ถึงแม้ว่าเครื่องพิมพ์สามมิติเริ่มจะเป็นที่นิยมในการผลิตวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาคือการพิมพ์วัสดุนั้นใช้เวลาค่อนข้างมาก และส่วนใหญ่ยังคงจำกัดวิธีการเป็นการพิมพ์แบบเลเยอร์ซ้อนเลเยอร์เท่านั้น วันนี้มีคนนำเสนอแนวคิดใหม่ของการพิมพ์สามมิติโดยใช้คุณสมบัติบางประการของโพลิเมอร์ในการขึ้นรูป
Joseph DeSimone CEO ของบริษัท Carbon3D ได้กล่าวถึงแนวคิดใหม่ของเครื่องพิมพ์สามมิติในงาน TED Talks ที่ Vancouver โดยเครื่องพิมพ์แบบใหม่นี้จะอาศัยกระบวนการขึ้นรูปเป็นพอลิเมอร์โดยใช้แสง UV (photopolymerization) แทนการพิมพ์วัสดุแบบเลเยอร์ซ้อนเลเยอร์ แต่เนื่องจากออกซิเจนนั้นเป็นตัวที่ไปขัดขวางกระบวนการดังกล่าว ทางทีมงานจึงได้ออกแบบกระบวนการขึ้นรูปใหม่เรียกว่า CLIP (Continuous Liquid Interface Production) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากฉากที่ T-1000 สร้างตัวเองขึ้นมาในหนังเรื่อง Terminator 2
กระบวนการ CLIP โดยคร่าวคือ ตัวเครื่องพิมพ์จะมีอ่างรองรับเรซินซึ่งสามารถขึ้นรูปเป็นพอลิเมอร์ได้ด้วยแสง UV ฐานของเครื่องพิมพ์เป็นแผ่นวัสดุออกแบบพิเศษที่สามารถให้แสง UV และก๊าซออกซิเจนผ่านเข้ามาได้ เรียกว่า oxygen permeable window (เป็นวัสดุลักษณะเดียวกับคอนแทคเลนส์) ข้างใต้จะเป็นแหล่งกำเนิดแสง UV ส่วนวัสดุที่ทำการขึ้นรูปจะเกาะติดกับฐานพิมพ์ (build platform) ซึ่งจะยกตัวขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการพิมพ์วัสดุ
เมื่อเริ่มพิมพ์ แสง UV จะถูกฉายผ่านแผ่น window ขึ้นไปเพื่อให้เรซินสามารถขึ้นรูปเป็นพอลิเมอร์ได้ ก๊าซออกซิเจนที่ผ่านเข้ามานั้นจะเข้าไปกันไม่ให้เรซินที่ขึ้นรูปนั้นเกาะติดกับแผ่น window โดยจะแผ่เป็นเลเยอร์ที่บางในระดับไมโครเมตร เรียกว่า dead zone พอลิเมอร์ที่ถูกขึ้นรูปนี้จะไปเกาะติดกับฐานพิมพ์แทนซึ่งจะยกตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ วิธีการนี้ทำให้เครื่องพิมพ์สามารถขึ้นรูปวัสดุได้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งพิมพ์เสร็จ
กระบวนการพิมพ์สามมิติแบบใหม่นี้ทำให้เครื่องพิมพ์สามารถพิมพ์วัสดุที่มีโครงสร้างซับซ้อนได้เร็วกว่าเครื่องพิมพ์ทั่วๆ ไป 25 - 100 เท่า และหากพัฒนาให้สามารถจัดการกับความร้อนในระหว่างกระบวนการผลิตได้ก็จะสามารถพิมพ์วัสดุได้เร็วสูงสุดถึง 1,000 เท่า วัสดุที่ได้จากการพิมพ์จะมีความต่อเนื่องกัน คือจะไม่ได้มีลักษณะเป็นชั้นๆ เหมือนกับกระบวนการพิมพ์แบบก่อน สามารถพิมพ์วัสดุที่มีโครงสร้างซับซ้อนได้ละเอียดในระดับไมโครเมตรได้ นอกจากนี้ ยังสามารถพิมพ์พอลิเมอร์ประเภทอื่นๆ เช่น พอลิเมอร์ที่มีความยืดหยุ่น (elastomers) ได้อีกด้วย
ทาง Joseph มองว่าเครื่องพิมพ์นี้จะเป็น game changer ของวงการการพิมพ์สามมิติ และหวังว่าจะสามารถนำไปใช้ในการสร้างวัสดุในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตชิพ หรือแม้กระทั่งการพิมพ์ภาพฟันสามมิติในระยะเวลาอันสั้น
ที่มา - TED, Re/code, เว็บไซต์ Carbon3D, Science (เปเปอร์ที่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยกระบวนการ CLIP)
ป.ล. ขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ หลายคนที่ช่วยตอบข้อสงสัยเรื่องวัสดุพอลิเมอร์มา ณ ที่นี้ครับ
Comments
เจ๋งมากครับ
ปล. => ป.ล.
เรียบร้อยครับ
โคตรเท่
เจ๋งจริงๆ
ได้แรงบรรดาลใจจาก Terminator 2 หรือลอกเค้ามาอะ ถ้าจำไม่ผิด kickstart เครื่องปริ้นแบบนี้มีนานแล้วนะ
เอ... ที่ว่าอาจจะลอกนี้มีลิ้ง ref มั้ยครับ ถ้าแค่ในหนังเฉยๆจะว่าลอกก็ดูแรงไปหน่อยนะครับ - -"
ผมหาลิ้งไม่เจอเหมือนกัน แต่จำได้ว่าการขึ้นแบบด้วย เรซิ่น + UV แบบนี้ มันมีมาสักพักแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าต่างกันอันนี้แค่ไหนอะครับ
FORM1 3D printer
กลไกโดยรวมเหมือนกันมากครับ ผมว่าจุดที่แตกต่างกันจริงๆ คือแผ่น oxygen permeable window ที่อยู่ข้างใต้นะ เท่าที่ดูใน FORM1 แล้วเหมือนว่ายังต้องอาศัยการดึงเรซินที่แข็งตัวแล้วออกจากฐานรองเพื่อไม่ให้ติดกันอยู่
เท่าที่ดู form1 ต้องดึงวัตถุออกเพื่อให้แข็งตัวแล้วและนำกลับลงไปพิมพ์ใหม่ทำวนซ้ำไปเรื่อยๆ
แต่ CLIP จะเป็นการ พิมพ์ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ วัสุดจะแข็งตัวพอที่จะให้พิมพ์ต่อไปได้ จนเสร็จสิ้นกระบวนการ
สุดยอด
แหม่ แรงบันดาลใจจาก form1 นะซิ
เอาหุ้นเข้าตลาดเมื่อไหร่บอกด้วยนะครับ
นอกจากดีกว่าของเก่าแล้วยังเท่ห์กว่ามากด้วย ^_^
ไม่เข้าใจว่าทำไมมันถึงsmoothกว่าเทคนิคอื่น
การใช้ layer ซ้อน layer ถ้าทำจำนวนชั้นละเอียดมากมันก็ smooth ไม่ใช่เหรอครับ
ผมเข้าใจว่าการขึ้นรูปแบบนี้ เป็นการขึ้นรูปชิ้นเดียวครับ ซึ่งน่าจะSmooth กว่าการขึ้นรูปเป็น Layer หลายๆชั้นแล้วนำมาซ้อนๆกันนะครับ
คงคล้ายๆ ขนมชั้น กับ ขนมโมจิ(ไม่ใช่โมจิของฝากในไทยนะครับ) น่ะครับ
ผมว่าผมเคยเห็นอะไรที่เร็วกว่านี้นะ (นานแล้วด้วย) คือแค่ยิงๆ เลเซอร์กวาดไปทั่วก็ได้โมเดลมาแล้ว สมัยนั้นผมดูแล้วยังอึ้งอยู่เลย
เลยลอง search ดู มันจะประมาณนี้อะครับ
มันจะใช้แบบนั้นจริงเหรอครับ หรือว่าผมมองลึกเกินไป 555+