เสร็จสิ้นกันไปแล้วกับ โครงการ dtac Accelerate Batch #3 ที่จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงกลางปี โดยได้ผู้ชนะ 3 ทีมจาก 6 ทีมที่เข้ารอบสุดท้าย ซึ่งทั้ง 3 ทีมจะได้รับโอกาสไปเก็บประสบการณ์ทั้งที่นอร์เวย์และซิลิคอนวัลเลย์ เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโตต่อไป
ในโอกาสนี้เรามาย้อนดูผลงานของทีมที่เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 6 ทีม และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมแข่งขัน dtac Accelerate Batch #3
ย้อนดูผลงานของ 6 ทีมที่เข้ารอบสุดท้าย มีดังนี้
- Tech Farm กับอุปกรณ์ “เล่นน้ำ” (Len-Nam) เครื่องมือตรวจสอบคุณภาพน้ำสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ ที่ต้องการลดความเสี่ยงของปัญหาน้ำที่ไม่เหมาะสมต่อสัตว์น้ำที่เลี้ยงและเพิ่มคุณภาพของผลผลิตมากขึ้น ถือเป็น all in one device ที่สามารถดูคุณภาพน้ำได้ตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งเตือนเมื่อคุณภาพน้ำมีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำของเกษตรกรอีกด้วย
- Skootar บริการเรียกแมสเซ็นเจอร์ ส่งเอกสาร วางบิล เก็บเช็ค ผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ และ แอพพลิเคชั่นมือถือ เหมาะสำหรับบริษัท SME, ร้านอาหาร, ธุรกิจ E-commerce จุดเด่นคือสะดวก รวดเร็ว ประหยัด สามารถเรียกได้จากทุกที่ในกรุงเทพ มีระบบติดตามความคืบหน้าและประเมินความพึงพอใจในพนักงานในทุกชิ้นงาน
- Super RFQ ระบบออนไลน์ที่ช่วยจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย โดย Super RFQ ช่วยให้ “ผู้รับเหมาก่อสร้าง” หาราคาวัสดุได้ง่ายขึ้นผ่านการออกใบ RFQ (Request for quotation) หรือ “ใบขอราคา” ผ่านระบบ โดยที่ระบบจะจับคู่คำสำคัญในใบขอราคานั้น เช่น ประเภทของวัสดุที่ต้องการซื้อ เข้ากับผู้ค้าวัสดุในระบบ และแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อพบผู้ค้าวัสดุที่ต้องการเสนอราคา ใช้ทดแทนกับวิธีปัจจุบันที่ผู้รับเหมาต้องออกใบขอราคา ค้นหาร้านค้า และติดต่อขอราคาจากผู้ค้าวัสดุแต่ละรายด้วยตนเอง
- Zmyhome เว็บไซต์ขายและให้เช่าที่อยู่อาศัย ที่ผู้ลงประกาศต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินตัวจริงเท่านั้น (ตัวแทนหรือนายหน้าไม่สามารถลงประกาศได้) ช่วยให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้ราคาที่ดีขึ้นเนื่องจากไม่มีค่านายหน้า นอกจากนี้ ZmyHome ยังมีเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้ซื้อผู้ขายเห็นภาพรวมของตลาดและลดความเสี่ยงในการซื้อขายหรือลงทุน
- GIZTIX ตลาดซื้อขายบริการขนส่งและโลจิสติกส์ออนไลน์ มีบริการครบวงจรสำหรับการขนส่ง เช่น รถบรรทุก เฟรท และพิธีการศุลกากรทั่วโลก ช่วยให้ผู้ที่ต้องการขนส่งสินค้า (shipper) สามารถเปรียบเทียบราคาและชำระเงิน ออนไลน์ และช่วยให้ผู้ประกอบการขนส่ง (transporter) สามารถมีช่องทางขายออนไลน์เพื่อให้ได้ลูกค้ามากขึ้น
- Take Me Tour แพลตฟอร์มตลาดกลางออนไลน์ สำหรับทัวร์หนึ่งวัน (one day tour) ที่สร้างขึ้นโดยคนในท้องถิ่น เรียกได้ว่าเป็น Airbnb สำหรับ One day tour ในประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุด
ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายทั้ง 6 ทีมในปีนี้ ได้รับสิทธิประโยชน์จาก dtac ดังนี้
- ได้เงินลงทุนเริ่มต้น มูลค่ารวมกว่า 5 ล้านบาท และเงินสนับสนุนในการทำตลาดมากกว่า 20 ล้านบาท
- เข้าร่วมบูตแคมป์ ระยะเวลา 4 เดือน เป็นเวิร์คช็อป 30 ครั้ง โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในวงการสตาร์ทอัพและกูรูที่มีชื่อเสียงระดับโลก 40 คน บินตรงจากซิลิคอนวัลลีย์ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาอบรมแบบรายบุคคลในแต่ละทีม
- ใช้พื้นที่ co-working space ที่ตึกจามจุรีสแควร์ให้สตาร์ทอัพทีมได้ทำงานสะดวกสบาย
- ได้เครดิตจาก Amazon Web Service มูลค่า 30,000 บาท พร้อมการฝึกอบรมและทางทีมงานวิศวกรจาก Amazon
- มีที่ปรึกษา (mentor) แบบ 1:1 จากผู้ประกอบการไทยที่ประสบความสำเร็จ 5 ท่าน
- ได้รับการสนับสนุนและให้คำปรึกษาจากฝ่ายกฎหมายในการก่อตั้งบริษัท และเชื่อมต่อระหว่าง VC บริษัทที่ร่วมลงทุนทั่วโลก
- ได้โอกาสในการทำตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าดีแทค รวมถึงลูกค้าในเทเลนอร์กรุ๊ปทั้ง 200 ล้านคนซึ่งมีอยู่ 13 ประเทศทั่วโลก
- โอกาสในการ Pitch กับตัวแทนจาก Venture Capitals ชั้นนำทั้งในระดับเอเชีย และระดับภูมิภาค ที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับโครงการ และมีความสนใจการลงทุนในประเทศไทย อาทิ 500TukTuk กองทุนตั้งขึ้นเพื่อสตาร์ทอัพไทยกองทุนแรก, KK Found และ CyberAgent จากญี่ปุ่น, Golden Gate Venture จากสิงค์โปร์ และอีกมากมาย
เป้าหมายของ dtac คือผลักดันวงการสตาร์ตอัพในบ้านเราให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สามารถสร้างธุรกิจที่เติบโตได้ในระดับภูมิภาค ถ้าลองย้อนดูทีมที่เข้ารอบสุดท้าย dtac Accelerate Batch #2 หลังจากผ่านมา 1 ปี เห็นผลงานและพัฒนาการชัดเจน ดังนี้
- เคลมดิ (Claim di) ร่วมเป็นพันธมิตรกับ 14 บริษัทประกันภัยชั้นนำของไทย คิดเป็นกว่า 50% ของตลาดประกันภัย, เซ็น MOU ขยายธุรกิจสู่ประเทศมาเลเซียและโรมาเนีย, ได้รับเงินทุน seed round จากกลุ่ม 500 startups และกำลังจะมีข่าวดีในการร่วมลงทุนกับ VC ระดับโลกในรอบ Series A
- ไดรฟ์บอท (Drivebot) ประสบความสำเร็จในการระดมทุนจากเว็บไซด์ cloud funding อย่าง Indiegogo.com ภายในเวลาเพียง 6 วันและได้รับเงินทุนทั้งสิ้น 3 เท่าของเป้าที่ตั้งไว้
- พิกจิโปะ (Piggipo) ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก angel investor และเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับธนาคารกสิกรไทยและธนาคาร MAYBANK ประเทศมาเลเซีย
- ฟาสต์อินโฟลว์ (Fast in flow) สามารถสร้างรายได้ได้จริงและเป็นพันธมิตรกับบริษัทเอเจนซี่ชื่อดังในเมืองไทยหลายบริษัทและนำไปใช้ได้จริงกับหลายๆแบรนด์ดังในประเทศไทย
- สตอรี่ล็อก (Storylog) สามารถสร้างฐานลูกค้าในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนในประเทศอยู่หลายเจ้าและอาจจะมีข่าวดีเร็วๆ นี้