ก่อนอื่นขออภัยเป็นอย่างสูงที่วิดีโองาน Tech Trend Thailand เมื่อปลายปีที่แล้วล่าช้าไปมาก วันนี้วิดีโอเสร็จเรียบร้อยแล้ว (อยู่ใน YouTube Tech Trend Thailand) เราจะทยอยโพสต์เนื้อหาจากแต่ละช่วงนะครับ
วิดีโอแรกที่มานำเสนอวันนี้คือการบรรยายหัวข้อ Wearable Computing: Fad or For Real เป็นการพยายามตอบคำถามที่หลายคนสงสัยเวลาอ่านข่าวเกี่ยวกับ wearable computing ที่มาแรงมากๆ ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า ตกลงแล้วมันใช้งานได้จริงแค่ไหน
คนที่เราเชิญมาตอบคำถามนี้คือ พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือคุณหมอผิง จากโรงพยาบาลสมิติเวช นอกจากมีผลงานหนังสือตีพิมพ์หลายเล่มแล้ว คุณหมอผิงเป็นหมอที่ใกล้ชิดกับวงการเทคโนโลยีอย่างมาก มีผู้ติดตามกว่า 1 แสนรายในทวิตเตอร์ @thidakarn
ตัวคุณหมอเองก็ใช้อุปกรณ์ wearable หลายอย่างเป็นประจำอยู่แล้ว สามารถให้ความเห็นในฐานะแพทย์ได้ว่าแพทย์มองอุปกรณ์เหล่านี้อย่างไร และอยากเห็นอะไรจากนักพัฒนาแอพที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เหล่านี้
คุณหมอเริ่มจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ลงแข่งวิ่งระยะไกล แล้วเจอคนฟุบลงไปต่อหน้าเพราะเป็นโรคหัวใจ ทำให้ต้องปฐมพยาบาลและปั๊มหัวใจจนช่วยชีวิตได้สำเร็จ เมื่อเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนหมอฟัง ก็ได้ความเห็นประมาณว่า "โชคดีนะที่เขาล้มลงตรงหน้าหมอ"
คุณหมอเลยตั้งคำถามว่าการที่คนเราจะมีชีวิตรอดได้นั้นเป็นเพราะแค่โชคอย่างเดียวหรือ ถ้าเรามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยชีวิตคน โดยแจ้งเตือนอาการแบบฉับพลันลักษณะนี้ไปยังหน่วยกู้ชีพจะเป็นไปได้แค่ไหน
โรงพยาบาลสมิติเวชเองก็เห็นแนวโน้มของเทคโนโลยีนี้ เลยมีโครงการนำร่องทดสอบอุปกรณ์ wearable กับแพทย์ในสังกัดก่อน ใช้วิธีแบ่งทีมเพื่อเก็บคะแนนการนับก้าวเดิน และการบริโภคอาหาร ผลจากการทดสอบก็พบว่ามีคนกลุ่มที่เข้าใจและใช้งานได้ทันที กับกลุ่มที่ทดลองใช้อยู่ไม่กี่วันแล้ววางทิ้งไว้ ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ของผู้ผลิตอุปกรณ์ลักษณะนี้ที่จะต้องหาวิธีจูงใจให้คนใช้งานได้ต่อเนื่อง
ในแง่ของความแม่นยำในการวัดค่าสถิติของอุปกรณ์ fitness tracker งานวิจัยของต่างประเทศพบว่ายังไม่ค่อยแม่นยำนัก โดยมักจะวัดอัตราการเผาผลาญแคลอรีเกินจริง ซึ่งในมุมมองของแพทย์แล้วยังถือว่าไม่แม่นยำพอ
โดยสรุปแล้ว อุปกรณ์ wearable ยังถือว่าใหม่มากสำหรับวงการการแพทย์ ซึ่งก็คงต้องอาศัยเวลาทดสอบอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม มีอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจและน่าจับตา เช่น คอนแทคเลนส์วัดระดับน้ำตาลในเลือดของกูเกิล หรืออุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ (vital sign monitoring) เป็นต้น
สไลด์นำเสนอของหมอธิดากานต์
Comments
ไม่ค่อยเห็นประโยชน์ของ wearable ต่อทางการแพทย์ แต่กลับกลายคิดว่า ทางการแพทย์จะได้รับผลกระทบจากการใช้ google ช่วยดูแลสุภาพแทนหมอสะอีก :p
แต่อย่างน้อยก็มีรพ.หนึ่งในกทม.กำลังจะเอาไปใช้กับคนไข้นะครับ
หมอน่ารัก.. เรื่องความแม่นยำคงลำบาก แต่น่าจะเป็นแรงจูงใจมากกว่า แต่แข่งกันแล้วถ้าไม่แม่นยำก็ไม่ค่อยอยากแข่งเท่าไหร่
แม่ผมเป็นพาร์กินสัน ปีก่อนเห็นภาพหลอน(อาการของโรค) สืบไปสืบมาพบว่าก่อนเกิดอาการมีทั้งเพิ่มตัวยาใหม่และนอนไม่หลับมาหลายคืน พอบรรเทาจากอาการผมซืัอ Sleep tracker รัดข้อมือให้แกแล้วก็ดูข้อมือทุกวัน ถ้าวันไหนพบว่านอนน้อย ก็ให้นอนกลางวันชดเชยแทน ช่วยได้มากนะครับ
+1 เป็นเคสที่น่าสนใจมากครับ
เคยอ่านเจอว่า US FDA กำลังจะควบคุมอุปกรณ์ Gadget พวกนี้เป็นอุปกรณ์การแพทย์ เพราะมีปัญหาเรื่องความไม่แม่นยำนี่แหละ ...