ซอฟต์แวร์กลุ่มที่ถูกพูดถึงมากเป็นอันดับต้นๆ ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมาคือ mobile device management (MDM) ที่เติบโตตามกระแสการนำอุปกรณ์พกพาส่วนตัวเข้ามาใช้ในที่ทำงาน (BYOD) ซึ่งในการใช้งานจริงๆ ก็จำเป็นต้องติดตั้งซอฟต์แวร์สำหรับบริหารจัดการอุปกรณ์ เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลองค์กรด้วย
ซอฟต์แวร์ MDM ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย และมีใช้กันในองค์กรขนาดใหญ่ (ที่แต่เดิมซื้อมือถือแบบ BlackBerry แจกพนักงาน) มานานมากแล้ว แต่เมื่อกระแส BYOD มาแรงก็มีการพัฒนาแนวคิดของ MDM ที่เดิมทีสนใจแค่ "อุปกรณ์" (device) ให้ขยายมาถึงแอพพลิเคชัน (mobile application management - MAM) และเนื้อหาหรือข้อมูลในองค์กร (mobile content management - MCM) ด้วย ทำให้บางบริษัทเรียกโซลูชันซอฟต์แวร์แนวนี้ในชื่อรวมๆ ว่า enterprise mobility management (EMM)
ตัวอย่างซอฟต์แวร์กลุ่ม MDM/EMM ที่ Blognone เสนอข่าวบ่อยๆ คือ BlackBerry Enterprise Services (BES) ของค่าย BlackBerry แต่เอาจริงก็มีบริษัทซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่ทำธุรกิจแนวนี้อีกมาก ตัวอย่างล่าสุดคือ ไมโครซอฟท์ที่เพิ่งเปิดตัวโซลูชันใหม่ชื่อ Enterprise Mobility Suite หรือ EMS
บทความนี้จะมาแนะนำ "ผู้เล่น" ในตลาด MDM/EMM ให้พอเห็นภาพว่ามีบริษัทใดบ้างครับ
บริษัทซอฟต์แวร์ที่บุกเข้าตลาด MDM/EMM มีเยอะมากจนว่ากันว่าเป็น "หลักร้อย" แต่ที่ใหญ่และมีอิทธิพลจริงๆ คงเหลือแค่ประมาณหลักสิบ โดยบริษัทที่เข้าข่ายส่วนใหญ่อ้างอิงจากงานวิจัยของ Gartner ในปี 2013 (Magic Quadrant for Mobile Device Management Software) โดยใช้กรอบวิเคราะห์เรื่อง Magic Quadrant ของ Gartner มาแยกบริษัทเหล่านี้ออกเป็น 4 กลุ่มตามเกณฑ์ในแกน X และ Y ดังภาพ
บริษัทที่ทำธุรกิจ MDM น่าจะพอแยกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
ในส่วนของผู้ผลิตมือถือรายอื่นๆ เอง ถึงแม้ไม่ได้ทำโซลูชันด้าน MDM โดยตรง แต่ผู้ผลิตมือถือบางรายก็ทำเฟรมเวิร์คสำหรับ MDM ให้บริษัทคู่ค้าอื่นๆ มาเรียกใช้ประโยชน์อีกทีหนึ่ง เช่น แอปเปิล หรือ KNOX ของซัมซุง
รูปแบบการใช้งาน MDM/EMM มีทั้งแบบ on premise (ติดตั้งภายในบริษัท) และ on cloud ส่วนวิธีคิดเงินก็แบ่งได้เป็น 2 แบบกว้างๆ คือคิดตามจำนวนผู้ใช้งาน (ไม่จำกัดอุปกรณ์) และคิดตามจำนวนอุปกรณ์ ส่วนใหญ่ใช้การเช่าเป็นต่อเดือนหรือต่อปี
ตัวอย่างบริษัท MDM/EMM รายใหญ่ๆ ที่น่าสนใจมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้ (ไม่เรียงลำดับความสำคัญ)
AirWatch เป็นบริษัทผู้นำด้าน MDM ชื่อดังและได้คะแนนเป็นอันดับต้นๆ จาก Gartner และเมื่อปีที่แล้วเพิ่งโดน VMware ซื้อกิจการไป โซลูชันก็มีครบถ้วนทั้ง MDM/MAM/MCM, ความปลอดภัยของอีเมลและเว็บเบราว์เซอร์ ภายหลังยังขยายมาใช้กับโน้ตบุ๊กได้ด้วย
MaaS360 เป็นชื่อโซลูชัน MDM ของบริษัท Fiberlink ซึ่งปัจจุบันโดน IBM สอยไปเรียบร้อยแล้ว (IBM ก็มีโซลูชัน MDM ของตัวเองอีกชุดหนึ่งต่างหาก) บริการในชุดมีตั้งแต่ MDM ที่ขยายไปถึงการบริหารโน้ตบุ๊กด้วย, การจัดการแอพพลิเคชัน (MAM), การควบคุมการแชร์เอกสาร เป็นต้น
MobileIron เป็นบริษัท MDM ชื่อดังอีกราย (และอยู่ในกลุ่ม "ผู้นำ" จากการจัดอันดับของ Gartner) โซลูชันมีทั้ง MDM, MAM, MCM และการรักษาความปลอดภัยบนอุปกรณ์พกพา
SOTI เป็นบริษัทจากแคนาดา ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า MobiCloud รองรับ OS ดังทุกค่าย ความสามารถครบถ้วนทั้ง MDM/MAM/MCM และมีฟีเจอร์ด้านความปลอดภัย นอกจากนี้บริษัทยังมีซอฟต์แวร์ด้าน Remote Support ที่ทำมาตั้งแต่สมัย Windows CE ด้วย
บริษัท MDM รายใหญ่อีกรายที่ช่วงหลังมีข่าวออกมาเรื่อยๆ ว่าน่าจะขายหุ้น IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2014 นี้ Good เป็นคู่แข่งตัวฉกาจของ BlackBerry และมีสงครามคารมกันอยู่บ่อยๆ (ซีอีโอของ BlackBerry เพิ่งเขียนบทความ Good is not Good Enough ออกมาต่อสู้กันอยู่เมื่อไม่นานนี้
นอกจากนี้ Good เพิ่งซื้อบริษัทคู่แข่งในวงการอีกรายคือ BoxTone ไปเสริมทัพด้วย
รายนี้คงไม่ต้องอธิบายกันเยอะเพราะข่าว BES มีเยอะมากแล้ว เดิมที BES ออกแบบมาสำหรับบริหารจัดการเครื่อง BlackBerry ขององค์กร แต่เมื่อกระแส BYOD มาแรงมันก็ถูกพัฒนาให้บริหารอุปกรณ์ค่ายอื่นๆ เช่น iOS หรือ Android เพิ่มได้ด้วย (แต่คนยังติดกับชื่อ BlackBerry กันอยู่)
Citrix เป็นเจ้าพ่อด้านการบริหารจัดการพีซีองค์กรมานาน จึงไม่น่าแปลกที่จะขยายมายังอุปกรณ์พกพาตามกระแสนิยมด้วย
ก่อนหน้านี้ Citrix เพิ่งซื้อกิจการบริษัท MDM ชื่อ Zenprise และรวมผลิตภัณฑ์สาย MDM มาให้บริการในชื่อ XenMobile (Citrix ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์เกือบทุกตัวด้วยคำว่า Xen) ดังนั้นถ้าองค์กรใช้ Citrix อยู่แล้ว การใช้ XenMobile ก็อาจช่วยให้โซลูชันเชื่อมต่อกันง่ายกว่า
ยักษ์ใหญ่ของวงการ ERP อย่าง SAP ก็มีบริการด้าน MDM กับเขาด้วยเหมือนกัน โดยต้นทางมาจากบริษัท XcelleNet ที่ทำผลิตภัณฑ์ชื่อ Afaria มาตั้งแต่ปี 2000 แล้วเปลี่ยนเจ้าของมาหลายทอด โดยขายให้ Sybase และ Sybase มาโดน SAP ซื้ออีกทอดหนึ่ง สุดท้ายสิ่งที่คงอยู่คือชื่อผลิตภัณฑ์ภายใต้เจ้าของปัจจุบัน SAP Afaria
ผลิตภัณฑ์สาย MDM ของ Symantec ใช้ชื่อว่า Symantec Mobile Management Suite โดยมีฐานมาจากบริษัท Altiris ที่ซื้อมาตั้งแต่ปี 2007 ซอฟต์แวร์ในชุดก็คล้ายกับคู่แข่งคือมีทั้ง MDM, MAM, MCM แต่ส่วนที่เพิ่มเข้ามาก็จะมีเรื่อง Mobile Security ปกป้องจากมัลแวร์ด้วย
ผลิตภัณฑ์ MDM ของ IBM ใช้ชื่อว่า Endpoint Manager for Mobile Devices (EMMD) เป็นซอฟต์แวร์ในเครือ Tivoli ซอฟต์แวร์องค์กรที่ IBM ซื้อมาตั้งนานแล้ว จุดเด่นคือการทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์องค์กรอื่นๆ ได้ดี
แนวทางของ McAfee จะคล้ายกับ Symantec คือมองเรื่อง mobile security เป็นหลัก และมีส่วนของการบริหารจัดการอุปกรณ์เป็นส่วนเพิ่มเข้ามา โดยผลิตภัณฑ์ของค่าย McAfee ใช้ชื่อว่า McAfee Enterprise Mobility Management (McAfee EMM) รองรับ iOS/Android/Windows Phone แต่ไม่มี BlackBerry
พี่ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์มีโซลูชันด้าน device management สายพีซี-โน้ตบุ๊กมานานแล้วในชื่อ SCCM และ Windows Intune และเมื่อเร็วๆ นี้บริษัทก็เพิ่งประกาศออกโซลูชันครบวงจรที่ขยายมายังอุปกรณ์พกพาด้วย (แถมทำงานบนกลุ่มเมฆ) ในชื่อ Enterprise Mobility Suite หรือ EMS
สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องความสามารถของ MDM ค่ายต่างๆ ว่าควรใช้ค่ายไหนดี สามารถดูตารางเปรียบเทียบอย่างละเอียดได้จาก
Blognone จะลองคัดเลือกบริษัทด้าน MDM ที่น่าสนใจมาทยอยนำเสนอในอนาคตต่อไป ส่วนสมาชิกที่เคยใช้งานโซลูชัน MDM ของเจ้าไหนก็อาจมาแชร์ประสบการณ์การใช้งานของแต่ละค่ายกันได้ครับ
Comments
บริษัทผมใช้ Mobileiron ครับ
ส่วนตัวเคยใช้ทั้ง android และ iOS
ตัว iOS นี่ดีมากใครใช้ ตัว native email client
เป็นตัวหลักในการรับส่ง e-mail ได้เลย
แล้วก็มี Feature พวกห้ามใส่รหัส pincode ง่ายๆ เช่น 1111
ส่วน Android นี่ต้องใช้ Mail client ที่ไม่ใช่ Native ของ android ซึ่งห้่วยเหมือนกันครับ
ตอนนี้ที่บริษัทมี Good มาให้ใช้ แต่ห้ามเครื่อง root/jailbreak ใช้ อดเลย
บริษํท => บริษัท
นอกจาก Blackberry มี samsung อีกเจ้าครับ
http://www.samsung.com/global/business/mobile/solution/security/mobile-device-management/