ผู้อ่านแถวนี้น่าจะเคยผ่านตากับ ISOCELL เซนเซอร์กล้องรุ่นใหม่จากซัมซุง ที่มีรายงานว่าถูกใช้กับสมาร์ทโฟนเรือธงต้นปีของซัมซุงอย่าง Galaxy S5 ตามที่คาดการณ์กันไว้ล่วงหน้าแล้ว
ก่อนจะอธิบายว่า ISOCELL นั้นทำงานอย่างไร มาพูดถึงภาพรวมของเซนเซอร์กล้องในปัจจุบันก่อน ซึ่งในตอนนี้ก็คงหนีไม่พ้นเซนเซอร์แบบ backside-illuminated (BSI) ซึ่งพัฒนาต่อมาจาก frontside-illuminated (FSI) โดยวางเอาชุดรับแสงที่ประกอบด้วยโฟโตไดโอดไปไว้ด้านหลังสายโลหะเพื่อให้เซนเซอร์สามารถรับแสงได้เต็มประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับ FSI ที่แสงจะถูกลดทอดไปบ้างเมื่อผ่านสายโลหะ แต่ก็ยังมีข้อเสียตรงที่คุณภาพจะตกลง เมื่อขนาดพิกเซลเล็กลง (เกิดการ crosstalk ระหว่างพิกเซล) ซึ่งสวนทางกับความละเอียดต่อขนาดเซนเซอร์ในปัจจุบันนี้
สิ่งที่ ISOCELL เข้ามาแก้ไขในตรงนี้คือการสร้างตัวกั้นระหว่างพิกเซลขึ้นมา ซึ่งจะช่วยให้โฟตอนที่ถูกเก็บเข้าในแต่ละพิกเซลไม่กระจายออกไปยังพิกเซลข้างเคียง (ไม่เกิดการ crosstalk) ทำให้ได้สีที่ใกล้เคียงอุดมคติมากขึ้น
ในทางเทคนิคแล้วเซนเซอร์ ISOCELL นั้นคือการผสมผสานกันระหว่างสองเทคโนโลยี หนึ่งคือ frontside deep-trench isolation (F-DTI) ซึ่งเป็นตัวกั้นระหว่างแต่ละพิกเซลให้แยกจากกัน แม้ว่าจะลดการ crosstalk แต่ก็ทำให้โฟโตไดโอดมีพื้นที่ในการเก็บแสงน้อยลง ซัมซุงจึงใช้ร่วมกับ vertical transfer gate (VTG) หรือการส่งข้อมูลในแนวตั้ง พร้อมกับขยายขนาดของโฟโตไดโอดให้ใหญ่ขึ้นไปด้วย
จากการรวมความสามารถของสองเทคโนโลยีนี้เข้าด้วยกัน ทำให้ ISOCELL สามารถลดการ crosstalk ไปได้ 19% ลดสัญญาณรบกวนลงจาก BSI ถึงหนึ่งในสาม และการรับแสงของแต่ละโฟโตไดโอดเพิ่มขึ้นเป็น 6,200 e- เพิ่มขึ้นจาก BSI ที่เก็บได้ 5,000 e- (e- คืออิเล็กตรอน) และผู้ผลิตยังสามารถกำหนดความสูงของโมดูลได้เอง จึงสามารถใส่เลนส์รูรับแสงกว้างขึ้นได้อีกด้วย
สำหรับโมดูลกล้องที่ใช้เซนเซอร์ ISOCELL ตอนแรกมีออกมารุ่นเดียวที่ความละเอียด 8 เมกะพิกเซล (ขนาดพิกเซลอยู่ที่ 1.12 ไมครอน) แต่ใน Galaxy S5 นั้นใช้เซนเซอร์ความละเอียด 16 เมกะพิกเซล ทำให้ขนาดพิกเซลเล็กลงไปอีกเหลือ 0.9 ไมครอน และน่าจะลดลงไปอีกในอนาคตครับ
สำหรับภาพที่ถ่ายด้วยเซนเซอร์ ISOCELL เทียบกับเซนเซอร์ BSI ดูได้ด้านล่างเลยครับ
ที่มา - Android Authority
Comments
สำหรับผม บางที่pixelเยอะก็เปลืองเมมนะ ผมว่าเอาแบบดันISO ได้สูงๆแล้วภาพยังสวยน่าจะดีกว่า
แต่ก็เข้าใจผู้ใช้ตามบ้านอยู่นะที่มองpixelไว้ก่อน
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.
someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
น่าจะหมายถึงท่อนนี้มากกว่านะครับ
ตัว 8 ล้านพิกเซลอาจจะออกมาดีกว่าก็ได้ มั้ง
ใช่ครับเทคโลยีนี้ทำให้ photon/ptxel ได้มากขึ้น แต่ถ้าหากลดความละอียดเหลือ8ล้าน ภาพที่ได้ photon/pixel จะมากกว่า
16 ล้านนี่ก็คงเพื่อการตลาดซะส่วนใหญ่สินะครับ
คิดว่าลดขนาดภาพจาก 16mp -> 4mp ก็ใด้มั้งครับ
samsung ใหญ่แค่ใหน ?
https://youtu.be/6Afpey7Eldo
ลดขนาดภาพก็ไม่ได้ดีขึ้นเสมอไปนะครับ
แม้แต่ PureView ของโนเกียที่ว่า oversampling อย่างดีนั่นก็ไม่ได้ดีขึ้นชนิดผิดหูผิดตา แค่ได้เปรียบตรงซูมได้ดีกว่าเท่านั้นเอง
ลดขนาดMPทำให้ภาพที่ถ่ายด้วย ISO สูงๆ ดีกว่าครับ น๊อยส์น้อยกว่า DR สูงขึ้น (ถ้าsensorขนาดเท่ากัน)
กรณี sensor ตัวเดียวกันนะครับ?
ผมเข้าใจว่าเค้าสื่อถืงเอา Galaxy S5 มาเลือกถ่ายภาพ 4 MP แทน ผมเข้าใจว่าโทรศัพท์ทั่วๆ ไปเลือกลดความละเอียดแล้วมันไม่ได้ใช้ algorithm ช่วยให้ภาพดีขึ้นด้วยสิ
ถ้า sensor ตัวเดียวกันมาย่อ จากกรณีนี้คือ 16 -> 4 MP คือลดลง 4 เท่า ภาพที่จะจะดีขึ้นในด้านน๊อยส์ครับ เพราะน๊อยส์จะหายไปพอสมควร แต่เรื่องสีเพี้ยน DR ลด จะไม่มีผลใดๆเลยครับ
ถือเป็นก้าวที่ดีครับ แต่เจ้าอื่นจะมีโอกาสได้ใช้บ้างไหมเนี่ย
น่าสนใจ รอดูผลงานจริง อันนี้ จะอยู่ที่ software ของ ss เอง ด้วยหรือเปล่า
ถ้าออกมาดีจริงนี่จะเป็นอีกครั้งที่ซัมซุงเป็นผู้นำทำอะไรดีๆ ที่ใช้ได้จริงนะครับ (- -)d
โดยวางเอาชุดรับแสงอย่างด้วยโฟโตไดโอดไปไว้ด้านหลัง
"ด้วย" นั่นเกินมาหรือเปล่าครับ ?
ตามที่้ => ตามที่
front-illuminated (FSI) => front-side illuminated (FSI)
เข้ามามีแก้ไข => เข้ามาแก้ไข
นั้นคือผสมผสานกัน => นั้นคือการผสมผสานกัน
หนึ่งตือ => หนึ่งคือ
เพิ่มขึนจาก => เพิ่มขึ้นจาก
พิมพ์ผิดเยอะมาก แก้หมดละครับ ;__;
ที่มาก็ผิดด้วยครับ เห็นลิงค์เป็น Android Authority ไม่ใช่ Android Central นิครับ
Orz
โอ้ ตามภาพข่าวนี่ดูดีเลยนะ
รอวันที่เทคโนโลยีนี้ เข้าไปอยู่ใน Full-Frame
/ปัจจุบัน แค่ BSI ยังไม่มีเลย
medium-format ก็เพิ่งจะหันมาใช้ CMOS เองนะครับ