หลังจากการมาถึงของสมาร์ทโฟนในยุคนี้ทำให้ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ มีการลากสายใยแก้วนำแสงเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลาทั้งบนบกและใต้น้ำเพื่อรองรับความต้องการนี้ แต่การติดตั้งใยแก้วนำแสงนั้นต้องใช้เวลาและเงินในปริมาณมาก เทคโนโลยีการเชื่อมต่อลูกผสมเลเซอร์-วิทยุจาก AOptix ที่ใช้เวลาติดตั้งน้อยกว่าและราคาถูกกว่าจึงเริ่มได้รับความสนใจในการนำมาช่วยขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ต
เทคโนโลยีการเชื่อมต่อนี้ใช้ทั้งการเชื่อมต่อด้วยเลเซอร์และคลื่นวิทยุทำงานแยกจากกันเพื่อช่วยชดเชยจุดอ่อนของอีกฝ่าย เนื่องจากเลเซอร์จะไม่สามารถทำงานได้ในภาวะหมอกหนา และคลื่นวิทยุเองก็ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก (หากฝนตกหนักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิและความชื้นของอากาศจนหมอกหายไป) ทำให้การเชื่อมต่อนี้ค่อนข้างทนทานต่อสภาพอากาศ
ตัวอุปกรณ์มีขนาดเท่าๆ กับโต๊ะกาแฟ มีสองตาเหมือนกับหัวของ Wall-E (ดูภาพประกอบท้ายข่าว) ข้างหนึ่งสำหรับเลเซอร์และอีกข้างสำหรับคลื่นวิทยุแบบทิศทาง สามารถเชื่อมต่อกับอีกกล่องหนึ่งที่อยู่ห่างไปในระยะ 10 กิโลเมตรและสามารถเชื่อมต่อกันเป็นทอดๆ แบบ daisy chain ได้
ปัจจุบัน AOptix สามารถรับรองความเร็วของการรับส่งข้อมูลได้ที่ 2 Gbps เมื่อเทียบกับใยแก้วนำแสงที่ใช้กันในปัจจุบันก็ต่างกันพอสมควร (เทคโนโลยีใยแก้วนำแสงที่ใช้กันอยู่มีอัตราการส่งข้อมูลราว 100 Gbps ทั้งยังมีงานวิจัยที่ทำให้ใยแก้วนำแสงส่งข้อมูลได้ 43 Tbps และ 255 Tbps) แม้ความเร็วจะต่ำ แต่ความง่ายในการติดตั้งและต้นทุนที่ต่ำกว่าก็ทำให้มันเหมาะสมกับพื้นที่ที่มีความต้องการไม่สูงมากนัก โดยในตอนนี้มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในสหรัฐอเมริกา 3 รายที่นำไปทดลองใช้, ใช้งานจริงโดยผู้ให้บริการโทรศัพท์ในเม็กซิโกหนึ่งราย และกำลังใช้ในการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศไนจีเรีย
ที่มา - MIT Technology Review ผ่าน SlashGear
Comments
ต่างประเทศเขตหนาวมีหมอกเยอะในช่วงหน้าหนาว ประเทศเราเขตร้อน ไม่ค่อยมีหมอกเยอะเท่าไหร่ ถึงมีก็ไม่กี่วัน น่าจะเหมาะกับประเทศเรามากกว่านะ
อีกหน่อยคงพัฒนาให้มันรองรับความเร็วมากกว่า 2Gbps ได้
ถ้ามีแมลงเม่าบินไปเล่นแสงไฟจะเป็นยังไงนะ?
Jusci - Google Plus - Twitter
น่าจะเป็นช่วงคลื่นที่ตามองไม่เห็นนะครับ (ตาแมลงก็ไม่น่าจะมองเห็นมั้ง)
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
แมลงหลายชนิดมองเห็น UV กับ IR นะครับ อันนี้เน้นเรื่องระยะทางผมคิดว่าน่าจะเป็น IR
ยังกะปิดไฟ แล้วยุงมันมองไม่เห็นเรางั้นแหละ
ผมเข้าใจว่ามันก็มองไม่เห็นจริงๆ นี่ครับ
ไม่ได้กวนนะครับ ยุงมองไม่เห็นเราจริง ๆ แต่มันใช้ประสาทสัมผัสด้านกลิ่น (สารเคมี) และประสาทสัมผัสความร้อนแทนครับ
Jusci - Google Plus - Twitter
ไม่เห็นจริงครับ ยุงใช้ความร้อน กะ CO2 ในการ detect
Wall-E ยักคิ้วข้างเดียวด้วย
ถ้าเป็นบ้านเรา ไฟสีม่วง ดักแมงนูนได้เพียบ 555
น่าจะเหมาะกับบ้านเรา ทั้งเรื่องสภาพอากาศ และเป็นการแก้ปัญหาโจรขโมยสายโทรศัพท์ไปด้วย (บ้านผมที่ต่างจังหวัด โดนตัดบ่อยจน TOT ต่อให้ใหม่ไม่ใหวเลยครับ เสียดายเบอร์บ้านเก่าเลขสวยมาก ลงท้าย 001 แต่ใช้ไม่ได้เลย เลยต้องยกเลิกไป)