Tags:
Node Thumbnail

เมื่อวานนี้ ดีแทคเปิดเซสชันพิเศษให้สื่อมวลชนได้เข้าไปร่วมฟัง-คุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ Bill Reichert ที่เป็น Managing Partner จากกลุ่มทุน Garage จากสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียงด้านการลงทุนในบริษัทเกิดใหม่ที่กำลังสร้างตัว (early and seed stage) ซึ่งทาง Reichert ได้มาเป็น mentor ให้กับทีมที่ลงแข่งขัน dtac Accelerate ปีที่สามนี้ด้วย ซึ่งตอนนี้เหลือ 6 ทีมสุดท้ายแล้ว

ในระหว่างสัมภาษณ์มีการพูดคุยกันหลายประเด็น ตั้งแต่ความเป็นมาตัวเอง และกลุ่มทุน มุมมองด้านการลงทุน ตลาดสตาร์ทอัพในภูมิภาคต่างๆ แยกย่อยได้ดังนี้ครับ

กว่าจะมาเป็น Garage

Garage เป็นกลุ่มทุนชื่อดังที่เริ่มต้นโดย Guy Kawasaki ตอนนั้นทางทีมมองหาวิธีเปิดโลกใหม่ให้กับการลงทุน และมองหาธุรกิจสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นศูนย์กลาง เพื่อจะขยายของดีที่มีในซิลิคอนวัลเลย์ให้ได้ไปโชว์ผลงานในระดับโลก โดยตัว Reichert เข้ามาร่วมวงกับ Garage ในปี 1998

ตอนนี้ Garage ลงทุนไปแล้วกว่าร้อยบริษัท ถ้าจะพูดถึงบริษัทที่ประสบความสำเร็จที่สุดคงหนีไม่พ้น Pandora ผู้ให้บริการฟังเพลงออนไลน์ที่ตอนนี้มีมูลค่าบริษัททะลุพันล้านเหรียญไปแล้ว (Reichert เรียกบริษัทที่ทำได้แบบนี้ว่า unicorn) และมีผู้ใช้มากกว่า 250 ล้านคนด้วยกัน

ความเห็นต่อเอเชียกับสตาร์ทอัพ

Reichert บอกว่าตัวเขาเองเดินทางไปดูธุรกิจสตาร์ทอัพมาแล้วหลายประเทศใหญ่ในเอเชีย ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือแม้แต่อินเดีย ภาพรวมแล้วตลาดสตาร์ทอัพเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ด้วยตลาดที่ใหญ่ และมีกำลังซื้อสูง ทว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมของ Garage จะไม่ทำโดยตรง แต่เป็นการทำผ่านพาร์ทเนอร์แต่ละประเทศแทน เช่นเดียวกับที่เข้ามาจับมือกับดีแทคเพื่อเข้าถึงสตาร์ทอัพในประเทศไทย

อะไรที่สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ดี

สำหรับสิ่งที่ทำให้เกิดผู้ประกอบการนั้น Reichert มองว่าเริ่มต้นที่ตัวสังคมก่อน ถ้าหากคนยังมองว่าเป็นผู้ประกอบการแล้วไม่ดีเหมือนกับอาชีพอื่นๆ อย่าง หมอ ทหาร ฯลฯ ครอบครัวก็จะไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุนให้ลูกหลานมาทำสตาร์ทอัพ ซึ่งตรงนี้ประเทศอย่างสหรัฐฯ มองว่าการเป็นผู้ประกอบการนั้นไม่ได้ด้อยกว่าอาชีพอื่นๆ แล้ว

ต่อมาคือระบบที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเติบโตได้ ซึ่งตรงนี้ต้องดูหลายอย่างประกอบ ทั้งตัวรัฐบาลฯ สังคมของผู้ประกอบการ และตลาดในประเทศ เป็นต้น

อะไรที่ทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ

Reichert บอกว่ามีตัวแปรหลากหลายที่ทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จได้ แต่สิ่งที่สำคัญสุดคือการมีข้อได้เปรียบทางธุรกิจ (Unfair Advantage หรือ Competitive Advantage) ที่คู่แข่งในตลาดไม่มีจะช่วยให้บริการ หรือผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นมานั้น ยากที่จะถูกลอกเลียน

เขายกตัวอย่าง Music Genome Project ของ Pandora เป็นตัวอย่างของข้อได้เปรียบนี้ ระบบนี้จะวิเคราะห์เพลง และพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้ใช้ เพื่อแนะนำเพลงที่น่าจะเข้ากับรสนิยมมาให้ การที่ Pandora มาได้ไกลขนาดนี้แปลว่าระบบ Music Genome Project สามารถทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การมีข้อได้เปรียบทางธุรกิจไม่ได้แปลว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป ต้องดูอย่างอื่นประกอบไปด้วย เช่น สภาพความพร้อมของตลาด ณ ขณะนั้น

สตาร์ทอัพเอเชีย สู่ระดับโลก

ตัวเขาเองมองว่าเอเชียนั้นมีศักยภาพที่จะไปสู่ระดับโลกได้เช่นเดียวกับสหรัฐฯ จุดที่ต้องคำนึงถึงนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อเริ่มต้นธุรกิจ ผู้ประกอบการที่มองการณ์ไกลจะไม่คิดแค่การแก้ปัญหาในประเทศ แต่จะคิดวิธีที่จะแก้ปัญหาในระดับโลก และใช้ตลาดในประเทศเป็นเวทีพิสูจน์ว่าวิธีที่คิดมานั้นใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

สิ่งต่อมาคือเรื่องของวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด เมื่อเข้ามาในโลกสตาร์ทอัพแล้วต้องคิดไว และกล้าทำ คนพวกนี้จะสร้างธุรกิจได้ไวกว่า และสำคัญที่สุดสำหรับการไปสู่ระดับโลกคือภาษาอังกฤษต้องใช้งานได้อย่างคล่องแคล่วด้วย

มุมมองต่อประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทยเอง ตลาดสตาร์ทอัพยังอยู่ในช่วงเติบโต จำนวนของคนที่สนใจธุรกิจสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างโครงการ dtac Accelerate ปีนี้ก็มีคนสมัครเพิ่มเป็นเท่าตัว มากกว่า 200 ทีมเข้าไปแล้ว

หน้าที่ของเขาตอนนี้จะโฟกัสไปยังทีมที่ผ่านเข้ามาในรอบเก็บตัว (boot camp) ทั้ง 6 ทีมก่อน ในเบื้องต้น Reichert ก็ชื่นชมทีมที่ผ่านเข้ามาว่ามีความเป็นผู้ประกอบการได้ในระดับเดียวกับประเทศชั้นนำอื่นๆ แล้ว

No Description

Get latest news from Blognone

Comments

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 8 July 2015 - 22:42 #825759
panurat2000's picture

ตั้งแต่ความเป็นมาตัวเอง และกลุ่มทุม

กลุ่มทุม => กลุ่มทุน

การเป็นผู้ประกอบการนั้นไมาได้ด้อยกว่าอาชีพอื่นๆ แล้ว

ไมาได้ด้อย => ไม่ได้ด้อย

มากกว่า 200 ทีมข้าไปแล้ว

ข้าไปแล้ว => เข้าไปแล้ว