สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปเยือนกรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาว เพื่อนบ้านของเรา ไหนๆ ไปถึงเวียงจันทน์แล้วก็ถือโอกาสแวะดูวงการไอทีของประเทศลาวสักหน่อยครับ (บทความเก่าที่เกี่ยวข้อง: พาสำรวจวงการไอทีพม่า)
ต้องออกตัวว่าผมมีเวลาค่อนข้างน้อยในเวียงจันทน์ สามารถแวะไปดูแค่ย่านถนนดงป่าลาน (Dongpalane Road) แหล่งรวมร้านขายโทรศัพท์-สินค้าไอทีในเวียงจันทน์ได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น (ใน Blognone มีผู้อ่านจากประเทศลาวอยู่ไม่น้อย ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมก็แจ้งไว้ได้ในคอมเมนต์ครับ)
ถนนดงป่าลานเป็นย่านการค้าสำคัญอีกแห่งของเวียงจันทน์ มีร้านค้ามากมาย โดยเฉพาะร้านขายสินค้าไอทีและเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มากระจุกตัวอยู่บนถนนแห่งนี้
ยี่ห้อที่โดดเด่นที่สุดก็หนีไม่พ้น "ซัมซุง" เช่นเคย มาพร้อมกับป้ายขนาดใหญ่บนร้านค้าตัวแทนจำหน่ายหลายแห่ง
สินค้าสายโทรศัพท์มือถือก็เรียกได้ว่าเหมือนเมืองไทยทุกประการ ไทยมีอะไร ที่ลาวก็มีเหมือนกันหมด
ป้าย Note 5 ภาษาลาว
ป้าย Galaxy A Series ภาษาลาว
ระบบปฏิบัติการ Android รองรับภาษาลาวมานานแล้ว มีเมนูภาษาลาวครบถ้วน ในขณะที่ iOS มีเฉพาะคีย์บอร์ดภาษาลาว ถ้าใครอ่านอินเทอร์เฟซภาษาอังกฤษไม่ออก ก็สามารถใช้ภาษาไทยแทนได้ (คนลาวส่วนใหญ่อ่านภาษาไทยออก)
ราคามือถือลาวค่อนข้างใกล้เคียงกับบ้านเรา ตัวอย่างเช่น Galaxy S6 ตอนนี้ขายอยู่ 4,550,000 กีบ (ประมาณ 20,000 บาท อัตราแลกเปลี่ยน 1,000 กีบเท่ากับ 4.4 บาท) อาจบวกลบต่างกันบ้างในแต่ละรุ่นย่อย
Galaxy S6 Edge ความจุ 32GB ขายที่ 5,050,000 กีบ
โปรโมชั่นส่งท้ายปีของซัมซุงประเทศลาว ชิงโชคเที่ยวฮ่องกง มาเก๊า เสิ่นเจิ้น รวมถึงของแถมเป็นอุปกรณ์เสริมต่างๆ
ร้านซัมซุงในเวียงจันทน์จะไม่ขายแค่โทรศัพท์และอุปกรณ์ไอทีเพียงอย่างเดียว แต่จะขายเครื่องใช้ไฟฟ้าครบวงจร พวกทีวี ตู้เย็น แอร์ เครื่องซักผ้า มาครั้งเดียวสามารถซื้อสินค้าได้ครบทุกอย่าง
ส่วนสินค้าสายแอปเปิลก็ได้รับความนิยมรองลงมา มีร้านที่ตกแต่งด้วยสไตล์ Apple Store และขายสินค้าแอปเปิล (แต่ข้างในก็มีของยี่ห้ออื่นด้วย) อยู่พอสมควร
บริษัทมือถือที่ยังได้รับความนิยมในลาวอยู่เยอะ (ผิดคาด) คือ Nokia/Microsoft ครับ จากการสอบถามชาวลาวผู้ติดตามวงการไอที บอกว่า Lumia ขายดีพอสมควรเลยแหละ
ช่วงนี้มีโปรโมชั่นซื้อ Lumia แถมเสื้อยืดด้วย น่าสนใจมาก
Lumia 640 ขายอยู่ที่ 1,690,000 กีบ พร้อมเมนูภาษาลาว
มือถือ Nokia แบบฟีเจอร์โฟนก็ยังได้รับความนิยมเช่นกัน
มือถือยี่ห้ออื่นๆ ที่เห็นโฆษณาและทำตลาดเยอะคือแบรนด์ฝั่งจีน 3 ยี่ห้อ เริ่มจาก Huawei ที่มีป้ายโฆษณาแปะเต็มเมือง
Vivo
Oppo (ภาพโบรชัวร์ฟีเจอร์ชาร์จเร็ว VOOC ภาษาลาว)
ส่วนยี่ห้ออื่นๆ ที่พอเห็นบ้าง ก็มี ASUS
Cherry Mobile
LG ก็มีป้ายบ้าง แต่เน้นเครื่องใช้ไฟฟ้ามากกว่า
พวก wearable ที่เจอวางขายมี Fitbit
ฝั่งสินค้าคอมพิวเตอร์ มีร้านขายบ้างเช่นกัน แต่น้อยกว่าร้านมือถือมาก
สินค้าในร้านเน้นไปทางพรินเตอร์และอุปกรณ์เสริม ฟิล์มกันรอย เมาส์ การ์ดหน่วยความจำ ส่วนใหญ่ก็ใช้แพ็กเกจแบบเดียวกับเมืองไทย
เราเตอร์ยี่ห้อ Toto Link
ถ้าเงินไม่พอก็ไม่ต้องกลัวครับ Krungsri First Choice มีให้บริการถึงในประเทศลาวมานานแล้ว
ปิดท้ายด้วยร้านค้าน่าสนใจในถนนดงป่าลาน ตั้งชื่อร้านว่า Cloud 9 โลโก้ดูเกี่ยวข้องกับไอทีมาก แต่จริงๆ เป็นร้านขายเหล้ารายใหญ่ของเวียงจันทน์เลยนะ!
โอเปอเรเตอร์มือถือในลาวมี 4 บริษัทคือ Laos Telecom (รัฐวิสาหกิจของลาวร่วมทุนกับ Thaicom), Unitel (บริษัทร่วมทุนระหว่างลาว/เวียดนาม), Beeline (ร่วมทุนกับ VimpelCom ของรัสเซีย) และ ETL เท่าที่ดูจากป้ายในเมือง ไม่ค่อยเห็นร้านของโอเปอเรเตอร์มากนัก แต่มีป้ายโฆษณาบ้าง (Beeline เห็นเยอะหน่อย) ส่วนบัตรเติมเงินหาได้ทุกตรอกซอกซอย ร้านโชว์ห่วยเล็กใหญ่มีขายกันหมดครับ
สำหรับคนที่แวะผ่านไปเวียงจันทน์และอยากตามไปดูบ้าง ถนนดงป่าลาน เป็นถนนเส้นขนานกับถนนคูเวียง (Khouvieng Road) ที่มี Major Cineplex ไปเปิดบริการ (เรียกว่า Major Platinum Cineplex) รวมถึงอยู่ไม่ไกลนักจากประตูชัย/มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวครับ (พิกัดใน Google Maps)
ขอขอบคุณน้อง Anouluck แห่งเวียงจันทน์ ที่พานำเที่ยวดูร้านขายสินค้าไอทีเหล่านี้เป็นอย่างดีด้วยครับ
Comments
เห็นแล้วนึกถึงตอนไปเขมรน่าจะถ่ายรูปมารายงานblognoneบ้าง
ได้ไปเที่ยว What Pub มั้ยครับ
อยากรู้ราคา FitBit ในลาว ในไทยแพงบ้าเลือดมาก
ตกใจกับเงินกีบจริงๆ ครับ
อุตสาหกรรมต่างๆ ของเขาดูดีทีเดียวครับ
ราคา s6 เลข0ตัวสุดท้ายพิมพ์ตกไปนะครับ
ความก้าวหน้าของเขาดีกว่าเราจริงๆ แม้ว่าจะไม่เจริญเท่าเราก็ตาม แต่ก็คงจะตามทันในอีกไม่นาน ถ้าเรายังติดอยู่กับผลประโยชน์และการเมืองงี่เง่าซ้ำซากและไม่รู้จักจบกันแบบนี้อยู่
ก็เตรียมอยู่รั้งท้ายอาเซียนได้เลยครับ
Get ready to work from now on.
งง เขาดีกว่าเราด้านไหนบ้างครับ
มารอฟังด้วยครับ ว่าด้านไหนบ้าง
เอาตรงๆ คือทุกวันนี้เราอาจจะโดนกระแสเหน็บแนมประเทศตัวเองโดยคนไทยเองมาอย่างมากมายไปหน่อยครับ จนบางทีกลายเป็นว่าสังคมไทยก็เชื่อไปอย่างนั้นจริงๆ (โดยเฉพาะกระแสเปรียบเทียบไทย vs เวียดนามนี่ ได้ยินบ่อยมาก)
ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือต่างประเทศที่จัด ranking ประเทศทั่วโลกในด้านต่างๆ ประจำปีต่างๆ มาพอจะหลายสำนักซึ่งงานพวกนี้มีความน่าเชื่อถือสูงและมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน (อาจจะใช้เป็นข้อมูลประกอบการลงทุนได้) บอกเลยว่าหนังสือพวกนี้มันทำให้ผมรู้จักประเทศตัวเองดีขึ้นเยอะมากครับ มันทำให้เรารู้ว่าเราอยู่ตรงไหนของโลก ด้านไหนที่เป็น Strength ด้านไหนที่เป็น Weakness ซึ่งมันก็สะท้อนความจริงของประเทศเราได้ชัดเจนแบบไม่ต้องมโนหรือทึกทักเอาเองเลย น่าบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในโรงเรียนมาก เด็กๆ จะได้มองภาพอนาคตออกว่าเราควรจะก้าวต่อไปยังไง
อยากให้ท่านที่มีโอกาสลองหาหนังสือพวกนี้มาดูครับ แล้วจะรู้ว่าการพัฒนาในด้านต่างๆ ของประเทศเรา ไม่ได้ขี้เหร่อย่างที่คิดเลย หลายด้านดูโดดเด่นในเวทีโลกได้สบาย (โดยเฉพาะระบบโลจิสติก ที่ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่เนื้อหอมอันดับต้นๆ ในแถบนี้ ถนนเมืองไทยดี top 20 ของโลก การสาธารณสุขอีก) ถ้าเทียบกับในอาเซียนด้วยกัน จะเห็นชัดเลยว่าไทยอยู่ตรงไหน มาเลย์อยู่ตรงไหน ลาว เวียดนามเขาอยู่ตรงไหน พัฒนาการแต่ละปีเป็นอย่างไร
เมื่อคุณเห็นตรงนี้ คุณจะคิดได้เลยว่าเราจะเอาไทยไปเปรียบกับเวียดนามทำไม คือข้อมูลพวกนี้ควรว่าด้วยสถิติและข้อมูลที่เป็นรูปธรรมครับ ไม่งั้นเราจะตกเป็นเหยื่อของพวกที่ชอบสร้างกระแสจับไทยไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แล้วเหยียดประเทศตัวเองอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งมันรู้สึกกันไปเองชัดๆ
เรื่องการศึกษาไทย vs เวียดนามนี่เป็นกระแสที่ชัดเจนมาก ลองไปดูงานการศึกษาที่ฮานอยกับโฮจิมินห์เถอะครับ รับรองตาสว่างแน่ๆ ส่วนเรื่องการศึกษาไทยที่โหล่ในอาเซียนอีก ถ้าดูตัวชี้วัด กับการเก็บข้อมูล คุณจะรู้เลยว่าทำไมผลมันออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งมันก็มีเหตุผลและที่มาที่ไปซึ่งพอฟังขึ้น แต่ตัวชี้วัดนั้น (เช่น ความพึงพอใจของนายจ้าง) มันสะท้อนคุณภาพการศึกษาทั้งระบบของบ้านเราได้หรือ บ้านเราแย่ที่สุดจริงหรือ? ลองกูเกิลเรื่องนี้อ่านดูครับ
เรื่อง ICT บ้านเราก็ไม่ขี้เหร่นะครับ โดยเฉพาะเรื่อง telecommunications นี่ ถ้าจำไม่ผิดก็ดีในระดับ 30-40 ของโลกเลย ซึ่งไม่ขี้เหร่ครับ ยิ่งถ้าเรามีการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่กันเป็นเรื่องเป็นราวแบบทุกวันนี้ มือถือกระจายครบคลุมมากยิ่งขึ้น ผมว่าอันดับต้องถีบตัวขึ้นไปอีกแน่ครับ
เรื่อง ranking ที่ไทยบ๊วยอันดับเกือบร้อยของโลก และผมยอมรับที่สุดคือ "การขนส่งทางราง" ครับ 555
ผมก็เคยได้ยินเรื่องเหน็บแนมแนวนี้อยู่บ้าง แต่ผมพูดในสิ่งที่ผมเจอและมีประสบการณ์มาบ้าง โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีที่เห็นได้ชัดเลย เราเจอทั้งมรสุมทางการเมือง การรัฐประหาร เสื้อหลากสีทั้งหลาย ขัดแย้งผลประโยชน์ต่างๆ ความขัดแย้งทั้งชายแดนและภาคใต้ สิ่งเหล่านี้มันก็ไม่ใช่ข้อดี่ที่จะมีใครมาลงทุนหรืออยากทำธุรกิจกับเรานัก เป็นปัญหาหลักที่ทำให้การพัฒนาชะงัก แถมอาจจะโดยอกเลิกในอีกชุดรัฐมนตรีที่ไม่เห็นด้วย หรือไม่พอใจรัฐบาลที่ผ่านมา แถมปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นน้อยมากในประเทศเพื่อนบ้านด้วยซ้ำ
จริงๆ แล้ว ถ้าให้ยกตัวอย่าง เราควรได้รับเทคโนโลยีการสื่อสารอย่าง 3G และ 4G มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ต้องมาติดเรื่องผลประโยชน์จากผู้มีอิทธิพลเดิมอย่างปัญหาคลื่นความถี่ (TOT และ CAT) ที่พึ่งจะมีความคืบหน้าอย่างประมูล 4G ที่ผ่านมานี้เอง ทั้งๆที่เพื่อนบ้านมีมาก่อนหน้าเราตั้งหลายปี ผมว่าเราล้าหลังมากเมื่อเทียบกับเมื่อ 10-20 ปีก่อนที่เราเป็นแนวหน้าอย่างชัดเจน
เรื่องใกล้ๆ ตัว ก็อย่างสินค้าและบริการชั้นนำส่วนใหญ่จะไปลงที่สิงคโปร์อย่างเช่น Apple เป็นต้น แม้กระทั่ง EA ที่เคยมีสำนักงานในไทยยังต้องปิดตัวลงเพราะปัญหาด้านละเมิดลิขสิทธิ์
Get ready to work from now on.
คือ ปัญหาในไทยมีอยู่ แต่ปัญหาที่ต่างประเทศเขาก็มีไม่น้อยนะครับ
แต่ประเด็นคือ ที่ว่าไทยตกต่ำ และกำลังพัฒนาอย่างล่าช้าเมื่อ "เทียบกับ" ประเทศเพือนบ้าน นั้นคือประเด็นที่หลายคนโต้แย้งครับ
ผมเดินทางไม่ถึงกับมาก แต่ก็เริ่มไปหลายที่ เคยได้ยินคำบอกเล่ามานานว่าถนนในไทยนั้นดีกว่าต่างประเทศมากแบบชนิดถนนตามชนบทที่กันดาร แต่สภาพถนนดีกว่า highway ของเพื่อนบ้านแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลย
ซึ่งถนนนี่ชีวัดความเจริญได้นะครับ และเป็นเส้นทางนำพาความเจริญ ความสะดวก เศรษฐกิจ
ตัวผมเองมักจะไม่ได้วิ่งถนนเส้นใหญ่มากนัก google map แนะนำเข้าตรอกซอกซอยตามชนบทที่ไหน ผมก็ไปครับ ทุกครั้งที่เดินทาง ผมจะเห็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ คอยบำรุงถนนเป็นระยะ ๆ ทุกครั้งไป มีการสร้างใหม่ ปรับปรุงตลอด
ผมว่าโครงสร้างพื้นฐานพวกนี้ ทำให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และจะมีอัตราความก้าวหน้ารวดเร็วขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปด้วย
เพจตัวอย่างผลงานถ่ายภาพ / วีดีโอ
ถ้าเรื่องถนน ปีนี้ผมได้ไปเมดานมา เป็นเมืองใหญ่อันดับ 4 ของอินโด อยู่บนเกาะสุมาตรา ผมเห็นถนนหลวงระหว่างจังหวัดแล้วรู้สึกว่าถนนประเทศเราดีกว่ามาก ถนนหลวงที่นั่นเป็น 2 เลนทำให้เวลาเดินทางไปเที่ยวใช้เวลามากเพราะรถเยอะแซงกันลำบากทำให้ทำความเร็วได้ไม่มาก แต่ในตัวเมืองก็มี 4 เลนเหมือนกัน
ผมแชร์การเดินทางใน Kuala Lumpur บ้างครับ พอดีเพิ่งไปทริปทำงานมากลางปี ถนนนี่รถติดนรกแตกพอๆ กับกรุงเทพ แต่แย่กว่าเพราะมีแค่ 2-3 เลน เลี้ยวผิดก็ชีวิตจบ อ้อมกันเป็นกิโลๆ.....ด้วยความเร็ว 5 กม./ชม. แถมไม่มีถนนเส้นตรงเลยสักเส้น (อันนี้อาจเพราะสภาพภูมิประเทศเองแหละ)
ส่วนขนส่งสาธารณะก็ไม่ได้ดีกว่ากัน อะไรที่วิ่งบนถนน = ติดแหงกหมด ส่วนรถ Monorail ก็มีสารพัดสายยิ่งกว่าบ้านเราเยอะ ไม่เชื่อมกันด้วย แต่ไม่มีโอกาสได้ลองสัมผัสว่าเป็นไง
ส่วนถนน ตจว. ได้แวะไป Putrajaya ระหว่างทางก็โล่งดีครับ พอๆ กับบ้านเราแหละ
เรื่องผลประโยชน์การเมืองงี่เง่าซ้ำซากลาวเค้าไม่ได้ดีไปกว่าไทยหรอกครับ
โหดกว่าอีก แต่อุปส์...
ສະບາຍດີ :)
เดี่ยวนี้ Internet เร็วขึ้นยังหว่า เคยไปแล้วลองความเร็วหลักหน่วย Mbps อยู่เลย แถมแบ่งใช้ทั้งสำนักงาน น่าจะเกินครึ่งร้อยเครื่องเลย
ครั้งหลังสุด (เมื่อสองปีที่แล้ว) ผมเห็น FTTH 30/3 ของ Beeline ราคาประมาณ 10,000 บาทไทยต่อเดือนครับ ตอนนี้น่าจะลงมาบ้างแล้วหล่ะครับ
ปัญหาคือเชื่อมต่อได้จริง แต่เน็ตไม่วิ่งนี่สิครับ
ผมซื้อ Laos Telecom มาใช้ขึ้น 3G สัญญาณเต็ม แต่เล่นเน็ตความเร็ว GPRS บ้านเราชัดๆ
เคยไปพักที่โรงแรม เปิดเน็ตเล่นดูก็ เปิดปุ๊มาปั๊บอยู่น่ะครับ
อาจจะไม่เร็วมาก แต่ผมว่าเร็วกว่าพวกหอพักที่ผมเคยอยู่ในไทยเอาการล่ะครับ
ว้าว มี First Choice ด้วย
เผยแพร่การเป็นหนี้ทั่วAECซินะ
เห็นคนลาวหลายคนพิมพ์ไทยได้ รู้สึกว่าโอ้ ไม่งงเหรอพิมพ์ทั้งไทยทั้งลาว ตัวมันคล้ายกัน เหมือนคนไทยที่พิมพ์เป็นทั้งปัตตะโชติ เกตุมณี
แอพมือถือบางตัวของผมมีคนลาวใช้งานเยอะพอตัวเลยนะครับแสดงว่าคนลาวอ่านไทยได้เยอะอยู่แถมสนใจอะไรคล้ายๆคนไทยด้วย
ดูเหมือนสำนวนและการใช้ภาษาของเค้า เหมือนบ้านเรามากเลย เช่น จำหน่าย สินค้า บริษัท จำกัด ซึ่งรู้สึกว่าคำพวกนี้มีที่มาของมันเหมือนกัน แต่ดีครับ..รู้สึกอบอุ่นดี เป็นประเทศเดียวในโลกที่เข้าไปแล้วสื่อสารกันรู้เรื่อง :D
ภาษาลาวนี่เหมือนเหนือกับอีสานบ้านเราปนกันครับ ผมพูดได้ทั้งสองภาษา แทบจะคุยกับเขารู้เรื่องหมดแล้ว ส่งนตัวหนังสือก็พอจะเดาออก คล้ายบ้านเราทีเดียว เห็นชัดว่ามีรากฐานภาษาจากแหล่งเดียวกันแน่นอนครับ
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
เสียดายที่ในทางประวัติศาสตร์ไม่ค่อยจะญาติดีกันเท่าไหร่ ลาวเลยสนิทใจกับเวียดนามมากกว่าไทย
เคยได้ยินว่าเคยมีการรณรงค์ให้คนลาวใช้ภาษาลาวอยู่นะครับเห็นว่ารับสื่อหนังเพลงจากไทยมากๆแล้วทำให้ใช้ภาษาปนกันจนอาจจะลืมภาษาท้องถิ่นไป
น่าสนใจที่คนลาวส่วนใหญ่อ่านไทยออก แถมมือถือยังพรีโหลดดิกภาษาไทยมาอีกต่างหาก ผมรู้สึกว่ารู้จักลาวน้อยมากเลย
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ผมเหมือนกัน รู้จักลาวน้อยมาก
แต่ตกใจกับตัวเองที่อ่านภาษาลาวค่อนข้างรู้เรื่อง
ไม่ใช่แค่คนไทยรู้จักลาวน้อยนะครับ แต่เรารู้จักเพื่อนบ้านรอบๆ เราน้อยมาก กลับกันเข้ารู้เรื่องเรามากพอสมควร ผมไม่รู้ว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้คนไทยสนใจเพื่อนบ้านตัวเองน้อยขนาดนี้
จริงแฮะ จะเปิดอาเซียนละ ผมรู้จักประเทศรอบข้างน้อยจริง ๆ รู้จักแต่ญี่ปุ่นกับจีน แล้วก็ข้ามไปยุโรป อเมริกาเลย
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
เคยคิดอยู่เหมือนกันครับว่าเรารู้จักญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อเมริกา ประวัติศาสตร์ยุโรป ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซี่ยนซะอีก
ตอนผมไปเมื่อกลางปียังไม่มี Major เลย
ปล. จาก Vientiane Center ไป Dongdok นี่ไกลนะครับ
เห็นมีเกี่ยวกับโอเปอเรเตอร์หน่อยนึง สรุปมี 5G ใหมครับ (เห็นแชร์กันบ่อยๆ), แล้วถ้ามีค่าบริการเป็นอย่างไรบ้างครับ หรือถ้าไม่มีพวกค่าบริการ โปรโมชั่นแพงใหมครับ
ขอบคุณครับ
เดี๋ยวนะ 5G มาจากไหนนนน ไม่มีครับ ตอนนี้มีแค่ 4G ตามเมืองใหญ่ๆ
ส่วนค่าบริการก็ประมาณนี้ครับ
ซิมอินเตอร์เน็ต
1GB / 1 วัน / 22 บาท
1.5GB / 7 วัน / 44 บาท
5GB / 30 วัน / 220 บาท
15GB (ใช้หมดแล้วสามารถใช้ต่อได้ไม่จำกัดที่ความเร็ว 512kbps) / 30 วัน / 660 บาท
30GB (ใช้หมดแล้วสามารถใช้ต่อได้ไม่จำกัดที่ความเร็ว 512kbps) / 30 วัน / 1,100 บาท
ซิมเติมเงิน
25MB / 1 วัน / 4.4 บาท
125MB / 1 วัน / 22 บาท
250MB / 30 วัน / 44 บาท
1.25GB / 30 วัน / 220 บาท
2.5GB / 30 วัน / 440 บาท
ซิมรายเดือน
1.25GB / 30 วัน / 220 บาท
3.75GB / 30 วัน / 660 บาท
12.5GB / 60 วัน / 2200 บาท
20GB / (จำไม่ได้) / 3524 บาท
ทั้งหมดที่ว่ามาคือแพ็กเกจสำหรับ 4G/3G ของลาวเทเลคอม (Lao Telecom) นะครับ
ส่วนมากที่นี่จะใช้ซิมเน็ตมากกว่า เพราะราคาไม่แพง
คิดถึงจัง ไม่ได้ไปนานและ เจริญขึ้นเยอะเลย ตอนนั้นยังไม่มี Major เหมือนกันนะ
หาเรื่องไปเที่ยวดีกว่า อิอิ
"ตอนนี้ขายอยู่ 4,550,00 กีบ" >> ตอนนี้ขายอยู่ 4,550,000 กีบ
Anouluck พาทัวร์มิน่าละถึงบอก Lumia ขายดี 555 ผมก็ใช้
ສະບາຍດີ :)
อ่านมาถึงบรรทัดที่กล่าวถึง Nokia/Microsoft ถึงกับลั่น :D
ยินดีด้วยครับ ขณะที่ในไทยเพิ่งปิดศูนย์ซ่อมสุดท้ายไป ตอนนี้ผมยังไม่รู้ชะตากรรมแบต 930 ที่สั่งแบบจ่ายเงินก่อนของผมเลยครับ orz สั่งก่อนมีประกาศปิดแป๊บเดียวเอง
ตามที่สังเกตที่นี่คนเข้าร้านมาเลือกซื้อมีมาอยู่เรื่อยๆ ครับ ส่วนที่เจอคนใช้บ่อยๆ นี่นักเรียนนักศึกษาข้อนข้างเยอะ ไม่เน้นแอพตามกระแส แค่ใช้ติดต่อสื่อสารกับครอบครัว แต่ถ้ามีโอกาสเมื่อโตอีกนิดพ่อแม่ก็จะซื้อ iPhone ไม่ก็ SS แล้วแต่กำลังเงินครับ ส่วน flagship ของ Windows นั้นไม่ค่อยมีใครสนใจนอกจากแฟนตัวจริง
ສະບາຍດີ :)
ภาษาไกล้เคียงกันมากแม้ว่าจะไม่ได้เรียนภาษาลาวมาก่อน แต่มองแป๊ปเดียวก็อ่านออกเฉยเลยแฮะ = =")
ทำให้นึกถึงสมัยเมื่อยังเรียน มัธยม ที่มีมือถือแบบว่าคุยกันข้ามวันข้ามคืน เพื่อนๆ แข่งกันลำโพงดังสุด 8-9 ลำโพง เปิดกันสนั่นลั่นห้องเรียน มือถือในบ้านเราที่จะทำแบบนี้ได้ต้องลงทุนหน่อย แต่สำหรับผมแล้วข้ามไปฝั่งลาว หาซื้อมือถือของพี่จีนนั้นแหละมาแข่งกับเพื่อน ราคาไม่ต้องพูดถึงต่อเหมือนผักในตลาด แอบเอามาขายต่อก็กำไรงามแต่เสี่ยงไปหน่อย พอมาถึงยุคสมาร์ตโฟน วัฒนธรรมการใช่ก็เปลี่ยน แค่ของก็อปก็หาง่ายเช่นเดิม. เมื่อก่อนก็รู้จักเพื่อนคนลาวเยอะ ข้ามฝั่งมาเที่ยงไทย มาช็อปปิ้งทีหอบกลับเป็นกะบะ เรื่องโทรศัพท์ก็ได้สมาร์ตโฟนจากบ้านเรานี่แหละกลับไป. ปัจจุบันก็อย่างที่เห็นเทคโนโลยีพัฒนาไปเยอะแค่เวลาสั้นๆ ถ้าพูดถึงเรื่องเน็ต 3G, 4G แพคเกจก็ไม่ต่างจากบ้านเรา แพงและโหดมากสำหรับผม บ้านเรามีโปรน่าสนใจกว่าเยอะ แต่แพคเกจแอร์การ์ดถูกได้ใจมาก. สัญญาณในเมืองถือว่าโอเครเลย [แต่บ้านเราดีกว่านะในมุมมองผม] นอกเมืองตามหมู่บ้าน. ต่างอำเภอมีเป็นหย่อมๆ ไม่ครอบคลุมเหมือนบ้านเราเพราะในเรื่องประชากรการใช้งานด้วย. แต่นอกเมือง(ลาวใต้ปีที่แล้วไปเที่ยวมา)ที่เจอบ่อยสุดคือเวลาเล่นเน็ต ช้าขาดๆ หายๆ สัญญาณเต็มแต่เน็ตแบบ E มั้งไรไงทำให้หงุดหงิดพอควร
เคยไปแต่ก็หลายปีแล้ว จากประสบการ์ณเจอของปลอมเกลื่อนเลย พิมพ์ยี่ห้อเครื่อสะกดตรงกันทุกตัว คือตั้งใจปลอมเลย คาดว่าทะลักมาจากจีน ไม่รู้ทุกวันนี้ดีขึ้นหรือยัง -..-'
my blog
ถ้าไปร้านเล็กๆจะเจอของปลอมเยอะครับ ตอนนี้ตัวแทนจำหน่ายของแต่ละยี่ห้อมีเหมือนกับไทยนั่นแหละ ถ้าจะดูมือถือแนะนำให้เข้าร้านใหญ่ๆ และเป็นที่รู้จักดีกว่า
Font ภาษาลาวดูไม่ค่อยหลายหลายนะครับ รักษาหัวกลมหางงอทุก font เลย
ไม่เหมือนภาษาไทย ดัดแปลงเสียจนอย่างกับเขียนด้วยอักษรภาษาอื่นแบบ Inwๆ
น่าจะยังไม่มีคนมาดูตรงนี้นะครับ ของไทยเรามีองค์ความรู้ด้าน Typography มานานพอสมควรแล้ว และยิ่งช่วงหลังๆ มีการทำฟ้อนต์ฟรีแจกเลยทำให้มีการพัฒนาไปค่อนข้างมาก
ถึงไม่มีความรู้ด้าน Typography จริงๆ แต่ font ประเภทลายมือเขียนหรือตัดทอนรายละเอียดลงก็น่าจะมีบ้างนะครับ
คนไทยกับคนลาวใกล้เคียงกันมาก ทั้งภาษาและวัฒนธรรม ผมคิดว่าถ้าเป็นไปได้น่าจะรวมประเทศกัน
กำลังรวมเป็นประเทศอาเซียนอยู่ แต่คงอีกยาวไกล 30+ปี
ถ้าบอกว่ากับคนอีสานพอได้ คนไทยภาคอื่นคงไม่ใช่ อย่างใต้นี่ใกล้เคียงกับมาเลย์มากกว่า