Blognone เคยรายงานข่าวของกองทุน 500 TukTuks ซึ่งเป็นกองทุนลูกของ 500 Startups จากซิลิคอนวัลเลย์ ที่เน้นลงทุนสตาร์ตอัพในประเทศไทยไปแล้ว
สัปดาห์นี้ผมมีโอกาสได้คุยกับคุณ Dave McClure ผู้ก่อตั้ง 500 Startups ต้นฉบับจากสหรัฐอเมริกา ที่อยู่ระหว่างการเดินทางเยี่ยมกองทุนต่างๆ รอบโลกพอดี เลยนำข้อมูลจากการพูดคุยมาฝากกันครับ ระดับบิ๊กบอสมาเองรับรองเจ๋งแน่นอน (นามบัตรของเขาใช้ชื่อตำแหน่งว่า Sith Lord)
Dave McClure เคยเปิดบริษัท Aslan Computing ของตัวเองมาก่อนในปี 1994 และขายกิจการในปี 1998 จากนั้นเขามาเป็นผู้บริหารด้านการตลาดของ PayPal และถือเป็นหนึ่งในแก๊ง PayPal Mafia ที่ทรงอิทธิพลกับโลกไอทียุคหลังด้วย (ผมเคยเขียนเรื่อง PayPal Mafia ในไทยรัฐ เผื่อใครสนใจ)
หลังจากนั้น Dave หันมาทำงานด้านการลงทุน เขาลงทุนในสตาร์ตอัพชื่อดังหลายแห่ง (เช่น เว็บบริหารการเงิน Mint.com และ SlideShare) รวมถึงบริหารกองทุน Facebook fbFund ในปี 2009 ก่อนจะมาเปิดบริษัทลงทุนของตัวเองชื่อ 500 Startups ในปี 2010
500 Startups ถือเป็นโครงการลงทุน-บ่มเพาะ หรือที่เรียกกันว่า accelerator ระดับ Top 3 ของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ Y Combinator และ Techstars ทั้งสามโครงการมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงมากมาย ตัวอย่างศิษย์เก่าของ 500 Startups ได้แก่ MakerBot, Udemy, GrabTaxi
นโยบายของบริษัทลงทุนในสหรัฐแต่ละบริษัทนั้นต่างกัน อย่าง Y Combinator ที่โด่งดังมากๆ จะโฟกัสเฉพาะซิลิคอนวัลเลย์เท่านั้น (กฎของโครงการ YC คือใครก็สมัครได้ แต่สมัครแล้วต้องไปอยู่ที่ซานฟรานซิสโกระยะหนึ่งด้วย)
แต่แนวทางของ 500 Startups นั้นต่างออกไป เพราะเน้นการลงทุนสตาร์ตอัพนอกสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก ปัจจุบัน 500 Startups มีกองทุน 500 นอกอเมริกาทั้งหมด 8 กอง ลงทุนในบริษัทมากกว่า 1,300 แห่งใน 50 ประเทศทั่วโลก
ผมถามที่มาของชื่อ 500 Startups ว่าเกิดขึ้นอย่างไร Dave บอกว่าตอนแรกก็แค่เลือกตัวเลขให้ดูเยอะๆ ไว้ก่อน แต่มาถึงตอนนี้ก็รู้สึกคิดผิดเพราะเลือกตัวเลขน้อยไปหน่อย (หัวเราะ)
ผมยังถามว่าทำไม 500 Startups ถึงเลือกออกไปบุกตลาดโลก ในขณะที่นักลงทุนในสหรัฐกลับไม่ค่อยสนใจนัก Dave ตอบแบบขำๆ ว่าคู่แข่งของเขาขี้เกียจมั้ง (หัวเราะ) แต่ก็บอกว่าโลกนอกสหรัฐมีโอกาสเยอะมาก หลายประเทศมีประชากรเยอะ โอกาสธุรกิจมหาศาล การที่เขาออกมาบุกตลาดนอกสหรัฐได้ก่อนใคร ถือเป็นความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
ปัจจุบัน 500 Startups ลงทุนกับบริษัทในสหรัฐประมาณ 70% ที่เหลือเป็นบริษัทนอกสหรัฐ แต่ระยะยาวจะพยายามปรับสัดส่วนเป็น 50:50
Dave ชี้ว่าจุดอ่อนของตลาดเกิดใหม่เทียบกับตลาดสหรัฐ อยู่ที่การ exit (การขายกิจการหรือเข้าขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์) ที่มูลค่ายังน้อยกว่าสตาร์ตอัพในสหรัฐมาก ความถี่ก็น้อยกว่า ซึ่งเขาหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไป ecosystem พร้อมมากขึ้น เราจะเห็นตลาดประเทศเกิดใหม่พัฒนาขึ้นตาม
แผนที่การลงทุนของ 500 Startups ประเทศสีดำคือกลุ่มเป้าหมายหลัก ส่วนประเทศสีเทาคือเคยลงทุนอย่างน้อย 1 บริษัท
Dave เล่าว่าเขามาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกในปี 2010 โดยมาที่สิงคโปร์ก่อน ภูมิภาคนี้มีประชากรเยอะ มีโอกาสเติบโตสูง และ 500 Startups ก็ได้พาร์ทเนอร์ชาวมาเลเซีย Khailee Ng มาช่วยบุกเบิกการลงทุนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างดี (Khailee บริหารกองทุนชื่อ 500 Durians ที่เน้นการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด)
Dave มองว่าผู้นำในตลาดสตาร์ตอัพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ถือเป็นกลุ่มที่กำลังมาแรงในช่วงหลัง คู่แข่งของเขาในตลาดนี้ไม่ใช่บริษัทลงทุนจากตะวันตก แต่เป็นนักลงทุนจากจีนและญี่ปุ่นที่บุกเข้ามายังตลาดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
วิธีการเลือกประเทศของ 500 Startups มองไปที่ขนาดของประชากร การเติบโตของ GDP และอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือของคนในประเทศ (mobile penetration)
Dave บอกว่าคนมักตื่นเต้นกับเทคโนโลยีล้ำๆ อย่างโดรนหรือรถยนต์ไร้คนขับ แต่นั่นอาจเป็นเทคโนโลยีที่จะเริ่มเห็นการใช้งานจริงในอีก 5 ปีข้างหน้า ในขณะที่ 500 Startups สนใจเทคโนโลยีของวันพรุ่งนี้ เขาสนใจเทคโนโลยีง่ายๆ ที่อาจดูไม่เซ็กซี่นัก แต่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนได้
500 Startups จะลงทุนในบริษัทที่นำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำงานได้ดีกว่าบริษัทเดิมๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เขายกตัวอย่างว่าร้านอาหารอาจนำแท็บเล็ตมาช่วยสั่งอาหาร ช่วยให้การจดออเดอร์ไม่ผิดพลาด และอาจมีระบบแนะนำเมนูอาหารว่าเพื่อนของเราเคยสั่งเมนูอะไรบ้าง เทคโนโลยีแบบนี้ไม่มีใครว้าว แต่ 500 Startups จะลงทุนในบริษัทแบบนี้ เพราะทำเงินได้จริง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น
เขาบอกว่าพยายามหลีกเลี่ยงเทร็นด์ด้านไอทีที่ดูดี แต่พูดชื่อแล้วไม่มีใครเข้าใจว่าจริงๆ มันคืออะไร เช่น Big Data หรือ IoT เราควรเจาะจงไปเลยว่าบริษัทนั้นเชี่ยวชาญเรื่องอะไรกันแน่ ไม่ใช่พูดแค่ว่าทำ Big Data ทุกคนว้าว แล้วจบกันไปแค่นั้น
wheels up #Bangkok awesome time with @Krating @natavudh Mameaw 500 TukTuks team & Thai startups! pic.twitter.com/vx55fNBa46
— Dave McClure (@davemcclure) December 22, 2015
Dave บอกว่านักลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาขาดความรู้ความเชี่ยวชาญมาก คนที่ต้องการความช่วยเหลือให้พัฒนาทักษะ จริงๆ แล้วคือนักลงทุนต่างหาก ไม่ใช่ผู้ประกอบการ
เมื่อนักลงทุนไม่มีความเข้าใจเรื่องสตาร์ตอัพ ทางออกในการลงทุนจึงหันไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ตัวเองเข้าใจมากกว่า เสี่ยงน้อยกว่า ในขณะที่นักลงทุนสถาบันก็สนใจลงทุนในสตาร์ตอัพช่วงที่เติบโตแล้ว (later stage investment) ไม่สนใจบริษัทหน้าใหม่มากนัก
ปัญหานี้ทำให้บริษัทเกิดใหม่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน การจะไปหวังพึ่งนักลงทุนรายย่อย (angel investor) ก็ไม่ง่าย เพราะ angel มีเงินจำกัด ลงทุนในบริษัทได้ไม่เยอะนัก อย่างเก่งก็ 5-10 บริษัทเท่านั้น กองทุนแบบ 500 Startups จึงต้องการปิดช่องว่างนี้ โดยลงทุนในบริษัทหน้าใหม่จำนวนมากๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่า angel และช่วยสนับสนุนให้สตาร์ตอัพหน้าใหม่มีโอกาสเติบโตในช่วงแรกๆ ของกิจการ
เป้าหมายของ 500 Startups คือบริษัทประมาณ 20-30% ของที่ลงทุนสามารถ exit ได้ และบริษัทประมาณ 5-10% สามารถทำ big exit เช่น การขายกิจการหรือขายหุ้นในราคาแพงได้ ตอนนี้กองทุนเพิ่งเปิดมา 5 ปี อาจยังไม่เห็นผลมากนักว่าทำได้ดีแค่ไหน
ปิดท้ายบทสัมภาษณ์ด้วยสไลด์ของ Dave ครับ (เขามีสไลด์อีกมาก ใครสนใจตามไปดูได้ใน SlideShare)