Tags:
Node Thumbnail

โครงการไอทีภาครัฐที่เป็นจุดสนใจมากที่สุดในตอนนี้ ย่อมเป็นโครงการพัฒนา Web App มูลค่า 850 บาทของสำนักงานประกันสังคม ที่เป็นข่าวอย่างต่อเนื่องจากการเปิดเผยของ ส.ส. รักชนก ศรีนอก พรรคประชาชน (ดูคลิปรายการ กรรมการข่าวคุยนอกจอ 4 มีนาคม 2568 ด้านล่าง)

ในฐานะเว็บไอที Blognone ขอเชิญชวนสมาชิกอ่าน TOR ของโครงการ "ปรับเปลี่ยนระบบงานประกันสังคมบนเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเป็นระบบ Web Application" ซึ่งเป็นเอกสารเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อมาร่วมวิเคราะห์กันว่าโครงการนี้เขาทำอะไรกัน และเป็นโครงการที่สมเหตุสมผลหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากความจำเป็นในการใช้งาน และความเหมาะสมในทางเทคนิค

TL;DR สรุปรวบรัดมาหน่อย

  • โครงการเป็นการย้ายระบบ "หลังบ้าน" ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมใช้งาน จากระบบเดิมที่เป็น Mainframe มาสู่ระบบใหม่เป็น Web Ap ที่ใช้ Java และ relational database
  • โครงการมีราคากลาง 850 ล้านบาท ประมูลชนะในราคา 848 ล้านบาท
  • ราคานี้รวมค่าฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ค่าจ้างพนักงาน และค่าบริการหลังขายแล้ว
  • มีผู้ยื่นประมูล 2 รายคือ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด และ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IRCP ซึ่งรายหลังเป็นผู้ชนะโครงการ
  • เริ่มทำสัญญาเดือนธันวาคม 2564 ครบกำหนดสัญญาธันวาคม 2566 ปัจจุบันยังไม่ส่งมอบ

No Description

เอกสารของโครงการมาจากไหน

เอกสารของโครงการนี้ เป็นเอกสารที่เปิดเผยต่อสาธารณะอยู่บน ระบบค้นหาข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (actai.co)

เอกสารทั้งหมดของโครงการ สามารถดาวน์โหลดได้จากหน้าเว็บเพจ ประกวดราคาจ้างโครงการปรับเปลี่ยนระบบงานประกันสังคมบนเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเป็นระบบ Web Application ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) (เลขที่โครงการ : 64097542764)

ในบทความนี้จะขอเน้นเฉพาะตัวเอกสาร TOR ที่มีรายละเอียดของโครงการว่าทำอะไรบ้าง

ทำไมต้องมีโครงการนี้

ระบบไอทีของสำนักงานประกันสังคม เป็นระบบเก่าที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2533 บนเครื่องเมนเฟรม IBM System z114 รันระบบปฏิบัติการ OS/390 เก็บและประมวลผลข้อมูลแบบ Batch และ Online Transaction Processing (OTP) ด้วยภาษา Cobol ซึ่งเก่าแก่มากแล้ว ดูแลลำบาก เจ้าหน้าที่มีความยุ่งยากในการป้อนข้อมูลแบบ manual มาก

สำนักงานประกันสังคมเคยพยายามยกเครื่องระบบไอทีภายในใหม่ตอนปี 2550 แต่ล้มเหลว ทำให้ปี 2556 ต้องกลับมาใช้ระบบเมนเฟรมเหมือนเดิม จนกระทั่งเจอปัญหา COVID-19 ที่ต้องมีการกรอกข้อมูลผู้ประกันตนครั้งใหญ่ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบากมาก และกลายเป็นที่มาของโครงการย้ายระบบเดิมเมนเฟรม มาเป็นระบบ Web Application สมัยใหม่

No Description

ภาพ timeline ของระบบไอทีประกันสังคม - จาก ส.ส. รักชนก ศรีนอก

ระบบใหม่มีอะไรบ้าง แต่ละส่วนราคาเท่าไร

หากเราดูเอกสารการสำรวจราคากลางก่อนเปิดประมูล วงเงินงบประมาณรวม 850 ล้านบาท

  • ค่าฮาร์ดแวร์ 213,129,000 บาท
  • ค่าซอฟต์แวร์ 467,796,000 บาท
  • ค่าพัฒนาระบบ 147,000,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 21,000,000 บาท

แปลว่าระบบนี้เป็นการจ้างทำ Web App ใหม่ที่รันบนฮาร์ดแวร์แบบ on-premise (สำนักงานประกันสังคมเป็นเจ้าของเครื่องเอง) รวมค่าไลเซนส์ซอฟต์แวร์ ค่าพัฒนาระบบ และค่าย้ายข้อมูลจากระบบเดิมด้วย

No Description

Timeline ของโครงการ

  • 29 กันยายน 2564 ประกาศเชิญชวน

    • ผู้เข้าร่วมประมูลต้องเคยมีผลงานพัฒนาระบบไอที มูลค่าไม่ต่ำกว่า 170 ล้านบาท
    • มีผู้ซื้อซองประมูล 16 บริษัท source
  • 2 พฤศจิกายน 2564 เริ่มเสนอราคาผ่านระบบ e-bidding
  • 26 พฤศจิกายน 2564 ประกาศผู้ชนะโครงการ
    • IRCP ชนะในราคา 848 ล้านบาท
  • 20 ธันวาคม 2564 เริ่มทำสัญญาโครงการ (ระยะเวลาในสัญญาโครงการ 730 วัน)
  • 20 ธันวาคม 2566 กำหนดครบสัญญาเดิม (ส่งช้า แต่ไม่ถูกปรับ)
  • กรกฎาคม 2567 เริ่มกระบวนการตรวจรับ (มาถึงตอนนี้คือยังไม่เสร็จ)

No Description

ฮาร์ดแวร์

โครงการกำหนดให้ต้องจัดซื้อฮาร์ดแวร์ที่เป็นเครื่องใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ระบบเซิร์ฟเวอร์สำหรับจัดการฐานข้อมูล 2 ระบบ ซีพียู RISC/Xeon ไม่ต่ำกว่า 128 คอร์ แรมไม่น้อยกว่า 2,048GB, ดิสก์ไม่ต่ำกว่า 8TB, ระบบสตอเรจความจุไม่น้อยกว่า 504TB, ระบบปฏิบัติการ Unix/Enterprise Linux ที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันกับเครื่องเซิร์ฟเวอร์
  • ระบบเซิร์ฟเวอร์สำหรับระบบงาน 2 ระบบ
    • เซิร์ฟเวอร์สำหรับ Application Server 1 ชุด ซีพียู RISC/Xeon ไม่ต่ำกว่า 96 คอร์, แรมไม่น้อยกว่า 1TB, SSD ไม่น้อยกว่า 480GB, ระบบปฏิบัติการ Unix/Enterprise Linux
    • เซิร์ฟเวอร์สำหรับงานสนับสนุน 1 ชุด ซีพียู RISC/Xeon ไม่ต่ำกว่า 256 คอร์, แรมไม่น้อยกว่า 2TB, SSD ไม่น้อยกว่า 480GB, ระบบปฏิบัติการ Unix/Enterprise Linux
  • อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลภายนอก (External Storage) 2 ระบบ
    • อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลภายนอก สำหรับจัดเก็บระบบงาน 1 ชุด มี Controller 2 หน่วย, Cache Memory 1TB
    • SAN/Switch ไม่น้อยกว่า 2 ชุด เชื่อมต่อผ่าน Fiber Channel ความเร็วสูงสุด 32 Gbps, พอร์ตไม่น้อยกว่า 48 พอร์ต
  • ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 2 ระบบ
    • อุปกรณ์กระจายสัญญาณเครือข่าย 4 ชุด มี switching capacity ไม่น้อยกว่า 2Tbps, รองรับทำ Virtual Switching Extension (VSX) หรือ Virtual Switching System (VSS) หรือ Fabric Path หรือ Virtual Switching Framework (VSF)
    • อุปกรณ์บริหารจัดการเครือข่าย (Management Switch) 1 ชุด ทำ Routing/Switching ระดับ L2/L3, มี Switch Capacity ไม่น้อยกว่า 128 Gbps
  • ระบบเซิร์ฟเวอร์สำหรับ Monitoring 2 ระบบ ซีพียู RISC/Xeon 16 คอร์, แรมไม่น้อยกว่า 32GB, สตอเรจไม่น้อยกว่า 480GB, ระบบปฏิบัติการ Unix/Enterprise Linux ที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันกับเครื่องเซิร์ฟเวอร์
  • ระบบเซิร์ฟเวอร์สำรองข้อมูลที่ศูนย์คอมพิวเตอร์หลัก 1 ระบบ
    • อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลภายนอก (External Storage) สำหรับระบบงาน Backup หน่วยความจำหลัก 348GB, พื้นที่จัดเก็บข้อมูล 458TB
  • ระบบเซิร์ฟเวอร์สำรองข้อมูลที่ศูนย์ข้อมูลสำรอง 1 ระบบ
    • เซิร์ฟเวอร์สำหรับเป็น Backup Server 1 ชุด ซีพียู 32 คอร์, แรม 512GB, สตอเรจ 480GB, ระบบปฏิบัติการ Unix/Enterprise Linux
    • อุปกรณ์สำรองข้อมูล (Tape Backup) 1 ชุด เป็น Tape Drive แบบ LTO8 หรือดีกว่า ม้วนเทปความจุ 12TB ไม่น้อยกว่า 60 หน่วย

ข้อมูลของฮาร์ดแวร์ที่ยกมานี้เป็นข้อมูลโดยคร่าวๆ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านสเปกฮาร์ดแวร์อย่างละเอียดได้จากเอกสาร TOR

ประเด็นที่น่าสนใจคงหนีไม่พ้นคำว่า "ระบบปฏิบัติการ Unix/Enterprise Linux ที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันกับเครื่องเซิร์ฟเวอร์" ซึ่งตีความได้ว่าเป็นการล็อกสเปกหรือไม่ เพราะผู้ขายระบบปฏิบัติการ Unix/Enterprise Linux ที่ทำฮาร์ดแวร์เซิร์ฟเวอร์ขายด้วยก็มีอยู่เพียงไม่กี่รายในตลาดเท่านั้น

No Description

ซอฟต์แวร์

  • ซอฟต์แวร์ระบบจัดการฐานข้อมูล DBMS จำนวน 1 ชุด เป็น Relational Database ที่ต้องทำงานบน AIX, Linux, Windows ได้
  • ซอฟต์แวร์ระบบจัดการโปรแกรมประยุกต์ (Application Server Software) 1 ชุด รองรับ Java EE 7.0, รองรับการพัฒนาเว็บแอพด้วย Java Servlet 3.0, JSF2.0 และ JSP 2.2, รองรับระบบปฏิบัติการ Windows, Linux, AIX, HP-UX และ Solaris
  • ซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการพัฒนาระบบงาน (Development Tool) 1 ชุด รองรับ Java EE 5.0, ตัวเครื่องมือต้องเป็น GUI แบบ Drag and Drop, รองรับไลเซนส์นักพัฒนา 100 คน
  • ซอฟต์แวร์สำหรับการ Monitoring ระบบ Application Server และ ระบบฐานข้อมูล จำนวน 1 ชุด ตรวจสอบและวิเคราะห์ลงไปถึงระดับโค้ดภาษา Java, ไลเซนส์ไม่จำกัดจำนวนผู้ใช้งาน
  • ซอฟต์แวร์สำหรับใช้งานเป็นระบบรายงานอัจฉริยะ (Business Intelligence) 1 ชุด Application Server ต้องรองรับ Windows, AIX, Red Hat, SUSE, Ubuntu, Oracle Linux รองรับฐานข้อมูล Oracle, DB2, Informix, SQL Server, Sybase เป็นอย่างน้อย
  • ชุดซอฟต์แวร์สำหรับแลกเปลี่ยนและถ่ายโอนข้อมูล 1 ชุด ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Windows, Unix, Linux เข้าถึงข้อมูลต้นทางเป็น Text file, XML, DB2, Informix, Sybase, Oracle, Microsoft SQL Server, Teradata และ Web services แปลงไปเป็นข้อมูลปลายทางในรูป DB2, Informix, Sybase, Oracle, Microsoft SQL Server, Teradata, XML, Text file
  • ซอฟต์แวร์สำหรับการสำรองข้อมูล จำนวน 1 ชุด แบ็คอัพแบบ image-based ได้ทั้งบนเซิร์ฟเวอร์ physical และ virtual machine รองรับ Windows, Linux, VMware, Hyper-V, Nutanix
  • ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการการเข้าถึงข้อมูลที่มีความปลอดภัยแบบ Two-Factor Authentication 1 ระบบ รองรับ Time-based one-time password (TOTP) โดยส่งผ่าน Mobile Authenticator ใช้งานด้วยลายนิ้วมือหรือสแกนหน้าได้, ทำงานร่วมกับ Google Authenticator ได้, มีลิขสิทธิ์แบบไม่จำกัดจำนวนผู้ใช้

จุดที่น่าสังเกตย่อมเป็นการเขียนสเปกบางอย่างที่เจาะจงมากๆ เช่น การบอกว่าฐานข้อมูลต้องใช้ระบบปฏิบัติการ AIX (ในการประมูลโครงการปี 2564!!) หรือการระบุ Application Server Software ให้รองรับทั้ง AIX, HP-UX และ Solaris ทั้งที่การใช้งานจริงก็น่าจะเป็นการส่งมอบทั้งชุดระบบปฎิบัติการพร้อมซอฟต์แวร์ การกำหนดยี่ห้อของฐานข้อมูลแบบตายตัว และการกำหนดไลเซนส์แบบไม่จำกัดจำนวนผู้ใช้งาน

No Description

No Description

บุคลากร

เอกสาร TOR กำหนดให้ผู้เสนอราคาต้องจัดเตรียมบุคลากรของโครงการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญตามที่กำหนด ทั้งหมด 79 คน ดังนี้

  • ผู้จัดการโครงการ (Project Manager) 1 คน ประสบการณ์ 10 ปี
  • ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ (Assistant Project Manager) 1 คน ประสบการณ์ 11 ปี
  • ผู้จัดการเปลี่ยนแปลง (Project Change Manager) 1 คน ประสบการณ์ 16 ปี
  • ผู้ประสานงานโครงการ 3 คน ประสบการณ์ 1 ปี
  • ผู้จัดการ การรับประกันคุณภาพและความเสี่ยง 1 คน ประสบการณ์ 16 ปี
  • นักจัดการด้านการรับประกันคุณภาพและความเสี่ยง 1 คน ประสบการณ์ 11 ปี
  • นักวิเคราะห์กระบวนการธุรกิจของระบบงาน (Business Analyst) 9 คน ประสบการณ์ 5 ปี
  • นักวิเคราะห์และออกแบบระบบ (System Analyst) 9 คน ประสบการณ์ 5 ปี
  • นักพัฒนาระบบโปรแกรม (Programmer/Developer) 18 คน ประสบการณ์ 5 ปี
  • นักทดสอบระบบ (IT Tester) 6 คน ประสบการณ์ 5 ปี
  • นักจัดการระบบฐานข้อมูล (Database Administrator) 4 คน ประสบการณ์ 10 ปี
  • นักพัฒนาระบบโปรแกรม 8 คน ประสบการณ์ 11 ปี
  • นักทดสอบระบบ 8 คน ประสบการณ์ 11 ปี
  • หัวหน้าสถาปนิกระบบ (Head of System Architecture) 1 คน ประสบการณ์ 16 ปี
  • สถาปนิกระบบ 1 คน ประสบการณ์ 11 ปี
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมคุณภาพโครงการและความเสี่ยง 2 คน ประสบการณ์ 11 ปี
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมคุณภาพซอฟต์แวร์ 2 คน ประสบการณ์ 11 ปี
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ 1 คน ประสบการณ์ 11 ปี
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบโดยใช้ภาษา JAVA 2 คน ประสบการณ์ 10 ปี
  • ผู้เชี่ยวชาญด้าน Hardware ระบบ LINUX หรือ UNIX 1 คน ประสบการณ์ 10 ปี
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบจัดการฐานข้อมูล 1 คน ประสบการณ์ 10 ปี
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเครือข่าย 1 คน ประสบการณ์ 11 ปี
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยระบบ 1 คน ประสบการณ์ 11 ปี

ทั้งนี้มีจุดน่าสังเกตว่า บางตำแหน่งซ้ำซ้อนกันตรงๆ และการอ้างอิงเลขปีประสบการณ์ใช้เลข 11 ปีกับ 16 ปี ซึ่งไม่พบบ่อยนักในการอ้างอิงทั่วไปที่มักใช้เลข 5/10/15 เป็นหลัก

ส่วนเรื่องจำนวนบุคลากรของโครงการทั้งสิ้น 79 คนนั้นถือว่ามาก-น้อยเกินไปหรือไม่ คงขึ้นกับปริมาณเนื้องาน ที่ไม่ได้มีส่วนของการวิเคราะห์-พัฒนาระบบอย่างเดียว แต่รวมถึงการทำเอกสารคู่มือ การเทรนนิ่ง บริการซัพพอร์ตหลังระบบเริ่มใช้งานแล้วด้วย

No Description

การโอนย้ายข้อมูล (Migration)

ผู้รับจ้างพัฒนาระบบจะต้องโอนย้ายข้อมูลจากระบบเก่าที่เป็นเมนเฟรม มาสู่ระบบใหม่ โดยมีขนาดของข้อมูลประมาณ 8.3TB ตามตาราง

No Description

การเทรนนิ่งและบริการซัพพอร์ต

หลังพัฒนาระบบเสร็จแล้ว ผู้รับจ้างพัฒนาระบบจะต้องมีภาระจัดการสถานที่ คอมพิวเตอร์ เอกสาร อาหาร อาหารว่าง เครื่องดื่ม วัสดุอุปกรณ์ ที่พัก ของ

  • ผู้บริหารหน่วยงาน 300 คน อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 300 คน อย่างน้อย 12 ชั่วโมง
  • เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ 20 คน อย่างน้อย 30 ชั่วโมง
  • เจ้าหน้าที่พัฒนาระบบงาน (Programmer) 10 คน อย่างน้อย 60 ชั่วโมง

ผู้รับจ้างพัฒนาระบบยังต้องจัดทำคู่มือการใช้งานระบบที่มีรายละเอียดมากพอสมควร สามารถอ่านขอบเขตได้จากตัวเอกสาร TOR

ระบบที่พัฒนาเสร็จแล้วต้องรับรองคุณภาพเป็นเวลา 1 ปี หากมีข้อผิดพลาดหลังรับมอบต้องแก้ไขให้เสร็จภายใน 3 วันทำการ ในระยะนี้จะต้องมี Help Desk ช่วยเหลือผู้ใช้งานในเวลาราชการ จันทร์-ศุกร์ 8.30-16.30 น. โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

เงื่อนไขการส่งมอบงาน

ระยะเวลาโครงการทั้งหมด 730 วัน แบ่งการส่งงานเป็นทั้งหมด 6 งวด

  • งวดที่ 1 จ่ายเงินร้อยละ 35 ของค่าจ้างตามสัญญา
  • งวดที่ 2 จ่ายเงินร้อยละ 10 ของค่าจ้างตามสัญญา
  • งวดที่ 3 จ่ายเงินร้อยละ 30 ของค่าจ้างตามสัญญา
  • งวดที่ 4 จ่ายเงินร้อยละ 10 ของค่าจ้างตามสัญญา
  • งวดที่ 5 จ่ายเงินร้อยละ 5 ของค่าจ้างตามสัญญา
  • งวดที่ 6 จ่ายเงินร้อยละ 10 ของค่าจ้างตามสัญญา

ข้อสังเกตในทางเทคนิค

เนื่องจากตัวระบบ Web App ยังไม่สามารถส่งมอบและใช้งานได้ตามสัญญา ตอนนี้เราคงมีแต่ข้อมูลจาก TOR เท่านั้น

ในแง่ความจำเป็นที่ต้องย้ายระบบไอทีเดิมจากยุคเมนเฟรม มาสู่ระบบไอทีที่ทันสมัยกว่าเดิม คงไม่มีใครคัดค้าน (แม้เพิ่งมาตัดสินใจทำในทศวรรษ 2020s ทั้งที่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2000s)

ส่วนการเลือก tech stack ที่เป็น Java Application Server + Relational Database บนเครื่องเซิร์ฟเวอร์แบบ on-premise ที่สำนักงานประกันสังคมเป็นเจ้าของเอง อาจดูเก่าไปสักนิดสำหรับยุคสมัยนี้ แต่ก็ถือเป็นการเลือกที่ "ไม่ผิด" เพราะเป็น proven technology ที่ผ่านการทดสอบในโลก enterprise IT มานานพอสมควร (แม้ชวนให้ตั้งคำถามว่าทำไมผู้ร่าง TOR ถึงเลือกแนวทางนี้) นอกจากนี้ในรายละเอียดของฮาร์ดแวร์-ซอฟต์แวร์ ยังมีข้อความที่กำหนดไว้แบบเจาะจงมากๆ จนอาจชวนให้เชื่อว่ามีการ "ล็อกสเปก" บางส่วนได้

จุดที่น่าตั้งคำถามอื่นๆ และเรายังไม่ได้คำตอบในตอนนี้คือ ทำไมการพัฒนาโครงการนี้ยังไม่เสร็จและส่งมอบไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ สถานะปัจจุบันของระบบใหม่เป็นอย่างไร ทำไปถึงไหนแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่สำนักงานประกันสังคมควรออกมาชี้แจงให้สาธารณะได้ทราบโดยเร็ว

Get latest news from Blognone

Comments

By: rattananen
AndroidWindows
on 5 March 2025 - 10:19 #1335082

850M
เอาไปตั้งแผนก IT 3 ปี
พัฒนา backend + webapp + mobile app ใหม่ 2 ปี

สิ่งที่ได้
- backend + webapp + mobile app ที่อาจจะมี public API ให้คนอื่นมาใช้งาน
- แผนก IT ที่ใช้ต่อได้ยาว

งบน่าจะเหลือด้วยซ้ำ
ส่วนใน TOR เราก็รู้ๆ กันอยู่แล้วนะ B1

+++++++++
เรื่องเทคนิค
- migrate data นี้ต้องเป็น java ด้วยหรือเปล่า ดูจากขนาดข้อมูลแล้ว ควรต้องเป็นภาษาที่ manage memory เองได้ ไม่งั้นน่า migrate กันเป็นปี

By: darkleonic
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 5 March 2025 - 11:25 #1335089 Reply to:1335082
darkleonic's picture

คุณจะถูกตั้งคำถามว่านี่มันหน่วยงานราชการหรือ software house #โดนมาแล้ว


I need healing.

By: rattananen
AndroidWindows
on 5 March 2025 - 12:19 #1335107 Reply to:1335089

สิ่งที่จะตอบคือ

มันมีข้อห้ามให้หน่วยงานรัฐพัฒนา software เองด้วยหรือไง
คนมี งบมี เวลามี เอาไปตั้งแผนก IT มันคุ้มว่าในระยะยาวอยู่แล้ว

แต่สิ่งมีผมคิด

เป็นง่อยกันหรือไง คนตั้งเยอะ ทำอะไรกันเองได้บ้าง เอะอะจ้าง outsource กันอย่างเดียว
การจ้าง outsource หมายถึงเราไม่มีปัญญาทำเอง และถ้าจ้างบ่อยๆ หมายถึงเไม่มีปัญญาทำเองสักอย่าง ทำอะไรเองไม่ได้สักอย่างจะเสียเงินเดือนจ้างไปเพื่ออะไร

พอดีผมเป็น dev ในบริษัทที่ไม่ได้ทำเกี่ยวกับ IT น่ะครับ วิธีคิดก็จะต่างสักหน่อย ไม่มีคนให้พึ่ง (มีลูกน้องคนเดียว แต่พึ่งพาไม่ได้เท่าไร) ต้องแก้ ทำทุกอย่างด้วยตัวเองหมด

By: Mikamura
AndroidUbuntuWindows
on 5 March 2025 - 16:18 #1335131 Reply to:1335107

เรื่องของเรื่องคือพอไม่มีงาน หรือหมดโปรเจ็กต์ ไม่รู้จะเลี้ยงพวกนี้ไว้ทำไมน่ะครับ ยิ่งเป็นงานที่ไม่ใช่ IT โดยตรง งานที่เป็น Daily Operation ก็แทบไม่มีถ้าอะไรไม่เสีย สเกลแบบนี้ไม่ได้ทำกันบ่อยๆ 5 ปี 10 ปี หรืออาจจะ 20 แบบประกันสังคมด้วยซ้ำ ถึงจะทำกันทีนึง

By: rattananen
AndroidWindows
on 5 March 2025 - 16:47 #1335133 Reply to:1335131

ถ้าทำแล้วมันจบ จนแบบไม่ต้องมีคนดูแล update เลย
แสดงว่าทีมมีคุณภาพมากครับ
ควรไปรับงานของหน่วยงานอื่นมาทำด้วย

By: Mikamura
AndroidUbuntuWindows
on 5 March 2025 - 17:02 #1335140 Reply to:1335133

ควรจะมี Software House กลางของรัฐบาลครับ คอยรับงานหน่วยงานรัฐมาทำ ไม่ต้องไปจ้างข้างนอก ตอนนี้เหมือนมี INET กำลังทำอะไรประมาณนี้อยู่ แต่เขาแปรรูปไปแล้วนะ (แต่ สวทช กับ NT ถือหุ้นใหญ่อยู่ ถ้ารับงานหลวงก็ไม่น่าจะเป็นไรมากมั้ง)

By: mk
FounderAndroid
on 5 March 2025 - 20:18 #1335154 Reply to:1335140
mk's picture

DGA

By: waroonh
Windows
on 5 March 2025 - 10:35 #1335084

จริงๆ กะไม่ดูแต่ลากผ่านแล้ว มันแว๊บข้าตามานิดนึง เพราะไฮไล้เหลืองนะ

รองรับ ระบบปฏิบัติการ windows ? (3.11 workgroups, 95,98,me,2000,2003,8,8.1,10,11)
Linux ... มีเป็น 100
AIX, HP-UX, Solaris ถามจริ๊ง

Web Application แต่ไม่เขียนว่าเปิดกับ Browser อะไรด้วยนะ อะไรของเค้าหวะครับ

เขียนครอบจักรวาลขนาดนี้ พี่มีเครื่อง ทดสอบจริงใช่มั้ยครับ เอาแค่ใช้งานบน Solaris ก็ไม่ผ่านแล้วมั้ยอ่ะ

TOR แบบนี้จริงดิ๊

By: vevysang on 5 March 2025 - 11:16 #1335087 Reply to:1335084

ทริคอย่างนึง คือ
ถ้าคุณเป็นคนที่ใช่ ตอนตรวจรับงานก็จะแค่ win10,11
แต่ถ้าไม่ ก็ตรงตามตัวอักษรเลยฮะ
หรือต้องทำไรบางอย่างให้กลายเป็นคนที่ใช่

By: Patrickz
WriterSymbian
on 5 March 2025 - 11:31 #1335094 Reply to:1335084

Solaris น่าจะใช้ได้แค่ Firefox ซึ่งก็ไม่แย่นะ ล่าสุดก็ Firefox 128.6 ESR
แต่สงสัยว่า เวลาเทสจริงๆ ได้ทดสอบบน Solaris จริงๆ ไหม


Patrickz's blog|
linkedin

By: zerost
AndroidWindows
on 5 March 2025 - 11:10 #1335086
zerost's picture

ถามตามคนที่ไม่รู้เรื่องนะครับ aix นี่มันเป็นจุดสังเกตุ​ยังไงครับ มันไม่น่าใช้ หรือว่าเพราะตัวเลือกอื่นมีเยอะแยะ​ทำไมต้องเลือกตัวนี้ทำให้สงสัยถึงเจตนาล๊อกรึเปล่า​

By: OhmNop
AndroidWindows
on 5 March 2025 - 16:17 #1335130 Reply to:1335086

aix น่าจะไปตรงกับข้อหลังที่ unix มาเป็นเซ็ต aix ,soralis,hp-ux มั้งครับ

By: Patrickz
WriterSymbian
on 7 March 2025 - 13:22 #1335358 Reply to:1335086
  • เป็น OS ของ IBM เอง
  • webapp พัฒนาด้วย java ก็สามาารถทำงานบน AIX ได้ด้วยเช่นกัน

Patrickz's blog|
linkedin

By: ash_to_ash
AndroidWindows
on 5 March 2025 - 11:19 #1335088

เรื่องสเปค
ผมสงสัยทำไมไม่อ้างครุภัณฑ์ ict ฉบับล่าสุด
เป็นฐาน เพราะปกติที่เคยเจอมาหลังๆจะ
บอกเอา.....(ลอกสเปค ICT มา
แล้ว หรือ ตาม ICT ปีล่าสุุด คล้ายกับ เวลา
ดำเนินโครงการใหญ่ๆจะไม่ล็อค เป็น มอก. ปีล่าสุด หรือ
วศท. ปีล่าสุด)

ส่วนเรื่อง Server ทำไมบางส่วนไป Scale ไปที่ Cloud ของรัฐ
https://www.dga.or.th/our-services/foundation/infrastructure/g-cloud/

ส่วนลึกกว่านั้น advance เกินไม่ข้อวิจารณ์

By: TeamKiller
ContributoriPhone
on 5 March 2025 - 11:54 #1335100 Reply to:1335088
TeamKiller's picture

สเปค ICT ปกติเครื่องมันจะไม่ใหญ่อะไรเท่าไรนะครับโดยเฉพาะ server แบบธรรมดาพื้นฐานเลย

เรื่องไป GDCC น่าจะมีปัญหาเรื่อง link เชื่อมกลับมาที่ On-Premise ไปวิ่งผ่านเหมือนจะไม่เร็วมากเท่าไรด้วย เบอร์ไอพี ที่ไม้ได้คุยกันตรงๆ แล้ว resource ที่ขอมากไปก็ไม่ได้ด้วยนะครับ มีแต่ Infra VM ด้วย

By: Mikamura
AndroidUbuntuWindows
on 5 March 2025 - 16:49 #1335135 Reply to:1335088

Server ICT Spec ที่แพงที่สุดที่ซื้อได้ คือ Blade Server เฉพาะ Enclosure 740000 ข้างในก้อนละ 550000 ซึ่งสเกลไม่น่าจะรองรับงานใหญ่ขนาดนี้ เลยต้องสั่งแบบ Customise มา แต่ยังไม่ได้ไปดูว่าบริษัทที่ชนะประมูลส่งอะไรมา ถึงเป็นราคานี้

By: btoy
ContributorAndroidWindows
on 5 March 2025 - 11:26 #1335090
btoy's picture

ประเด็นที่น่าสนใจคงหนีไม่พ้นคำว่า "ระบบปฏิบัติการ Unix/Enterprise Linux ที่มีเครื่องหมายการค้าเดียวกันกับเครื่องเซิร์ฟเวอร์" ซึ่งตีความได้ว่าเป็นการล็อกสเปกหรือไม่ เพราะผู้ขายระบบปฏิบัติการ Unix/Enterprise Linux ที่ทำฮาร์ดแวร์เซิร์ฟเวอร์ขายด้วยก็มีอยู่เพียงไม่กี่รายในตลาดเท่านั้น

ในความคิดเห็นส่วนตัวก็ล็อคสเปคล่ะครับ ว่าแล้วก็ขอเกาะติดด้วยคน


..: เรื่อยไป

By: Slimy
AndroidUbuntu
on 5 March 2025 - 11:29 #1335093

เห็นแล้วร้อนเลย ยังกะไปคุยก่อนแล้วค่อยเขียน TOR

By: zyzzyva
Blackberry
on 5 March 2025 - 11:49 #1335098

ที่แน่ๆคือส่งมอบล่าช้าต้องเสียค่าปรับ และถ้าเสียค่าปรับล่าช้าก็จะต้องเสียค่าปรับที่เสียค่าปรับล่าช้าอีกที

By: iamfalan
iPhoneAndroidWindows
on 5 March 2025 - 12:13 #1335105

ผมอีหยังวะกับการ
1. ทำไมถึงระบุใน tor ว่าต้องเป็น java? แถมระบุ version ด้วย อย่างน้อยระบุว่าเป็นระบบที่อยู่ในการ support ระยะยาวก็น่าจะพอ
2. ระบุเรื่อง os ต้องเป็นเจ้าเดียวกับเครื่อง แต่ยังพอเข้าใจได้ว่าอยากได้ enterprise linux
3. ระบุประสพการณ์ทำงานเจาะจงแปลกๆ เหมือนเอา cv คนใน บ นึงมากางแล้วมาเขียน lol
4. คำถามสุดท้าย “ในโลกนี้ไม่มี software สำเร็จที่ทำได้เลยเหรอ?” พวก กบข หรือพวกบริษัทประกันเขาใช้ software อะไร? ใช้ SAP ได้ไหม?
(แต่อันนี้ก็คงเป็น SAP ล่ะมั้ง เดาเอา) ดูจาก size เครื่อง

By: 0FFiiz
Windows PhoneAndroidWindows
on 5 March 2025 - 15:01 #1335123
0FFiiz's picture

ในใจลึก ๆ ยังคิดอยู่เสมอว่า เราไม่สามารถจัดการกับคนชั่วได้จริง ๆ เหรอ

แต่พอเจออะไรหลาย ๆ อย่าง ก็ค่อนข้างปลง
ผมเคยเจอคนที่ด่าคนโกงสุด ๆ แต่สุดท้ายก็ไปประจบคนที่รู้จักที่รวย โดยที่ทุกคน ก็รู้ ว่ามันโกงมา

จนวันนึงก็เข้าใจ่ ว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงยอมรับเรื่องเลวร้ายได้ง่ายจัง
เพราะว่า เพื่อน ๆ ร่วมอุดมการณ์ส่วนใหญ่พอโตมา ก็จะกลายเป็นคนชั่วที่สร้างเรื่องเลวร้ายกันซะเอง

จนถ้าเราไม่ปล่อยวาง ก็จะตายไปเองคนเดียวเงียบ ๆ แบบไม่มีประโยชน์อะไรทั้งนั้น
ห้ะๆๆๆๆๆๆ

ตอนนี้ปลงและสิ้นหวังเรียบร้อย

By: keanus
Android
on 5 March 2025 - 15:25 #1335124

Software งบ 400 กว่าล้านนี่มันเกินไปมากๆๆๆๆ

By: OhmNop
AndroidWindows
on 5 March 2025 - 16:29 #1335132

อ่านไวๆ เครื่องดาต้าเบสเหมือนจะเอา oracle แต่พอมาอ่าน database น่าจะไปจบที่ db2 (จากข้อให้รันบน aix) งั้นเครื่องคงเป็น ibm เหมือนกัน

By: btoy
ContributorAndroidWindows
on 5 March 2025 - 20:28 #1335157 Reply to:1335132
btoy's picture

คิดว่าน่าจะ​ไปท่านี้เหมือนกัน​ เพราะอีกเจ้าที่แพ้เหมือนจะผูกแน่นแฟ้นกับ​ฝั่ง Oracle​


..: เรื่อยไป

By: GoblinKing
Windows PhoneWindows
on 5 March 2025 - 20:55 #1335160
GoblinKing's picture

ก็ปัญหาคลาสสิกระหว่าง Outsource ที่ทำกับระบบราชการ เป็นกันหลายที่ รอวันโดนขุด

By: iwoon
iPhoneWindows PhoneAndroidUbuntu
on 7 March 2025 - 14:27 #1335366

ว่าด้วย Hardware ทำไมยังไม่ขึ้น Cloud ลง Bare Metal ต้องจ้าง M/A อีก ไม่รู้ปีเท่าไหร่?
ว่าด้วย Software ทำไมไม่ตั้ง In-house แล้วพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ

คหสต. 850 MTHB ไม่จบหรอก มันยังมีเรื่อง MA ทั้ง HW,SW,DC ต่อกันไปอีกยาวๆ หลายปี
ซึ่งผมมองว่าในระยะยาว In-house น่าจะเหมาะสมกว่า เช่น บ.แบงค์ใหญ่ๆ ที่ทำกัน.