หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายด้านดิจิทัล 8 ฉบับรวด (รวมทั้งชุด 10 ฉบับ) ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงร่างกฎหมายชุดนี้ตามมา (ดูรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ เปิด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่)
วันนี้ เครือข่ายภาคประชาสังคม 6 องค์กร ได้แก่ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย มูลนิธิโลกสีเขียว FTA Watch กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน และเครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้แถลงข่าวและตั้งข้อสังเกตกับร่างกฎหมายชุดนี้ โดยเห็นว่าชุดกฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิเสรีภาพในหลายด้าน ผูกขาดทรัพยากร และไม่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้เป็นการใช้ข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงของรัฐ
รายละเอียดมีดังนี้
- ชุดกฎหมายเหล่านี้โดยเนื้อแท้ ไม่ใช่กฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” แต่เป็นชุดกฎหมายความมั่นคง
- เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.กสทช. เป็นการถือโอกาสดึงคลื่นความถี่กลับมาอยู่ในมือภาครัฐและกองทัพ ซึ่งจะกลับไปเหมือนในสมัยก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 กฎหมายชุดนี้ทำลายหลักการที่ว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และทำลายกลไกการแข่งขันเสรีเป็นธรรม จนกล่าวได้ว่าเป็นกฎหมายเพื่อ “เศรษฐกิจและกองทัพ”
- ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ทำลายความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช.
- ที่ผ่านมาภาคประชาชนเห็นร่วมกันว่า กสทช.จำเป็นต้องพัฒนาระบบธรรมาภิบาลให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องการใช้งบประมาณและการใช้อำนาจ แต่ร่าง พ.ร.บ. กสทช.ฉบับใหม่ไม่ได้แก้ปัญหาดังกล่าว และยังมีร่างกฎหมายใหม่อีกหลายฉบับที่จะสร้างหน่วยงานที่มีโครงสร้างงบประมาณและการบริหารลักษณะคล้ายกันขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก
- กองทุนที่มาจากรายได้ของ กสทช. ถูกเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปจากเดิมเป็นอย่างมาก วัตถุประสงค์เดิมในการเป็นกองทุนวิจัยพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่งเสริมคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และส่งเสริมจริยธรรมการประกอบวิชาชีพ ได้หายไปหมด และกลายสภาพเป็นกองทุนเพื่อให้รัฐและเอกชนกู้ยืม
- ร่างกฎหมายหลายฉบับ ไม่ส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างที่อ้าง อีกทั้งคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัวที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และกระทบการประกอบธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสาร
- ร่างกฎหมายทั้งหมดขาดกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิผู้บริโภคที่ชัดเจน อีกทั้งสัดส่วนของคณะกรรมการชุดต่างๆ ก็ไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านที่เกี่ยวข้อง ที่เห็นชัดที่สุดคือคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีการตัดกรรมการด้านสิทธิและผู้บริโภคออกไป 3 ตำแหน่ง และเพิ่มกรรมการด้านความมั่นคงเข้ามา 2 ตำแหน่ง
- ความไม่ชัดเจนของสถานะทางกฎหมายของหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็น “หน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ” ว่าสำนักงานและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจะมีความรับผิดตามกฎหมายอย่างไร มีกลไกร้องเรียนตรวจสอบได้ทางไหน
Comments
มีให้โหวตใน change.org ไหมจะตามไปโหวตไปแชร์
ผมเห็นด้วยกับทุกข้อจริงๆ
Get ready to work from now on.
ผมว่าถ้ามีโหวตผ่านทุกข้อแน่นอน ผมเห็นด้วยกับทุกข้อ
อ่านยังไงก็กฏหมายความมั่นคงชัดๆ
เขาจะฟังหรือ? นี่แหละครับเขาทำนองที่ว่ายื่นดาบให้โจร ไม่รู้คนที่สนับสนุนเขาจะรู้สึกตัวหรือเปล่า เพราะยิ่งปล่อยให้มีอำนาจมากเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งหาทางเพิ่มอำนาจให้กับตัวเองไม่รู้จักจบสิ้น เขาไม่จำเป็นต้องแคร์ประชาชนเลยเพราะถึงยังไงเขาก็ไม่ได้มาจากการยินยอมอย่างเป็นทางการของประชาชน อยากจะทำอะไรก็ทำ
จริงๆ กฏหมายพวกนี้แทบไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากคนที่อยู่ในเศรษฐกิจดิจิตอล เลยครับ หรือมีก็ไม่ได้ประชาสัมพันธ์กันในวงกว้าง ขนาดผมเปิดอ่านข่าวไอทีทุกวันก็ไม่ได้ยินข่าวคราวของร่างกฏหมายพวกนี้เลยจนกระทั่งเปิดตัว
อย่างว่าละครับ กฏหมายไทย คนใช้ไม่ได้คิด คนคิดไม่ได้ใช้(อาจจะไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนเลย)
เหมือนกัน รมต.ไอซีทีแต่ละคน ไม่ได้มาจากสายไอทีกันเสียส่วนใหญ่ จะนักบินบ้าง เกษตรบ้าง เคมีบ้าง เศรษฐศาสตร์บ้าง พยาบาลบ้าง นิติบ้าง มีคุณสรอรรถ ที่จบสถิติและคอมพิวเตอร์มา กับ คุณสิทธิชัย ที่เป็น IEEE fellow จากลาดกระบัง แต่อยู่แค่ครึ่งปี นึกแล้วก็แอบเศร้าใจอนาคตด้านไอทีในบ้านเราเสียจริงๆ
อยากส่งเสียงคัดค้านให้คนเขียนกฏหมายได้ยินจัง ทำยังไงดี...
อ่านแล้วเซ็ง เราจะทำอย่างไรได้บ้าง...กับสิทธิส่วนบุคคล และอนาคตไอทีบ้านเรา
เห็นด้วยทุกข้อครับ
ช่วงเวลาคืนความสุข (ให้คนบางกลุ่ม)
นี่มันกฎหมายความมั่นคงชัด ๆ จะไปร่วม Vote คัดค้านได้ที่ไหนบ้างไหมเนี่ย...