ท่ามกลางกระแสโน้ตบุ๊กไฮบริดที่กำลังออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ASUS Transformer Book Trio ถือเป็น "อุปกรณ์แปลกๆ" ที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่ง เพราะมันก้าวข้ามแนวคิด 2-in-1 แบบโน้ตบุ๊กไฮบริดทั่วไป เพื่อทะลุไปเป็นอุปกรณ์แบบ 3-in-1 (ไม่ใช่กาแฟนะครับ!) ที่เริ่มจะอยู่เหนือจินตนาการบ้างแล้ว
Blognone ลงข่าวของ ASUS Transformer Book Trio มาหลายครั้ง (ข่าวงานเปิดตัว, ทดลองจับ) แต่เมื่อสัปดาห์ก่อนทาง ASUS ถามมาว่าสนใจนำมาทดสอบไหม ผมว่ามันแปลกแบบแหวกแนวดีเลยขอยืมมาใช้งานหนึ่งสัปดาห์ครับ
ป.ล. เนื่องจากชื่อเต็มของผลิตภัณฑ์ยาวมาก เพื่อความสะดวกจะขอเรียกมันว่า Trio นะครับ
แนวคิดของอุปกรณ์สายไฮบริดแบบ 2-in-1 คือการผสานแท็บเล็ตกับโน้ตบุ๊กเข้าด้วยกัน จากเดิมที่ฝาบนของโน้ตบุ๊กจะมีแต่จอภาพ ส่วนตัวเครื่องอยู่ใต้คีย์บอร์ดในฝาล่าง ก็กลายมาเป็นย้ายตัวเครื่องไปอยู่ในฝาบนเพื่อให้ทำงานเป็นแท็บเล็ตได้ด้วย ส่วนฝาล่างก็มีหน้าที่เป็นแค่คีย์บอร์ดหรือแบตเตอรี่เสริมแทน
โดยสรุปแล้ว อุปกรณ์ 2-in-1 ยังใช้ไอเดียเหมือนโน้ตบุ๊กจอสัมผัสแบบเดิม แค่ย้ายตำแหน่งของตัวเครื่องมาไว้ฝาบนและสามารถ "แยกร่าง" ได้เท่านั้น
แต่แนวคิดแบบ 3-in-1 ของ Trio นั้นต่างออกไป มันคือการเอาโน้ตบุ๊กมาหนึ่งตัว ฉีกฝาบนที่เป็นจอภาพออก แล้วเอาแท็บเล็ตอีกหนึ่งตัวมาประกบกลายเป็นจอภาพแทน
ดังนั้น Trio จึงเป็นคอมพิวเตอร์สองเครื่องประกบเข้าด้วยกัน มีซีพียูสองตัว แรมสองชุด แบตเตอรี่สองก้อน พื้นที่เก็บข้อมูลแยกจากกัน ระบบปฏิบัติการคนละตัว โดยอุปกรณ์หลักที่ใช้ร่วมกันมีเพียงจอภาพของฝาบนเท่านั้น
สเปกแบบคร่าวๆ
ดูเผินๆ มันเป็นโน้ตบุ๊กทั่วไป ใช้การออกแบบแนวโลหะ brushed metal ตามแนวทางโน้ตบุ๊กของ ASUS
แต่แท้จริงแล้วฝาบนเป็นแท็บเล็ตครับ สังเกตว่ามีกล้องและปุ่ม power/volume อยู่ที่มุม
การใช้งานแบ่งออกเป็น 3 โหมดตามชื่อรุ่นครับ (แต่จริงๆ มันใช้ได้มากกว่า 3 โหมดนะ)
ท่ามาตรฐาน คงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมากในฐานะโน้ตบุ๊กสาย Windows 8 ครับ รันได้ทั้งโหมด Desktop/Metro ตามปกติ
หน้าจอรองรับการสัมผัสอยู่แล้ว ใครไม่กลัวเมื่อยมือก็เอามือจิ้มจอ Metro ได้เลย
ทัชแพดมาแบบกดได้ทั้งแผ่น
แอพแถมของ ASUS ที่มากับโหมด Metro
แอพ ASUS Console (หน้าตา Metro แต่มันเป็นแอพเดสก์ท็อป) เอาไว้ควบคุมฟีเจอร์ต่างๆ ของ Trio
ระบบปฏิบัติการเป็น Windows 8 Single Language ซึ่งผมอัพเดตเป็น Windows 8.1 เองทีหลัง (ไม่แน่ใจว่ารุ่นขายจริงจะใช้ Windows 8.1 หรือเปล่า?)
ในแง่การใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กวินโดวส์ ผมพบว่า Trio ยังไม่ค่อยดีเท่าไรคือ
บนคีย์บอร์ดของ Trio จะมีปุ่มพิเศษอยู่ปุ่มนึงเป็นปุ่ม Android ครับ อยู่ต่อจากปุ่ม F12 ตามภาพ
กดแล้วมันจะสลับโหมดเป็นแอนดรอยด์ทันที ถ้าอยากกลับมาวินโดวส์ก็กดปุ่มเดิมอีกที (ทุกครั้งที่กดจะมีไอคอนแสดงบนจอ)
จากการใช้งานจริงพบว่าการกดจากวินโดวส์ไปแอนดรอยด์จะต้องใช้เวลาอยู่บ้าง (ครั้งแรกนานหน่อย ครั้งที่สองเร็วขึ้นแต่ไม่ทันที) แต่การกดจากแอนดรอยด์กลับมาวินโดวส์จะค่อนข้างเร็ว
หน้าตาของแอนดรอยด์ก็เป็นเวอร์ชันดัดแปลงของ ASUS ใช้เวอร์ชัน 4.2 เกือบเหมือนใน Fonepad 7 ที่รีวิวไว้แล้วทุกประการ
Launcher ใช้ไอคอนสไตล์ของ ASUS เอง มีแอพแถมมาบ้างพอสมควร
เนื่องจากแอนดรอยด์รองรับการใช้งานเมาส์และคีย์บอร์ดมานานแล้ว ดังนั้นการใช้งานส่วนใหญ่จึงทำงานได้ตามปกติ (แม้ว่าการใช้แอนดรอยด์ด้วยเมาส์อาจจะขัดๆ อยู่บ้างในหน้าที่ต้องปัดจอ เช่น หน้า launcher เวลาเรียกแอพ)
แท็บเล็ตแอนดรอยด์จะมองเห็นคีย์บอร์ดของ Trio เป็น USB keyboard ที่เสียบเข้ามาโดยตรงกับตัวเครื่อง ส่วนทัชแพดใช้ควบคุมเคอร์เซอร์ได้ตามปกติ รองรับ 2-finger scroll แถมลื่นกว่าฝั่งพีซีมาก (เพราะอะไรไม่รู้)
กด Alt+Tab แสดงรายการโปรแกรมที่รันอยู่ได้ หน้าตาจะต่างไปจากการกดปุ่ม Recent Apps
เปิดเบราว์เซอร์มาเขียนข่าว Blognone ได้ตามปกติครับ
ปัญหาที่ผมพบในการใช้งาน Trio เป็นโน้ตบุ๊กแอนดรอยด์คือการสลับภาษา (ซึ่งก็เป็นจุดอ่อนของแอนดรอยด์เวลาต่อคีย์บอร์ดภายนอกอยู่แล้ว) วิธีการสลับภาษาคือต้องกด Ctrl+Shift เพื่อเปิดหน้าต่างเลือกภาษาของแอนดรอยด์ทุกครั้งที่อยากสลับภาษา ทำให้ลำบากมากเวลาพิมพ์ภาษาไทย
ทางแก้คือใช้แอพด้านคีย์บอร์ดภายนอกช่วยเหลือ เช่น External Keyboard Helper หรือ TSwipe ก็ได้ แล้วเลือก map คีย์สลับภาษาตามชอบ (เช่น Alt+Space)
เนื่องจากว่า Trio เนื้อแท้มันคือคอมพิวเตอร์สองเครื่อง การเชื่อมโยงระหว่างวินโดวส์กับแอนดรอยด์จึงต้องมองเป็นคอมพิวเตอร์สองเครื่องด้วย ซึ่งทาง ASUS ก็เตรียมเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการแชร์ข้อมูลข้ามเครื่องมาบ้าง
อย่างแรกคือ File Manager ของฝั่งแอนดรอยด์ จะเห็นโฟลเดอร์ที่แชร์มาจากฝั่งวินโดวส์ เหมือนการแชร์ SMB ตามปกติ (ต้องเซ็ตอัพก่อนเล็กน้อยในตอนแรก)
อย่างที่สองคือฟีเจอร์การแชร์แท็บในเบราว์เซอร์ระหว่างกัน (ต้องเซ็ตให้ทั้งสองเครื่องรู้จักกันก่อนเช่นกัน) โดยเมื่อเราสลับระบบปฏิบัติการ จะเห็นการแจ้งเตือนว่าเราเปิดแท็บค้างไว้ในระบบปฏิบัติการอีกตัวหนึ่ง และสนใจจะเปิดเพจเหล่านั้นในระบบปฏิบัติการปัจจุบันหรือไม่
ฟีเจอร์นี้ยังรองรับเฉพาะ IE และ Android Browser เท่านั้น เบราว์เซอร์ตัวอื่นไม่รับ (ใครที่ใช้ Chrome อาจใช้วิธีซิงก์แท็บตามปกติของ Chrome แทนก็ได้)
ฝั่งวินโดวส์จะขึ้นมาเป็น toast notification ที่มุมบน
โดยสรุปแล้วการใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กแอนดรอยด์ทำได้ค่อนข้างดีครับ เว้นแต่ปัญหาเรื่องการสลับคีย์บอร์ดซึ่งเป็นข้อจำกัดของแอนดรอยด์เอง
เบื่อใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กเมื่อไร เราสามารถกดปุ่มตรงบานพับเพื่อถอดจอบนออกมาเป็นแท็บเล็ตได้ทุกเมื่อ ต่อให้เรารันวินโดวส์อยู่บนจอ พอถอดออกมาแล้วจอจะสลับเป็นแอนดรอยด์ให้ทันที
แท็บเล็ต Trio มีหน้าจอค่อนข้างใหญ่หน่อยคือเกือบ 12 นิ้วแต่ค่อนข้างเบาเมื่อเทียบกับขนาดที่ดูใหญ่โต
ตัวเครื่องไม่แบนราบแต่จะป่องๆ หน่อย โดยแหลมตรงปลายขอบจอด้านบน โดยรวมก็ถือว่าค่อนข้างแบนครับ
พอร์ตทุกอย่างอยู่ด้านล่าง ฝั่งที่เชื่อมกับโน้ตบุ๊กหมดเลย ขอบด้านอื่นไม่มีพอร์ตอะไรเลย
การใช้งานเป็นแท็บเล็ตแอนดรอยด์ถือว่าทำได้ดี ระบบปฏิบัติการเสถียร แบตค่อนข้างทน (ผมไม่ได้ทดสอบแบตเต็มรูปแบบ) เพียงแต่รู้สึกว่าจอใหญ่ไปหน่อยในการใช้งานบางกรณี (โดยเฉพาะแนวตั้ง) และคงไม่สะดวกในแง่การพกพามากนัก
ตรงนี้ต้องอธิบายอีกรอบว่า Trio ไม่สามารถใช้เป็นแท็บเล็ต Windows 8 ได้นะครับ ถอดจอมาแล้วทำงานได้เป็นแอนดรอยด์อย่างเดียวเท่านั้น
เนื่องจาก Trio เป็นคอมพิวเตอร์สองตัวแปะกัน เมื่อเราถอดหน้าจอฝั่งแท็บเล็ตออกแล้ว ฝั่งคีย์บอร์ดก็ยังทำงานต่อไปตามปกติเหมือนคอมพิวเตอร์ทั่วไป (แค่ไม่มีภาพออกจอเท่านั้นเอง) เราสามารถต่อจอนอกเพื่อใช้งานเป็นเดสก์ท็อปได้
หรือจะใช้ท่าแบบนี้ก็ได้ครับ ต่อจอนอกเป็นวินโดวส์ แล้วจอหลักเป็นแอนดรอยด์ (เพียงแต่โหมดนี้เราจะควบคุมจอที่เป็นวินโดวส์ไม่ได้ เพราะคีย์บอร์ดถูกครองด้วยแอนดรอยด์)
Trio มีพอร์ตมาให้ทั้ง Micro HDMI และ DVI แต่ในกล่องไม่มีสายแปลง HDMI มาให้ ให้มาแต่สาย DVI to VGA ผมจึงลองได้แต่การต่อออกจอภาพแบบ VGA ซึ่งก็ใช้งานได้ปกติดี
การใช้งานเป็นเดสก์ท็อปก็ไม่ต่างอะไรกับการนำโน้ตบุ๊กมาต่อจอนอกตามปกติครับ จุดอ่อนก็คงเหมือนกันคือคีย์บอร์ดตื้นไปหน่อย พิมพ์ยาก (แต่ถ้ามองว่ามันเป็นเดสก์ท็อปก็สามารถต่อเมาส์-คีย์บอร์ดเพิ่มเองได้)
ผมว่า Trio แนวคิดแหวกดี แต่ในการใช้งานจริงยังขัดๆ เขินๆ อยู่มากครับ
โดยปกติแล้วผมใช้โน้ตบุ๊กเป็นคอมพิวเตอร์พกพาขณะอยู่บ้านหรือทำงานนอกสถานที่ เมื่อมาถึงออฟฟิศจะต่อจอนอกกับเมาส์ และมีแท็บเล็ตแยกไว้ใช้งานต่างหาก ดูเผินๆ แล้วน่าจะเหมาะกับ Trio เพราะฟังก์ชันการใช้งานตรงกันเป๊ะๆ ทั้งสามท่า
แต่พอมาลองใช้ Trio อยู่พักใหญ่ๆ แล้ว ผมกลับยังจับจุดไม่ค่อยได้ว่า จังหวะไหนเราควรใช้มันเป็นโน้ตบุ๊กหรือแท็บเล็ตหรือเดสก์ท็อปกันแน่ (ดูแล้วเหมือนจะพยายามให้ใช้เป็น 2 ท่าใหญ่ๆ คือ ใช้เป็นโน้ตบุ๊ก หรือ เดสก์ท็อป+แท็บเล็ต) เมื่อบวกกับการเชื่อมต่อระหว่างวินโดวส์กับแอนดรอยด์ที่ยังทำได้ไม่ดีนัก (มองแยกเป็นคอมพิวเตอร์สองเครื่อง) และการออกแบบด้านฮาร์ดแวร์ฝั่งโน้ตบุ๊กที่ยังไม่ดีเท่าไร (หนัก, คีย์บอร์ด-ทัชแพดไม่ดี, แบตน้อย) ทำให้สุดท้ายแล้วผมก็ต้องกลับไปใช้อุปกรณ์ของตัวเองที่ทำงานตามหน้าที่ของตนได้ดีกว่า
ท้ายที่สุดแล้วก็คงต้องกลับมายังคำถามว่า ASUS ใส่แอนดรอยด์เข้ามาใน Trio ด้วยทำไม อันนี้ผมเข้าใจเอาเองว่าน่าจะใส่มาเพื่อแก้ปัญหาแอพฝั่ง Metro น้อย ทำให้การใช้งานแท็บเล็ตวินโดวส์ปัจจุบันยังให้ประสบการณ์ไม่ดีเท่าที่ควร แต่พอลองทำดูจริงๆ ผมก็พบว่าแอนดรอยด์แอพเยอะจริง แต่มันก็ไม่ใช่ระบบปฏิบัติการที่นำไปเชื่อมกับวินโดวส์ได้ดีเท่าไรนัก
สุดท้ายแล้ว แนวคิด 3-in-1 ของ ASUS อาจพิสดารเกินไป (แต่ก็ดีใจที่บริษัทกล้าลอง) และโซลูชันด้านฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้ อาจเป็นอุปกรณ์ 2-in-1 ตามกระแสทั่วไป แล้วรอวันที่ Windows 8 ฝั่ง Metro จะพัฒนาก้าวทันคู่แข่งแทนก็เป็นไปได้
Comments
ที่เป้น => ที่เป็น
แบบมองไม่เห็นตัวอักษร ?
ก็กดอีกทีปุ่มเดิม ?
การสลับปัญหา ?
แต่มันก็ไม่ใช้ระบบปฏิบัติการ ?
ชอบครับ ชอบ
- เหมาะสำหรับ Android Developer มั้ง? (ถ้าไม่ใช้เครื่องแม็ค)
- เวลาไปไหน ไม่ได้ต้องพกอุปกรณ์แยกกัน เอาไปได้ทั้งแทปเล็ททั้งพีซี ประหยัดพื้นที่วางในเป้
- บางคนกลับบ้าน หรืออยู่ที่ทำงานประจำ อยากใช้จอใหญ่ แต่จำเป็นต้องพกพาไปข้างนอกด้วย แต่ถ้าโน๊ตบุ้คปกติที่ถอดจอไม่ได้ ถ้าจะต่อจอนอกมันก็วางระเกะระกะมาก พอดึงเอาจอโน๊ตบุ้ค(แทปเล็ท)ออกไป ก็สะดวกดี ไม่ต้องย้ายเครื่องไปมาด้วย
คือ ผมงงเวลากดทดสอบเอพจาก eclipse ในโหมด Window มันจะไปเปิด App โหมด Android ได้ยังไงครับ (eclipse รองรับการตั้งค่า AVD แบบนี้ไหม หรือยังไง เริ่มจะงง -..-)
ราคา ราคา ราคา
34,990 บาทครับ
Coder | Designer | Thinker | Blogger
ราคานั้นน่าจะเป็น Core i5 ครับ ตัว Core i7 เห็น jib ขายอยู่ 37,990บาท
ราคานี้ถ้าเทียบกับซื้ออุปกรณ์แยกหลายๆ เครื่อง รวมแล้วก็ไม่แพงนะครับ น่าสนใจ (เหลือแค่มันจะทนรึเปล่า)
แจ่มมาก เบื่อก็เล่น Android บันเทิง
อยากทำ Word ก็เปิด Windows
จอเล็กก็ต่อจอใหญ่ออก เป็น PC
นี่ถ้าใส่แรมเยอะๆ สัก 12 G ได้นะจะแจ่มมาก เล่นเกมได้ครบเลย
ป.ล. (ปัจฉิมลิขิต) นี่ต้องเอาไว้ใช้ท้ายสุดรึป่าวครับ เห็นใส่แทรกในบทความได้
อันนี้ผมสงสัยนะครับ ไม่ทราบจริงๆ
ปัจฉิมแปลว่าท้ายนะครับ จริงๆ ก็ควรจะอยู่ท้าย ถ้าเป็นจดหมาย มักจะไว้เขียนข้อความที่ลืมเขียนไป
ผมเคยลองใช้มา 1 คืน พบว่าบ้างครั้งตัว tablet มีปัญหา touch screen เหมือนรุ่นอื่นๆ 1, 2 จนต้องส่งคืนแต่ทางร้านไม่มีของเปลี่ยนเลยคืนเงินมาแทน นอกจากปัญหาเรื่อง touch screen แลังยังพบเรื่องตัวเครื่องค่อนข้างร้อนทั้ง 2 ตัวด้วย ส่วน touch pad กับ android ผมว่ายังรู้สึกว่าใช้ค่อนข้างยากอยู่
ผมว่าไอเดียดีนะ ซื้ออันเดียวได้ทุกอย่างครบเลย ไม่ต้องพกหลายอย่างด้วย เรื่องที่ว่าใส่ Android มาทำไมนี่ผมว่าเป็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะในแง่การเป็น tablet แล้วคนส่วนใหญ่น่าจะชอบ Android มากกว่า Windows 8 และถ้าจะให้ใช้แต่ Windows 8 อย่างเดียวกับทุกโหมดมันก็น่าเบื่อ
ข้อเสียสำหรับผมคือคิดว่าแบตให้มาน้อยไปหน่อยโดยเฉพาะเครื่องล่าง กับราคาค่อนข้างสูงไปนิด ทำให้ลำบากใจที่จะซื้อกัน โดยเฉพาะกับคนที่มี tablet หรือโน้ตบุ้คอยู่แล้ว
DVI นี่หมายถึง DisplayPort รึเปล่าครับ? ผมว่ามันไม่มี DVI-out นะครับ
ASUS Transformer Book Trio Specifications
Android tablet/laptop Interface
1 x micro-USB
1 x microSD card
1 x audio jack combo
1 x USB 2.0 port in docked mode
Windows 8 PC Station/laptop Interface
1 x mini DisplayPort
2 x USB 3.0 port (one support USB charger in the right)
1 x Micro-HDMI 1.4 (1080p support)
1x audio jack combo
ถ้าผมใช้เป็น notebook windows อยู่แบบต่อจอนอกด้วย พอกดสลับไปเป็น android จะเกิดอะไรขึ้นกับจอที่สองที่เป็นวินโดว์อยู่ครับ?
น่าจะค้างเป็น windows อยู่อย่างนั้นมั๊งครับ แค่พิมพ์อะไรไม่ได้จนกว่าจะถอดจอออก
ดีใจที่ Asus กล้าทำครับ หลังๆนี้พี่ท่านเอา CPU ไปยัดลงตรงนั้นตรงนี้เก่งขึ้นเยอะเลย
นี่ถ้าพวก Console มันเป็นระบบเปิด เราอาจจะได้เห็น WiiStationBox 41U จาก Asus ก็เป็นได้ #ฝัน #alternateUniverse