ Zenbook A14 ที่เบากว่ากันเกือบครึ่ง แบตอาจไม่อึดขนาดนั้น ตัวเลขที่ ASUS นำมาโชว์คือ 32 ชั่วโมง แต่มันเป็นตัวเลขสุดทางคือเป็นการรันวิดีโอ 1080p แบบไฟล์ในเครื่อง ไม่เปิด Wi-Fi และปรับค่าประหยัดพลังงานแบบสุดๆ เพื่อปั๊มเลข
ตัวเลขอีกตัวที่ ASUS นำมาโชว์คือ ใช้งานออนไลน์ โซเชียลทั่วไป ได้สูงสุด 19.5 ชั่วโมง ซึ่งน่าจะสะท้อนการใช้งานของคนทั่วไปมากกว่า (แต่ก็ยังปรับความสว่างจอลง) เท่าที่ลองใช้งานมาประมาณ 1 สัปดาห์ แบตเตอรี่ที่ระบบรายงานอยู่ได้ประมาณ 11-12 ชั่วโมง (Notebookcheck รันทดสอบได้ 15 ชั่วโมง) ซึ่งในทางปฏิบัติก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการถือออกไปทำงานนอกบ้านทั้งวัน โดยไม่ต้องติดสายชาร์จไปด้วย
แม้ว่าซีพียู Snapdragon X ตัวที่เลือกใช้เป็นตัวบรรดาศักดิ์ต่ำสุดของ Snapdragon X ทั้งหมด แต่ประสิทธิภาพในการใช้งานทั่วๆ ท่องเว็บ พิมพ์งาน แต่งภาพง่ายๆ ไปถือว่าทำได้ดีไม่มีปัญหาอะไร (ทั้งนี้ต้องบอกว่าไม่ได้ลองใช้เล่นเกม หรืองานที่ต้องใช้พลังซีพียูสูงๆ อย่างการเข้ารหัสวิดีโอ)
ยิ่งพอเป็น Arm แทบไม่เจอปัญหาซีพียูถูก throttle แบบเดียวกับฝั่ง x86 ด้วย เครื่องทำงานได้เงียบและเย็นตลอดเวลา
Zenbook A14 อาจมีข้อจำกัดเรื่องสเปกอยู่บ้าง เช่น ซีพียูไม่ได้แรงที่สุด, ไม่รองรับ Wi-Fi 7, หน้าจอแค่ 60Hz, ไม่มีตัวสแกนลายนิ้วมือ (แม้มีฟีเจอร์หลายอย่างทำออกมาได้ดี เช่น เว็บแคมดีมีกล้อง IR, คีย์บอร์ดใช้ได้, ทัชแพดทำดี)
แต่ถ้าดูภาพรวมแล้ว ผมคิดว่าแกนหลักของ Zenbook A14 มีองค์ประกอบ 3 ส่วนที่หาพร้อมกันได้ยากในพีซีวินโดวส์ก่อนหน้านี้ นั่นคือ น้ำหนักเบา พกพาสะดวก, แบตอึดตามสมควร (12 ชั่วโมงพอกับการใช้ทำงาน 1 วัน) และราคาที่ไม่แพงจนเกินไป (ราคาเต็ม 39,990 บาท ถ้าไม่รีบซื้อช่วงเปิดตัว รอลดราคาก็ได้คุ้มกว่านี้)
หากรู้ว่าต้องการใช้มาทำงานทั่วๆ ไป ไม่เล่นเกม ไม่เอาความแรงมาก รู้ตัวว่าต้องการใช้แอพอะไรบ้างที่มีแบบเนทีฟ และเน้นการพกพานอกสถานที่เป็นหลัก Zenbook A14 น่าจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากเป็นอันดับต้นๆ ในท้องตลาดสำหรับโน้ตบุ๊กลักษณะนี้
Comments
ขายในราคาไม่แพงเกินไปนักคือ 39,990 บาท
สี่หมื่นนี่คือไม่แพง
Zenbook A14 อาจมีข้อจำกัดเรื่องสเปกอยู่บ้าง เช่น ซีพียูไม่ได้แรงที่สุด, ไม่รองรับ Wi-Fi 7, หน้าจอแค่ 60Hz, ไม่มีตัวสแกนลายนิ้วมือ
ถ้าจ่ายค่าโน้ตบุ้คตัวละสี่หมื่น (39990) แล้วได้แค่หางแถว อยู่กับ X86 ไปต่ออีกสักรอบดีกว่าครับ จ่ายเท่านี้กับ X86 ได้โน้ตบุ้คหรู ๆ ตัวนึง อาจจะสู้เรื่องอายุแบตไม่ได้ แต่ก็การันตีว่า app ทั่วไปใช้งานได้แน่ ๆ
40k ultrathin X86 ก็รุ่นล่างครับไม่ใช่ gaming
คอมทำงานทั่วไป ไม่ใช่คอมเล่นเกม งบ 4 หมื่น ไม่ใช่รุ่นล่างแน่ครับ
ในข่าวมันเป็นกลุ่มเครื่องบางวัสดุดีครับ Zenbook อะ ตอนจะซื้อเคยดูถ้าสเปคเดียวกันไป Vivobook นี่ลดเป็นหมื่นเลยนะ
ถ้าตามที่พี่บอกก็ใช่ครับถ้าวัดกันตรงจุดนั้น
ทำไม Arm ใน Laptop ซึ่งมาทีหลัง และยังต้องการการพิสูจน์ตัวเองสำหรับการเป็น Daily use ถึงกล้าตั้งราคาสูงและกั๊กสเปคแม้กระทั่งจอได้ขนาดนี้นะ
Arm PC คิดว่าตัวเป็น apple silicon killer ครับ เลยไม่แคร์เรื่องราคา ทั้ง ๆ ที่ CPU ยังแพ้ M4 หรือแม้แต่ M2
บล็อก: wannaphong.com และ Python 3
40 k นี่คือราคาระดับกลาง 😅
my blog
อยากลอง excel แบบแถว+สูตรเยอะๆบน arm เหมือนกันครับ มันจะไวหรือช้ากว่า x86 นะ
เล่นเกมไม่ได้ ทำงานเอกสาร จอ14 เครื่องเบาๆ
เคยมี Infinix ทำราคาไว้ที่ 13,000 บาท
ถ้าไม่ได้สนใจฟีเจอร์ AI พวก Arm PC ก็ไม่มีอะไรน่าสนใจเลยจริง ๆ นะ
M1, M2 ราคา 20K+ ยังดูดีกว่าเลยครับ
เขาทำมาไม่เน้นขายหรืออย่างไร
ขอบคุณสำหรับรีวิวครับ อยากลองmacขึ้นมาเลยครับ มากกว่าลองwindowพิการแน่ๆ
The Last Wizard Of Century.
ก็อยากได้อยู่นะ แต่มันแพงจัง
ราคาเท่านี้ถ้าได้แรม 32 กับ SSD 1TB นี่ก็ซื้ออยู่หรอก
ราคา 4 หมื่นนี่ซื้อแมคบุ้คแอร์แบบเพิ่ม RAM ได้เลยนะ
ผมสนใจ ARM Notebook นะ แต่อยากให้มีแบบเปลี่ยนแรมได้มาด้วย พูดตามตรงเลย
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
วัสดุนี้ น้ำหนักนี้ แบตนานแบบนี้ ราคานี้ ไม่ถูกไม่แพง และกว่าจะมีราคา 2 หมื่น 3 หมื่นต้น บอกเลยว่าอีกพักใหญ่เลยล่ะ 5555
พูดถึงโน๊ตบุ๊คเบาๆ fujitsu uh-x ทำไม มันหายออกไปจากตลาดเลยหว่า ,,, เบาประทับใจมาก