David Risher ชื่นชอบ และหลงใหลการอ่านหนังสือมาตั้งแต่เขาจำความได้ เพราะหนังสือเป็นช่องทางเดียวที่ทำให้เขาได้ผจญภัยไปยังสถานที่ต่างๆ และได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ตั้งแต่วัยเด็ก หนังสือเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มการศึกษาให้กับเขา และเป็นสิ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจ ย้ายชีวิตการทำงานจาก Microsoft มาที่ Amazon.com
ในระหว่างที่เขาอยู่กับ Amazon.com เขาเป็นคนสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างก้าวกระโดด จาก 16 ล้านเหรียญ สู่ 4 พันล้านเหรียญ จนได้รับตำแหน่งเป็นรองประธานอาวุโสของ Amazon.com ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายของเขา ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลาออกในปี 2545 เพื่อเข้าสู่สายอาชีพการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และอาสาสมัครต่อไป
แม้ Risher จะลาออกไปแล้ว แต่การสร้างประวัติศาสตร์ของเขาได้รับการสรรเสริญจากทุกคนในองค์กร รวมไปถึง Jeff Bezos, CEO และผู้ก่อตั้ง Amazon.com, ถึงขนาดที่ว่า ในหน้า Site-directory ของเว็บ Amazon.com จะมีลิงค์ลับ (Easter Egg) เพื่อเข้าสู่จดหมายขอบคุณที่เขียนโดย Jeff Bezos โดยที่ระบุเอาไว้ว่า ลิงค์นี้จะเป็นลิงค์ที่จารึกเอาไว้อยู่ตลอดกาล (Perpetuity) เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำเร็จของเขา
เขาตัดสินใจเดินทางไปเป็นอาสาสมัครในประเทศต่างๆ ที่กำลังพัฒนา และเริ่มค้นพบว่า การอ่านยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก อย่างเช่นที่ประเทศเอกวาดอร์, เขาพบว่าห้องสมุดที่มีหนังสือเรียงเป็นตั้งๆ ถูกปิดและล็อคไว้ในอาคารหลังหนึ่ง เมื่อสอบถามกับเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนนั้น เขากลับได้รับคำตอบว่า “ใช่, มันเป็นห้องสมุดของเรา แต่ฉันคิดว่า ฉันทำกุญแจมันหายไปแล้วหละ”
มันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่อุปกรณ์การอ่านหนังสืออย่าง kindle เริ่มเข้าสู่ตลาด ซึ่งทำให้โครงการของเขาเริ่มตกตะกอน ด้วยราคาของเทคโนโลยีที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความสามารถที่ทำให้เด็กมีโอกาสเลือกหนังสืออ่านเองได้อย่างหลากหลาย และมีความสะดวกสบาย สิ่งเหล่านี้ จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของผู้คนไปทั่วโลก ณ เวลานั้นเอง องค์กร Worldreader ถือกำเนิดขึ้น
Worldreader เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ได้รับเงินจากการบริจาค และความร่วมมือของพันธมิตรต่างๆ รวมไปถึง Amazon.com โดยดำเนินงานบนพันธกิจขององค์กร ที่ก่อตั้งเพื่อเผยแพร่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ไปยังกลุ่มเด็กๆ ในประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะเชื่อว่า การอ่าน จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของเด็กเหล่านั้น และลดปัญหาของการขนส่งให้หมดสิ้นไป
ความไม่พร้อมของถนนหนทาง หรือ สภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ทำให้การขนส่งมีต้นทุนสูง, มีความยากลำบาก และใช้เวลานาน ในการกระจายความรู้แบบดั้งเดิม ที่ต้องพึ่งพาเส้นทางคมนาคม แต่เทคโนโลยีในปัจจุบัน จะช่วยกำจัดปัญหาเหล่านี้ออกไปหมดสิ้น ดังเช่น โครงการ WiMax IT Valley ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนของบ้านเรา
วันที่ 14 มีนาคม 2553, เป็นวันที่ Risher ตัดสินใจเริ่มโครงการ และลงสนามจริงในเมือง Ayenyah ประเทศกาน่า ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาเรื่องระบบคมนาคมอย่างมาก ตั้งแต่การเข้าถึง และการซ่อมบำรุง เพราะกระทรวงคมนาคมของประเทศกาน่า มีพนักงานเพียง 4 คน โดยใช้รถ Land Cruiser และรถกระบะอย่างละคัน เพื่อตรวจสอบและซ่อมแซมถนน 60,000 กิโลเมตร ทั่วประเทศ
Risher ใช้เวลาในวันนั้น อยู่กับเด็ก 20 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ถึง 26 ปี เพื่อสอนการใช้งาน kindle เบื้องต้น และปล่อยเวลาที่เหลือ ให้เด็กเหล่านั้นอยู่กับหนังสือในเครื่องที่เตรียมไว้ เพื่อรอดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่าง เด็กในประเทศที่กำลังพัฒนา กับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของโลกในตอนนั้น
เป็นไปตามที่ Risher คาดไว้, เด็กเหล่านั้นให้การตอบรับดีมาก เขาสนใจหนังสือหลากหลายแนว ตั้งแต่หนังสือชุดเด็กอย่าง Magic Tree House ไปจนถึง หนังสือที่จัดทำโดยเฉพาะอย่างเช่นเรื่องฟุตบอลของชาวกาน่า เด็กเหล่านั้นก็เหมือนกับพวกเรา ที่ชอบอ่านในสิ่งที่เชื่อมโยงกับเราได้ หรือสนุกกับมัน จริงไหม?
ความสามารถต่างๆ ใน kindle รุ่นล่าสุดนี้ ก็เป็นที่ชื่นชอบ และมีประโยชน์กับเด็กเหล่านั้นมาก ไม่ว่าจะเป็น พจนานุกรมในเครื่อง หรือระบบ Text-to-speech ที่ช่วยทำให้เด็กๆ ฟังเสียงจากการอ่าน แทนที่จะอ่านด้วยตนเองได้
จนกระทั่งในเดือนตุลาคม ปี 2553, Risher ตัดสินใจสานโครงการต่อเต็มรูปแบบ ด้วยการแจก kindle จำนวน 600 เครื่อง ที่ได้รับการบริจาคจาก Amazon.com และหนังสืออิเล็กทรอกนิกส์ จำนวน 20,000 เล่ม ไปยังเด็ก 1,000 คน ในกาน่า โดยใช้ชื่อโครงการนี้ว่า iREAD (Impact on Reading of E-Readers And Digital content) บนจุดประสงค์หลัก 4 ข้อ ดังนี้
Worldreader ได้ประเมินผลการศึกษาของโครงการ iREAD และสรุปออกมาเป็นรายงานเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ซึ่งผลการศึกษาเป็นที่น่าตกใจในหลายๆ ด้าน เรื่องของการขโมยหรือสูญหายของเครื่อง มีค่าใกล้เคียงศูนย์ (มีเพียง 2 เครื่อง จาก 600 เครื่องที่หายไป) เด็กๆ สามารถเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น จากไม่เกิน 10 เล่ม เป็น 107 เล่ม จากผู้สนับสนุนต่างๆ ที่บริจาคหนังสือฟรีแก่โครงการ และผลการทดสอบด้านภาษาอังกฤษของกลุ่มที่ใช้ kindle ก็เพิ่มขึ้น 12.9% ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ใช้ kindle เพิ่มเพียง 8.1% เท่านั้น นอกจากนี้ kindle ยังส่งผลแฝงอื่นๆ ให้กับเด็กๆ อีกด้วย เช่น เพิ่มความกระตือรือร้นในการอ่าน หรือ เพิ่มวัตถุดิบในการสอนให้กับเหล่าอาจารย์
ปัญหาเดียวของโครงการนี้ น่าจะเป็นเรื่องความเสียหายของเครื่องจากการตก โดยตัวเลขของเครื่องที่ตกแล้วพังอยู่ที่ 40.5% ของเครื่องทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ ได้มีการดำเนินการแก้ไขไปแล้วในหลายวิธี เช่น เพิ่มหลักสูตรอาชีพในการซ่อมแซมเครื่อง kindle, การใส่เคสป้องกันเพิ่มเติม และมีการเพิ่มมาตรฐานของการผลิตจอภาพที่ได้คุณภาพมากขึ้นอีกด้วย (ล่าสุดตัวเลขของความเสียหายอยู่ที่ 19%)
เห็นแบบนี้แล้ว โครงการ OTPC (One-Tablet-Per-Child) ควรจะเปลี่ยนเป็น OKPC (One-Kindle-Per-Child) หรือไม่นะ?
ที่มา : (via https://chaintan17.com)
Comments
พจนานุกรมครับ
แก้ไขแล้วครับ ขอบคุณมากครับ
“Life is like a journey, every experience matters.”
อ่านแล้วก็รู้สึกว่าอยากให้ประเทศเราแจก E-Book Reader บ้าง
ผมยอมรับเลยว่าก่อนซื้อ Kindle มาใช้ ก็เป็นคนไม่ค่อยติดหนังสือ
พอได้ใช้แล้ว พูดตามตรง ยิ่งอ่าน ยิ่งติด ยิ่งใช้ทุกวัน
คงเป็นได้แค่ฝันละครับ ขนาด OTPC ผมยังไม่เห็นเลยว่าเด็ก ป.1 จะได้ประโยชน์อะไรจากแท็บเล็ต เผลอๆอาจทำให้เด็กเขียนหนังสือไม่เป็นมากกว่าเดิมอีกด้วยซ้ำ
แต่ถ้าโครงการคินเดิลมันทำในไทยได้ก็จะดีมากเลยล่ะครับ (โดยเฉพาะแถบชนบท และที่ห่างไกลจากตัวเมืองหลวงและเืมืองใหญ่ๆ) เพราะอย่างน้อยๆก็ช่วยส่งเสริมการอ่านให้เด็กๆได้ และก็เสริมสร้างทักษะทางด้านภาษาอังกฤษด้วยในตัวครับ
แต่ก็ขอขอบคุณนะครับที่เรียบเรียงมาให้ได้อ่านกันครับผม
แค่มนุษย์คนนึงที่อยากรู้เกี่ยวกับวงการไอที
otpc อ่านหนังสือใด้ครับ
http://www.dekthai.net/Flipbook/index.html
ปัญหา content น้อยน่าจะตามไปหลอกหลอนด้วย ไม่ว่าจะไช้ e-reader หรืออะไรก็ตาม เพราะมันเป็นโครงการใหม่
samsung ใหญ่แค่ใหน ?
https://youtu.be/6Afpey7Eldo
น่าจะใส่หน่วย "คน" ด้วยหรือเปล่าครับ
ผมเองก็อยากหา kindle มาใช้เหมือนกัน แต่ติดเรื่องกำแพงภาษา ถ้ามี ebook ภาษาไทยที่ซื้อได้ง่ายจากเครื่อง kindle เองก็น่าจะทำให้คนหันมาสนใจกันมากขึ้นนะครับ
แก้ไขแล้วครับ ขอบพระคุณครับ
“Life is like a journey, every experience matters.”
อยากให้มีหนังสือภาษาไทยดีๆ เยอะครับ
อ่านบนเครื่องแบบนี้มันสุดยอดมาก
แค่อ่านภาษา Eng นี่ก็เยี่ยมแล้ว
แม่ผมได้เครื่องเอามาอ่าน เพชรพระอุมาแล้วอ่าน 11 เล่มแล้วยังไม่วางเลยครับ
เหมาะกับทั้งเด็กและผู้สูงอายุเพราะปรับขนาดอักษรได้
ถ้าอยากจะให้ Worldwide อาจจะต้องมีการทำเกี่ยวกับการอ่านตัวอักษรของภาษาท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วยนะครับ
ซึ่ง Kindle ยังขาดความสามารถตรงนี้อยู่ (เท่าที่ผมทราบตอนนี้น่ะนะ)
ไม่ต้องอ่านออกเสียง แค่เรียบเรียงตัวอักษรออกมาได้แบบปัจจุบันก็เพียงพอแล้วนะครับผมว่า
@relaxpor ยังไม่ได้ badge C นะครับ
เรียบเรียงดี อ่านเพลินมากครับ
+1 อ่านเพลิน
ผ่านเอินมากครับ
Blognone = 138.1 news/w เยอะมากๆ
อ่านเพลิน!!
คนนี้แหละที่ลืมชื่อให้แอดมินใส่ Badge C = =a
ขอบพระคุณมากครับ รู้สึกเป็นเกียรติจริงๆ ครับ
“Life is like a journey, every experience matters.”
อยากได้เหมือนกันนะ เก็บเงินก่อน
ขอบคุณที่เรียบเรียงมาให้อ่านครับ
ก็ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่รัฐจะเปิดช่องทางให้นักพัฒนาและผู้ปรารถนาดีกับโครงการtablet ได้ใส่เนื้อหา ใส่โปรแกรมเข้าไปได้บ้าง
มัวแต่ทำเรื่องจัดจ้าง กิน%กัน เจ้าภาพจัดการก็ไม่ชัดเจน
คนดีๆหนะมีเยอะ ถ้าเปิดบ้างผมว่ามันก็ต้องมีซักเจ้าบ้างแหละที่จะปล่อย ebook ให้เด็กได้อ่านฟรี
หรือระดมทุนซื้อ license ให้เด็กอ่านก็ยังได้
ในเมื่อตอนนี้รัฐยังไม่รู้จะทำเนื้อหาอะไร ก็ควรเปิดช่องให้ใส่พวก ebook reader ซักตัวไปเลย ดีกว่าเปิดเวบของโครงการที่ยังไม่เสร็จซะที
อ่านบทความแล้วนึกถึง apple จังเงินเหลือเยอะแยะ
น่าให้เป็นที่ปรึกษารัฐบาลจัง
อันนี้น่าจะเป็นลิงค์ลับ (Easter Egg) ที่ Jeff Bezos เขียนจดหมายขอบคุณ David Risher
http://www.amazon.com/gp/feature.html?ie=UTF8&docId=447307
อูว ที่มาเยอะมาก เขียนน่าอ่านดีครับยังกับอ่านนิยาย
แต่ยังไงผมก็ว่า แท็บเล็ทยังมีประโยชน์กว่าคินเดิลอ่ะนะ ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องเด็กตาจะเสียอะไรมากมาย ยังไงอยู่หน้าคอมโตมาตาก็เสียอยู่แล้ว
Kindle ถนอมสายตากว่าไม่ใช่หรือครับ โดยเฉพาะกับการอ่าน?
my blog
เท่าที่ตามหาข้อมูลมา ไม่มีีงานวิจัยยืนยันนะครับ เป็นความเชื่ออย่างเดียวว่าจอคอมพิวเตอร์ไม่ดีต่อสุขภาพตา
ที่ยืนยันได้แน่ๆ คือตาจะล้าเมื่อมองจอคอมพิวเตอร์เร็วกว่ากระดาษและ e-ink แต่ในแง่ผลกระทบระยะยาวยังไม่มีใครเจอผลกระทบชัดเจน
ในแง่การเรียน การใช้จอ e-ink หรือ TFT ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันมาก การใช้งานของ e-ink นั้นจำกัดมาก โดยเฉพาะ refresh rate ที่ต่ำ ทำให้ใช้งานกับพวก touch screen ที่ต้องการการแสดงว่าแตะติดแล้ว เช่น การลากเลื่อน ได้ลำบาก รวมถึงภาพเคลื่อนไหวที่จะใช้งานแทบไม่ได้เลย
เหตุผลของความจำกัดทำให้โครงการ OLPC เลือก Pixel Qi เป็น "ทางสายกลาง" การตอบสนองภาพยังเร็วอยู่ ไม่ประหยัดไฟเท่า e-ink แต่ใช้โหมดไม่ส่องแสงได้
lewcpe.com, @wasonliw
ผมว่าจริง ๆ e-ink ไม่สมควรเรียกว่าค่า refresh rate นะครับ เพราะ refresh rate นั้นจริง ๆ คือจำนวนครั้งในการ refresh ภาพเพื่อให้ต่อเนื่องและไม่ให้ภาพหายไป ขณะที่ e-ink "ไม่จำเป็น" ต้อง refresh ภาพครับ
ถ้าให้เทียบก็คงเหมือนกับ RAM V.S. HDD ครับ RAM เก็บข้อมูลแล้วต้อง refresh data ภายในเพื่อไม่ให้มันหายไป ขณะที่ HDD เก็บแล้วไม่หายไปจึงไม่มี
เพราะฉะนั้นจอ e-ink ไม่ได้มี refresh rate ที่ต่ำ แต่มันไม่มี refresh rate (หรือมีเท่ากับแสงที่ส่องจอ เช่น เปิดหลอดฟลูออเรสเซนต์ปกติก็จะราว 50Hz) ต้องเรียกว่ามันมีความเร็วการเปลี่ยนภาพที่ต่ำหรือช้ามากกว่า เพราะถ้าจอที่มี refresh rate ต่ำจริง ๆ อันนั้นส่งผลให้ปวดหัวแน่นอนครับ
ใน technic spec ของ e-ink เองก็ไม่ได้เรียก refresh rate (หน่วย Hz??) แต่เรียกว่า Image Update Timer ที่ใช้หน่วยเวลามิลลิวินาทีแทนครับ
ผมใช้คำผิดเองครับ ตอนพิมพ์นึกไม่ออก ขอบคุณครับ
lewcpe.com, @wasonliw
ผมก็ลากซะยาวเกินจำเป็นด้วย - -" เผื่อคนไม่ทราบน่ะครับ เพราะผมเชียร์เจ้าจอแบบนี้สุดใจจริง ๆ ^^
ขอบคุณสำหรับบทความครับ :)
ลงแท็ก Worldreader ด้วยครับ เพราะมีข่าวเก่าครับ
http://www.blognone.com/node/32082
มันไม่ง่ายเลยที่จะทำ GIF ให้มีขนาดน้อยกว่า 20kB
เพิ่มแล้วครับ ขอบคุณครับ
“Life is like a journey, every experience matters.”
พอดีเมื่อเช้าไปตะลอนๆ มา ตอนนี้แก้ไขหมดแล้วครับ ขอเพิ่ม via เว็บไซต์ผมทีนะครับ แหะๆ
ปล. มีคำว่า หลงไหล พิมพ์ผิดด้วย พอดีเพื่อนผมอ่านเจอ ต้องเป็น หลงใหล อันนี้เพิ่งทราบจริงๆ 555
“Life is like a journey, every experience matters.”
ยินดีครับ