ผมได้เครื่องจริงของ Galaxy S5 รุ่นก่อนวางจำหน่าย (ซัมซุงไทยบอกว่าเฟิร์มแวร์สมบูรณ์ 95%) มาทดสอบเป็นเวลา 2-3 วัน มาดูรีวิวกันดีกว่าว่ามันสมราคาคุยแค่ไหน และสมศักดิ์ศรี "มือถือเรือธง" ของค่ายมือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพียงใด (หมายเหตุ: ภาพเยอะมากนะครับ โปรดระวัง data package ของท่าน)
บทความเก่าที่เกี่ยวข้อง:
Galaxy S4 โดนวิจารณ์เยอะว่าหน้าตาดูเป็นพลาสติกราคาถูก ไม่สมกับเป็นมือถือระดับเรือธง ซัมซุงแก้ปัญหาเรื่องการออกแบบใน Note 3 โดยใช้ลายเลียนแบบหนัง พอมาถึงยุคของ S5 ก็ยังคงรูปลักษณ์โดยรวมแบบเดิม แต่เปลี่ยนลายฝาหลังเป็นจุดแทน (บางคนบอกเหมือนพลาสเตอร์ยา บางคนบอกคล้าย Nexus 7 2012)
อารมณ์รวมๆ ของการใช้งานรู้สึกว่าเป็น "มือถือซัมซุงอีกตัวหนึ่ง" ที่เห็นหน้าตาก็รู้ทันทีว่าเป็นซัมซุง (แต่บอกได้ยากว่ารุ่นใด โดยเฉพาะถ้าวางหงายจอขึ้น) แต่ถ้าไม่นับเรื่องความรู้สึกหรูหราแล้ว มันถือเป็นมือถือที่ดีตัวหนึ่ง ขนาดกระชับมือ เบา ถอดฝาหลังได้ เปลี่ยนแบตได้ ฯลฯ ตามมาตรฐานทั่วไป
ฝาหลังเป็นจุดแบบบุ๋มๆ ลงไปครับ จับแล้วก็หนึบๆ แปลกๆ ดี ถามว่ารู้สึกอย่างไร คำตอบที่นึกออกคงเป็นคำว่า "แปลก" มากกว่าจะฟันธงว่าดีหรือแย่ไปตรงๆ นะ
ขอบรอบตัวเครื่องคล้ายกับ Note 3 คือเป็นขอบสีเงินมีลายเป็นชั้นๆ เล็กน้อย ปุ่มรอบตัวเครื่องยึดตามมาตรฐานซัมซุงทุกประการ (power ขวา, volume ซ้าย, แจ็คเสียบหูฟังด้านบน, Micro USB ด้านล่าง)
จุดที่ S5 ต่างไปจากมือถือซัมซุงทั่วไปคือมันกันน้ำครับ ดังนั้นพอร์ตเสียบ Micro USB จะมีฝายางปิดมาให้ด้วย
เปิดออกมาแล้วเป็นพอร์ต Micro USB 3.0 แบบเดียวกับ Note 3 แต่ก็เอา Micro USB 2.0 มาเสียบได้ตามปกตินะ (เวลาเราแกะฝาออกมา จะมีข้อความเตือนบนหน้าจอด้วยว่าให้ปิดฝาคืนให้สนิท)
ด้านหลังเป็นกล้องพร้อมไฟแฟลช+ตัววัดอัตราการเต้นของหัวใจ แยกส่วนกันชัดเจน
ฝาหลังแกะได้ตามมาตรฐานซัมซุงครับ ตำแหน่งการวางแบตเตอรี่และช่องเสียบซิมการ์ด เหมือน Note 3 แบบทุกประการ (จุดที่ต่างไปบ้างคือลำโพงเปลี่ยนมาอยู่ด้านหลังแทน ของเดิมอยู่ขอบล่าง)
ถ้าสังเกตฝาหลังดีๆ จะเห็นขอบยางสีขาวๆ เอาไว้กันน้ำด้วย อันนี้เดี๋ยวจะทดสอบต่อไปในส่วนของการกันน้ำ
โดยรวมแล้วผมให้คะแนนด้านดีไซน์ของ S5 ในระดับเดียวกับ Note 3 นั่นคือดีกว่า S4 แต่ยังไม่ให้ความรู้สึกหรูหราเต็มขั้นแบบ iPhone 5/5s หรือ HTC One
เผอิญว่าตอนนี้ผมใช้ Note 3 เป็นมือถือหลักอยู่แล้ว และสามารถยืม iPhone 5 (ไม่ใช่ 5s) ของคนอื่นมาถ่ายรูปเปรียบเทียบได้ ก็เลยมีภาพเปรียบเทียบขนาดให้เห็นครับ
Galaxy S5 vs Note 3
Galaxy S5 vs iPhone 5
ใหญ่กว่ากันเยอะอยู่นะ
จุดเด่นของ S5 อีกอย่างหนึ่งคือจอภาพที่ใครเห็นใครก็ชมว่า "สวยมาก" ลองเปิดรูปเดียวกันเทียบกับ Note 3 (ด้านซ้าย) แบบตั้งความสว่างสูงสุดทั้งคู่ พบว่าจอของ S5 (ด้านขวา) สว่างกว่า 1 ขั้นแถมสีสันดูสดใสกว่า
อีกฟีเจอร์หนึ่งของ S5 คือ Super Dimming หรือความสามารถในการปรับความสว่างของจอภาพให้น้อยลงสุดๆ เหมาะกับการอ่านข้อความในยามค่ำคืน ลองเทียบกับ Note 3 (ด้านซ้าย) ก็พบว่า S5 (ด้านขวา) ทำได้จริงสมราคาคุย
ในแง่สเปกแล้วคงไม่มีอะไรใหม่ ความละเอียดจอเป็น Full HD ขนาด 5.1" ก็ถือว่าเหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไป อักษรดูละเอียด เนียนตา
Galaxy S5 มาพร้อมกับ Android 4.4.2 รุ่นล่าสุด (ซึ่งคงไม่มีอะไรต่างจากมือถือรุ่นอื่นๆ นัก) และ TouchWiz เวอร์ชันใหม่ล่าสุดที่เรียกว่า Vibrant UX ซึ่งอันนี้น่าสนใจ เพราะแสดงให้เห็นทิศทางการออกแบบของซัมซุงได้ดีทีเดียว
TouchWiz เวอร์ชันก่อนๆ ถูกวิจารณ์ไม่น้อยว่า "เยอะ" และ "รก" ซึ่งพอมาถึงเวอร์ชันนี้ ซัมซุงก็แก้ปัญหาเรื่องความรกไปพอสมควร บวกกับเปลี่ยนไอคอนเป็นแนว flat ตามสมัยนิยม แต่จะไม่ดูแบนราบและโทนสีเดียวเหมือน iOS 7 แต่จะเน้นไอคอนสีสันสดใส ออกแนวการ์ตูนๆ คล้าย MIUI มากกว่า
ในภาพรวมแล้ว Vibrant UX ยังยึดคอนเซ็ปต์เดิมของ TouchWiz แต่ปรับเปลี่ยนไปในรายละเอียดหลายจุดครับ
Home Screen
เริ่มจากหน้าโฮมก่อน หน้าโฮมของ Vibrant UX ให้ดีฟอลต์มา 3 หน้า โดยจะมีหน้าพิเศษคือขอบด้านซ้ายสุด ปัดไปแล้วจะเจอหน้า My Magazine แอพอ่านข่าวของซัมซุง (ซึ่งก็คือ Flipboard กลับชาติมาเกิดใหม่)
เดิมทีใน Note 3 ซัมซุงใช้วิธี "ปัดขอบจอล่างขึ้น" เพื่อเปิด My Magazine แต่พอมาเป็นยุคของ S5 ใช้วิธีปัดขอบจอซ้ายสุดแทน (เหมือน Google Experience Launcher ของ Nexus 5)
รูปแบบการใช้งาน My Magazine จะเหมือนกับ Flipboard ทุกประการ เลือกหมวดข่าวที่สนใจ บวกกับเลือก feed จาก social network ของเราได้
ในหน้าจอทั่วๆ ไป แอพตัวนี้ไม่มีคำว่า Flipboard หลุดมาเลย แต่ถ้าเลือกให้มันดึงข้อมูลจาก social network เวลาขอสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเรา ก็จะแสดงชื่อเป็น Flipboard ชัดเจน
โดยส่วนตัวแล้ว ผมแทบไม่ใช้ฟีเจอร์ My Magazine ใน Note 3 เลย (ไม่ค่อยชอบ Flipboard เป็นการส่วนตัว) แต่ดันปิดฟีเจอร์นี้ทิ้งไม่ได้เสียอย่างนั้น พอมาเป็นเวอร์ชันของ S5 มันสามารถปิดได้แล้วในหน้า Home Settings
ถ้าเราเปิดใช้ฟีเจอร์ My Magazine เราจะไม่สามารถปัดหน้าโฮมวนเป็นวงได้ (จากซ้ายสุดจะหมุนไปขวาสุด) แต่ถ้าปิดฟีเจอร์นี้ทิ้ง หน้าโฮมจะกลับมาหมุนเป็นวงได้ครับ
ฟีเจอร์อีกอย่างหนึ่งที่ไม่เห็นซัมซุงเคยพูดถึงเลย แต่มีให้ใช้คือในหน้าโฮมจะมี widget ชื่อ Geo News โผล่มา ลองเล่นดูแล้วมันคือการแจ้งเตือนภัยพิบัติในพื้นที่ของท่าน ซึ่งจากการทดลองแล้วมันจะหาตำแหน่งของเรา และดูว่าภูมิภาคนั้นมีแผ่นดินไหว-ไฟป่าหรือไม่ (ผลที่ได้คือ Your region is ok)
Launcher
ส่วนหน้ารายการแอพหรือ launcher เปิดมาแล้วน่าตกตะลึงมาก เพราะเดิมทีซัมซุงให้แอพมาหลักหลายสิบ มีโฟลเดอร์ซ้อนกันมั่วไปหมด แต่ในเวอร์ชันที่ได้มาทดสอบ มีแอพเพียง 2 หน้าเท่านั้น (พาดหัว: ตะลึง! ชาวเน็ตช็อค! ซัมซุงให้แอพมาเพียง 2 หน้า)
การจัดแอพเป็นระเบียบมาก แบ่งง่ายๆ คือหน้าซ้ายมือเป็นแอพของซัมซุงเอง ส่วนหน้าขวามือคือแอพของกูเกิล (และแอพแถมอีกนิดหน่อย เช่น Dropbox, Flipboard)
สังเกตว่าไอคอนในหน้าซ้ายมือ ซัมซุงเปลี่ยนมาใช้ดีไซน์แบบ flat แต่เน้นสีสันสดใสครับ
Notification
อีกจุดที่มีความเปลี่ยนแปลงคือ notification ที่ซัมซุงเปลี่ยนมาใช้ไอคอนแบบกลมแทน ยังสามารถปัดซ้ายขวาเพื่อเลื่อนตำแหน่งไอคอนใน quick toggle ได้เหมือนเดิม ไอคอนดีฟอลต์ให้มา 10 ตัวดังภาพ
ส่วนที่เพิ่มมาใน notification ได้แก่ S Finder (หาข้อมูลทั้งเครื่อง) และ Quick connect (ต่อออกจอภาพภายนอก) ซึ่งผมไม่ได้ทดสอบทั้งคู่ครับ
ไอคอนที่สามารถเลือกใน quick toggle ยัง "เยอะ" เหมือนเดิม (แต่พอมาวาดดีๆ ให้ดูเป็นโทนเดียวกันแล้วมันก็ดูเป็นระเบียบขึ้นมาอีกหน่อย) อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่คุ้นกับมือถือซัมซุงก็คงงงอยู่ดีว่าไอคอนบางตัวมันเอาไว้ทำอะไร หรือต่างกันอย่างไร (เช่น Power saving กับ U.power saving ถ้าไม่ตามข่าวคงงงแน่นอน)
หน้าจอขวามือเป็นข้อมูลเลขเวอร์ชันของซอฟต์แวร์ครับ โดยรวมแล้วมันก็เป็น KitKat รุ่นล่าสุด ณ ปัจจุบัน (4.4.2) ที่ไม่ต่างอะไรจากมือถือรุ่นใหม่ตัวอื่นๆ มากนัก
Galaxy Essentials/Gifts
ในหน้าโฮมยังมี widget อีกสองตัวที่เขียนว่า Galaxy Essentials และ Galaxy Gifts มันคือการลิงก์ไปยังหมวดหมู่พิเศษใน Samsung Apps
Keyboard
คีย์บอร์ดยังเป็นแบบ swipe เหมือนเดิม ภาษาไทยบีบ layout ไปนิด (ถ้าขยายระยะระหว่างปุ่มกว่านี้อีกหน่อยก็คงดี) สีของคีย์บอร์ดเปลี่ยนไปจาก Note 3 โดยพื้นหลังใช้สีอ่อนกว่าเดิม ความสามารถด้านการสะกดคำก็คงเท่าเดิม
Settings
จุดที่ UI เปลี่ยนแปลงมากที่สุดใน Vibrant UX คือหน้า Settings ครับ ของเดิมเป็นลิสต์รายชื่อคำสั่ง พร้อมไอคอนประกอบเล็กๆ ฝั่งซ้ายมือ แต่ของใหม่ซัมซุงเปลี่ยนมาเป็นแบบไอคอนแทน (เหมือนกับหน้าโฮม) ไอคอนใหญ่สะใจ มองเห็นง่ายว่าอะไรเป็นอะไร
แต่ UI แบบนี้มีจุดอ่อน (แถมเป็นจุดตาย) คือรายการในหน้า Settings ของซัมซุงมีเยอะมากอยู่แล้ว ยิ่งพอมาแสดงเป็นแบบไอคอนแทนลิสต์ กว่าจะเลื่อนหน้าจอไปล่างสุดได้นี่สไลด์กันมือหงิกเลยครับ
โชคดีหรือเปล่าไม่รู้ที่ซัมซุงมีทางเลือกให้ ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะแสดงหน้า Settings เป็นแบบลิสต์รายการยาวเหมือนเดิม (ภาพซ้าย) หรือจะเลือกแบบแยกแท็บตามหมวดหมู่ก็ได้ (ภาพขวา, เหมือนกับของ Note 3)
ฟีเจอร์ของ TouchWiz เวอร์ชันก่อนๆ อย่างพวก Motion/Gestures และ Air view ก็ยังมีอยู่ในหน้า Settings แต่ไม่ถูกชูให้เป็นฟีเจอร์เด่นแล้ว ส่วนของ Air view ถูกปิดมาเป็นค่าดีฟอลต์ด้วยซ้ำ
Default Apps
ฝั่งของแอพมาตรฐานของเครื่องก็ถูกปรับดีไซน์ใหม่ยกชุดให้ใช้ design language แนวใหม่ของ Vibrant UX คือเน้นความแบน แต่สีสันสดใสครับ (ในแง่ฟีเจอร์ไม่มีอะไรเพิ่มมา ปรับแค่ดีไซน์)
เริ่มจาก Samsung Apps กับเบราว์เซอร์
File Manager (My Files) และแอพฟังเพลง (Music) ดูแบนราบ
Music กลับมาดูเรียบๆ ไม่หวือหวา ส่วน My Files จะเห็นว่าใช้ไอคอนแบบวงกลมบวกกับพื้นหลังสีสดๆ เหมือนกับส่วนของ Settings
แอพอัดเสียงเอารูปไมโครโฟนแบบสมจริงออกไปแล้ว เปลี่ยนเป็นไอคอนจุดๆ แทน ส่วนแอพ S Voice (กดโฮมสองที) ก็ดูเรียบกว่าเดิมมาก แต่ไอคอนก็การ์ตูนขึ้นเยอะเลย
โดยรวมแล้วผมถือว่า Vibrant UX มีพัฒนาการขึ้นกว่าเดิมมาก ถึงแม้จะยังไม่เรียบง่ายสุดๆ อย่างที่อยากได้ (เช่น toggle ยัง "เยอะ" อยู่) แต่ก็ถือเป็นทิศทางที่ดีของซัมซุงว่าสนใจการใช้งานจริงๆ ของผู้ใช้มากขึ้น มากกว่าที่จะเน้น "ยัด" ฟีเจอร์ให้ดูเยอะๆ แบบปีก่อนๆ
ในระยะยาวแล้วน่าสนใจว่าซัมซุงจะพอร์ต Vibrant UX กลับไปให้มือถือรุ่นเก่าๆ ก่อนหน้านี้ด้วยหรือไม่ หรือจะเป็นแค่การมองไปข้างหน้าและใช้ Vibrant UX สำหรับมือถือในอนาคตเพียงอย่างเดียว
ต่อจากนี้ไปเรามาเจาะลึกดูฟีเจอร์ใหม่ที่เด่นๆ กันเป็นรายตัวนะครับ
ฟีเจอร์ชูโรงอันหนึ่งของ Galaxy S5 คือ Ultra Power Saving Mode หรือโหมดประหยัดพลังงานแบบสุดๆ (ซัมซุงมีโหมด Power Saving ปกติมานานแล้ว) โดยจะปรับจอภาพเป็นสีขาวดำและปิดฟีเจอร์ที่ไม่จำเป็นหลายอย่างออกไป
วิธีการใช้งานสามารถกดได้จาก toggle ได้เลย เมื่อเรากดแล้วเครื่องจะค่อยๆ ปรับสีของหน้าจอมาเป็นขาวดำ (ใช้เวลาประมาณ 5-10 วินาที) จากนั้นเราจะมาเจอกับหน้า "โฮม" แบบใหม่ดังภาพ (โหมด Ultra Power Saving Mode จับภาพหน้าจอไม่ได้ด้วยซ้ำนะครับ ต้องใช้วิธีถ่ายภาพแทน)
หน้าโฮมแบบใหม่จะมีแค่หน้าเดียว มีเท่าที่เห็น มีแอพใช้งานได้แค่ 6 ตัว โดย 3 ตัวเป็นแอพมาตรฐานคือ โทร, SMS, เบราว์เซอร์ ส่วนอีก 3 ตัวเลือกเพิ่มเติมได้จากแอพ "บางตัว" ในเครื่อง, พวก widget หรือฟีเจอร์หรูหราต่างๆ ถูกปิดเรียบ
ขอบล่างของหน้าจอจะแสดงแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ พร้อมระยะเวลาที่ยังใช้งานได้
โหมด Ultra Power Saving Mode จะปิดการทำงานของ Wi-Fi และ Mobile Data (แอบเปิดคืนได้จากหน้า Settings ที่ซ่อนอยู่ในเมนูสามจุด) และไม่สามารถใช้งานกล้องถ่ายภาพได้ครับ
ตัวอย่างแอพที่เพิ่มได้ในโหมด Ultra Power Saving ก็มีแอพพื้นฐานพวกเครื่องคิดเลข นาฬิกา และแอพโซเชียลบางตัวเช่น Facebook, Twitter, Google+, ChatOn (เห็นว่า LINE ก็ใช้ได้)
การใช้งานแอพในโหมด Ultra Power Saving เหมือนกับโหมดปกติทุกประการ เพียงแต่มันเป็นขาวดำเท่านั้นเอง ดูเท่ไปอีกแบบ (เหมาะมากสำหรับการเอาไว้โชว์คนอื่น) ว่าแล้วก็ลอง Blognone แบบขาวดำสักหน่อยครับ
ซัมซุงโฆษณาว่าโหมด Ultra Power Saving อึดมากในระดับที่แบตเหลือ 10% จะสามารถใช้งานต่อได้อีก 24 ชั่วโมง
ผมลองทดสอบการใช้งานจริงโดยใช้งาน S5 แบบปกติทั่วไป (ใช้เป็นมือถือหลัก เสียบซิม เปิด data ตามปกติ) จนแบตเหลือประมาณ 9% ก็สลับเข้าโหมด Ultra Power Saving ครับ บนหน้าจอเขียนว่าอยู่ได้อีก 1.1 วัน
ผมเริ่มโหมดนี้ตอน 2 ทุ่มและคงสภาพนี้มาเรื่อยๆ จนถึงประมาณบ่ายสองของวันถัดไป (ราว 18 ชั่วโมง) โดยไม่ชาร์จอะไรเลย แอบมาเล่นเน็ตบ้างเล็กน้อย (โหมดจอขาวดำเนี่ยแหละ) แบตอยู่ได้สมราคาคุยครับ ดูได้จากกราฟแบตเตอรี่ด้านล่าง
ช่วงท้ายๆ กราฟจะเห็นว่าแบตฮวบลง อันนี้เป็นเพราะผมอยากรู้ว่าถ้าปิดโหมด Ultra Power Saving กลับมาใช้งานแบบปกติมันจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่าแบตไหลเป็นน้ำทันที (ฮ่า) ต้องรีบกลับไปหาที่ชาร์จในท้ายที่สุด
ฟีเจอร์ Ultra Power Saving ถูกออกแบบมาสำหรับสถานการณ์ "ไปที่อื่นแล้วลืมที่ชาร์จ" ซึ่งพบได้บ่อยมาก มันสามารถแก้ปัญหาได้จริง คือยืดอายุแบตให้เพียงพอสำหรับวันถัดไปที่เราสามารถหาที่ชาร์จได้ แต่ก็ยังคงความสามารถพื้นฐานในการติดต่อสื่อสาร (โทร, SMS, โซเชียล) ได้ครบถ้วน
ฟีเจอร์นี้คงไม่ใช่ฟีเจอร์ที่เราใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป แต่ถ้าเกิดต้องพบสถานการณ์ที่ว่าจริงๆ น่าจะช่วยชีวิตไปได้เยอะอยู่ ต้องถือว่าซัมซุงทำการบ้านมาดีมาก และถือเป็นฟีเจอร์จุดขายอย่างหนึ่งของ S5 เลยครับ
อีกฟีเจอร์หนึ่งของ S5 ที่เป็นที่สนใจเยอะคือตัวสแกนลายนิ้วมือ (ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลมาจาก iPhone 5s) รูปแบบการใช้งานก็คล้ายๆ กันคือใช้ปุ่มโฮมเป็นตัวสแกน เพียงแต่ของ S5 จะต้อง "รูดนิ้ว" จากบนลงล่างครับ
ขั้นตอนการตั้งค่าทำได้จากหน้า Settings ได้เลย โดยเราสามารถเก็บข้อมูลของลายนิ้วมือได้ 3 นิ้ว (น้อยไปนิดนะ) และต้องลงทะเบียนนิ้วโดยรูดทดสอบ 8 ครั้งต่อนิ้ว
ประโยชน์ของการรูดนิ้วบน S5 แบ่งได้เป็น 3 อย่างคือ
จากการทดสอบกับการล็อคหน้าจอ พบว่ามันสะดวกกว่าการใส่ PIN อยู่บ้าง แต่ก็มีปัญหาในแบบของมันคือการรูดนิ้วจะต้องวางนิ้วในแนวตั้งฉาก 90 องศาจากบนลงล่างพอดี แถมตำแหน่งต้องผ่านตรงกลางปุ่มโฮมพอดี ในจังหวะที่ไม่เร็วเกินไปด้วย
ในการใช้งานจริง ถ้าเราถือโทรศัพท์ด้วยมือเดียวและใช้นิ้วโป้งกดปุ่มโฮมหรือสแกนลายนิ้วมือ นิ้วโป้งของเรามักจะ "เอียง" ครับ ทำให้การรูดนิ้วเพื่อปลดล็อคต้องตั้งใจเป็นพิเศษมิฉะนั้นจะรูดไม่ผ่าน (รูดไม่ผ่าน 3-4 ทีจะต้องใส่รหัสผ่านแทนเพื่อความปลอดภัย) ทำให้การใช้งานเวลาเร็วๆ รีบๆ มันน่ารำคาญเหมือนกัน เพราะรูดไม่ผ่านสักที
ผมไม่เคยใช้ตัวสแกนลายนิ้วมือของ iPhone 5s เลยเปรียบเทียบไม่ถูกว่าเป็นอย่างไร แต่คิดว่าแนวทางของแอปเปิล (แตะนิ้ว ไม่ต้องรูด และแตะแนวไหนก็ได้) น่าจะใช้งานได้ดีกว่าของ S5 ครับ
ก่อนหน้านี้ถ้าพูดถึงมือถือกันน้ำกันฝุ่น ทุกคนคงคิดถึงโซนี่ที่พยายามชูจุดเด่นเรื่องนี้มานาน แต่ล่าสุดใน Galaxy S5 ซัมซุงไล่ตามมาทันแล้ว
ความสามารถด้านการกันน้ำของซัมซุงผ่านมาตรฐาน IP67 ตามสเปกคืออยู่ในน้ำลึกไม่เกิน 1 เมตรได้นาน 30 นาที แต่ในการใช้งานจริงๆ แล้วคงออกแบบมาสำหรับสถานการณ์ "เผลอทำมือถือตกน้ำแล้วรีบเก็บขึ้นมา" มากกว่าการเอาไปแช่น้ำแบบตั้งใจหรือเอาไปเล่นน้ำด้วย
สารภาพว่าตอนแรกผมก็กล้าๆ กลัวๆ ที่จะทดสอบฟีเจอร์นี้เหมือนกัน (มือถือทดสอบ ไม่ใช่ของเราเอง เกิดน้ำเข้ามาแล้วเจ๊งก็เรื่องใหญ่) แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจว่า เอาวะ ลองดูหน่อย
เชิญพบกับแทยอนและผองเพื่อนครับ
ภาคสอง กลับหัวหลายทิศทาง สาวๆ ของเราก็ยังเต้นได้ ร้องเพลงได้อยู่เหมือนเดิม
สรุปว่า S5 เอาไปแช่น้ำยังสามารถทำงานได้สบายมาก (ต้องเช็คดีๆ ด้วยว่าเอาจุกยางอุดช่อง Micro USB ให้เรียบร้อย ส่วนช่องเสียบหูฟังเคลือบสารกันน้ำมาอยู่แล้วไม่ต้องอุด)
หลังจากแช่น้ำเสร็จลองแกะฝาหลังออกมาดู จะเห็นว่าด้านนอกของขอบยางจะเปียกครับ มีรอยหยดน้ำเกาะอยู่ตามภาพ แต่ภาพในพื้นที่ขอบยางน้ำไม่สามารถเข้าได้ (ใช้ไปนานๆ น่ากลัวว่ายางเสื่อมแล้วน้ำเข้าเหมือนกัน แต่เบื้องต้นก็ถือว่ากันน้ำได้สมราคาคุย)
โดยรวมแล้วถือว่าความสามารถด้านการกันน้ำจะคล้ายๆ กับ Ultra Power Saving Mode คือยามปกติคงไม่ได้ใช้ แต่ถ้าเจอสถานการณ์ไม่คาดฝันแล้วจะนึกถึงคุณค่าของมัน
ซัมซุงชูจุดขายว่า S5 มีตัววัดอัตราการเต้นของหัวใจมาเป็นมาตรฐาน โดยมันเป็นส่วนหนึ่งของชุด S Health ที่ซัมซุงพยายามผลักดันมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว
ฟีเจอร์ของ S Health ยังคล้ายๆ กับรุ่นเดิมคือวัดการนับก้าว วัดการออกกำลังกาย วัดการบริโภคอาหาร (ต้องใส่ข้อมูลเอง) หน้าตาของเวอร์ชันล่าสุดเปลี่ยนไปจากของเดิมเล็กน้อย แต่แนวทางยังคงเดิม
ส่วนของตัววัดอัตราการเต้นของหัวใจก็เป็นแอพตัวหนึ่งใน S Health ครับ วัดค่าได้ (แม่นหรือไม่อีกเรื่อง) เพียงแต่วัดแล้วจะเอาไปทำอะไรต่อ อันนี้เป็นคำถามที่ซัมซุงต้องหาทางออกต่อไปครับ
เท่าที่จับตาดูมา ซัมซุงมีแผนการใหญ่สำหรับผลิตภัณฑ์สวมใส่ได้เพื่อสุขภาพ เพียงแต่การใช้งานต้องรออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เสริม (เช่น Galaxy Gear Fit) และแอพต่างๆ ให้พร้อมเสียก่อน เผอิญว่ารอบนี้ซัมซุงส่งมาให้ผมแต่ตัวมือถือ Galaxy S5 ตัวเดียว ไม่มีอุปกรณ์อื่นๆ มาด้วยเลยไม่สามารถทดสอบได้เต็มที่ ดังนั้นคงต้องสรุปได้ว่าทำได้อย่างที่คุย เพียงแต่วัดอัตราการเต้นหัวใจแล้วไงต่อ ยังไม่มีคำตอบนะ
ฟีเจอร์นี้มาแบบเงียบๆ ไม่ถูกเน้นเท่าไรนัก แต่ก็น่าจะเป็นประโยชน์อีกเหมือนกันในยุคที่ข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างอยู่บนมือถือ
ผู้อ่าน Blognone คงเคยพยายาม "ซ่อน" ไฟล์บางอย่างจากคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ใช้ร่วมกันหลายคน (แฮ่ม) ฟีเจอร์นี้ก็ทำงานแบบเดียวกัน โดยเราสามารถซ่อนไฟล์หลายๆ อย่างไว้ในโหมด Private ที่มีแต่เราเท่านั้นจะมองเห็น (ต้องใส่ PIN หรือลายนิ้วมือก่อนจึงจะเห็นหมดทุกอย่าง)
แอพที่รองรับเป็นแอพของซัมซุงเองทั้งหมด ได้แก่ Gallery, Video, Music, Voice Recorder, My Files
วิธีใช้งานคือกดเข้า Private Mode ก่อนครับ (กดจากหน้า Settings หรือ toggle ก็ได้) มันจะมีไอคอนรูปประตูโผล่ขึ้นมาค้างไว้ที่ notification ให้รู้ว่าเราเข้ามาในโหมด Private
จากนั้นเราสามารถย้ายไฟล์เข้าไปเก็บในโหมด Private ได้ (ตัวอย่างคือ ย้ายรูปจาก Gallery) โดยจะมีเมนูชื่อ Move to Private เข้ามา เมื่อเราย้ายไฟล์เสร็จแล้วจะมีไอคอนรูปประตูแปะไว้ที่ไฟล์นั้น (ภาพขวามือ)
เมื่อจัดแจงซ่อนไฟล์เสร็จแล้ว ออกจากโหมด Private เข้าสู่โหมดปกติ ภาพที่ซ่อนไว้จะหายไปไม่มีใครมองเห็น ถ้าเราอยากกลับไปดูภาพเหล่านี้ใหม่ก็กดเข้าโหมด Private ใหม่อีกครั้ง (ต้องใส่ PIN เสมอ) ช่วยให้คนอื่นไม่สามารถเข้าถึงไฟล์ส่วนตัวของเราได้เป็นอย่างดี (ผมคิดว่าคนที่จะมา "ยืม" S5 ใช้งานส่วนใหญ่ไม่น่าจะรู้ว่ามีโหมด Private ด้วยซ้ำ ยิ่งทำให้การซ่อนไฟล์ดูแนบเนียนเข้าไปอีก)
สรุปว่ามันเป็นฟีเจอร์เล็กๆ ที่อาจไม่ได้ใช้กันทุกคนเสมอไป แต่ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้งาน
ฟีเจอร์อีกตัวที่ซัมซุงไม่ค่อยได้โปรโมทมากนัก (ในระดับเดียวกับ Private Mode) แต่ผมลองใช้งานแล้วพบว่าซัมซุงตั้งใจทำมาค่อนข้างดีเลย
Kids Mode เป็นโหมดการทำงานพิเศษที่ออกแบบมาสำหรับ "ให้เด็กเล็กยืมเล่นมือถือ" หรือ "เอาไว้หลอกเด็กที่กำลังร้องไห้" ครับ
ตอนแรกสุด Kids Mode ไม่ถูกติดตั้งมาพร้อมกับเฟิร์มแวร์มาตรฐาน แต่มีไอคอนวางบนหน้าโฮมให้เราดาวน์โหลดมาติดตั้งเอง (ขนาดไฟล์ 56MB)
ติดตั้งเสร็จแล้วต้องตั้งรหัส PIN ของผู้ปกครองก่อนเริ่มใช้งาน พร้อมทั้งเลือกแอพที่ต้องการให้เด็กๆ เข้าถึงได้
หน้าจอหลักของ Kids Mode มีสองฝั่ง โดยฝั่งซ้ายมือเป็นคาแรกเตอร์จระเข้ฟันเลื่อย (ทำไมต้องเป็นจระเข้ก็ไม่ทราบ) ที่เราสามารถแต่งตัวเปลี่ยนชุดให้จระเข้ได้ ส่วนฝั่งขวามือเป็นแอพสำหรับเด็กๆ มีให้เลือก 5 แอพ พร้อมทั้งแอพอื่นๆ ที่ผู้ปกครองเปิดสิทธิให้อีกต่างหาก
แอพทั้ง 5 ตัวเป็นแอพด้านการสร้างสรรค์ เช่น วาดภาพ (ใช้นิ้ววาด), ร้องเพลง อัดเสียง แล้วนำมาเล่นโดยใส่ฟิลเตอร์ตลกๆ แต่งเสียงให้อัตโนมัติ, ถ่ายภาพแล้วใส่สติ๊กเกอร์, เล่นวิดีโอ และแกลเลอรี่รวมผลงานภาพ-เสียงที่เด็กๆ สร้างเอาไว้
โดยรวมแล้ว Kids Mode เป็นฟีเจอร์เฉพาะกลุ่มที่ไม่น่าจะได้ใช้กันทุกคนอีกตัว แต่สำหรับคนที่ต้องใช้แล้วมันก็น่าจะมีประโยชน์มากๆ อีกเช่นกันครับ
จุดขายที่ซัมซุงโชว์ไว้เยอะในงานเปิดตัวคือความสามารถด้านกล้องของ Galaxy S5 ครับ
ฟีเจอร์ด้านกล้องที่ซัมซุงโชว์เป็นจุดขายหลักๆ มี 2 ตัวคือ HDR และ Selective Focus โดยจะเห็นได้จาก UI มาตรฐานของแอพกล้อง จะมีไอคอนของสองฟีเจอร์นี้เข้ามาเลย (สองปุ่มตรงกลางด้านซ้ายมือ)
ในแง่ของ UI เราสามารถลากช็อตคัตของการปรับแต่งที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไปไว้ในแถบด้านซ้ายมือ ร่วมกับปุ่ม HDR หรือ Selective Focus ได้ด้วยนะ
เมื่อถ่ายภาพแบบ Selective Focus แล้ว ในแอพ Gallery เราจะสามารถปรับโฟกัสของภาพได้ภายหลัง โดยปรับได้ 3 แบบ
Near Focus เน้นวัตถุระยะใกล้ (กดลิงก์เพื่อดูภาพขนาดเต็มได้) หน้าชัดหลังเบลอ
Far Focus เน้นฉากหลังเด่น หน้าเบลอหลังชัด (สังเกตดีๆ จะเห็นว่าซอฟต์แวร์ยังทำงานไม่ค่อยแม่น ดูตรงรถเมล์ในภาพ)
Pan Focus ชัดเท่ากันทั้งภาพ
ในกรณีที่อัลกอริทึมทำงานออกมาได้ดี มันก็ดูใช้ได้เลยนะครับ (แม้จะไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเท่ากับกล้องโฟกัสจริงๆ)
จุดอ่อนของ Selective Focus อยู่ที่ไฟล์ภาพมีขนาดใหญ่มาก (เพราะเอาหลายภาพมารวมกัน) ตัวอย่างภาพสาว Wonder Girl ตัวนี้ ผมถ่ายที่ความละเอียดสูงสุดคือ 5312x2988 (15.8MP) ไฟล์ภาพมีขนาดใหญ่ถึง 18.2MB ถือว่าใหญ่มากเมื่อเทียบกับภาพความละเอียดเท่ากัน แต่ถ่ายแบบปกติ มีขนาดประมาณ 3-4MB เท่านั้น
ส่วนฟีเจอร์ HDR ไม่มีอะไรใหม่ในแง่ผลลัพธ์ เพราะมือถืออื่นทำได้มานานแล้ว เพียงแต่ S5 สามารถทำ live preview ได้ก่อนถ่ายเลย ช่วยให้เราเห็นภาพผลลัพธ์ได้ล่วงหน้าและคิดได้ก่อนว่าถ่ายภาพแบบไหนถึงออกมาสวย
ภาพตัวอย่างจากกล้อง Galaxy S5
คลิกเพื่อดูภาพขนาดต้นฉบับ (16MP) ได้บน Flickr ครับ
ไหนเลยซัมซุงโฆษณาว่ากล้องของ S5 เทพ เราก็ถือโอกาสเปรียบเทียบภาพแบบช็อตต่อช็อตกับมือถือรุ่นอื่นๆ เท่าที่หาอุปกรณ์ทดสอบได้ นั่นคือ
มือถือทุกตัวถ่ายด้วยโหมด Auto ตั้งความละเอียดสูงสุดเท่าที่เครื่องนั้นมี และอัพโหลดภาพขนาดเต็มโดยไม่ตกแต่งใดๆ ลง Flickr สามารถกดเข้าไปดูภาพต้นฉบับได้ครับ (ของ Lumia ใช้ภาพขนาด 5MP ที่ออกแบบมาสำหรับแชร์นะครับ)
ภาพที่หนึ่ง
เป็นภาพถ่ายในสตูดิโอของกันตนา รายการของคุณวิลลี่และคุณเสนาหอย เป็นภาพในสตูดิโอที่ส่วนอื่นมืด แต่แสงไฟบนเวทีเด่นชัด
มุมการยืนถ่ายอาจต่างกันอยู่บ้าง แต่น่าจะเปรียบเทียบให้เห็นแสงและสีได้ค่อนข้างดีครับ (เรียงลำดับจากซ้าย S5, Note 3, Lumia)
ภาพที่สอง
เป็นการถ่ายในสตูดิโอเหมือนกัน แต่ไม่ถ่ายไปที่เวทีโดยตรง (ภาพนี้มีความผันแปรเรื่องแสงจากเวทีด้วย ทำให้สภาพแสงของการถ่ายแต่ละครั้งอาจไม่เท่ากัน)
(เรียงลำดับจากซ้าย S5, Note 3, Lumia)
ภาพที่สาม
ถ่ายฉากภายนอกในสภาพแสงกลางวันที่เหลือเฟือ Lumia น่าจะให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด (เรียงลำดับจากซ้าย S5, Note 3, Lumia)
ภาพที่สี่
ถ่ายย้อนแสงพระอาทิตย์ยามเย็นครับ ภาพนี้ขอโทษด้วยที่กล้องของ Lumia เบลอ (มาเห็นตอนกลับบ้านแล้ว) เลยมีแค่ Note 3 กับ S5 (ทั้งโหมด HDR และโหมดปกติ)
(เรียงลำดับจากซ้าย S5 HDR, S5 ปกติ, Note 3)
ภาพที่ห้า
แดดตอนเย็น หันหลังให้แดด ถ่ายฉากระยะไกล ผมว่า S5 สวยที่สุด (เรียงลำดับจากซ้าย S5, Note 3, Lumia)
ภาพที่หก
ลังโค้ก ดูสีแดงเปรียบเทียบ (เรียงลำดับจากซ้าย S5, Note 3, Lumia) Lumia จะติดเหลืองหน่อยๆ ส่วน S5 คมชัดและสีน่าจะตรงกับความเป็นจริงที่สุด
ภาพที่เจ็ด
ศาลพระภูมิ ดูดีเทลของภาพเปรียบเทียบ ผลออกมาพอๆ กันแต่ Lumia ให้มุมกว้างกว่าอย่างชัดเจนเมื่อยืนถ่ายที่จุดเดียวกัน
โดยรวมแล้วผมค่อนข้างพอใจกับกล้องของ S5 นะครับ แต่ก็ยอมรับว่าเท่าที่ใช้มา 2-3 วันยังไม่มีโอกาสได้ถ่ายภาพยากๆ ที่วัดความสามารถของกล้องแบบจริงจัง (เช่น ถ่ายมาโคร ถ่ายสไลด์ไกลๆ หรือถ่ายสภาพแสงกลางคืน) สักเท่าไรนัก
ประสิทธิภาพ
เท่าที่ใช้มา 2-3 วัน พบว่าประสิทธิภาพของ Galaxy S5 ลื่นไหลดีมาก (แหงละ เป็น flagship ตัวล่าสุดนี่นา)
ผลการทดสอบเป็นตัวเลข ผมทดลองรันเบนช์มาร์คด้วย Antutu X (ป้องกันโกง) ทั้งหมด 3 ครั้ง ได้คะแนนดังนี้
เทียบคะแนนจาก Note 3 Exynos รุ่นขายเมืองไทย รัน Antutu X เวอร์ชันเดียวกัน ทดสอบวันเดียวกัน ได้ 29656 และ 29746 คะแนน
เสถียรภาพ
เนื่องจากมันเป็นเฟิร์มแวร์ที่ยังไม่สมบูรณ์ อาจจะไม่สะท้อนความเป็นจริงของเฟิร์มแวร์รุ่นที่ขายจริงทั้งหมดนะครับ แต่หลังจากซัมซุงเจ็บมาเยอะกับเฟิร์มแวร์ของ S4 ที่ไม่เสถียรอย่างแรง พอมาถึงยุคของ S5 ก็กลับไปทำการบ้านมากขึ้น จากการใช้งานรอบ 2-3 วันที่ผ่านมา ผมแทบไม่เจอบั๊กหรือแครชเลย (เจอเครื่องค้าง 1 ทีต้อง force reset แต่ก็เจอแค่นี้)
แบตเตอรี่
ผมไม่ได้ทดสอบแบตเตอรี่อย่างละเอียดนัก (มัวแต่ไปสนใจเรื่อง Ultra Power Saving Mode เลยไม่มีเวลาทดสอบแบตตามปกติ) แต่จากการนำมันมาใช้เป็นมือถือเครื่องหลัก ใช้งานตามปกติทั่วไป รู้สึก (เอาเอง) ว่ามันอยู่ได้นานกว่า Note 3 ที่ใช้อยู่ปกตินิดหน่อยนะครับ (แน่นอนว่ามีความผันแปรเรื่องแอพที่ใช้งานในแต่ละเครื่องด้วย)
แต่ในภาพรวมแล้วถ้าใช้งานแบบออกจากบ้านตอนเช้า ไปทำงานไม่ค่อยได้แตะมือถือนัก เปิด Wi-Fi/mobile data ไว้ตลอด เล่นบ้างตอนกินข้าวเที่ยงหรือรอรถ-นั่งรถ ก็อยู่ได้ถึงตอนค่ำแบบสบายๆ
ผมคิดว่า Galaxy S5 เป็นมือถือที่ทำได้เกือบทุกอย่างที่คู่แข่งทำได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านกันน้ำ กล้อง สแกนลายนิ้วมือ แต่ถ้าถามว่ามีอะไรโดดเด่นเหนือคู่แข่ง หรือที่ให้ตะโกนร้อง "ว้าว" ได้บ้าง ก็น่าจะมีแค่ Ultra Power Saving Mode ตัวเดียว (ซึ่งก็คงไม่ใช่ฟีเจอร์ที่เราอยากใช้งานมันบ่อยนัก)
ส่วนหน้าจอที่สวยงาม, ความเร็วในการทำงาน, การรองรับ LTE, แบตเตอรี่ที่อยู่ได้นานขึ้น ก็ถือว่าเป็นฟีเจอร์ที่ดีและมีประโยชน์ต่อการใช้งานจริงๆ แต่ถ้าถามว่ามันเด่นจนกระโดดข้ามคู่แข่งรายอื่นๆ ในวงการไหม ก็คงไม่มากมายจนทิ้งกันไกลสุดกู่อีกเช่นกัน
ฟีเจอร์ด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Kids Mode, Private Mode, ตัวสแกนลายนิ้วมือ ถือเป็นฟีเจอร์เฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่ทุกคนจะได้ประโยชน์จากมัน แต่ถ้าใครจำเป็นต้องใช้ก็น่าจะเป็น killer feature เฉพาะกลุ่มได้ทันที
แต่ถึงจะไม่โดดเด่น ในมุมกลับ Galaxy S5 ก็เป็นมือถือที่ไม่ค่อยมีจุดอ่อนมากนัก เท่าที่ผมนึกออกมีแค่ดีไซน์ภายนอกที่ยังไม่สมกับเป็น flagship และ UI ที่ยังงงๆ รกๆ อยู่บ้างในบางจุด (ซึ่งก็ถือว่ามีพัฒนาการกว่าเดิมมากแล้ว)
ดังนั้นคงสรุปได้ว่า Galaxy S5 ถือเป็นพวก all-rounder คือไม่มีข้อเสียชัดเจนนัก ข้อดีมีเยอะแต่ไม่โดดเด่นไปสักทาง โดยรวมแล้วถือเป็น Android flagship ของปี 2014 ที่ซื้อไปแล้วไม่น่าจะผิดหวัง (ถือว่า play safe ใต้สมมติฐานว่าเลือก Android ก่อนนะครับ ยังไม่เปรียบเทียบแบบข้ามแพลตฟอร์มเพราะมีปัจจัยเรื่องแอพหรือ UI เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย)
ซื้อ-ไม่ซื้อ?
แต่ถ้ามาตัดสินใจในขั้นต่อไปว่า เรายังควรจะซื้อมือถือระดับเรือธงอีกหรือไม่ ผมเชื่อว่าคำตอบในปี 2014 นี้ คนที่จำเป็นต้องซื้อมือถือระดับ flagship น่าจะเริ่มลดลงเหลือแค่กลุ่ม enthusiast ที่เล่นมือถือตัวท็อปๆ แบบจริงจังเท่านั้น
สำหรับลูกค้าทั่วไป มือถือระดับรองๆ flagship (หรือตัวท็อปของปีที่แล้ว) น่าจะเพียงพอกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ในราคาที่ถูกกว่า flagship มาก ดังนั้นในการตัดสินใจซื้อจริงๆ การจะซื้อ S5 หรือไม่คงต้องดูสภาพเงินและคู่แข่งในระดับราคาอื่นๆ เปรียบเทียบเป็นทางเลือกด้วยครับ
Comments
ไม่ค่อยชอบสี Vibrant UX เท่าไรนะ
Coder | Designer | Thinker | Blogger
ทำไมบางภาพผมรู้สึกว่า Note3 ภาพสวยกว่า S5 อีกหนอ ? (ส่วน Lumia มีปัญหาเรื่อง white balance ในบางครั้ง ต้องปรับเองถึงจะโอเค)
+1 Lumia ทำเรื่อง white balance ได้แยกมาก แถมพอปรับเองก็ชอบเจอแบบ โยกขึ้น ฟ้าเกิน โยกลง เหลืองเกินอีก
งั้นถ่าย RAW กันเหนียว XD
ສະບາຍດີ :)
ผมใช้ Lumia 920 น่ะสิครับ - -"
ผมว่าจริงๆ 920 นี่น่าเปิดให้ถ่าย RAW มากๆ เพราะเซนเซอร์มันเล็ก ขนาดไฟล์ไม่ได้ใหญ่จนเกะกะเหมือน 101520 ยิ่ง 1020 นี่ไฟล์ใหญ่กว่าชาวบ้านเค้าโดยที่ใส่ MicroSD ไม่ได้ด้วย
คลิปหย่อนน้ำสองคลิปเป็นคลิปเดียวกันอยู่นะครับ
รุ่นนี้ผมสนใจอยู่แค่สองอย่าง คือ Ultra Power Saving Mode กับ Private Mode 555
อ่านจากรีวิวน่าจะเป็น standby ได้อีก 24ชั่วโมงมากกว่านะครับ เพราะอ่านจากข่าวเก่าๆ ก็เหมือนจะเป็น standby เหมือนกัน ถ้าใช้ต่อเนื่องคงหมดภายในไม่กี่ขั่วโมงแน่ๆ
Full HD 5.5 > 5.1 รึเปล่าครับ?
แก้แล้วครับผม
ชอบกล้องถ่ายรูปแหะ คุณ mk เปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดดีครับ
Lumia ก็ยังเหลืองตามสไตล์ครับ ถ้าปรับ WB ก็คงช่วยได้บ้าง แล้วแต่ว่าจะออกมาโทนไหนอีก - -
ว่าแต่ HDR คืออะไรครับ สงสัยมานานละ แล้วใน Lumia มันมีมั้ยครับ ? หรือชื่อเรียกไม่เหมือนกัน ?
HDR คือ High Dynamic Range คับ ใช้เอาไว้ถ่ายในสภาพแสงไม่ค่อยเหมาะสมในบางสถานการณ์ อย่างเช่นถ่ายย้อนแสง หรือแสงน้อยคับ แต่ตัวนี้ถ้า Lumia ไม่ใช่แอพเพิ่มก็ไม่มีคับ มันไม่ติดมากับ Nokia Camera หรือ ตัวแอพกล้องในเครื่องน่ะคับ (แต่ตัวแอพที่ใช้ถ่ายในLumiaมันก็เหมือนกับถ่ายหลายๆภาพในจุดเดียวกันแล้วใช้Softwareในการต่อในสภาพแสงที่ดีที่สุดนะคับ)
นอกจากเหลืองแล้ว วันดีคืนดียังถ่ายฟ้าได้อีก (-*-)
HDR => High Dynamic Range ครับ คือเก็บช่วงแสงได้กว้างตั้งแต่มืดไปจนสว่าง ภาพปกติถ่ายมาพอเราเก็บรายละเอียดส่วนมืดให้เห็นได้ชัด ส่วนสว่างจะขาวจนรายละเอียดหาย พอเก็บรายละเอียดส่วนสว่าง ส่วนมืดก็มืดจนมองอะไรไม่ออก HDR ใช้การถ่ายภาพหลายๆ ภาพ เก็บรายละเอียดไล่ส่วนมืดไปจนถึงส่วนสว่าง (ถ่าย under ไล่ไป over หรือกลับกัน) ส่วนมากจะเป็นตั้งแต่ 2-5 ภาพครับ แล้วนำรายละเอียดจากแต่ละภาพมารวมกัน ให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดตั้งแต่ช่วงมืดไปจนถึงช่วงสว่างครบ แบบในภาพตัวอย่างนั่นก็จะเห็นได้ว่าส่วนมืดของตึกสว่างขึ้นกว่าภาพที่ไม่ใช่ HDR
Lumia ไม่มีติดมาครับ ต้องหาแอพเสริมเอง ถ้าปรับได้เยอะหน่อยและฟรีก็ 4Blend HDR ถ่ายเร็ว คำนวณเร็ว แต่งานหยาบและผมไม่ชอบวิธีทำ HDR ของแอพนี้ทั้งสีและแสงครับ ผมชอบภาพจากแอพ HDR Photo Camera มากกว่า ตัวนี้ตัวฟรีจะความละเอียดต่ำ ถ้าเสียเงินจะคำนวณภาพแบบความละเอียดสูงได้ครับ
ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ ผมไม่ค่อยเจอภาพฟ้า จะเจอเหลืองเยอะกว่า อิอิ
มีสองอย่างที่ทำให้ S5 ไม่น่าสนใจสำหรับผมเลย
1.ฝาหลังน่าเกลียดแบบรับไม่ได้
2.ราคาที่แพงเว่อร์เกินไป
นอกนั้นมันก็คือ มือถือ spec ดีธรรมดาทั่วไป ไม่ได้เด่นกว่าคู่แข่งเลย
กลับไปใช้ Note 3 ดีกว่า
Private กัย Knox นี่ต่างกันมั้ยครับ ?
Private = ซ่อนได้แค่ไฟล์ครับ ฟีเจอร์คอนซูเมอร์
Knox เป็นมากกว่านั้นคือเป็น middleware สำหรับซอฟต์แวร์พวก Mobile Device Management อีกทีหนึ่ง enterprise ล้วนๆ
Lumia 1020 ถ่ายที่แสงน้อยยังสวยกว่า Samsung ทั้งสองรุ่น น่าเหลือเชื่อเหมือนกัน
ทำไมถึงไม่ค่อยชอบ Flipboard เหรอครับ? (appโปรดผมเลย)
ผมอยากรู้ว่า เวลาจอเปียกน้ำยังสัมผัสได้อยู่ไหมครับ
ทำไมผมฮา
^
^
that's just my two cents.
จากคลิป ในyoutube เปียกน้ำไม่สามารถทัชได้ครับ
การถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ
มันคือการเอามาทำที่หลังใช่ไหมครับ แบบว่าถ่ายรูปเสร็จแล้วมาเลือกโฟกัสทีหลัง
โดยที่เรายังสามารถทำหน้าชัดหลังเบลอด้วยวิธีปรกติได้ใช่ไหมครับ (เลือกจุดโฟกัส > กดชัตเตอร์ > (ติดวิญญาณ) > แล้วได้ภาพหน้าชัดหลังเบลอ)
คนขี้ลืม | คนบ้าเกม | คนเหงาๆ
ใส่เคสปกปิดดี ๆ เปลี่ยน Launcher มันก็จะกลายเป็นมือถือที่ไม่มีข้อเสีย ;)
ผมว่าจอ Note3 สว่างและสีสดมาก ๆ แล้วนะ เจอ S5 เข้าไป
Super Dimming แอบน่าสนใจแฮะ :)
รีวิว ละเอียดยิบ อ่านจนตาลาย - -"
ฝาหลังทำให้มันกลายเป็นมือถือโลว์คลาสไปเลย ถ้า Note4 มาแบบนี้อีกแล้วจะรู้สึกว่ายอดขายตกมันเป็นยังไง
//ผมไม่ใส่เคส
ผมว่าขอบจอยังหนาไปทั้งบนล่างซ้ายขวา
ช่วงนี้มองแต่สองซิม
ผมว่ากล้องทำได้ดีเลยนะครับ ทั้งรายละเอียดและ DR
A smooth sea never made a skillful sailor.
ราคาแพง ดีไซน์ย้อนยุค
ส่วน touchwiz ผมว่ามันช้าสุดละใน UI android ทั้งหมด
กล้องตัวนี้ผมถือว่าดีครับพอจะสู้กับ ip lumia ได้อยู่ แต่ต้องมาวัดกันอีกทีในเรื่องการถ่ายแบบยากๆ
ภาพที่ 7 คุ้นๆ เอ๊ะ มัลดีพ เอ๊าชนนนนน 555
ที่ชอบอย่างเดียวคือโหมดประหยักพลังงงานที่เพิ่มเข้ามา มันดีมากๆเลย
ตัวนี้ ฟีสเจอร์ น่าเล่นมากเลยครับ
ขอบคุณมากครับ