หนึ่งในวัตถุประสงค์ของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อบ้านอัจฉริยะที่นอกเหนือไปจากการอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ก็เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน และ Chui กริ่งประตูหน้าบ้านอัจฉริยะก็ได้รับการพัฒนามาเพื่อการนี้เช่นกัน
Chui เป็นผลงานการพัฒนาของบริษัท 214 Technologies ซึ่งมันคือกริ่งหน้าบ้านที่มีกล้องตรวจจับใบหน้าอยู่ภายในตัวของมันเอง เมื่อผู้มาเยือนเอานิ้วกดบริเวณช่องกดกริ่งที่ตัว Chui ตัวกล้องภายในตัว Chui ก็จะตรวจจับใบหน้าของผู้มาเยือนและส่งการแจ้งเตือนไปยังหน้าจอสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ที่เป็นเจ้าของบ้าน
ผู้ใช้สามารถบันทึกใบหน้าของแขกไว้ในรายชื่อผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าบ้านเอาไว้ได้ ซึ่งหากมีการต่อ Chui เอาไว้กับระบบล็อกประตู มันก็จะสามารถปลดล็อกและอนุญาตให้บุคคลที่อยู่ในรายชื่อนั้นผ่านไปได้โดยอัตโนมัติ ในทางกลับกันผู้ใช้สามารถบันทึกใบหน้าของแขกไม่พึงประสงค์ไว้ในบัญชีดำได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้ที่อยู่ในรายชื่อกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้อนุญาตให้ผ่านประตูเข้าไปนั่นเอง ส่วนในกรณีที่ผู้มาเยือนไม่ได้อยู่ในรายชื่อใด Chui จะส่งการแจ้งเตือนไปยังสมาร์ทโฟนของผู้ใช้ ซึ่งผู้ใช้สามารถสั่งเปิดระบบสนทนาผ่านวิดีโอได้ ก่อนจะตัดสินใจต่อไปว่าจะอนุญาตให้อาคันตุกะเข้ามาในบ้านตนเองหรือไม่
จุดเด่นที่สำคัญของ Chui คือความสามารถในการตรวจจับและจดจำใบหน้า ทำให้แยกแยะบุคคลต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ
214 Technologies ประสบความสำเร็จในการระดมทุนผ่าน Crowdtilt ซึ่งได้เงินสนับสนุนไปมากกว่า 50,000 ดอลลาร์แล้ว จากเป้าหมายที่วางเอาไว้ที่ 30,000 ดอลลาร์ และจากนี้ไปอีกก็จะเป็นขั้นตอนการผลิตเพื่อจัดส่งให้ผู้สนับสนุนภายในปีนี้ โดยในขณะนี้ยังคงเปิดรับการจอง Chui ล่วงหน้าในราคาชิ้นละ 199 ดอลลาร์
ที่มา - TechCrunch
Comments
ยังไงผมก็ยังไม่เชื่อมั่นระบบนี้อยู่ดี - -
มั่นใจว่าจะไม่โดนแฮ็คระบบด้วยรึเปล่า
เอาหน้าคนมาตัดเป็นหน้ากากกระดาษแข็งเหมือนที่เล่นกันตอนเด็กๆ
จะหลอกได้มั้ยเนี่ย 555
ทุกอย่างย่อมมีจุดอ่อน..
เฉยๆ กับเทคโนโลยี แต่ชอบตรงไอเดียที่สร้างสรรค์ครับ
เปิดรูปหลอกกล้องได้ไหม
กล้องปรับระดับได้ไหม ถ้าเด็ก หรือคนสูงๆ มากดมันจะเจอหน้ามั๊ยนั่น
อาคันตุกะ = =
I am Cortana.
Nice to meet you.
ถ้ามีคนมายืนสองคน และ คนนึงเป็น white list อีกคนเป็น Black list ตัวกล้อง จะงงไหมน้า..?
ผมว่าคนใน Blacklist อาจจะไม่กดกริ่งนะ
คงปีนข้ามกำแพงมากกว่า
เหมือน ในหนังเลย ที่มันเรียกดูเป็นภาพ real time ยังไงยังงั้น
นี่แหละสิ่งที่ตามหามานาน