แผนการของ "โนเกียยุคใหม่" หลังขายธุรกิจมือถือ ประกาศไว้ชัดว่าอนาคตของโนเกียคือ อุปกรณ์เครือข่าย NSN, ระบบแผนที่ HERE และธุรกิจการขายสิทธิใช้งานสิทธิบัตร
เมื่อวานนี้ NSN จัดงานแถลงข่าวในประเทศไทยพอดี ผมไปร่วมงานด้วยจึงนำกลับมาเล่าให้ฟังครับว่า NSN ในฐานะ "อนาคตของโนเกีย" ด้านหนึ่งกำลังทำอะไรอยู่บ้าง
งานแถลงข่าวครั้งนี้นำโดยคุณฮาราลด์ ไพรซ์ (Harald Preiss) ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งเป็นหัวหน้ากลุ่มธุรกิจเอเชียเหนือ รับผิดชอบตลาดประเทศไทย เวียดนาม บังกลาเทศ กัมพูชา ลาว ศรีลังกา มัลดีฟส์
อย่างแรกที่สุดก็ต้องรู้จัก NSN กันก่อนครับ NSN เป็นชื่อย่อของบริษัท Nokia Solutions and Networks ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของ Nokia Siemens Network เดิมหลังจากโนเกียเข้าซื้อหุ้นส่วนของซีเมนส์ช่วงกลางปีนี้
Nokia Siemens Network ก่อตั้งเมื่อปี 2007 โดยการดำเนินงานมาจากฝั่งของโนเกียเป็นหลัก (ซีเมนส์มาร่วมถือหุ้นด้วย) ดังนั้น NSN จึงไม่ใช่ธุรกิจใหม่ของโนเกียเลย และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ NSN มีจำนวนพนักงานมากกว่า 50,000 คน ถือว่ามากกว่าส่วนธุรกิจมือถือและบริการที่โนเกียขายให้ไมโครซอฟท์อีกนะครับ (แค่ NSN ไม่ได้เป็นที่รู้จักกันในตลาดคอนซูเมอร์เท่ากับมือถือโนเกีย และ NSN บริหารงานเป็นอิสระจากโนเกียบริษัทแม่)
เหตุผลที่โนเกียซื้อหุ้นส่วนของซีเมนส์กลับคืนมา ก็เพื่อปรับโครงสร้างของบริษัทให้คล่องตัว แถมผลประกอบการของบริษัทก็เข้มแข็งมาก ไตรมาสที่แล้ว (Q2 2013) รายรับ 2,700 ล้านยูโร กำไร 38.4% มีเงินสดอยู่ในมือ 2,500 ล้านยูโร
คุณฮาราลด์บอกว่า ปัจจุบัน NSN สนใจเพียงเรื่องเดียว โฟกัสไม่วอกแวก คือมุ่งตลาดอุปกรณ์เครือข่ายไร้สาย ขายของให้โอเปอเรเตอร์ทั่วโลกเพียงอย่างเดียว และต่อจากนี้ไป NSN จะมองแค่ตลาด LTE เท่านั้น!
โจทย์ใหญ่ของโนเกียในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็คือ จะพัฒนาอุปกรณ์เครือข่ายอย่างไรให้สามารถรองรับความต้องการใช้ข้อมูลของลูกค้า 1GB ต่อคนต่อวันในปี 2020 ให้ได้ (สถิติปัจจุบันของเมืองไทยอยู่ราว 200-300MB ต่อคนต่อเดือน)
อัตราการเติบโตของ mobile data นั้นชัดเจนมากๆ ในฝั่งคอนซูเมอร์มีแอพเกิดใหม่มากมาย และแอพอย่าง LINE ที่มีระบบ VoIP ก็ทำให้คนนิยมโทรผ่าน IP กันมากขึ้น นอกจากนี้ในฝั่งธุรกิจก็จะต้องการใช้ mobile data เยอะขึ้นจากแอพพลิเคชันองค์กรใหม่ๆ ที่จะเพิ่มขึ้นมากในเร็ววัน
ปัจจุบันเทคโนโลยี LTE ก็แพร่หลายในตลาดโลกแล้ว มีโครงข่าย LTE ให้บริการทั่วโลกแล้ว 213 โครงข่าย, โอเปอเรเตอร์ 456 ราย
ประเทศที่มีไซต์ LTE เยอะที่สุดคือญี่ปุ่น 180,000 ไซต์, ตามด้วยเกาหลีใต้ 80,000 ไซต์ และสหรัฐอเมริกา 74,000 ไซต์
เนื่องจาก NSN มองตลาดนี้มานานจึงพร้อมมาก ปัจจุบันตัวเลขที่เปิดเผยได้คือโอเปอเรเตอร์ 92 รายทั่วโลก ใช้ระบบเครือข่ายของ NSN ทำ LTE (คุณฮาราลด์บอกว่ายังมีตัวเลขที่เปิดเผยไม่ได้อีกด้วย ดังนั้นตัวเลขจริงไม่ใช่แค่ 92 ราย)
NSN ค่อนข้างภูมิใจที่ยึดตลาด LTE ในเอเชียได้แล้ว โดย 3 โอเปอเรเตอร์ใหญ่ของญี่ปุ่น (DOCOMO, KDDI, SoftBank) และ 3 โอเปอเรเตอร์ใหญ่ของเกาหลีใต้ (SK, KT, LG U+) แถมด้วย Optus ของออสเตรเลียอีกหนึ่งราย เลือกใช้อุปกรณ์ของ NSN
ในแง่เทคโนโลยี LTE ตลาดที่ก้าวหน้าที่สุดคือเกาหลีใต้ เพราะเริ่มทำ LTE-Advanced กันแล้ว ฝั่งการโทรด้วยเสียงก็ลงอุปกรณ์ที่เป็น VoLTE เป็นประเทศแรกในโลก
สำหรับตลาดจีนที่มีเทคโนโลยีแปลกๆ อย่าง TD-LTE ทาง NSN ก็บอกว่าพร้อมทุกอย่าง และมีส่วนแบ่งตลาด (นับตามจำนวน base station) เยอะที่สุดถ้าคิดจากการประมูลแบบ open bid
มาดูข้อมูลเทคนิคกันบ้างครับ ตัวอุปกรณ์เครือข่าย LTE ของ NSN ก็หน้าตาดังภาพ อุปกรณ์สมัยนี้มีขนาดเล็กลงเยอะ กินไฟน้อยลง ฮาร์ดแวร์ตัวเดียวรองรับ 2G/3G/4G ในตัว อยากอัพเกรดเป็น LTE-A ก็แค่อัพเกรดซอฟต์แวร์เท่านั้นจบ
อันนี้น่าสนใจมากครับ เมื่อต้นปีนี้ที่งาน MWC 2013 บริษัทเปิดตัว base station ที่ฝังเว็บเซิร์ฟเวอร์ไว้ในตัว ช่วยให้สามารถบริการข้อมูลที่ต้องการ latency ต่ำๆ ได้เลย และองค์กรก็ไม่ต้องลงทุนสร้างเซิร์ฟเวอร์ฟาร์มขนาดใหญ่มากเท่าแต่ก่อน เพราะแบ่งกำลังบางส่วนมาอยู่ที่ base station แทนได้
NSN เรียกฟีเจอร์ลักษณะนี้ว่า Liquid Applications
สำหรับตลาดเมืองไทย คุณฮาราลด์ก็บอกว่าลูกค้าไทยพร้อมสำหรับ 4G LTE แล้วล่ะ ขั้นต่อไปก็คงอยู่ที่ฝั่งหน่วยงานของรัฐที่จะจัดสรรคลื่นความถี่มาทำ LTE กันก่อนในขั้นแรก และต่อจากนั้นค่อยเป็นขั้นตอนของ LTE-A ต่อไป
โดยสรุปแล้วก็คือ ถึงแม้โนเกียจะขายธุรกิจมือถือออกไป ถือเป็นการสูญเสียในเชิงสัญลักษณ์ แต่ในแง่ธุรกิจหวังผลกำไรแล้ว โนเกียยังแข็งแกร่งมากด้วยฝีมือของ NSN นั่นเองครับ
Comments
จริงๆ ถือว่าเข้มแข็งกว่าเดิมรึเปล่า? เพราะที่ผ่านๆ มา ขายลูเมียก็ไม่ได้กำไรไม่ใช่เหรอ? ถ้าจำไม่ผิด
NSNเค้าก็เข้มแข็งด้วยตัวเองแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้วนะครับ
ผมหมายถึงภาพรวมของโนเกียน่ะครับ
ว่ากันตรงๆ นี่คนละบริษัทครับ การดำเนินงานภายใต้ชื่อกลุ่มบริษัทมากกว่า
แรกเริ่มเดิมที่ nokia ก็ไม่ใช่บริษัทมือถืออยู่แล้ว การสละเรือที่ใกล้จมทิ้ง อาจเป็นสิ่งที่ดีแล้วจริง ๆ ก็ได้
ps ใครเห็น nsn แวบแรกแล้วอ่านว่า กรก มั่ง
0/ เห็นเป็น กรก เช่นกัน
ผมเห็นเป็น ทรท (ไทยรักไทย) แฮะ แข็งแกร่งด้วยตัวเองอยู่แล้ว
คำตอบของข้า คือ ประกาศิต
อ่ะฮะ
ผมกำลังสนใจเรื่อง 5G ที่มีแผนใน 2020 ซึ่งถ้ามองตลาดโลกตอนนี้แสดงว่า NSN คว้าพุงปลามากินหมดแล้ว เพราะตอนนี้ทั้งญี่ปุ่น(NTT DoCoMo) หรือจะฝั่งเกาหลีที่มีข่าวเรื่อง 5G มาก่อนหน้าแล้ว(ข่าวเรื่อง 5G)แสดงว่ามี NSN อยู่เบื่องหลังทั้งหมดนั่นเอง
Writer no.59 เพื่อสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้
ความรู้สึกเหมือนว่า โนเกียกำลังสละเรือแล้วคนมองว่าไม่รอดจมน้ำหมดแน่ๆ แต่ที่จริงแล้ว โนเกียแอบสร้างยานอวกาศไว้ตั้งนานแล้ว ที่สละไปก็แค่เรือเก่าๆผุๆ ถ้าดูจากแรกเริ่มที่ก่อตั้งบริษัทมา แสดงว่าตัวโนเกียไม่ยึดติดกับของเดิมมากนัก
ล้ำมาก
จากบริษัทกระดาษ ถือว่ามาได้ไกลมาก ;)
my blog
น่าสนุกจังฮะ รอดูฝั่ง Huawei บ้างว่าจะแถลงอะไรไหม.
ฟังดูแล้วตอนนี้แกร่งเป็นหินผาเลยแฮะ
..: เรื่อยไป
ญี่ปุ่นเขาเก่งจริงๆ สร้างเทคโนโลยีแบบนี้ได้ยังไง ยุทธศาสตร์เดินมาถูกทางมาก แบบนี้เองที่เขาเรียกว่าธุรกิจ ที่ใช้นวัตกรรมชับเคลื่ยน การเติบโต
เริ่มให้ความสำคัญของการวิจัยเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อยแล้ว การวิจัย=ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า=เพิ่มอัตรากำไรในอุตสาหกรรม
โนเกียเขาเป็นฟินแลนด์ไม่ใช่เหรอครับ
I need healing.
เออ จำผิดแฮะ นึกว่าเป็น Sony 555
เครือข่ายบ้านเราหนีไปใช้ Huawei กันหมดแล้วครับ เหตุผลประการเดียวคือถูกกว่ามาก
NSN แพง
+1
ก็กระจายกระจายกันไปครับ ยังมี Ericson แล้วก็ ZTE อีก
ต่างประเทศนี่ FUP วันละ 1GB เลยหรอครับ