ช่วงนี้กระแสเครื่องพิมพ์สามมิติกำลังมาแรง แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง เช่น MakerBot Replicator 2 มีราคากว่า $2,500 ถึงแม้จะมีตัวที่ราคาถูกกว่านั้นหรือจะประกอบเองก็ได้ แต่ต้นทุนก็ยังอยู่ในระดับหลายร้อยเหรียญ หรือหนึ่งหมื่นบาทขึ้นไป ทำให้การจะหาซื้อมาเป็นของเล่นให้กับเด็กๆ ดูจะเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย รวมถึงการใช้งาน การประกอบ ก็ยุ่งยากมากเกินไป
Rylan Grayston นักพัฒนาชาวแคนนาดามองเห็นปัญหานี้ และนำเสนอโครงการ "Peachy Printer" เครื่องพิมพ์ + สแกนเนอร์สามมิติเพื่อระดมทุนในราคา 100 เหรียญแคนาดา (ประมาณ 97 เหรียญสหรัฐ หรือ 3,050 บาท) โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เครื่องพิมพ์สามมิติเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันที่จะพิมพ์งานสามมิติออกมา
อย่างไรก็ตาม เครื่องพิมพ์ตัวนี้ ไม่ได้ใช้หลักการแบบเครื่องพิมพ์ตัวอื่นในตลาดที่คุ้นเคยกัน ในขณะที่เครื่องอื่นใช้วิธี "ฉีด" พลาสติกหลอมเหลวทีละชั้น รอให้พลาสติกแข็งตัวเกาะกันเป็นชิ้นงาน เครื่องพิมพ์เครื่องนี้จะใช้ "เรซินไวแสง" ซึ่งเป็นของเหลวที่จะแข็งตัวเมื่อโดนแสงที่ความเข้ม/ความถี่เฉพาะ การทำงานของเครื่องคือ ใส่น้ำลงในแก้วและใส่เรซินลงไป เรซินที่เบากว่าน้ำก็จะลอยอยู่ด้านบน ยิงแสงเลเซอร์ลงกระจก และควบคุมการพลิกกระจกให้สะท้อนเลเซอร์ลงบนเรซินตามที่รูปร่างต้องการ ในขณะเดียวกัน ก็ปล่อยน้ำหยดลงในแก้วทีละหยดอย่างช้าๆ เพื่อยกระดับเรซินให้สูงขึ้น และใช้เลเซอร์วาดเลเยอร์ถัดไป กระบวนการทำให้เรซินแข็งตัวนี้เรียกว่า Photolithography ซึ่งใช้งานทั่วไปในการผลิตชิป IC อยู่แล้ว ส่วนกระบวนการสแกน ก็ใช้เลเซอร์กวาดไปที่ชิ้นงาน แล้วใช้กล้องดิจิตอลถ่าย หมุนชิ้นงานจนครบรอบ แล้วเอาภาพทั้งหมดเข้าซอฟต์แวร์ ก็จะได้เป็นโมเดลสามมิติมาใช้งาน
นอกจาก Peachy Printer แล้ว ยังมีอีกโครงการหนึ่ง ชื่อ LumiFold ใช้หลักการเดียวกัน แต่แทนที่จะใช้เลเซอร์กับกระจก ก็เปลี่ยนเป็นใช้ไอโฟน, จอภาพ หรือโปรเจคเตอร์แทน โดย LumiFold จะมีเพียงวงจรควบคุมและขาตั้งให้ ในราคารุ่นเล็กที่ 79 เหรียญสหรัฐ สนใจโครงการไหน ดูรายละเอียด และคลิปอธิบายการทำงานได้จากที่มาได้เลยครับ
ที่มา - Peachy Printer: Kickstarter, Indiegogo, LumiFold: Indiegogo
Comments
เทคโนโลยีมันจะเกิดประโยชน์สูงสุด ก็ต่อเมื่อทุกๆ คนเข้าถึงได้แหละนะ
อยากได้ท่านไดรู้วิธีซื้อบ้าง
ไป "สนับสนุน" ตามจำนวนเงินที่เค้ากำหนด ($100 ขึ้นไป) ใน Kickstarter ครับ ถ้า Project ผ่านจำนวนเงินที่ตั้งไว้ (ตอนนี้ผ่านแล้ว) ก็จะถือว่าสำเร็จ แล้วก็จะตัดเงินเรา แล้วเค้าถึงจะเริ่มผลิตครับ
เห็น estimate ไว้ว่า Aug 2014
อ่านประวัติแต่ละคนแล้ว อึ้ง ทึ่ง ~ เหมียว
Texion Business Solutions
ซอฟท์แวร์ => ซอฟต์แวร์
แก้ไขเรียบร้อยครับ :)
iPAtS
มีความอยากได้ขึ้นมาเลยทีเดียว
ตอนแรกว่าจะลอง pledge แต่คิดดูอีกทีมันส่ง data ผ่าน headphone jack
ถ้าเปิดเพลงไป print ไปจะเป็นยังไงนะ :P