เมื่อไม่นานมานี้ทาง Blognone ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ Airbnb หนึ่งใน startup ที่กำลังมาแรงในยุคนี้ และเพิ่งก้าวเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
หัวข้อที่คุยกันครอบคลุมตั้งแต่แนวคิดของ Airbnb เป้าหมายของ Airbnb ในประเทศไทย รวมไปถึง Airbnb ก้าวมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรครับ
ก่อนจะเข้าส่วนสัมภาษณ์ มาทำความรู้จักกับ Airbnb กันก่อนว่า Airbnb คือคอมมิวนิตี้ที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถนำห้องว่างมาเปิดให้ผู้ใช้อื่นเช่าได้ฟรี โดย Airbnb จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ทั้งผู้ให้เช่า และผู้เช่าสามารถค้นหา และจองห้องได้สะดวกขึ้น รวมถึงการสนับสนุนผู้ให้เช่าอย่างการให้ช่างภาพไปช่วยถ่ายภาพให้ ปัจจุบัน Airbnb มีผู้มาลงให้เช่ามากกว่า 200,000 ห้อง 26,000 เมือง ใน 192 ประเทศทั่วโลก
คนของ Airbnb ที่เราได้ไปสัมภาษณ์ครั้งนี้ นำทีมโดย Nathan Blecharczyk หนึ่งในผู้ก่อตั้ง และหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของ Airbnb ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างคอมมิวนิตี้หลังใหญ่แห่งนี้
ก่อนจะเริ่มคำถาม Blecharczyk ได้เล่าถึงแนวคิด และความเป็นมาของ Airbnb ย่ออย่างสรุปมีดังนี้
Airbnb มีประเทศ หรือทวีปไหนที่ต้องการขยายบริการเข้าไปเป็นพิเศษไหม หรือขยายไปที่ไหนก็ได้
ตอนแรกไม่ค่อยมีผู้คนรู้จักเรามากนัก แต่หลังจากที่เราไปเปิดตัวในนิวยอร์ก เมืองที่มีผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาที่นี่ และเมื่อเขาสัมผัสกับประสบการณ์ของ Airbnb จากนิวยอร์ก ก็มีการเล่าสู่กันฟังแบบปากต่อปาก จากผู้เช่ากลายเป็นผู้ให้เช่า และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ Airbnb เติบโตไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จนถึงตอนนี้ธุรกิจนอกสหรัฐฯ นั้นใหญ่กว่าในสหรัฐฯ ถึงสองเท่าตัว
ในส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เรามองว่านี่เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของเรา ทั้งความนิยมในท้องที่เป็นทุนเดิม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกับที่อื่นในโลก โดยเฉพาะประเทศไทย ผมเองเคยมาฮันนีมูนที่นี่เมื่อสามปีก่อน ด้วยเหตุผลเดียวกับที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาที่นี่ และคิดว่ามีผู้คนทั่วโลกอีกมากที่ต้องการมาที่ประเทศไทย
กลุ่มเป้าหมายของ Airbnb ในประเทศไทยเป็นกลุ่มไหน คนไทย หรือชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย
ทั้งสองกลุ่มคือเป้าหมายของเรา ถ้าดูจากการเติบโตของเมื่อปีก่อน ในฝั่งขาเข้านั้นดีมาก สิ่งที่เราจะทำต่อไปคือการติดต่อกับผู้ให้เช่าในประเทศ และให้การสนับสนุนเพิ่มเติม อย่างเมื่อเร็วๆ นี้เราเพิ่งแปลทั้งเว็บไซต์ให้เป็นภาษาไทย และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะมีส่วนบริการลูกค้าสำหรับประเทศไทย เพื่อรองรับทั้งคนไทยที่เป็นผู้ให้เช่า และคนไทยที่เดินทางไปยังประเทศอื่นแล้วเช่าห้องผ่าน Airbnb อีกด้วย
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Airbnb มีออฟฟิศไหม และมีประเทศไหนที่ Airbnb เน้นเป็นพิเศษหรือเปล่า
ในตอนนี้เรามีออฟฟิศอยู่ในสิงคโปร์ และเราก็ยังมองหาโอกาสไปเปิดออฟฟิศในประเทศอื่นของแถบนี้อยู่ ส่วนประเทศที่เราโฟกัสก็มีไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียด้วย
ประเทศไทยมีโอกาสที่ Airbnb จะโตได้อีกมาก กลุ่มแรกคือจับเจ้าของโรงแรมบูติก หรือเจ้าของรีสอร์ตส่วนมากไม่ชอบ Agoda ซึ่งครองตลาดจองที่พักในประเทศไทย และเก็บค่าบริการค่อนข้างสูง แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นเช่นกัน
อีกกลุ่มคือเจ้าของห้องคอนโดที่ซื้อมาเพื่อลงทุนระยะยาว และหวังปล่อยเช่า แต่การหาคนมาเช่านั้นค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ถ้า Airbnb เข้าถึงกลุ่มนี้จะช่วยได้มาก
ตรงส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นแน่นอน ด้วยข้อได้เปรียบของ Airbnb ที่ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย (หมายถึงค่าธรรมเนียมการลงห้องพักบนเว็บไซต์)
Airbnb มีแผนจะช่วยเหลือผู้ใช้ชาวไทยในการลงให้เช่าห้องบ้างไหม อย่างช่วยแปลรายละเอียดห้องพักจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ฯลฯ
บนเว็บไซต์ของ Airbnb รองรับการแสดงผลรายละเอียดแบบหลายภาษาอยู่แล้ว ระบบแปลภาษาก็เป็นหนึ่งในฟีเจอร์ของเว็บไซต์เช่นกัน เราใช้ทั้งการแปลด้วยซอฟต์แวร์ และการแปลด้วยคน (มี live demo แปลภาษาบนหน้าเว็บระหว่างสัมภาษณ์ด้วย การแปลภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยอยู่ในขั้นพออ่านรู้เรื่อง ซึ่งไม่ได้เกินความคาดหมายนัก)
Airbnb ทำอย่างไรถึงได้เติบโตได้ค่อนข้างเร็วในช่วงแรก
คำตอบของเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปที่เดือนสิงหาคมปี 2008 ช่วงที่ Airbnb เพิ่งเริ่มต้น เราเปิดตัวที่ Democratic National Convention (สถานที่ Barack Obama ขึ้นกล่าวรับตำแหน่งประธานาธิบดี) ที่มีผู้คนผ่านไปมาจำนวนมาก และด้วยความที่เมืองมีห้องพักในโรงแรมเพียง 17,000 ห้อง ย่อมไม่เพียงพอต่อจำนวนคนเดินทางเข้ามา หลังจากงานเปิดตัวสองสัปดาห์เราได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ และเข้าไปคุยกับเจ้าของห้องพักในท้องที่ให้มาลงห้องเช่ากับ Airbnb ภายในสองสัปดาห์เราก็มีห้องพักที่มาลงอยู่ในเว็บไซต์ พร้อมให้เช่ามากถึง 800 ห้อง และเริ่มรู้จักไปทั่วหลังจากสัมภาษณ์กับสื่อหลัก อาทิเช่น CNN
ต่อมาอีก 4-5 เดือน เราได้เข้าร่วมโปรแกรม Y Combinator ที่แนะนำให้เรามายังนิวยอร์ก หลังจากนั้นเราได้ไปที่นิวยอร์กสี่ครั้ง เพื่อพบกับบรรดานักลงทุนที่ Y Combinator แนะนำมา ตลอดโปรแกรมระยะเวลาสามเดือนเศษ เราเรียนรู้ความต้องการของผู้ใช้ เราเข้าถึง ช่วยเหลือ และเป็นเพื่อนกับบรรดาผู้ให้เช่า แนะนำการเขียนรายละเอียด ถ่ายรูปห้อง และต่อรองราคาห้องให้ถูกลง ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เราได้ห้องพักในนิวยอร์กราว 40 ห้อง และทันทีที่ห้องถูกจอง การบอกต่อกันของผู้ใช้ก็เริ่มขึ้น
มีข่าวว่าหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Airbnb ติดอยู่ในรายชื่อนักสแปมรายใหญ่ของโลก มีความเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้บ้าง (ผมไปค้นมาทีหลังพบว่าข่าวมาจาก Gawker พูดถึงเรื่องการสแปม Craigslist ครับ)
Nathan Blecharczyk (ซึ่งที่ถูกกล่าวถึงในข่าว) บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด และเป็นการมองจากมุมเดียวเท่านั้น ซึ่งเขาเองก็ไม่ค่อยชอบใจนัก
ปิดท้ายด้วยคำถามที่หลายคนน่าจะสงสัยกันว่าชื่อของ Airbnb มีที่มาจากอะไรครับ
ตอนที่เปิดให้บริการครั้งแรกเราใช้ชื่อว่า "Airbed & Breakfast" ที่เปิดให้คนมาลงห้องให้คนอื่นมาเช่าเท่านั้น และเพื่อขยายบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น เราจึงเปิดตัวใหม่อีกครั้งพร้อมชื่อที่สั้นลงด้วยการย่อคำเหลือเพียง "Airbnb" นั่นเอง
Comments
"ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เราได้ห้องพักในนิวยอร์กราว 40 ห้อง" 40 หรือ 400 ครับ หลายใช้เวลาเป็นสัปดาห์ได้แค่ 40 ห้องนี่น่าท้อใจนะครับ
ว่าแต่อ่านแล้วงง Airbnb ไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมการลงห้องพักบนเว็บไซต์ แล้วมีรายได้จากตรงไหนครับ?
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
40 น่ะถูกแล้วครับ เป็น startup มันยากแบบนี้แหละ
ส่วนรายได้มาจากค่าห้องหักเปอร์เซ็นต์ คือลงฟรี หักเมื่อเกิดธุรกรรม แบบเดียวกับ Ebay
โห พยายามมาก ๆ ช่วงเปิดตัวใช้เวลาแค่ 2 สัปดาห์ได้ห้อง 800 ห้อง พอขยายไปนิวยอร์กใช้เวลาหลายสัปดาห์ดันได้แค่ 40 ห้อง เป็นผมคงท้อโคตร ๆ
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
รายนี้ดังจริง blognone เจ๋งมากไปสัมภาษณ์เค้าได้
อึ้งเลย บางคนเอาคอนโดมาให้เช่า ไปๆ มาๆ รายได้มันวิ่งนะ แถมมูลค่าเพิ่มด้วย
ผมดูเว็บแล้ว ส่วนแปลด้วยคนนี้แปลได้ดีกว่าหลายๆ เว็บซะอีก ส่วนแปลด้วยเครื่องนี้ก็พอรับได้นะ มองดูโมเดลแล้วมันไปได้เลยนะเนี่ย ตอนแรกก็นึกถึงการเลี่ยงเพื่อไม่อยากให้หักค่าห้อง แต่เอาจริงๆ เว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางนั้นช่วยอำนวยความสะดวกการรับชำระเงินได้เยอะ โดยเฉพาะเรื่องการประกันความเสี่ยงหาย (กันวงเงินในบัตรเพื่อเป็นค่าประกัน ถ้ามีการเรียกค่าประกันจะมีทีมเรื่องนี้ติดต่อทั้ง 2 ฝ่ายหาข้อยุติ)
สรุปไม่เลวเลย แต่แน่นอนถ้ามีการมาค้างครั้งต่อไป และผู้ให้เช่าเสนอให้โอนเข้า Paypal โมเดลนี้ก็จะขาดรายได้ไปจุดหนึ่ง
มันไม่ง่ายเลยที่จะทำ GIF ให้มีขนาดน้อยกว่า 20kB
ตรงนี้เขียนด้วยตัวหนา ...
"ประเทศไทยมีโอกาสที่ Airbnb จะโตได้อีกมาก กลุ่มแรกคือจับเจ้าของโรงแรมบูติก หรือเจ้าของรีสอร์ตส่วนมากไม่ชอบ Agoda ซึ่งครองตลาดจองที่พักในประเทศไทย และเก็บค่าบริการค่อนข้างสูง แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นเช่นกัน
อีกกลุ่มคือเจ้าของห้องคอนโดที่ซื้อมาเพื่อลงทุนระยะยาว และหวังปล่อยเช่า แต่การหาคนมาเช่านั้นค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ถ้า Airbnb เข้าถึงกลุ่มนี้จะช่วยได้มาก"
... ผมเลย งง ว่า เป็นคำพูดของทีม Blognone หรือของ Nathan ครับ ?
ตัวหนาเป็นคำถามของ Blognone ครับ
การสร้างมาตรฐานของภาพที่พักโดยใช้ช่างกล้องของตัวเองน่าสนใจครับ เหมือนโมเดลธุรกิจขายรถมือสองของ One2Car
ซึ่งสิ่งนี้แหละเป็นสิ่งที่เขาลงทุนเยอะ และใช้คนเป็นจำนวนมากก่อนที่โมเดลธุรกิจจะเดินต่อไปได้
(แต่โมเดลการซื้อขายแลกเปลี่ยนรถบ้านในไทยไม่เกิดเพราะรถมีรายละเอียดที่ต่างจากเช่าบ้านอยู่มาก)
สารภาพว่าไม่รู้จัก airbnb มาก่อนเลย แต่ชอบแนวคิดเจ๋งดีครับ คงได้ใช้บริการแน่ในอนาคต
เห็นลง Ads Facebook บ่อยๆ ตัวนี้