ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เขียนวิเคราะห์การประมูลคลื่นความถี่ 900MHz โดยมีประเด็นสำคัญว่าผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายจริงจังกับการประมูล ไม่ใช่แค่การดันราคาต้นทุนของคู่แข่ง ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการแบ่งงวดจ่ายค่าประมูลที่ผ่อนคลายขึ้นกว่าเดิม ทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลกล้าจ่ายยอดรวมได้มากขึ้น
เกมแย่งตลาดมือถือ จุดเดือดประมูลคลื่น 900
บทความโดย ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
จากการเคาะราคาอย่างต่อเนื่อง จนเข้าสู่วันที่สาม (17 ธ.ค. 2558) ของการประมูล ซึ่งผู้ร่วมประมูลยังอยู่ครบทั้งสี่ราย ชี้ให้เห็นว่าทุกรายจริงจังกับการประมูล แม้ว่าราคาประมูลจะสูงกว่าระดับราคาปกติแล้วก็ตาม การคาดการณ์ว่า จะมีการเคาะเพื่อดันราคาต้นทุนของคู่แข่ง จนถึงระดับราคาหนึ่งแล้วผู้ดันราคาจะถอยออกจากการประมูล จึงไม่สามารถอธิบายการต่อสู้ในระดับราคาที่สูงกว่าปกติได้
เพราะหากไม่ต้องการคลื่น แต่ต้องการดันราคาเท่านั้น การดันราคาในระดับสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง แล้วเกิดความผิดพลาดในการถอย ผู้ดันราคาอาจต้องรับชะตากรรมอันไม่พึงประสงค์เสียเอง
จึงสรุปได้แต่เพียงว่า ทั้งสี่รายต้องการประมูลอย่างแท้จริง คำอธิบายที่เป็นไปได้คือ
รายใหม่ ต้องการเข้าสู่ตลาดในทุกระดับราคา ซึ่งโดยปกติรายใหม่จะมีต้นทุนโครงข่ายสูงกว่ารายเก่าที่มีต้นทุนโครงข่ายเดิม และยังต้องทำการตลาดใหม่หมด ในขณะที่รายเก่ามีลูกค้าเดิมมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นฐานในการสร้างรายได้ที่แน่นอนอยู่แล้ว สถานการณ์นี้คำอธิบายที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ รายใหม่มีความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับรายเก่าบางรายอย่างไม่เปิดเผย และหากชนะประมูล อาจมีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน มีการโรมมิ่งบริการกัน จะทำให้ลดต้นทุนส่วนโครงข่ายไปได้ไม่น้อย และอาจมีการขายส่งบริการระหว่างกันทำให้ลดภาระในการทำตลาดใหม่ทั้งหมด
รายเก่าอันดับ 1 ที่มีคลื่นในมือน้อยลง หลังการสิ้นสุดสัมปทาน 1800 และ 900 ที่ผ่านมา ก็ต้องการคลื่นเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น เพราะแม้จะชนะประมูลก็ยังมีคลื่นไม่เท่าที่มีอยู่ จึงต้องรักษาส่วนแบ่งการถือครองคลื่น เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ในทุกระดับราคาเช่นกัน
รายเก่าอันดับ 2 ที่มีคลื่นในมือมากแต่มีอายุสัมปทานเหลือเพียง 3 ปี หากไม่ได้คลื่นใหม่ และในอนาคตไม่สามารถหาคลื่นมาทดแทนคลื่นที่หมดอายุ ก็จะเกิดความเสี่ยงที่จะต้องออกจากตลาดมือถืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะปริมาณคลื่น 2100 MHz ที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอที่จะรองรับลูกค้าหลายสิบล้านรายที่ใช้เน็ตความเร็วสูงผ่านมือถือ ที่นับวันที่แต่จะขยายตัว จึงต้องวางเดิมพันวันนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความลำบากในวันข้างหน้า นอกจากนี้ภาระส่วนแบ่งรายได้ใต้ระบบสัมปทานก็เป็นต้นทุนที่สูงกว่าค่าธรรมเนียมรายปีภายใต้ระบบใบอนุญาตจากการประมูลหลายเท่าตัว ความแตกต่างในการแข่งขันข้ามระบบดังกล่าว จึงต้องหาทางออกโดยเข้าสู่ระบบใบอนุญาตให้เร็วที่สุด
รายเก่าอันดับ 3 มีคลื่นในมือมากและมีอายุการใช้งานนาน แต่หากต้องการไต่อันดับ การสะสมคลื่นเพิ่มเป็นปัจจัยสำคัญ แต่การประมูลนี้จะเป็นการยิงปืนนัดเดียวที่ได้นกสองตัว เพราะนอกจากจะได้คลื่นเพิ่ม คือกันรายใหม่ไม่ให้เข้าสู่ตลาด และบีบรายเก่าที่คลื่นเหลืออายุไม่นานออกจากตลาด ราคาที่ประมูลจึงรวมถึงกำไรสองต่อจากกระสุนนัดเดียว ทำให้ยอมประมูลในระดับราคาที่สูงกว่าปกติ
และที่สำคัญ วิธีการแบ่งงวดการชำระค่าคลื่นเป็นตัวหนุนให้ราคาไปต่อได้อีก
เพราะปกติ กสทช. จะนำราคาชนะประมูลคลื่นมาเป็นตัวตั้ง และกำหนดว่า ให้จ่ายทันที 50% ในงวดแรก และผ่อนจ่ายงวดละ 25% ในงวดที่สองและสาม ดังนั้น หากประมูลแรง ก็ต้องหาเงินมาจ่ายมากขึ้นทันที กระทบต่อกระแสเงินสดและปริมาณหนี้หลังการประมูลทันที
แต่การประมูล 900 กสทช. กำหนดให้ชำระค่าคลื่นงวดแรกประมาณ 8000 ล้านบาท และ ผ่อนงวดละ 4000 ล้านบาทในงวดที่สองและสาม ไม่ว่าราคาประมูลจะสูงขึ้นไปเพียงใด (ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่ต่ำกว่าค่างวดของคลื่น 1800 เสียอีก) ส่วนราคาคลื่นที่เหลือให้นำมาชำระในงวดที่สี่ ผู้ประมูลต่างเชื่อว่าจะนำคลื่นไปทำกำไรเพื่อนำมาชำระค่าคลื่นงวดที่สี่ได้ไม่ยาก จึงกระทบกระแสเงินสดและปริมาณหนี้ต่ำกว่าการประมูล 1800 อย่างชัดเจน ราคาประมูลจึงไหลขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในทางทฤษฎียังไหลต่อได้อีกโดยผลประกอบการอยู่เหนือเส้นขาดทุน
หากกังวลว่า ถ้าประมูลแรง แล้วชักดาบงวดที่สี่ เนื่องจากธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ก็ต้องย้ำว่า แต่ละรายมีโมเดลธุรกิจในหัวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งธุรกิจโทรศัพท์มือถือเป็นตลาดเก่าที่เสถียรและมีอัตราเติบโตต่อเนื่อง การคาดการณ์ตลาดจึงแม่นยำกว่าธุรกิจทีวีดิจิทอลที่มีจำนวนสถานีเกิดใหม่มากมายหลายสิบสถานี เป็นตลาดใหม่ในประเทศ แต่เป็นขาลงของตลาดโลก ทำให้การคาดการณ์ตลาดทีวีดิจิตอลคลาดเคลื่อนได้สูงมาก
และที่สำคัญ รายใดที่ชักดาบงวดที่สี่ จะส่งผลให้ต้องออกจากตลาดโทรศัพท์มือถือทุกระบบอย่างถาวร และจะติดบัญชีดำไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดได้อีกครั้งหนึ่ง การชักดาบจึงเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดได้จริง
ณ วินาทีนี้ ราคาประมูลคลื่น 900 ยังไม่แพงเกินไป และยังไม่ถึงระดับราคาที่ไร้เหตุผล หรือเสี่ยงต่อการล้มเหลวทางธุรกิจแต่อย่างใด เพราะแต่ละรายต้องการผลประโยชน์หลายประการจากกระสุน 900 นัดเดียว
Comments
คลื่น 900 จงเจริญ บ้านผมจะได้มีสัญญานดีๆ ใช้หน่อย กลับถึงบ้านทีไร สัญญานหายว๊าบ
ถ้าจะต้องมี บริษัทที่กระเด็นออกไปจาก ธุรกิจสายนี้ จนเหลือ ขาใหญ่ สองเจ้า
มันจะเป็นผลดีต่อ ผู้ใช้บริการยังไง
คิดว่าคงเป็นผลดีกับบริษัทมากกว่า (อย่าลืมว่านี่เป็นการวิเคราะห์แนวคิดของผู้เข้าประมูล)
จะมีบริษัทไหนบ้าง ที่ไม่อยากมีกำไรเยอะๆ
แต่ละบริษัทเองก็แข่งขันกันเพื่อให้มีลูกค้าเยอะๆ กำไรมากๆ ไม่ใช่เหรอครับ
เหลือคลื่น 1800 ของ dtac ที่กำลังจะหมดอีกนี่ครับ
ถ้า dtac พลาดรอบนี้จริงๆ ก็คงแก้มือที่ 1800 ได้ (หมดอายุปี 61)
แต่รอบนี้แอบเชียร์ ais กับ jas :D
ไม่มีผลดีแน่นอนครับ
การมีผู้เล่นแค่สองรายในตลาดจะนำไปสู่การแข่งขันกึ่งผูกขาดครับ
ซึ่งสภาพแบบนี้เคยเป็นตอนก่อนที่ TA Orange จะเข้ามาในสังเวียนครับ
ดีตรงที่ว่าได้ใช้ LTE เร็วๆเพราะผู้ให้บริการมีคลื่นเยอะไม่ต้องแบ่งสามแบ่งแค่สองไงครับ อีกอย่าง dtac ไม่ได้ตอนนี้แล้วมันจะเป็นอะไร เดี่ยว 850 1800 2600 ก็จะประมูลอีก 2300 ถึง TOT จะดีลพิจารณา AIS เป็นรายแรกแต่คลื่นตั้ง 60MHz AIS จะเอาหมดเลยหรือครับ AIS ก็ได้ 2100 อีก 15MHz ของ TOT ไปแล้วด้วย
อนึ่ง ถ้าจะต้องให้สองบริษัทที่ได้ไปในรอบที่แล้ว ไม่ได้ในรอบนี้ เพื่อกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ว่าเหลือขาใหญ่แค่เพียง 2 เจ้า
ถ้าเช่นนั้น การแข่งขันก็คงไม่ได้เกิดละครับ บอกว่าฮั้วกันตรงๆแต่แรกก็ได้
writer blognone???
+1 เป็นเกียรติที่ได้เห็น (ถ้าไม่ใช่เพราะลืมสลับ user ผมว่าอาจจะเป็น Easter Eggs ของปีนี้นะ)
อ่านมาหลายปี(เมื่อก่อนอ่านเฉยๆ ไม่ได้คิดสร้าง User) ก็เพิ่งเคยเห้นเหมือนกันครับ
ข้าขอทรยศต่อคนทั้งโลก ดีกว่าให้ใครมาทรยศข้า
https://www.blognone.com/user/1/track
หืม...
นับวันที่แต่จะขยายตัว => นับวันมีแต่จะขยายตัว
ทีวีดิจิทอล => ทีวีดิจิตอล
ชอบข่าวนี้