ช่วงปีที่ผ่านมา เราได้เห็นบรรดาบริษัทไอทีหลายเจ้าเริ่มหันมาทำอุปกรณ์ไอทีแบบสวมใส่ได้ โดยเฉพาะในรูปแบบของสายรัดข้อมือที่ดูเหมือนจะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนทางบล็อกนันเพิ่งได้สายรัดข้อมือรุ่นใหม่ของ Garmin อย่าง vívosmart มาลองทดสอบใช้งานครับ
vívosmart เป็นซีรีส์ใหม่ของสายรัดข้อมือจาก Garmin ที่อัพเกรดตัวเองจากสายรัดข้อมือฟิตเนส (ซีรีส์ vívofit) ให้เข้าใกล้ความเป็นสมาร์ทวอทช์มากขึ้น ทั้งหน้าจอ OLED โค้งสำหรับแสดงข้อมูล บอกเวลา ฟีเจอร์แสดงผลการแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟน และแม้ว่าจะใช้งานได้สั้นลงต่อการชาร์จหนึ่งครั้งจากรุ่นก่อนที่ทำได้เป็นปีๆ เหลือราวหนึ่งสัปดาห์ แต่ก็ยังสามารถกันน้ำได้ลึกราว 5 เมตร เอาไปว่ายน้ำ หรืออาบน้ำได้สบายๆ ใส่ได้ตลอดเวลา
เกริ่นมาพอสมควรแล้วก็มาดูหน้าตาของเจ้า vívosmart กันเลยครับ
ฮาร์ดแวร์
หน้าตาพื้นฐานของ vívosmart จะเป็นสายรัดข้อมือมนๆ วัสดุทั้งชิ้นเป็นยางที่จะแข็ง และหนาหน่อยตรงบริเวณหน้าจอ ส่วนตรงสายรัดจะนุ่มกว่าพอสมควร (แต่ก็ยังรู้สึกแข็งๆ อยู่ดี)
การใช้งานครั้งแรกจะต้องไปเชื่อมต่อกับแอพสมาร์ทโฟน Garmin Connect Mobile เพื่อให้สามารถดึงข้อมูลจากตัว vívosmart มาดูได้ง่ายขึ้น วิธีการเชื่อมต่อเดี๋ยวจะมาพูดกันทีหลังครับ
พลิกมาด้านข้างสายจะเห็นตัวล็อก กับโลโก้ Garmin อยู่ ซึ่งตัวโลโก้นี้จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถตั้งค่าหน้าจอได้ง่ายขึ้น โดยพื้นฐานแล้วก็ควรจะให้โลโก้ไม่กลับหัวครับ
พอล็อกเรียบร้อยแล้วจะได้หน้าตาประมาณนี้ครับ ค่อนข้างใหญ่พอสมควรแม้ว่าจะล็อกในขนาดเกือบสุดสายแล้วก็ตาม
พลิกไปดูด้านหลังหน้าจอจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ แถบ QR Code สำหรับสแกนโหลดแอพ Garmin Connect Mobile และปุ่มโลหะสี่ชิ้นด้านขวาสุดสำหรับชาร์จแบตเตอรี่
หน้าตาของที่ชาร์จแบตเตอรี่จะเป็นที่หนีบขนาดเท่าๆ กับตัวสายรัด โดยมีจุดสัมผัสในตำแหน่งเดียวกันครับ
การหนีบสายรัดเพื่อชาร์จนั้นทำได้ง่ายมาก ไม่ต้องเล็งเพราะที่หนีบทำมาโค้งรับกับสาย ลงล็อกได้ด้วยตัวมันเอง
พอใส่สายรัดไปที่ข้อมือจะได้หน้าตาประมาณนี้ครับ
วิธีการเชื่อมต่อกับแอพเพื่อใช้งานครั้งแรก
สำหรับการใช้งานครั้งแรกจะต้องให้เจ้าสายรัดกับแอพนั้นรู้จักกันเสียก่อน วิธีการเชื่อมต่อแบบทางการนั้นทำมาเป็นไกด์สั้นๆ เกือบยี่สิบขั้นตอน สำหรับใครที่อยากได้แบบกระชับกว่า เรามีรูปประกอบเล็กๆ น้อยๆ ด้วยครับ
การเริ่มต้นเชื่อมต่อจะทำที่ฝั่งสมาร์ทโฟนเสียก่อน เริ่มด้วยการเปิดบลูทูธที่ตัวสมาร์ทโฟน และเปิดแอพ Garmin Connect Mobile ขึ้นมา กดด้านซ้ายบนสุดเพื่อเข้าแถบเมนู เลือก Devices แล้วจะมาโผล่ที่หน้านี้ครับ (อันนี้คือเชื่อมต่อไปเรียบร้อยแล้ว)
ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเพิ่มเจ้า vívosmart ลงไปในแอพ ทำโดยกดปุ่ม + ที่มุมขวาบนเกือบสุด เลือกไปที่ Health & Fitness และ vívosmart หลังจากนั้นตัวแอพจะให้ใส่ข้อมูลสุขภาพผู้ใช้ และเริ่มถามหาตัวสายรัดข้อมือครับ
ทีนี้เราก็จะต้องมาเปิดบลูทูธของเจ้าสายรัดข้อมือบ้าง เริ่มต้นด้วยการกดค้างที่หน้าจอเพื่อเข้าสู่หน้าเมนู โดยจะแสดงผลดังภาพด้านบนครับ (อาจต้องเลื่อนซ้ายเลื่อนขวานิดหน่อย) กดเข้าไปที่สัญลักษณ์บลูทูธ และกดปุ่ม ON เพื่อเปิดการใช้งาน
หลังจากนั้นย้อนกลับมาที่ตัวแอพ จะเห็นว่าแอพค้นหาสายรัดข้อมือเจอแล้ว ทีนี้เรากด Pair และ OK อีกทีจะมีโค้ดขึ้นมาที่หน้าจอสายรัดข้อมือ ก็จัดการพิมพ์ลงไปในสมาร์ทโฟนก็เป็นอันเรียบร้อย
ครั้งหน้าเกิดบลูทูธหลุดไป ก็สามารถเข้าไปที่หน้าบลูทูธของสมาร์ทโฟน และกด Pair กับสายรัดข้อมือครั้งเดียวก็จะต่อกลับมาได้ทันทีครับ ส่วนเครื่องที่ใช้งานกับ vívosmart ได้นั้น ฝั่ง iOS เริ่มต้นที่ iPhone 4s ขึ้นไป, iPad 3 ขึ้นไป, iPad mini ทุกรุ่น และ iPod Touch รุ่นที่ 5 ครับ ส่วนแอนดรอยด์ตรวจสอบกันได้ที่นี่ แต่โดยมากแล้วรุ่นที่รัน Android 4.3 ควรจะใช้งานได้ ถ้าหากว่ารองรับบลูทูธ 4.0 ครับ
ประสบการณ์ใช้งาน vívosmart
การใช้งานหลักๆ ของ vívosmart ตามฟีเจอร์แล้วหลักๆ คือไว้นับก้าวเดิน ติดตามปริมาณแคลอรี่แต่ละวัน แสดงการแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟน ใช้เป็นที่คุมเครื่องเล่นเพลง ติดตามการนอนหลับ รวมถึงสามารถเตือนให้เราขยับตัวในกรณีที่อยู่นิ่งๆ นานเกินไป ซึ่งแต่ละฟีเจอร์ทำงานได้ประมาณนี้ครับ
ฟีเจอร์แรกสุด นับก้าวเดิน ฟีเจอร์พื้นฐานที่ทำงานได้ค่อนข้างแม่นยำเมื่อเดิน หรือวิ่งจริงๆ แต่มีนับพลาดบ้างเมื่อใส่อยู่ในมือข้างถนัด เช่นนับก้าวเพิ่มตอนที่พิมพ์บนคีย์บอร์ด เป็นต้น ทางแก้ที่ดีคือเอาไปใส่ในข้างที่ไม่ถนัดครับ จะได้ขยับข้อมือน้อย (แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นอยู่ดีแฮะ)
สำหรับการนับก้าวนั้นจะมีเป้าหมายในแต่ละวันให้ด้วย โดยจะปรับลด-เพิ่มตามจำนวนก้าวที่เราทำได้ในวันก่อนๆ เมื่อเดินถึงเป้าจะมีการแจ้งเตือนเป็นพลุไฟบนหน้าจอขึ้นมา
อนึ่งผู้ใช้สามารถไปดูรายละเอียดของก้าวเดินในแต่ละวันย้อนหลังได้จากตัวแอพอีกด้วย สามารถปรับได้ละเอียดสุดตั้งแต่ระดับวันไปจนถึงระดับปีเลยทีเดียว
ฟีเจอร์ต่อมา นับแคลอรี่ จะเป็นการบวกระหว่างของที่กินเข้าไป (เพิ่มเองผ่านแอพ) และจากจำนวนการออกกำลังกายในแต่ละวัน ตรงนี้ยังค่อนข้างใช้งานได้ดีเอาเรื่องในประเทศไทย เนื่องจากฐานข้อมูล MyFitnessPal ที่ Garmin ใช้งานนั้นมีรายละเอียดของกินในประเทศไทยพอสมควร และสามารถใช้การถ่ายบาร์โค้ดเพื่อเพิ่มได้ด้วย แต่ต้องมีบัญชีของ MyFitnessPal ด้วยนะ
การแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟนบนสายรัดข้อมือนั้นถือว่าใช้งานได้ตามที่โฆษณามา โดยเฉพาะกับสายเรียกเข้า แต่จะมีปัญหาเมื่อการแจ้งเตือนที่แสดงผลนั้นไม่มีภาษาอังกฤษ หรือยาวเกินไป เนื่องจากสามารถแสดงผลได้เพียงสองบรรทัดเท่านั้น และไม่รองรับภาษาไทยอีกด้วย (เห็นเป็น ????)
การใช้งานเป็นเครื่องควบคุมเพลงนั้นทำได้ตรงไปตรงมา ก่อนอื่นต้องไปตั้งค่าในแอพเสียก่อน ว่าจะให้ใช้งานร่วมกับแอพตัวไหน (เท่าที่ทดสอบ ใช้ได้กับแอพเล่นเพลงทุกตัว) เมื่อกดเล่นที่ปุ่มซ้ายสุด จะเป็นการเริ่มเล่นเพลงทันที กดปุ่มเดิมอีกทีเพื่อหยุดครับ นอกนั้นทำงานได้ในระดับมาตรฐานครับ
ฟีเจอร์ต่อมาอย่างการเก็บเวลาการนอนหลับนั้น เริ่มใช้ด้วยการกดค้างที่หน้าจอ และเลือกเมนูรูปพระจันทร์ หลังจากนั้นตัวสายจะให้ยืนยันว่าจะนอนหลับแล้วจริงๆ นะ กดตกลงเพื่อเป็นการยืนยันไป
เมื่อตื่นแล้ว ตัวสายจะให้กดที่หน้าจออีกทีเพื่อยืนยัน และส่งข้อมูลไปยังแอพ ที่จะแสดงผลออกมาเป็นหน้าตาแบบนี้ครับ
จากภาพก็จะเห็นว่าการเก็บข้อมูลไม่ได้ละเอียดนัก มีเพียงจับการเคลื่อนไหว และนับเวลารวมๆ เท่านั้นเอง (สามารถสั่นเบาๆ เพื่อปลุกได้ด้วย)
ฟีเจอร์หลักสุดท้ายอย่างการนับเวลาที่เดินนั้น นอกจากจะนับเวลาแล้ว เมื่อเราหยุดนิ่งนานๆ แอพจะขึ้นคำว่า Move! เพื่อบอกให้เราขยับตัวอีกครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ออกกำลังกายอีกด้วย แต่เท่าที่ใช้งานมา ยังไม่เคยทำตามที่แนะนำได้เลยครับ :D
ส่วนฟีเจอร์อื่นๆ ที่เหลือจะเป็นแนวช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้ออกกำลังกาย อย่างเช่นการแสดงคอร์สการออกกำลังกายในสถานที่ใกล้เคียง เป็นต้น และยังมีฟีเจอร์พื้นฐานอย่างนาฬิกาจับเวลามาให้ด้วย
หลังจากใช้งานเจ้า vívosmart มาพักใหญ่ๆ ก็พบว่ายังไม่ใช่อุปกรณ์สำหรับคนที่ออกกำลังกายหนักๆ แต่เป็นอุปกรณ์ให้คนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย ได้ติดตามการออกกำลังของตัวเอง และอยากได้อะไรมากระตุ้นการออกกำลังกายเพิ่มเติม ซึ่งตรงนี้ vívosmart ทำผลงานได้ค่อนข้างดีทีเดียว
จุดที่น่าติของ vívosmart คือตัวสายค่อนข้างหนา และแข็งไปหน่อย สำหรับคนที่ทำงานออฟฟิศ ต้องนั่งบนโต๊ะพิมพ์งาน สายจะเกยกับขอบโต๊ะ หรือขอบคีย์บอร์ดแทน (ยังไม่รวมที่นับก้าวช่วงทำงานพลาดด้วย) รวมถึงราคา 6,590 บาท เรียกได้ว่าแพงเอาเรื่องเหมือนกันครับ
Comments
เดี่ยว => เดี๋ยว
สมาร์มโฟน => สมาร์ทโฟน
ออฟฟิซ => ออฟฟิศ
มีคนบอกว่าใช้กลางแดดไม่ได้??!!
เปิดแสงสว่างสุดแล้วพออ่านได้นะ (แต่ต้องเพ่งหน่อย)
มันจะดับไหม ถ้าโดนแสง Xenon จากต้องถ่ายรูป
ผมใช้มาได้สามเดือน ผมชอบนะ แต่มันพังง่ายมาก ไม่รู้เพราะอะไรทำไมชาร์จแล้วถึงจอ OLED จะเริ่มพัง (มีจ้ำดำ ๆ ขึ้นมาบังจอ OLED)
@TonsTweetings
ผมว่าราคาขนาดนี้ ใช้ Smart Band รุ่นแรกของ Sony ดีกว่า
ด้วยราคาที่ถูก แต่ทำได้ค่อนข้างครอบคลุมสิ่งที่ Vivo smart ทำได้ เช่น
นับก้าว, วิ่ง , นอน , calories burn
Notification จาก โทรศัพท์, สั่นปลุก
ควบคุม เพลง, กล้อง ได้
แหม ใช้กับ vivo smartphone คงเก๋อ่ะ