เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา Dell ประเทศไทย ได้จัดงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในระดับภูมิภาค ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านั้นคือชุดที่เปิดตัวครั้งแรกในงาน CES 2015 โดยเอามาจัดแสดงหลากหลาย รวมถึง Latitude 7250 ด้วย (ลองจับมาแล้ว) แต่อีกตัวหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในงาน และอาจจะเป็นพระเอกของงานที่หลายคนรอ คือ XPS 13 (9343) ครับ
สำหรับ XPS 13 รุ่นนี้ ที่ต้องมีต่อท้ายว่า 9343 นั้นคือรหัสของรุ่นนี้ โดยในหน้าเว็บของ Dell เองค่อนข้างแยกกันชัดเจน (ตัวเก่ารหัส 9333) แต่เวลาโฆษณาปกติกลับใช้ชื่อเดียวกัน ดังนั้นเพื่อกันความสับสน เลยขออนุญาตวงเล็บรหัสรุ่นไว้ เพื่อไม่ให้สับสนกับรุ่นก่อนหน้าโดยอนุโลมนะครับ
สเปกของ XPS 13 (9343) นั้นมีหลากหลายมาก (อ่านเอาจากข่าวเก่า) แต่โดยรวมๆ คือยืนพื้นที่ Core i3 เป็นหลัก, แรม 4 GB, SSD ที่ความจุ 128 GB และหน้าจอที่ความละเอียด Full HD (1920x1080) อย่างไรก็ตาม ทาง Dell ประเทศไทยแจ้งว่า สำหรับประเทศไทยจะนำตัวที่มีสเปกสูงเกือบที่สุดเข้ามา ซึ่งก็แปลว่าจะใช้สเปกที่ Core i7, แรม 8 GB, หน้าจอสัมผัสแบบ QHD (เรื่อง SSD ผมไม่แน่ใจเพราะทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งครับ)
ผลที่ตามมาของการนำรุ่นสเปคสูงเข้ามา คือราคาที่สูงตามไปด้วย โดยอยู่ในช่วงระหว่าง 5-6 หมื่นบาท และมี 2 ตัวเลือก (configuration) ให้เลือก โดยเริ่มสั่งจองได้แล้วตั้งแต่บัดนี้ และของจะเข้ามาภายในเดือนกุมภาพันธ์ (ถือว่าเร็วมาก)
หน้าตาของเครื่องตอนแรกเห็นต้องถือว่าตามสมัยนิยม ตัวเครื่องทำจากโลหะอะลูมิเนียมครับ ไม่ได้พิเศษอะไรอื่นๆ
เปิดภายในออกมาสิ่งแรกที่หลายคนทักคงเป็นเรื่องของหน้าจอที่แทบจะไร้ขอบ (ตัวในภาพไม่ใช่จอสัมผัส) อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ไร้ขอบก็ทำให้ต้องย้ายกล้องหน้า (ผมไม่แน่ใจว่ามีกี่คนใช้?) ลงไปอยู่ด้านล่างของจอ ส่วนตัวจอถือว่าสีสันสดใส ดีทีเดียว
ตัวเครื่องถือว่าไม่ได้เบาอย่างที่คิดไว้ ตัวเลขบนกระดาษทำให้คิดว่าจะต้องเบามากๆ แน่ๆ แต่พอเอาเข้าจริงกลับไม่รู้สึกอย่างนั้น (น่าจะพอๆ กับ Macbook Air 13 นิ้ว)
ส่วนของด้านในเครื่องใช้วัสดุเหมือนคาร์บอนไฟเบอร์แล้วพ่นยางทับ (นึกถึงฝาหลังของ Motorola หลายๆ รุ่น เช่น Droid Maxx, Droid RAZR M, RAZR) ทำให้รู้สึกหนึบๆ บนพื้นผิวดี ตัวแป้นพิมพ์ถือว่าให้ครบมาทุกแถว แต่พอผมลองพิมพ์จริงจังอยู่ประมาณหนึ่ง (ไม่ได้ลองนาน) ก็พบว่าตัวปุ่มของแป้นเวลากดลงไปค่อนข้างจมไม่ลึก อีกนัยหนึ่งคือค่อนข้างตื้น (โดยส่วนตัวไม่ชอบค่อนไปทางเกลียดแป้นที่ลงไปไม่สุด เพราะด้วยความที่มือหนัก) แต่ถือว่าด้วยความเป็นโน้ตบุ๊กขนาดบาง ทำได้เท่านี้ก็ "ดีมาก" แล้ว
อีกสิ่งที่ควรบันทึกไว้ตรงนี้คือ บริเวณทัชแพดทำงานได้ดีมากอย่างน่าเหลือเชื่อ แต่เช่นเคย เนื่องจากเราลองกันสั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้ลองใช้จริงจังครับ
ข้างขวามือของเครื่อง มีช่องใส่ SD Card, USB 3.0 และ Kensington Lock (สำหรับยึดหรือตรึงเครื่องไว้กับที่) มาให้ด้วย
ซ้ายมือเป็นช่องสำหรับเสียบไฟชาร์จ, Mini DisplayPort, USB 3.0, ช่องเสียบหูฟังและลำโพง และปุ่มกดที่ไว้สำหรับกดเพื่อเช็คปริมาณแบตเตอรี่ของเครื่อง (คุ้นๆ ไหมครับ?)
ด้านล่างของเครื่องก็โล่งๆ ไม่มีอะไร
เทียบกับ HP Folio 13 ถือว่า XPS 13 (9343) เล็กกว่าพอสมควร
เทียบกับ XPS 13 (9333) ครับ สังเกตได้ว่ารุ่นก่อนหน้าจะมีความโค้งเว้ามากกว่า
สรุป
จากการลองจับ (และลองเล่น) โดยส่วนตัวผมมองว่า Dell XPS 13 ถือว่าทำผลงานออกมาได้อย่างน่าประทับใจ โดยเฉพาะเรื่องของการออกแบบ เมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมค่าย (แต่ต่างสาย) อย่าง Latitude 7250 ถือว่าทำออกมาได้ดีในจุดนี้ รวมถึงแป้นพิมพ์ที่ใช้แบบมาตรฐาน ไม่มีการดัดแปลงอะไรจนพิสดารแบบหลายเจ้า
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตและอาจจะทำให้ผู้ใช้หลายคนต้องเปลี่ยนใจ มีอยู่สามจุดหลักๆ
ทั้งหมดนี้มาจากการลองจับเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าราคาไทยอยู่ที่ประมาณ 5-6 หมื่นบาท ส่วนราคาที่ต่างประเทศก็แตกต่างกันไปตามแต่ละที่และภูมิภาคครับ อนึ่ง Dell ประเทศไทยแจ้งว่า XPS 13 รุ่นที่จำหน่ายในไทย จะได้รับการรับประกันแบบถึงที่ (on-site service) นาน 3 ปีครับ
Comments
แต่บัดนี้ => ตั้งแต่บัดนี้
ภุมภาพันธ์ => กุมภาพันธ์
รุ่นนี้จะมีคีย์บอร์ดภาษาไทยมั้ยครับ?
สวยยยย
Ultrabook ถ้าราคาสูงมากก็ไม่ดี ในสเป็คเท่าๆ กัน คนส่วนใหญ่คงเลือกแม็คบุ๊ก (ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น) อยากใช้โปรแกรมบางตัวบนวินโดวส์ก็ซื้อวินโดวส์มาลงเพิ่มทางบู๊ตแคมป์เอา
เห็นด้วยครับ อย่างน้อยบริการหลังการขายก็ดีกว่าเยอะ (ในประเทศไทย)
สั้นๆ 'ไม่น่าสนใจ'
ต้องการจะ ติเพื่อก่อ หวังว่าหนึ่งเสียงเล็กๆจะไปถึงหูผู้บริหารได้บ้าง
- จากคนที่เคยคลั่งไคล้ Dell สุดๆ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นแฟนคลับ MSI แทน (เครื่องล่าสุดซื้อมาเกือบแสน - GS60 + SSD256GBx2 - ไม่ได้บ้าเกมส์ แต่ซื้อเพราะบ้าเทคโนโลยี)
น่าจะเพิ่มรายละเอียดด้วยนะครับ ว่าเพราะอะไรถึงคิดว่าไม่น่าสนใจ อะไรทำให้เบื่อจนถึงขั้นต้องย้าย
สมัยก่อน (ปี 2002-3) ผมเริ่มงานที่แรกด้วยความประทับใจกับ Dell ด้วยรูปลักษณ์ และ On-site Service มีปัญหาอะไรเปลี่ยนให้ถึงออฟฟิศและอะไหล่ฟรี ถ้าเราซื้อประกัน (มานั่งนึกดูอีกที ตอนนั้น laptop ธรรมดาๆ ราคาเครื่องละประมาณ 6-7 หมื่นบาท ก็ไม่แปลกอะไรที่จะมี margin มากพอที่จะทำอย่างนั้นได้)
หลังจากนั้นก็ใช้ Dell มาเรื่อยๆ จนได้ไปดูแลบริษัทสาขาเปิดใหม่ที่ประเทศเวียดนามช่วงปี 2006 ก็ยังใช้ Dell อยู่ (สลับกับ Lenovo) จนกลับมาเมืองไทยเมื่อต้นปี 2010 ก็ได้มีโอกาสสัมผัส Consumer Laptop เครื่องแรก (ซื้อเอง) จำได้ว่าเป็น Y560 ก็ประทับใจกับความเร็วเมื่อเทียบกับ Dell ที่บริษัทให้ใช้ และก็เปลี่ยนเป็น MSI GX660 และก็เป็น Lenovo Y470p แล้วก็มาถึงปัจจุบัน MSI GS60 (ยังมี samsung กับ dell consumer มาประปราย อีก 2 เครื่องจำรุ่นไม่ได้แล้ว ตอนนี้ใช้เป็นเครื่อง backup เอาไว้ออกไปลุย)
สรุปว่า หลังจากผ่านประสบการณ์การใช้งาน laptop มาเกิน 20 เครื่อง ผมมีประสบการณ์ ดังนี้ (ประสบการณ์ส่วนตัว)
1) Dell Latitude
ข้อดี - ทน, มีพอร์ตเอาไว้ต่อ Docking
ข้อเสีย - แพง, หลังๆมาออกแบบไม่สวย(ความเห็นส่วนตัว), สเปคต่ำกว่าชาวบ้านในราคาใกล้เคียงกัน(คงเป็นเพราะมันคือ corporate), หาซื้อยาก
2) Lenovo Thinkpad
ข้อดี - ชอบ
ข้อเสีย - แพง
3) Lenovo Ideapad
ข้อดี - แรง เร็ว
ข้อเสีย - กั๊ก spec อยู่บ้าง, ไม่ทน, บางรุ่นออกแบบมาแล้วเครื่องร้อนเกินไปทำให้การ์ดจอพังง่าย (Y470p โดนมาแล้ว)
4) MSI Gaming Series
ข้อดี - แรง, เร็ว, ไม่กั๊ก spec, ถูกกว่ายี่ห้ออื่นๆ, สวยดูพรีเมี่ยม(GS series)
ข้อเสีย - series อื่นๆ ออกแบบไม่สวย ใหญ่เทอะทะ, วัสดุไม่ทนเท่าที่ควร
5) Macbook pro retina 13" late 2013
ข้อดี - มันคือ osx
ข้อเสีย - มันคือ osx
ยี่ห้ออื่นไม่ขอออกความเห็นครับ
ปล.ตอนนี้ไม่ได้ทำงานประจำครับ งานปัจจุบันของผมเกี่ยวข้องกับ database จำนวนมากๆ และต้องใช้หลายๆจอในการทำงาน เลยจำเป็นต้องใช้ i7 กับ ssd และ laptop ที่มี matrix display ออกหน้าจอได้หลายจอพร้อมกัน
ปล2. กำลังจะทำโฮมออฟฟิศใหม่ คิดว่าคงเลิกใช้ laptop เร็วๆนี้ เอาเงินไปลง desktop เทพๆ ต่อจอ 6 จอทำงานสะดวกกว่าครับ
ปล3. ยังไงๆก็ต้องใช้คอม 2 เครื่อง เพราะต้อง run Linux กับ Windows คู่กันไปครับ
ทำไมชอบเอารุ่นสูงจนคนทั่วๆเอื้อมไม่ถึงน่าาาา จริงๆ สนใจ i5 8GB คิดว่าโอเค แบบไม่ touchscreen ราคาน่าครบกว่าอีก
หน้าจอ QHD
CPU Core i5, SSD 128GB ราคา 56,990 บาท
CPU Core i7, SSD 256GB ราคา 63,990 บาท
เห็นราคาจากอีกเว็บแล้วซื้อไม่ลงจริงๆ
ใช่เลยครับ ราคาอย่างนี้ขายได้กี่ราย หรือเน้นขายองค์กรอย่างเดียว เฮ้ออออออ
ทาง Dell แจ้งว่าถ้าเอาตัวต่ำเข้ามา มันจะเทียบสเปกกับคู่แข่งแล้วขายไม่ออกน่ะครับ เอาตัวบนๆ ที่มีฐานลูกค้าชัดเจนเข้ามาดีกว่า
ผมกลับมองว่าจุดขายของรุ่นนี้คือเรื่องของการออกแบบและขนาดตัวเครื่องนะครับ ซึ่งสำหรับผมในราคาพอๆกันที่จับต้องได้(เฉลี่ยที่ประมาณ 30,000 - 40,000 บาท) ผมก็ยินดีที่จะซื้อ Dell ถึงแม้ว่าสเปคจะต่ำกว่าบ้าง แต่ยังไงคอมสมัยนี้สำหรับผมผมว่ามันมีประสิทธิภาพเหลือๆอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้เอาไปเทียบ Benchmark กันและอีกอย่างถ้าสนใจเรื่องประสิทธิภาพจริงก็คงไม่ซื้อ Ultrabook น่ะครับ
เมื่อตอนที่ผมไปอเมริกาก็เคยต้องเลือกระหว่าง Asus Zenbook กับ Dell XPS 13 (ตัวเก่านะครับ) แต่ก็ตัดสินใจซื้อ Dell XPS 13 ที่ถึงสเปคจะต่ำกว่า Asus แต่การออกแบบถูกใจกว่า ที่สำคัญราคาที่นู่น $899 เหรียญนะครับ ถ้ามาที่นี่คงต้องจำใจซื้อ Asus เพราะราคาต่างกันมากจริงๆ
จริงและเห็นด้วยครับ ที่ ต่างประเทศมี spec ให้เลือกหลากหลาย แต่ไทยชอบ dell นะ แต่ราคานี้คงมองเจ้าอื่น ขอบคุณครับ
ราคาโหดกว่า Surface อีก T_T
เอามาเฉพาะรุ่นแพง ทำยังกับไม่อยากขาย :(
Pitawat's Blog :: บล็อกผมเองครับ
Dell น่าจะใส่ Early Mid Late 20xx ในการแยกรุ่นเหมือน Apple ไปเลยนะ จะได้จำง่ายๆ