“♫ ...คนเหงาย่อมเข้าใจคนเหงา เมื่อสายตาเศร้าๆ ส่งไปทักทายกัน” เชื่อได้ว่าหลายท่านคงกำลังเฝ้ารออีกครึ่งหนึ่งของชีวิตกันอยู่
แต่ตอนนี้ นอกจากคอลัมน์มาลัยเสี่ยงรัก, เว็บหาคู่ชื่อดังที่ข้อมูลผู้ใช้เพิ่งรั่ว แล้ว ล่าสุดไม่นานนี้ บนสมาร์ทโฟนของหนุ่มสาวหลายคนคงมีแอพ Tinder ปรากฏอยู่ ด้วยคอนเซปต์ของแอพนี้ที่ว่า “Any swipe can change someone’s life” ทุกการปัด เปลี่ยนชีวิตบางคนได้ ชักน่าสนใจแล้วสิ
วันนี้ผมในนาม Blognone ขอหยิบเรื่องราวของปรากฏการณ์ตามหารักแท้แบบใหม่มาฝากกัน
#ItStartsHere เป็นอีกหนึ่งแคมเปญที่ Tinder ดัน ในการเริ่มสร้างความสัมพันธ์จากสิ่งที่สนใจร่วมกันผ่านแอพนี้ ดูวิดีโอประกอบครับ
กลไกของ Tinder (ดาวน์โหลดฟรีบน Android และ iOS) เริ่มจากการสร้างโปรไฟล์ส่วนตัวของเรา โดยดึงข้อมูลจากบัญชี Facebook ที่ผูกกันอยู่มาเป็นข้อมูลของผู้ใช้บนแอพนี้ สามารถเลือกภาพตัวเองได้ 6 ภาพ พิมพ์ข้อความแนะนำตัวได้ 500 ตัวอักษร และสามารถเชื่อมต่อกับบัญชี Instagram ให้เข้าถึงภาพต่างๆ เพิ่มเติมได้ด้วย
ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะมองหาผู้ใช้เพศไหน (มีเพศให้เลือกแค่ชายหรือหญิง แต่เลือกหาเพศเดียวกันก็ได้) และเลือกช่วงอายุเป้าหมาย และระยะทางในรัศมีรอบตัวให้หาคนในระยะที่กำหนดได้ (แอพมีการใช้ข้อมูลอิงตำแหน่งจาก GPS) นอกจากตัวแปรนี้ที่แอพใช้ค้นหา “เนื้อคู่” แล้ว ข้อมูลของ mutual friend ตลอดจนความสนใจต่างๆ ที่มีร่วมกัน ก็มีผลต่อการเลือกคนเหล่านั้นให้พิจารณา
เมื่อได้จับคู่ตุนาหงัน ผู้ใช้ Tinder สามารถเริ่มบทสนทนาคุยกันได้แบบสองต่อสอง และแชร์ภาพเพิ่มเติมให้เห็นกันแค่สองคน ในรูปแบบของ Moments
เมื่อตั้งค่าเรียบร้อย เปิดแอพขึ้นมา แอพจะสแกนหาโปรไฟล์คนอื่นๆ ขึ้นมาเป็นลักษณะของแผ่นการ์ด ที่คุณสามารถแตะเข้าไปดูข้อมูลของคนเหล่านั้นตามที่เขากรอกมา ถ้าชอบคนนี้ ก็ให้แตะปุ่มหัวใจเขียวหรือ ปัดขวา ถ้าคนคนนั้นชอบคุณเหมือนกัน ก็จะได้ match และได้คุยกัน แต่ถ้าไม่ชอบ ก็แตะกากบาทหรือ ปัดซ้าย คนนั้นก็จะหายไปจากชีวิต ไม่มีโอกาสได้เจอกันอีก
ถ้าใช้ Tinder แบบฟรี จะมีโควต้าการปัดขวาในแต่ละวัน และไม่สามารถย้อนหลังไปแก้ไขคนที่เราปัดซ้ายไปแล้วได้ แต่ถ้าใช้ Tinder Plus (เดือนละ 19.99USD หากอายุมากกว่า 28 ปี และเดือนละ 9.99USD สำหรับผู้ใช้อายุต่ำกว่าหรือเท่ากับ 28 ปี) คุณสามารถย้อนกลับไป และปัดขวาได้ไม่จำกัด แถมยังเลือก location ที่อยากเจอเนื้อคู่ได้ด้วย (ชื่อฟังก์ชั่นว่า Passport) ...แอพนี้ร้ายไม่เบา
ขี้มโนจริงๆ… ผมหมายถึงสุภาพสตรีในคลิปวิดีโอแนะนำ Tinder Plus นี้นะครับ
เมื่อต้นเดือนกันยายน 2015 Tinder เพิ่งออกฟังก์ชั่นใหม่อย่าง Super Like ที่เป็นฟังก์ชั่นการบอกชอบที่เหนือกว่าการปัดขวา เวลาเจอใครที่โดนใจจริงๆ ก็แตะปุ่มดาวสีน้ำเงินหรือปัดภาพขึ้นด้านบนเพื่อบอกว่าชอบคนนี้เป็นพิเศษ และแอพจะไปบอกผู้ใช้รายนั้นว่าผู้ใช้คนนี้ super like มีความรู้สึกชอบกว่าคนอื่นใด และเพิ่มโอกาสให้ได้ match กัน ทว่าลูกเล่นนี้จำกัดให้ใช้วันละ 1 ครั้งเท่านั้น
Tinder บน Android Wear ก็มา! แจ้งเตือนการ match และใช้ปัดซ้าย-ปัดขวาได้บนข้อมือ (ยังไม่เห็นข่าวบน Apple Watch)
แอพ Tinder คิดค้นโดยกลุ่มผู้ก่อตั้งอย่าง Sean Rad (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CEO), Jonathan Badeen, Justin Mateen, Joe Munoz, Whitney Wolfe และ Chris Gylczynski ซึ่งเดิมที Rad กับ Mateen เป็นเพื่อนกันตั้งแต่เด็ก และมาเจอกันใหม่ในชั้นเรียนวิชา Internet entrepreneurship ของ University of Southern California
แม่ทัพของ Tinder ยุคปัจจุบัน ตามข้อมูลใน Tinder One Sheet
จุดเริ่มต้นของ Tinder เกิดจากการที่ Rad เห็นข้อสังเกตว่า ไม่ว่าคนแต่ละคนจะเป็นใคร คนคนนั้นจะรู้สึกสบายใจที่จะเข้าหาอีกคนหนึ่งหากได้รู้ว่าอีกฝั่งก็อยากทำความรู้จักเหมือนกัน แนวคิดแบบนี้จึงทำให้เกิด Tinder ขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางใหม่ในการพบปะคนแปลกหน้า
โปรเจกต์นี้ถูกทดลองใช้ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในช่วงแรกๆ และเปิดใช้จริงในช่วงกันยายน ปี 2012 จนต่อมาก็ได้รางวัล “Best New Startup of 2013” ของ TechCrunch และผงาดเป็นอีกหนึ่งแอพหาคู่ในปัจจุบัน สำนักงานปัจจุบันอยู่ในย่าน West Hollywood สหรัฐฯ กับทีมงาน 60 คน ครึ่งหนึ่งเป็นวิศวกร
ยอมรับว่าผู้เขียนเองไม่เคยใช้บริการเว็บไซต์หรือบริการหาคู่แบบอื่น และก็ไม่ได้จริงจังกับการหาความสัมพันธ์บนแอพประเภทนี้ขนาดนั้น (ฮา) จึงขอข้ามเรื่องการเปรียบเทียบฟังก์ชั่นกับแอพอื่น ทั้งการเขย่าหาเพื่อนคุย อะไรแบบนั้นของอีกแอพไม่เคยใช้เหมือนกัน
เท่าที่ลองใช้ Tinder ดูต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ก็เจอเพื่อนสมัยเรียน หรือเพื่อนของเพื่อนที่คุ้นหน้ากันใน Facebook กับวิธีการแสดงออกผ่านภาพและข้อความ 500 ตัวอักษรแตกต่างกันออกไป บางคนบอกจุดประสงค์ชัดเจนว่า หาเพื่อนค่ะ / looking for someone / ฝึกภาษาอังกฤษ หรือ เป็น lady boy นะ
เวลามีโอกาสเข้าเมืองไปตามแลนด์มาร์กชิคๆ ก็มักเจอโปรไฟล์สุภาพสตรีรูปโฉมงดงามแตกต่างจากละแวกที่ทำงานย่านชานเมืองอย่างเห็นได้ชัด บางเคสในต่างประเทศถึงขั้นแต่งงานกัน เลยทีเดียว
ผู้เขียนมีเคสของรุ่นพี่ที่คณะ (ขอไม่เอ่ยนาม) ไปรู้จักกับผู้หญิงคนหนึ่งผ่านทาง Tinder และได้คบกันนอกจอจริงๆ เป็นระยะเวลาหลายเดือนแล้ว ซึ่งดูแล้วก็เหมาะสมกันดี เพราะมีความสนใจอะไรหลายอย่างของเขาทั้งคู่ตรงกัน และพักอยู่ไม่ไกลกันมาก (เพราะแอพกำหนดระยะทางได้)
ดังนั้น Tinder ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนอยากหาคู่นะครับ
จากสถิติล่าสุด Tinder มีผู้ใช้ 10 อันดับสูงสุดในประเทศสหรัฐอเมริกา, บราซิล, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, แคนาดา, ออสเตรเลีย, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, เม็กซิโก และอาร์เจนตินาตามลำดับ มีอัตราการใช้งานเฉลี่ย 77 นาทีต่อคนต่อวัน มีการปัดซ้าย-ขวาไปวันละ 1.6 พันล้านครั้ง และมีคู่ match กัน 25 ล้านคู่ต่อวัน ซึ่งตอนนี้นับรวมมีคู่ match กันแล้วกว่า 6 พันล้านคู่
สาเหตุที่ทำให้ Tinder ดัง ผู้เขียนมองว่าคงเป็นเพราะลูกเล่นในการใช้งาน ที่คัดกรองคนที่ถูกใจและตรงสเปกโดยคำนวณถึงเรื่อง mutual interest และระยะทางที่อยู่เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ผู้ใช้เจอคนที่มีแนวโน้มตรงใจสูงขึ้นกว่าการหาคู่ด้วยวิธีธรรมชาติ รุกเข้าหาโดยขาดกลยุทธ์ เช่น ไม่รู้ว่าเธอชอบอะไร-ไม่ชอบอะไร ซึ่ง Tinder ก็ช่วยทิ้ง hint ตรงนี้ให้ไป “ทำการบ้านต่อ” กันได้บ้าง สำหรับผู้ใช้บางรายที่ผูกบัญชี Instagram เข้ามาด้วย เราก็สามารถจด username ของเขาหรือเธอไว้ส่องต่อกันได้
ใน บล็อกของ Tinder เองก็ถึงขั้นจัดอันดับ 50 มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ที่มีผู้ใช้ถูกปัดขวาสูงสุด (คือหล่อ สวย น่าดึงดูดให้ชอบ) ปรากฏว่าฝ่ายหญิง Florida State University มาวิน ส่วนฝ่ายชายเป็นของ Georgetown University
ด้านการลงทุน Tinder ระบุใน Tinder One Sheet ว่ายังไม่เคยได้รับการลงทุนจากสถาบันการเงินไหน นักลงทุนหลักตอนนี้มีเพียง InterActiveCorp ซึ่งเป็นบริษัทสื่อและอินเทอร์เน็ตของสหรัฐฯ เท่านั้น
ธนาคาร Merrill Lynch ตีมูลค่าของ Tinder ออกมาได้ราวๆ 1.35 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อต้นปี 2015 Tinder ก็ได้ซื้อกิจการ Chill บริษัทเจ้าของแอพส่งข้อความอย่าง Tappy มาอยู่ในสังกัด จุดเด่นของแอพนี้คือการแชทกันด้วยภาพนิ่ง และข้อความจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง
ตลอดหลายปีมานี้ Tinder มีปัญหาเรื่องของบอทและความปลอดภัย ทั้งกรณีของบอทที่นำผู้ใช้ผู้ชายมาเจอกับผู้ใช้ที่เป็นบอทเพื่อแจกลิงก์มัลแวร์หรือเว็บไซต์อนาจาร จนถึงขั้นประกาศว่าการแบนสแปมคือภารกิจหมายเลขหนึ่ง โดยใช้ระบบรักษาความปลอดภัยของ TeleSign และถ้ามีผู้ใช้ Tinder เป็นบุคคลมีชื่อเสียง เพื่อป้องกันการแอบอ้าง ล่าสุดก็มีฟังก์ชั่น verify profile ให้ยืนยันตนได้แล้ว
Tinder เองมีเรื่องดราม่าข้างในนิดหนึ่ง เมื่อปี 2014 ผู้ร่วมก่อตั้ง Tinder อย่าง Whitney Wolfe ที่ยื่นฟ้องต่อบริษัทรายนี้ว่าถูกกดขี่ทางเพศและไม่ได้รับความเป็นธรรมในที่ทำงานในตำแหน่งรองประธานฝ่ายการตลาด โดยถูกใช้คำเรียกเธออย่างหยาบคาย ถึงขั้นมีการกล่าวว่าการมีผู้หญิงในทีม ทำให้บริษัทดูเป็นของตลก (“make the company seem like a joke.”) และถูกบีบให้ออก เธอจึงออกไปทำแอพหาคู่อีกเจ้าชื่อว่า Bumble ไว้มีโอกาสจะนำมาเขียนในโอกาสถัดไป
ดราม่าอีกเรื่องเมื่อเดือนสิงหาคม 2015 ที่นิตยสาร Vanity Fair แซะ Tinder ว่าเป็น “dating apocalypse” (หายนะของการสร้างความสัมพันธ์) ที่ว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่แต่งงานแล้วมาหากิ๊ก ใช้ Tinder เป็นแอพหาคู่นอน และอ้างตัวเลขว่าผู้ใช้กว่า 30% เป็นคนแต่งงานแล้ว ก็ทำเอาแอคเคานต์ทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการของ Tinder โกรธเป็นฟืนเป็นไฟเลยทีเดียว โดย Tinder ชี้ว่าแอพนี้ทำให้ผู้คนที่มีรสนิยมทางเพศแบบอื่นในบางวัฒนธรรมที่เคร่งครัดจารีตได้เจอกัน สร้างโอกาสให้ผู้คนได้เจอกันในบางพื้นที่บนโลกที่ Facebook ถูกบล็อกไม่ให้เข้าถึง
If you want to try to tear us down with one-sided journalism, well, that’s your prerogative.
— Tinder (@Tinder) August 11, 2015
ดราม่าระหว่าง #teamTinder และ #teamVanityFair
เท่าที่สืบค้น ยังไม่มีตัวเลขของจำนวนผู้ใช้ในไทยว่ามากน้อยแค่ไหน และประเทศฝั่งเอเชียก็ยังไม่ติดอันดับยอดผู้ใช้ของ Tinder เลยสักประเทศ ทั้งนี้ การหาคู่บนโลกออนไลน์ในซีกโลกตะวันตกอาจเป็นเรื่องจริงจังเนื่องด้วยวัฒนธรรมและประเพณีที่แตกต่าง โมเดลการคิดนวัตกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในแต่ละพื้นที่จึงอาจเติบโตได้ไม่เท่ากัน-หรือไปในคนละทิศทาง
โปรไฟล์ Tinder ที่ผมพบเจอ นอกจากจะมีผู้หญิงในวัยใกล้เคียงกัน ดูภาพและชื่อเข้าใจว่าเป็นคนไทยเสียส่วนมาก บางครั้งก็มีชาวต่างชาติปนเข้ามาด้วย อาจเป็นเพราะพวกเธอเข้ามาทำงาน มาเที่ยวในประเทศไทยแล้วอยู่ในระบบ หรืออย่างที่ฟังผู้หญิงไทยคุยกัน ก็เล่าว่า match กับฝรั่งหล่อๆ ได้หลายคู่เช่นกัน และผมเชื่อว่าบางการสนทนาคงมีลามไปถึงเรื่องทางเพศด้วย เพราะเคยเจอหลายโปรไฟล์ผู้หญิงที่ระบุไว้เลยว่า no hook up
ในไทยเองมีแอพหาคู่อย่าง Noonswoon ที่มีกลไกตามชื่อ แอพจะหาคู่มาให้วันละ 1 คนทุกเวลากลางวัน (noon) และมีเวลา 24 ชั่วโมงให้พิจารณาว่าตรงใจหรือไม่ หากโอเค แอพจะเปิดทางให้คุยกัน
หรืออีกแอพของไทยคือ Available อันนี้จะใช้เหมือนผู้ใช้มี Timeline และเลือกแชทกับแต่ละคนตามที่แอพเลือกมา พิจารณาจากความเป็นไปได้ด้านต่างๆ หากได้แชทกันก็ส่งสติ๊กเกอร์ได้ด้วย
ผู้เขียนเห็นข้อดีของ Tinder อย่างหนึ่งคือการใช้ข้อมูลที่ mutual กันของคนไม่รู้จักกันเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ชอบอะไรเหมือนกันได้เจอกัน อะไรที่ถูกคอกัน ศีลเสมอกัน ก็น่าจะไปกันได้ แต่อยากฝากไว้เรื่องของความปลอดภัย บางโปรไฟล์ให้ข้อมูลเปิดหมดเหมือนกับเป็น “แคตตาล็อก” อะไรบางอย่าง ก็ดูไม่ค่อยน่าพิสมัยเหมือนกัน
ขอยกโควตของ Dr.Seuss มาปิดท้าย เอาเป็นว่าใครมีประสบการณ์กับ Tinder แบบไหนอย่างไร เชิญแลกเปลี่ยนทรรศนะกันได้ครับ
“We’re all a little weird and life’s a little weird. And when we find someone who’s weirdness is compatible with ours, we join up with them and fall in mutual weirdness and call it love.” by Dr. Seuss
Comments
TImeline => Timeline
Coder | Designer | Thinker | Blogger
ความการหา ?
และถูกแบบให้ออก ?
ขอบคุณครับ แก้แล้วครับ
สุดยอด
เขียนได้ดีครับ
แต่ผมก็ยังมีทัศนคติแง่ลบแอพแบบนี้อยู่
blog
แอพคู่แข่งโดนทิ้งไปไกลละ
โดยเฉพาะ noonswoon มีช่วงนึงแทบอยากจะปาทิ้ง แมทอะไรมาไม่รู้ แถมกดอะไรก็ไม่ค่อยไป น่าจะตกม้าตายเพราะทำคอนเซปแนวทางของตัวเองได้ไม่เวิร์ค
จะได้เจอรักแท้จริง ? ถ้าใช่แอพแนวนี้
คนที่เจอก็มีอยู่หรอกครับ
อะไรคือรักแท้?
ถ้าชอบจริงก็กล้าๆเข้าไปคุย ก็รู้จักแล้ว
สวนใหญ่จะเจอคนไม่ชอบมากกว่า
คนละเรื่องเดียวกัน : beetalk นี่มันแชทหาคู่ของสก๊อยใช่มั๊ยคะ เห็นแล้วสะพรึงมาก!!
เจ๋งครับ TT
ไม่พูดถึงเรื่อง 18+ เหรอครับ พี่ไทยนี่ถนัดนักแล นัดเ.. แลกรูป แลกคู่ ฯลฯ อยากทราบว่าแอพนี้เขามีมาตรการกันอะไรพวกนี้หรือเปล่า? หรือปล่อยผู้ใช้ตามสบายเลย
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
เรื่องจุดประสงค์การใช้มันก็คงควบคุมไม่ได้หรือเปล่าครับ
ว่ากันตามจริง แอพมันก็เอื้ออำนวยให้ทำอย่างนั้นได้อยู่แต่แรกแล้ว
ถ้าจะควบคุมมันก็พอทำได้ระดับนึงนะครับ เช่นรูปที่ใช้ ต้องไม่โป๊เป็นต้น
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
มันมีให้กด report ได้เกือบทุก App แหละครับ
report มันก็คงมีอยู่แล้วล่ะครับ แต่นั่นเป็นการป้องกันระดับ community แต่ที่ผมถาม หมายถึงการป้องกันจากผู้ผลิตเองน่ะครับ เหมือนยูทูปปเองกันวีดีโอโป๊ วีดีโอละเมิดลิขสิทธิ์ไรงี้ครับ
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
กลางวันทำงาน....กลางคืนนั่งทำใจ
รักแท้หรือแค่แก้เหงา...
อดใช้เลยเรา (ฮาๆ)
ใช้ภาษาได้น่าตบดี ชอบๆ 555
ถือว่าเป็นคำชมนะครับ 55555
อยากให้ทำแอพบน Android ให้ดีแบบ iOS
บน iOS เล่นนานแค่ไหนก็ไม่ร้อนไม่เดรนแบต แต่บน Android กระตุก แบตลดฮวบๆ เครื่องร้อนมากด้วย หลายแอพก็ทำให้ดีได้ประดุจ iOS แล้วนะครับ
+1024
ลองละ แอปนี้ไม่ไหว เคี่ยวเกิน ปัดได้ไม่กี่ทีก็หมดโควต้าละ จะเอาตังค์อย่างเดียวเลย
ก็ดีกว่าแอพอื่นๆนะครับ ในบรรดาแอพนัด___ อันนี้ก็ทำแอพมาดีสุดแล้วแล้วไม่ต้องเสียเวลาทักรายคนรอตอบด้วย อันอื่นบักเพียบ อืด ช้า ไม่เตือนเวลาตอบด้วย ทำแอพดีขนาดนี้มันก็ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง จะคิดว่าฉันต้องได้ฟรี ฉันต้องได้ฟรีเท่านั้นทุกอย่าง มันก็เห็นแก่ตัวไปนะครับ
ทำไมผทปัดไม่เคยเกินโควตาเลย หรือผมปัดแต่ละวันน้อยไป
ผมชอบ ux มันมากเลยนะ เข้าใจง่ายดี
รักแท้ หาได้ใน โทรศัพท์ จริงหรอ