เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ในแวดวงไอทีไทยคือ ธนาคารกสิกรไทยแจ้งปิดระบบทั้งหมดนานถึง 2 วันเพื่อปรับปรุงระบบใหม่ทั้งหมด ซึ่งสุดท้ายการปรับปรุงระบบดำเนินไปอย่างราบรื่น และธนาคารสามารถกลับมาให้บริการได้ก่อนกำหนดด้วยซ้ำ
การปิดปรับปรุงระบบครั้งนี้ก็ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะ เพราะธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารใหญ่ ระบบงานมีความซับซ้อนสูง มีลูกค้ามาก การปิดระบบนานขนาดนี้ย่อมส่งผลต่อลูกค้ามาก เราจึงขอสัมภาษณ์ คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ผู้บริหารสายงานระบบของธนาคาร ดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานของธนาคารทั้งหมด เพื่อขอรับทราบข้อมูลของโครงการนี้
ประกาศการปิดปรับปรุงระบบไอทีของธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารกสิกรไทยมีเป้าหมายตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วว่าต้องการปรับปรุงระบบไอทีขนานใหญ่ เพื่อให้ทันสมัย คล่องตัว สามารถบริการลูกค้าได้ดีกว่าเดิม ซึ่งครอบคลุมระบบไอทีทุกส่วน โครงการนี้มีชื่อเรียกภายในว่า Kasikornbank Transformation หรือ KT
ระบบไอทีที่สำคัญที่สุด คือ ระบบไอทีหลักของธนาคาร หรือที่เรียกกันว่า core banking ที่ทำงานพื้นฐานของธนาคารทั้งหมด ตั้งแต่ระบบบัญชีของลูกค้า ฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน ฯลฯ ระบบเดิมใช้งานมานาน 30 ปีแล้ว ยังทำงานได้ดีแต่ขาดความยืดหยุ่น ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีด้านการธนาคารเปลี่ยนไป มีความต้องการใหม่ๆ มากขึ้น ระบบเดิมจึงมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ จนได้เวลาต้องเปลี่ยนแปลง
การปิดระบบในเดือนกรกฎาคมจึงเป็นการเปลี่ยน core banking นั่นเอง เราถอดเปลี่ยนระบบ core banking เก่าออก ใส่ตัวใหม่เข้าไป และเชื่อมระบบ core banking ตัวใหม่เข้ากับระบบเดิมที่รันอยู่แล้ว ในสายตาของลูกค้าอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ในมุมของธนาคารนี่คือการอัพเกรดระบบพื้นฐานทั้งหมด อนาคตเราจะสามารถออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ได้เร็วกว่าเดิมมาก
สิ่งที่ลูกค้ามองเห็นอาจไม่เยอะ แต่ไม่ใช่ไม่มีเลย ตอนนี้ระบบใหม่เรามีสาขาได้ไม่จำกัด การเปิดบัญชีแล้วขอย้ายสาขา ระบบเดิมต้องมีเลขบัญชีใหม่ ระบบใหม่ใช้เลขบัญชีเดิมได้เลย อีกอย่างคือระบบเก่าจะมีหยุดตอนกลางคืนเป็นช่วงๆ ถ้าใครเคยใช้คงรู้ แต่ระบบใหม่ทำงานได้ 24x7 ไม่มีหยุดพัก ประสิทธิภาพของระบบใหม่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะใช้ระบบฐานข้อมูลที่เน้น performance โดยเฉพาะ
ผมเป็น CIO (ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ) มานาน 21 ปี เคยอยู่มาแล้วทั้งตลาดหลักทรัพย์ และธนาคารหลายแห่ง เคยทำโครงการยากๆ มาบ้าง ต้องบอกว่าไม่เคยทำอะไรยากเท่านี้ ระบบซับซ้อนมาก มีระบบย่อยๆ หลายร้อยระบบ มีคนมาเกี่ยวข้องเยอะมาก ช่วงปกติเรามีคนทำงานเป็นพันคน ช่วงย้ายระบบ (cut over) มีคนมาเกี่ยวข้องเป็นหมื่นๆ คน พนักงานทุกสาขาต้องมาเกี่ยวข้องด้วย เพราะต้องช่วยทดสอบระบบให้ผ่าน ผ่านแล้วไม่พอ ต้องใช้งานระบบใหม่ให้เป็นด้วย
โครงการนี้ใช้เงินมหาศาล ตลอดสิบปีที่ผ่านมาใช้เงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท มีเวนเดอร์และพาร์ทเนอร์มาเกี่ยวข้องมากมาย ส่วนไหนที่คนของเราทำไม่ได้ เวนเดอร์ทำไม่ได้ เราต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาช่วยกันทำ ฝรั่งบางคนมาเจอกันในโครงการนี้จนแต่งงานกันก็มี ในบรรดาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่ดึงเข้ามาช่วย ทุกคนก็พูดเหมือนกันว่าซับซ้อนมาก
ต้องบอกว่าโครงการที่ซับซ้อนแบบนี้ เตรียมตัวเท่าไรก็ไม่สามารถเตรียมได้ 100% แน่นอนว่าเราต้องเตรียมตัวมาดี แต่หลายครั้งก็ต้องทำไปแก้กันไป ปรับเปลี่ยนกันไป
โครงการ KT มีอายุนานเกือบ 10 ปีแล้ว แต่มาทำเรื่อง core banking กันช่วงประมาณ 4-5 ปีหลังนี้เอง ระหว่างทางเจอปัญหามาเยอะ แต่สุดท้ายทางธนาคารก็มีการตัดสินใจครั้งสำคัญให้โครงการเดินหน้าต่อ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เราเริ่มเห็นแสงสว่างว่าต้องทำอะไรถึงจะเวิร์ค และก็ทำกันมาเรื่อยๆ อย่างเต็มที่ จนถึงวันเปลี่ยนระบบเมื่อเดือนกรกฎาคม
จากประสบการณ์แล้ว การบริหารโครงการใหญ่ขนาดนี้ จะต้องประเมิน ระหว่างความยากของโครงการ (complexity) เปรียบเทียบกับขีดความสามารถของคนและการจัดการโครงการ (capability) ซึ่งในที่นี้หมายถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะพนักงานของธนาคาร
ถ้าหาก gap ตรงนี้กว้างเกินไป โอกาสที่จะดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องยากมาก ทางออกคือต้องลด complexity ลงมา ควบคู่ไปกับการเพิ่ม capability ของคนและการจัดการ เพื่อปิดช่องว่างนี้ให้ได้ นี้คือสิ่งที่เราทำมาตลอดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
การเพิ่ม capability คือถ้าคนไม่พอต้องหาคนเพิ่ม ถ้าความสามารถไม่พอ ต้องหาผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้ามาช่วย
ส่วนการลด complexity ก็ทำได้หลายทาง ตั้งแต่แบ่งเฟสทำ ลดขนาดโครงการแต่ละส่วนให้เล็กลง ที่สำคัญคือต้องลดชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหว (moving part) ไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป ดังนั้นต้องมีส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นแกนหลักก่อน ยืนยันว่าไม่เปลี่ยนแปลงสเปกแน่นอน ส่วนอื่นๆ ที่สำคัญรองลงไปอาจอนุโลมให้เปลี่ยนแปลงได้ หมุนรอบแกนได้ แต่ถ้าปล่อยให้ทุกส่วนในโครงการไม่อยู่นิ่ง ไม่มีแกน รับรองว่าหาทางจบไม่ได้
คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
จริงๆ 2 วันที่เราเปลี่ยนระบบเป็นแค่ปลายทาง แต่ระยะเตรียมตัวก่อนหน้านั้นยากกว่ากันเยอะ เพราะเราต้องควบคุมการเปลี่ยนแปลงให้ได้ทุกจุด เมื่อถึงระยะเวลาหยุดสเปกให้นิ่ง (frozen zone) เราต้องขอร้องให้หน่วยงานภายในหยุดการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เช่น ห้ามขยายสาขาเพิ่ม ห้ามออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ทุกคนต้องหยุดเพื่อให้เวลาการเปลี่ยนระบบ ตรงนี้ไม่ง่ายเพราะธนาคารเป็นหน่วยงานใหญ่ มีคนมาเกี่ยวข้องเยอะ
นอกจากนั้นแล้วเรายังต้องทำสิ่งสำคัญ 2 ประการคือ ทดสอบ และ ซ้อม ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
การทดสอบคือดูว่าระบบใหม่แข็งแรงแค่ไหน มีคุณภาพแค่ไหน รองรับโหลดปริมาณเยอะๆ ได้หรือไม่ ซึ่งเราต้องทดสอบกันหลายขั้นตอน ทดสอบต่อเชื่อมระบบภายในทีละชิ้น ทดสอบการทำงานเสมือนจริง ให้ผู้ใช้เข้ามาลองทำงานจริงๆ บนระบบใหม่แล้วดูว่าเป็นอย่างไร
พอทดสอบตัวระบบเสร็จ เราต้องซ้อมเอาระบบขึ้น production ซึ่งซับซ้อนมาก มีขั้นตอนที่ต้องทำ 4-5 พันขั้นตอนในช่วงเปลี่ยนระบบ 2 วัน และการซ้อมไม่ใช่ทำแค่ตัวระบบ แต่ต้องบริหารจัดการคนที่เข้ามาซ้อมด้วย เพราะทุกสาขาต้องสแตนด์บายรอเปลี่ยนระบบพร้อมกันหมด
การซ้อมขึ้นระบบช่วยให้กระบวนการทุกอย่างไหลไปได้ เพราะพนักงานทุกสาขาต้องมาฝึกอบรมระบบใหม่ ซ้อมทำให้เป็น เสร็จแล้วต้องสอบด้วยว่าทำได้จริงหรือเปล่า พอสอบได้แล้วต้องซ้อมอีก เพราะในโลกไอที ถึงแม้ตอนซ้อมจะทำได้ แต่ไม่มีใครรู้ว่าวันจริงจะเกิดอะไรขึ้น ทุกคนก็ลุ้นเต็มที่
เราซ้อมทั้งหมด 6 รอบ มีจับเวลาด้วยว่าทำได้เร็วแค่ไหน
การซ้อมรอบแรก ผลออกมาขลุกขลักเป็นปกติ กว่าระบบจะขึ้นได้คือ สี่โมงเย็นของวันอาทิตย์ (ปิดระบบวันศุกร์ เปิดระบบวันอาทิตย์) พอรอบที่สองเร็วขึ้นเป็นบ่ายสองโมง รอบที่สามเร็วขึ้นเป็นสิบเอ็ดโมงเช้า พอรอบที่สี่ เราตั้งเป้าว่าเจ็ดโมงเช้าต้องสำเร็จ เพื่อให้ธนาคารสาขาในห้างสามารถเปิดทำการตอนสิบเอ็ดโมงได้ ซึ่งเราก็ทำได้ รอบที่ห้าซ้อมซ้ำตามแผนเจ็ดโมงอีก
ที่เราต้องประกาศต่อสาธารณะว่าเราจะเปิดให้บริการตอนค่ำวันอาทิตย์ เป็นเพราะว่าต้องเผื่อกรณี worst case ถ้าไม่สำเร็จต้อง rollback กลับไปใช้ระบบเก่า ซึ่งประมาณแล้วจะเสร็จตอนค่ำวันอาทิตย์ แต่ในวันจริงสามารถดำเนินการได้ตามแผน พอถึงเจ็ดโมงเช้า ระบบเริ่มกลับมารันตามปกติแล้ว
การซ้อม 5 ครั้งแรกเป็นการซ้อมในสภาพแวดล้อมจำลอง (mock up) แต่รอบที่ 6 เราเรียกว่าเป็น dress rehearsal เป็นภาษาละครคือซ้อมแสดงกับชุดจริง ฉากจริง นั่นคือการซ้อมขึ้นระบบกับเครื่องจริง เอาระบบขึ้น production เพื่อให้มั่นใจว่าทุกระบบสามารถเชื่อมต่อกันได้ใน production environment จริง การตัดสินใจเลือกวันที่ Go Live ต้องแน่ใจล่วงหน้า 2-3 เดือน และให้คณะกรรมการเป็นผู้ตัดสินใจ
ถึงแม้ซ้อมดีแค่ไหน วันจริงก็ยังมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อยู่ดี ปัญหาที่เราพบเป็นเรื่องพอร์ตของฮาร์ดแวร์ตัวหนึ่งทำงานผิดปกติ ไม่ได้เสียแต่ส่งข้อมูลช้าเกินกว่าที่ควร กว่าเราจะหาสาเหตุเจอและสั่ง disable พอร์ตนั้นก็เสียเวลาไปพอสมควร แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้
ในวันจริงพอทุกอย่างพร้อมแล้ว ได้เวลาตัดสินใจ Go Live เป็นการตัดสินใจร่วมกันทั้งทางฝั่ง Business และ IT แต่เมื่อทุกอย่างเตรียมมาพร้อมขนาดนี้ ผลงานออกมาตามแผน บอร์ดก็ให้ความไว้วางใจเรา
ยังมีอีกเยอะเลย เพราะที่ผ่านมา ระบบไอทีอื่นๆ ต้องหยุดรอ core banking ให้เสร็จก่อน
อันนี้เหมือนกับการปิดถนนทำรถไฟฟ้าแล้วจะบอกว่าการจราจรยังปกติ คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นระบบอื่นต้องหยุดรอดู core banking ก่อน แต่ก็มีบางระบบที่สำคัญมากและสามารถทำขนานไปได้ คือระบบด้าน mobile และระบบที่เกี่ยวกับข้อมูล
พอตอนนี้ core banking เสร็จแล้ว ระบบอื่นก็เดินหน้าเต็มที่
ปัจจุบันพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป เทคโนโลยี mobile เข้ามาทำให้ความคาดหวังของคนเปลี่ยนไปจากเดิม ธนาคารต้องปรับตัวตามความคาดหวังของคนให้ทัน
การโอนเงิน เมื่อก่อนยุ่งยาก ต้องโอนเงินแล้วเอาใบสลิปมาส่งแฟ็กซ์ให้กัน พอมาเป็นยุคนี้ โอนเงินผ่านมือถือ มีไฟล์สลิปให้พร้อม ส่งผ่าน LINE แป๊บเดียวจบ ลูกค้าคาดหวังว่ากระบวนการทั้งหมดต้องเร็วกว่าเดิม ไม่ต้องทำงานหลายขั้นตอน ไม่ต้องไปสาขา มีความสะดวกกว่าเดิม
ตอนนี้ transaction ของ mobile banking เพิ่มสูงมาก ส่วนตัวมองว่าธนาคารยังปรับตัวได้ไม่ทันความคาดหวังของลูกค้าด้วยซ้ำ ตอนนี้แอพธนาคารยังทำได้แค่ความสามารถพื้นฐาน โอน เติม จ่าย ยังไม่สามารถเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของลูกค้าได้มากนัก เราอยากไปให้ไกลกว่านี้ ก็อยากทำให้ดีขึ้น มีหลายอย่างที่เราทดสอบกันอยู่ในแล็บ และหวังว่าจะนำมาใช้ได้ในเร็ววัน
ประเด็นด้าน security ต้องบอกว่า mobile banking ปลอดภัยกว่า online banking ด้วยซ้ำ เพราะเราล็อคกัน 3 ชั้น เป็น 3-factor authentication คือเช็ครหัสผ่านปกติ เช็คตัวเครื่องฮาร์ดแวร์ และเช็ค OTP และตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ผ่านเครือข่ายของ network operator ด้วย ซึ่งถ้าเป็น online หรือเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi จะถือว่าเป็น open network ไม่ปลอดภัยเท่ากับการต่อแบบ cellular
อย่างแรกเลยคือ คัดเลือกคนที่จะเข้ามาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นเวนเดอร์หรือพาร์ทเนอร์ ขอให้เลือกคนที่มีประสบการณ์ เข้าใจสภาพแวดล้อมการทำงานของเรา คุยรู้เรื่อง มี commitment ยอมทุ่มเทเพื่อให้โครงการสำเร็จ การเลือกคนตรงนี้ไม่ง่าย แต่ถ้าเลือกได้ โอกาสสำเร็จจะมีสูงมาก
อย่างที่สองคือการจัดการ ทำอย่างไรเราจะได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ตั้งแต่บอร์ดลงมาจนถึงคนทำงาน จัดการให้ทุกองคาพยพไปในทิศทางเดียวกัน ต้องวางแผนให้ทุกคนทำงานในจังหวะเวลา (timing) เดียวกัน นอกจากนี้ต้องสนใจเรื่องการวางตัวคน ต้องรู้ว่าช่วงไหนของโครงการต้องการคนแบบไหน ถ้าทำแล้วติดปัญหา จะต้องเอาใครเข้ามาช่วยแก้
อย่างที่สามคือการควบคุม moving part อย่างที่กล่าวไปแล้ว อย่าปล่อยให้มี moving part เยอะจนคุมไม่ได้ แน่นอนว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกจุด ถ้าเจอ defect ในระบบก็ต้องเลือกว่าอันไหนแก้ อันไหนปล่อย เพราะการแก้ defect จะมีผลกระทบ (side effect) เสมอ ทำไม่ดีแล้วจะไปกระทบส่วนอื่น กลายเป็นว่าไม่มีทางจบสักที
อย่างสุดท้ายคือโครงการที่ยาวนานแบบนี้มีความเครียดสะสม ช่วงที่ทำไปแล้วไม่เห็นแสงสว่างว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่ มีคนอยากออกจากโครงการเยอะ อารมณ์คือไม่ทำแล้ว ไม่เอาแล้ว แต่ในช่วงที่ทำไปแล้วเริ่มเห็นเป้าหมาย เหมือนเราเดินป่าแล้วหลงทาง รู้ว่าอีกสิบกิโลถึงถนนแน่นอน ต่อให้เดินไกลแค่ไหนก็ไม่บ่นแล้ว ทุกคนทุ่มเทแม้ว่าเนื้องานจะหนักที่สุด ดังนั้นต้องพยายามให้ทีมงานทุกคนเห็นอนาคตว่าจะไปทางไหน และให้ทุกคนรู้ว่าเป็นคนสำคัญที่จะช่วยให้โครงการประสบความสำเร็จ
โครงการนี้ใหญ่และซับซ้อนมาก แต่เราก็ทำได้สำเร็จ คนที่อยู่ในโครงการนี้ทุกคนคงมีความภาคภูมิใจ ผมก็ขอขอบคุณทุกคนที่ทุ่มเทกันแบบสุดหัวใจ เพราะถ้าเราไม่ร่วมมือกัน ในองค์กรยังมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย คงไม่มีทางเสร็จตามเวลา ก็ขอขอบคุณในความเสียสละ ความมุ่งมั่น ความตั้งใจ ขอบคุณมากๆ ครับ
Comments
ดีเลยครับ ถ้าจะให้ดีผมว่าช่วย Update Meta encoding ของหน้า K-Biz ให้หน่อยก็จะดีมากเลยครับ
Q: อยากฝากอะไรถึงคนที่วิจารณ์เว็บธนาคารใหม่บ้าง
A: ตอนนี้เรารู้จักกันแล้ว คุยกันก่อนได้นะ
5555
มันแจ่มตรงนี้
คนขี้ลืม | คนบ้าเกม | คนเหงาๆ
เขียนสนุกมากครับ
มนต์รัก KT #ห้ะ
Dream high, work hard.
โอนเงิน 22.00 - 22.30 ยังโดนจัดเป็น Scheduled transaction อยู่เลย
+1
ดีมากเลยครับ บทความนี้
อยากให้ลงลึกเรื่อง ระบบ infrastructure, coding สักหน่อยครับ
คิดว่าที่ลงลึกมากไม่ได้เพราะส่วนหนึ่งเป็นความลับบริษัทด้วยครับ
Cobol จะยังเหลืออยู่ไหม?
ขอขอบคุณธนาคารกสิกรไทยเป็นอย่างมาก ที่กรุณาให้ความรู้เรื่องการอัพเกรดระบบขนาดใหญ่ในด้าน Core Banking เป็นอย่างดี ในเรื่องนี้ต้องยกเครดิตและความภาคภูมิใจให้แก่ผู้บริหาร ทีมงาน ที่ร่วมกันทำงานเสียสละ ประสานพลังทำผลงานได้ราบรื่น โดยที่ผู้ใช้ไม่ได้รู้สึกถึงผลกระทบด้านปัญหามากมาย ทำให้ผู้ใช้บริการมีความรู้สึกถึงการทุ่มเทของธนาคารที่ต้องการให้เกิดความคล่องตัวของลูกค้ามากขึ้น ลูกค้ารู้สึกดีต่อธนาคาร
และด้วยความที่เป็นลูกค้ามาเกือบสิบปี ตั้งแต่ในช่วงที่เริ่มมี Kcyber Banking ... ยังมีความรู้สึกหงุดหงิดใจบ่อยครั้งที่ยังได้รับประสบการณ์การใช้งานจาก User Interface ของตัวเว็บธนาคารเองที่ออกแบบได้อย่างไม่ลงตัวอย่างมาก (แต่ Core Banking ดีแล้ว สัมผัสได้ถึงระบบเบื้องหลัง) ในหลายๆ เรื่องซึ่งก็รอหลายเดือนตั้งแต่มีการให้แสดงความเห็นในหน้านี้ https://www.blognone.com/node/65856 ที่ผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์ด้านการออกแบบเว็บไซต์หลายท่านหรือ End User ทั่วไป อุตส่าห์พิมพ์ความเห็นที่กลั่นกรองมาจากความรู้สึกและประสบการณ์ทั้งบนคอมพิวเตอร์ หรือหน้าจอมือถือเพื่อจะช่วยแนะแนวทางและความเห็นที่มีคุณค่ายิ่ง แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น ทำให้ผู้ใช้คนนี้ตระหนักว่าธนาคารอาจจะยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลง "ขนาดใหญ่" ที่มีความลงตัวอย่างแท้จริงและเป็นแบบ "มืออาชีพ" ที่มีการจ้างการออกแบบจากบริษัทชั้นนำโดยเฉพาะสำหรับเรื่องนี้ ที่ทำให้ผู้ใช้ทั่วไปรู้สึกว่าคุ้มค่ากับเวลาและทรัพยากรที่ "เสียไป" กับ "การเปลี่ยนแปลง"
ถ้าหากบริษัทตัดสินใจยกเครื่องเรื่องการ Design User Interface ทุกผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า เพื่อให้มีการใช้งานที่คล่องตัว ผสานการทำงานกัน ใช้งานง่าย เรียบง่าย เป็นสากล ไม่อิงกับวัฒนธรรมการใช้งานเก่ามากเกินไป (เข้าใจอยู่เรื่องลูกค้าเก่าแก่ แต่กาลเวลาผ่านเข้ามา ก็ต้องมีการเปลี่ยนผ่านที่พัฒนาขึ้น ซึ่งถ้ามีการเตรียมการออกแบบอย่างดี คาดว่าลูกค้าเก่า พฤติกรรมเก่า วัฒนธรรมเก่าๆ คงยอมรับและปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามแนวความคิดที่เป็นสากล) คงเป็นเรื่องที่ดี และน่าตื่นเต้นมากๆ
ลูกค้าคนนี้มีความรู้สึกว่าธนาคารมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาและลดปัญหาด้านนี้ได้มากกว่านี้ แต่เพราะเนื่องจากลูกค้ายังไม่ได้เห็นปัญหาทั้งหมดจากอุปสรรค บุคลากร เทคนิค หรือแม้แต่แนวความคิดด้านการบริหาร จึงไม่อาจทราบอุปสรรคที่แท้จริงที่มีต่อการพัฒนาเรื่องการออกแบบนี้ได้ ลูกค้าทั่วไปจึงทำได้เพียงแค่เสนอความคิดเห็นตามที่ได้รับประสบการณ์การใช้งานเท่านั้นเอง
"ลูกค้าคนนี้อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบยกเครื่องใหม่ระดับ WOW แบบที่ทำงานผสานกันกับ Core Banking จริงๆ และมีการพูดถึงสามารถนำไปเป็น Case Study ให้พูดถึงการออกแบบในบริษัทอื่นๆได้ ... ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจอย่างมาก ขอบพระคุณ"
hashtag #minimalism #modern #professional #harmony #responsive_web_design #end_user #impressive
10ปี 3หมื่นล้านบาท ปีละ3000ล้าน
ในเมื่อทุกอย่าง online หมดแล้ว ยังไงธนาคารต้องมี Communication Network ไม่เหมือนเมื่อก่อนต้องใช้สายโทรทางไกล
มุมมองในผู้ใช้บริการ การฝากถอนต่างสาขา-ต่างจังหวัด ขอไม่เก็บค่าธรรมเนียมก็น่าจะดีมาก ไม่เฉพาะกสิกรไทยแต่เป็นทุกแบงค์ (แต่โอนผ่าน App กสิกรไทยก็ไม่คิดค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว)
เพิ่มอีกเรื่องคือเวลามีปัญหากับบัญชีทีไร ทำไมจะต้องให้ไปติดต่อกับสาขาที่เปิดบัญชีธนาคารเดียวกันน่าจะมีระบบจัดการที่ดีกว่านี้นะ
+1 คือน่าจะตัดสาขาที่เปิดบัญชีออกไปเลย ให้เป็นว่า "บัญชีของธนาคารกสิกร" มีค่าเท่ากันทุกสาขาอะไรแบบนี้
เมื่อก่อนคือใช้ AS400 ใช่ไหมครับ
รู้สึกว่ากสิกรใช้ IBM z นะครับ
นอนเป็นศพอยู่ในเหตุการณ์ แต่อิ่มสุดๆวัน go live ของกินเพียบ!!
ยินดีด้วยครับ ทำไมตอนผม go live ระบบนึงของธนาคาร ผมต้องหิ้วของ 7-11 ไปตุนเอง orz
ว้าว ทีมงานมาเองเลย
ยินดีด้วยครับผม สำเร็จแล้ว
ถึงจะไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับที่อ่านๆมา(ศัพท์เทคนิคเยอะจัง) แต่ทำไมอ่านไปเห็นภาพเลยว่ามันวุ่นวายขนาดไหน
น่าจะมีเจาะลึกเรื่องของ security บ้าง เท่าที่อ่านคือมีกระจึ๋งเดียว(หรือผมข้ามอะไรไป) ว่ามีการทดสอบแฮกบ้างไหม บลาๆๆๆๆ คืออยากรู้เรื่องความปลอดภัยของตัวระบบใหม่นี้มากๆ
Mekokung's Story บล็อกส่วนตัวที่ย้ายไป Blogger แล้วนะ
อันนี้ถามเล่นๆ หรือจริงจังครับ
คิดว่าธนาคารจะเปิดเผยหรือครับว่าเขาทดสอบอะไรและป้องกันอย่างไร?
lewcpe.com, @wasonliw
จริงจังมากครับ
ไม่ถึงกับว่าต้องบอกละเอียดก็ได้ครับ เอาแค่รู้ว่า "ปลอดภัยแค่ไหน" ก็พอครับ
เรื่องเงินกับความปลอดภัยมันสำคัญมว๊ากๆเลยนะ
Mekokung's Story บล็อกส่วนตัวที่ย้ายไป Blogger แล้วนะ
อ่านสนุกมากครับ ^^ ขอบคุณครับ
ผมแค่สงสัยว่า ด้วยระบบขนาดนี้ ยุคนี้แล้ว
ทำไมผมต้องเดินทางไปสาขาสมัยประถมเพื่อแจ้งเปลี่ยนชื่อบัญชีด้วยล่ะเนี่ย...
คิดแบบแง่ลบหน่อยคือได้ยอดการเปิดบัญชีใหม่ ย้ายที่อยู่ย้ายที่ทำงานก็ต้องเปิดบัญชีใหม่ผมนี่ทิ้งไปหลายบัญชีแล้วน่าเบื่อมากๆ
ผมไม่ได้อยู่ในทีม KT แค่เป็นน๊อตเล็กๆ ในธนาคารที่หากขาดหายไปก็คงจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ แน่ๆ อย่างน้อยก็ในรอบ 10 ก่อนที่จะมีคนรู้สึก
ผมชอบบทสัมภาษณ์นี้ แล้วก็รู้เลยว่าคนในโครงการ KT ต้องทำงานหนักมาก นี่ขนาดที่ว่าทำกันมาเป็น 10 กว่าจะเห็นผลงาน ระหว่างทางคงมีแรงกดดันเยอะมากๆๆๆๆ ผมว่าคนทำงานไอทีที่เกี่ยวกับ Banking คงเข้าใจดี
ขอบคุณทีมงานทุกคนที่เสียสละอดทนทำงานนี้จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี (บอกตรงๆ ว่ามันราวกับปฎิหารย์ครับ)
อืม.... แล้วเรื่อง SMS ที่รอมาเป็นชาติเนี่ยเมื่อไหร่จะแก้ครับ?
แบบนี้ผมไม่เอานะ เบื่อ เอือม
ดูพูดไปวนไปวน มา
ไม่มีแนว พัฒนาระบบหรือเขียนโปรแกรมเลย
สรุปคือ เลขบัญชีมันเต็ม ขยายใหม่
ระบบยังคงเดิมไม่กล้าเปลี่ยนจาก 400 ไปใช้windows หรือWebหรอก
CoreBanking ยังคงเป็นสี่ร้อย
แม้Corebanking ที่ขายกันในย่านนี้ของมาเลย์ก็ยังเป็น 400อยู่ครับ
มีธนาคารที่ใช้เว็บทำ core banking ด้วยเหรอครับเนี่ย?
นี่คุณโพสเอาฮาหรือคุณไม่รู้ระบบของธนาคารกันแน่ครับเนี่ย
ถ้าอ่านแล้วจับใจความได้เท่านี้ก็ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ
ผมว่าเรื่องๆเงินๆทองๆเค้าเอาชัวมากกว่าเอาเท่นะครับ
ผมเคยทำคล้ายๆกับที่ K Bank ทำเมื่อเดือนที่แล้ว
ให้ สถาบันการเงินแห่งนึงใน มาเล ที่คุยกัน (กับคนจีน) ส่วนมากเค้าเป็น IBM System Z
เพราะมัน upgrade จาก AS/400 เดิม ได้ดีกว่า ลดปัญหา เรื่อง sum check ค่าตัวเลข type ประหลาดๆ
ของ IBM แล้วค่าไมตรงกันนะครับ
แล้วก็ เนื่องจากแถบบ้านเรายกเว้น สิงคโปร์ นับถือ Muslim เค้าจะไม่กูยืมเงินครับ
เพราะการคิดดดอกเบี้ย หรือ การให้ดอกเบี้ย ถือว่าผิดกฏทางศาสนา เป็นบาปใหญ่
ระบบธนาคาร ไม่ได้เกิดหลอกครับ เพิ่งมามีคนคิดเลี่ยงบาลี ให้มันถูกต้องตามหลักศาสนา เมื่อไปกี่สิบปีนี้เอง
แต่ก็จะมีข้อดี คือ ถ้าซื้อจะซื้อเป็นเงินสด ตูมเดียวไปเลยหนี้เสีย จะน้อยมาก
ถ้ายกตัวอย่างแบบแรงๆ ไปกู้เงินแถวๆ อีรัก ซีเรีย ที่เค้ารบๆ กันอยู่นั่น แล้วไม่คืน หรือเบี้ยวค่างวด
ตัดมือ แล้ว จำคุก 15 ปีนะครับ
ไม่เชื่อ ลอง search คำว่า
abandoned car in dubai ดูครับ เหอะๆ
** ลบดีกว่า
COBOL !!
สัมผัสได้ถึงความท้อแท้ของทีมงานเลยครับ
โปรเจคยาว 10 ปี พึ่งจะเห็นแสงสว่างเมื่อ 2 ปีก่อน
ถ้าใครอยู่ได้ตั้งแต่ต้นจนถึงวัน go live คงน้ำตาไหลออกมาแน่ ๆ ครับ
เห็นด้วยครับ ผมทำ infra ยังอดยิ้มไปกับสิ่งที่เค๊าก้าวไปข้างหน้าเลย สนุกดีนะครับ คิดต่อไปอีกก้าวต่อไปคืออะไร ใกล้ๆนี้คงมีอีกแน่นอน
อยากรู้ว่ามีกี่คนที่อยู่ยาวครบ 10 ปีจนถึงวัน go live
คงภูมิใจมากแน่ๆ
ไม่ได้ล๊อคอินมานาน แต่อ่านแล้วชอบมากเลยค่ะ เลยต้องขอforget password เพื่อมาขอบคุณคนเขียนที่พยายามทำให้อ่านได้ง่ายๆนะคะ (เห็นมีคนขอบคุณคนสัมภาษณ์แล้ว^^)
นอกจากความยากของงานแล้ว ยังต้องเจอระยะเวลาที่ยาวนาน เหมือนไม่มีทางออกด้วย... วิ่งมาถึงจุดนี้กันได้นี่สุดยอดมากเลยค่ะ ทุกคนเก่งกันจริงๆค่ะ
ปล.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับKBANKแต่เป็นไอทีแบงก์เหมือนกันเลยพอเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นค่ะ:)
อ่านแล้วเหนื่อยตามเลยครับ
มันคงซับซ้อน ซ่อนเงื่อนจริงๆ นั่นแหละ
กราบเลยครับ
ต่อไปก็คงเป็น Self-Banking เหมือนตู้ Kiosk บริการตนเองแน่นอน
ทำได้ทุกอย่างทั้งเปิด-ปิดบัญชี, ฝาก, ถอน, โอน, ทำเรื่องเงินกู้, ออกบัตรเครดิต, กองทุน, หุ้น และเอกสารของธนาคาร ไม่ต้องพึ่งพนักงาน ก็เป็นทางเลือกที่ดีอีกอย่างนึง
Get ready to work from now on.
อ่านแล้วอยากรู้มากว่าใช้ระบบอะไร
เท่าที่หาได้ในเน็ต เผื่อคนที่อยากรู้เหมือนกัน
ของเดิมใช้ Safeii, a Cobol-based system
ของใหม่ใช้ FIS -> http://www.fisglobal.com/products-core
ดูจากเอกสารนี้เหมือนจะเป็น IBM System z
http://www.redbooks.ibm.com/redbooks/pdfs/sg247507.pdf
อลังการครับ เขียนได้ดีครับ อ่านแล้วเห็นภาพเลย
เหตุผลที่ Big Blue ไม่เคยตาย