TakeMeTour เป็นสตาร์ตอัพด้านการท่องเที่ยวของไทยที่กำลังมาแรงอีกราย บริษัทนี้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย dtac Accelerate Batch 3 รูปแบบคือเป็นตลาดกลางสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในการหาไกด์ท้องถิ่นพาเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง (ในแถบเอเชียเองก็มี Triip.me ของเวียดนาม ที่ทำแบบเดียวกัน)
Blognone มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณอมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ (ต้า หรือ ทาโร่) ผู้ก่อตั้ง TakeMeTour เกี่ยวกับที่มาที่ไปของบริษัท โมเดลธุรกิจ และแผนการในอนาคต น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจสตาร์ตอัพในสายท่องเที่ยวครับ
TakeMeTour เกิดขึ้นจากการตอบสนองความต้องการของตัวเอง เพราะผู้ก่อตั้งทั้งสองคน นพกับต้า เป็นคนชอบเที่ยว เวลาที่เราไปเที่ยวเมืองไหนก็จะติดต่อเพื่อนที่รู้จักให้พาเที่ยว แต่พอบางครั้งไปในเมืองที่เราไม่มีเพื่อนอยู่เลยและต้องเที่ยวด้วยตัวเอง เราเลยค้นพบว่าสิ่งที่ได้จากการที่มีเพื่อนพาเที่ยว มันให้อะไรมากกว่า เพราะไม่ใช่แค่ไปในสถานที่ท่องเที่ยวหลัก แต่เรายังได้ไปสัมผัสความเป็นท้องถิ่นจริงๆ ได้มีเพื่อนที่คอยเล่าถึงความเป็นไปของเมือง เรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของเมืองนั้นๆ ได้กินของอร่อยราคาถูกที่ไม่ใช่ร้านสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป
เราจึงกลับมาคิดกันว่า เฮ้ย การเที่ยวในรูปแบบนี้น่าสนใจนะ แต่ข้อจำกัดคือไม่ใช่ทุกคนจะมีเพื่อนในทุกเมือง เราเลยพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเป็นตัวกลางคอยเชื่อมนักท่องเที่ยวกับคนท้องถิ่นด้วยกัน
TakeMeTour เริ่มจากการติดต่อนักเรียนไทยในต่างประเทศให้เป็นคนพาเที่ยว แล้วเชื่อมต่อกับคนไทยที่ต้องการไปเที่ยวในประเทศนั้นๆ ตอนนั้น ต้าเองกำลังเรียนอยู่แถวยุโรปด้วยพอดี ก็เลยเริ่มต้นง่ายๆ จากหาเพื่อนมาเป็นคนพาเที่ยว
หลังจากทำมาได้ระยะหนึ่ง เราก็เริ่มเห็นถึงความยากในการขยายธุรกิจ เพราะทุกอย่างต้องทำด้วยมือกันหมด ไม่มีระบบอัตโนมัติช่วย เลยคิดว่าต้องทำแพลตฟอร์มในเว็บไซต์ให้ระบบมันเดินได้ด้วยตนเอง ในลักษณะของ Marketplace
เราเลยไปทาบทามมือ dev เทพนามว่า ปันเจ (CTO) มาร่วม แต่ก็พบปัญหาต่ออีกว่าคนไทยอาจยังไม่คุ้นชินกับระบบอัตโนมัติแบบนี้ เลยตกลงกันว่างั้นเริ่มจากให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวในไทยก่อนแล้วกัน แล้วให้คนไทยเป็นคนพาเที่ยว นั่นแหละครับคือจุดเริ่มต้นของ TakeMeTour.com เวอร์ชั่นปัจจุบัน
ทีมงาน TakeMeTour ในปัจจุบัน
TakeMeTour ตอนนี้เป็น marketplace ครับ เราสร้างแพลตฟอร์มให้คนไทยที่อยากพาเที่ยว รู้เรื่องในพื้นที่ที่ตัวเองอยู่เป็นอย่างดี เข้ามาสร้างทริป 1 วันบนระบบของเรา โดยสามารถกำหนดไอเดียทริปได้เอง ตั้งราคาได้เองด้วย
หลังจากสร้างทริปเสร็จ ต้องผ่านการควบคุมคุณภาพจาก TakeMeTour ก่อนที่ทริปจะออนไลน์ให้นักท่องเที่ยวจองเข้ามา เราจะคิดค่า booking fee บวกขึ้นไป 10-30% จากราคาทริปที่คนพาเที่ยวตั้งไว้ ซึ่งจะเก็บจากนักท่องเที่ยว เมื่อไกด์พาเที่ยวเสร็จ ก็จะมีการให้รีวิวคุณภาพตามปกติครับ
ตอนนี้เราเรียกได้ว่าเป็น marketplace สำหรับ one day tour ที่ใหญ่ที่สุดในไทยครับ
เรามีจำนวนทริปในระบบกว่า 400 ทริป ครอบคลุม 32 จังหวัดในประเทศไทย มีคนลงทะเบียนเป็นคนพาเที่ยวกว่า 7,000 คน และมีทริปที่รอตรวจสอบคุณภาพอีกประมาณ 900 ทริป
ยอดการ book เข้ามาในแต่ละวันจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 ทริป ถือว่ายังไม่มาก ในขณะเดียวกัน เรากำลังเริ่มขยายการทำตลาดออกไป เร็วๆ นี้น่าจะได้เห็นแคมเปญน่าสนใจเพิ่มเติม เช่น ตอนนี้เรากำลังเริ่มทดสอบแคมเปญกับ dtac Tourist Sim ที่นักท่องเที่ยวมาซื้อซิมมือถือกับ dtac แล้วจะได้รับ SMS เพื่อเข้าจองทริปกับ TakeMeTour โดยเน้นไปที่เมืองยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มีสนามบินนานาชาติ โดยเราจะเสนอทริปที่สามารถเดินทางไปกลับได้ในวันเดียว
มีหลายเคสที่เราอยากเล่าให้ฟัง ทั้งในด้านคนพาเที่ยวและนักท่องเที่ยว อันนึงที่เจ๋งคือเป็นทริปพาไปชกมวยที่ค่ายมวยของคุณบัวขาว
นักท่องเที่ยวจองทริปเข้ามาตามปกติ แต่ก็ติดต่อมาหา Customer Support ของเราเอง เพราะอยากให้เราช่วยพาไปเจอบัวขาว นักท่องเที่ยวบอกว่าลูกชายเค้าคลั่งไคล้บัวขาวมากๆ และตรงกับวันเกิดลูกเค้าด้วย จึงอยากเซอร์ไพร์สเป็นของขวัญวันเกิด
เราเลยประสานกับคนพาเที่ยวให้เช็คตารางของบัวขาว โชคดีว่าบัวขาวอยู่ที่ค่ายในวันนั้นพอดี ทริปนี้ก็จบด้วยการที่ลูกชายของเค้าถูกเตะซะน่วม เอ้ย ได้ถ่ายรูปกับบัวขาวอย่างมีความสุขกันไปครับ
เราเพิ่งปิดรอบการลงทุนมาสดๆ ร้อนๆ กับทาง 500TukTuks, dtac Accelerate และคุณต๊อบจากเถ้าแก่น้อย เป้าหมายคือเตรียมแผนรุกตลาดให้หนักขึ้นกว่าเดิม รวมถึงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีในเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น และพัฒนาคุณภาพของทริปในระบบให้มีความโดดเด่นมากขึ้น
ภายในปลายปีนี้ถึงกลางปีหน้า เราจะเริ่มขยายบริการออกไปในย่าน ASEAN เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า และเวียดนาม
Comments
ทุกจังหวัดไหม
ยังไม่ทุกจังหวัดครับ ต้องไปสมัครเป็นคนนำเที่ยวก่อน
มีประเด็นด้านกฎหมายไหมครับ เช่น พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ระบุว่า
การเป็นมัคคุเทศก์จะต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่ทางราชการกำหนด ซึ่งหลักสูตรแต่ละประเภทของบัตรมัคคุเทศก์ จะกำหนดวุฒิการศึกษาไว้ต่าง ๆ กัน แต่คุณสมบัติสำคัญ คือ ต้องเป็นคนสัญชาติไทย และอายุตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี พระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยทั่วไปจะให้ความสำคัญแก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะอาชีพมัคคุเทศก์ เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทยเท่านั้น และป้องกันการประกอบการนำเที่ยว ที่ไม่มีคุณภาพและมาตรฐานตามที่กฎหมาย กำหนดจึงได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า
1. ห้ามจัดนำเที่ยวโดยไม่มีใบอนุญาต หรือ ประกอบการในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต
2. ห้ามทำหน้าที่มัคคุเทศก์ โดยไม่มีใบอนุญาต หรือ ปฏิบัติงานระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาต
3. จะต้องไม่ปฏิบัติผิดกฎเกณฑ์อื่นๆ ที่วางไว้ เช่น จ้างมัคคุเทศก์ไม่ตรงประเภท, เป็นมัคคุเทศก์
แต่ไม่ติดบัตรขณะปฏิบัติหน้าที่, แต่งกายไม่สุภาพ, ประพฤติผิดจรรยาบรรณ อื่นๆ ฯลฯ
4. ใบอนุญาตของผู้ประกอบการนำเที่ยว ต้องแสดงไว้ในที่เปิดเผยให้บุคคลทั่วไปเห็นได้ชัด
เอาจริงๆ ผมก็ว่ามันผิดกฏหมายนั่นล่ะ
ไม่ได้เป็นมัคคุเทศก์ แค่เป็นบริการหาเพื่อนพาเที่ยว (ผิดด้วยเหรอ ฝรั่งมีเพื่อนอยู่เมืองไทย มาเมืองไทยก็เลยให้พาเที่ยวหน่อย แค่เพื่อนที่ว่า เพื่อนใหม่ เพิ่งเจอกัน อิอิอิอิ)
ไม่ผิดครับ ครับให้เพื่อนใหม่พาเที่ยว แต่เพื่อนคนนี้เก็บตังค์น่ะสิ อืมมม์
กำลังจะมาเมนต์ถามแบบนี้เลย จำได้มีช่วงนึงดราม่าไกด์เถื่อนเยอะมาก เช่นทัวร์จีนที่เอาทัวร์จากประเทศตัวเองมาลงที่ไทย คนจีนก็เป็นไกด์เองเลย คุณภาพก็แย่ (พูดประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต บ้านเรามั่วไปหมด) แถมยังมาแย่งงานไกด์ไทยอีก เห็นไกด์ถูกกฏหมายโอดครวญกันใหญ่ว่าสอบแทบตายโดนแย่งลูกค้าไปดื้อ ๆ
กรณีนี้ถึงจะเป็นคนท้องถิ่น แต่ก็ใช่ว่าจะพูดถึงประวัติอะไรต่อมิอะไรถูกต้องนะ บางทีคนท้องถิ่นก็เอาข้อมูลจากที่พูดต่อ ๆ กันมามาพูดให้ฟัง ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อะไรเลย หรือบางทีก็ข้อมูลเก่า มีหลักฐานมาหักล้างไปแล้ว
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ผมว่ามันออกจะ สีเทาๆนิดๆ คล้าย Uber ในตอนแรก
คือกฏหมายไม่รองรับ
แต่ก็สามารถดำเนินธุรกิจไแเรื่อยๆจนกว่าจะ Drama
แล้วกฏหมายก้เข้าไปชงแก้กันทีหลัง
ตามไสตล์ ไทยแลนด์ ครับ กฏหมายตามหลังเทคโนโลยี
ไอเดียดีมากครับ
That is the way things are.
จัดนำเที่ยวโดยไม่มีใบอนุญาตมันผิดกฏหมายปะครับ ธุรกิจสีเทาแบบนี้ไม่ค่อยโออะ
ต้องแยกให้ออกครับ ไกด์พาเที่ยว กับเพื่อนพาเที่ยว คนละเรื่องนะครับ ไกด์พาเที่ยวมันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และเพื่อนพาเที่ยวมันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง คิดดี ๆ
เพื่อนผมพาเที่ยวผมไม่เคยต้องจ่ายเงินค่าพาเที่ยวนะครับ ยกเว้นตอนเลี้ยงข้าวมัน
ถึงจะบอกว่าเพื่อนพาเที่ยว แต่เก็บเงินด้วย มันก็คือไกด์แหล่ะครับ ถ้าว่าตามกฎหมายยังไงก็ผิด เป็นธุรกิจสีเทาจริงๆแหล่ะ(เดี่ยวนี้มีเยอะเช่น Uber) แล้วไหนจะเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวล่ะครับ
เรียกว่า กฏหมายไทย ตามไม่ทันมากกว่า โลกมันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว
ถ้าเก็บตังด้วยก็ไม่ใช่เพื่อนพาเที่ยวแล้วครับ
ถ้าให้ไกด์ที่ถูกกฎหมายมาสมัครนำเที่ยวก็น่าจะไม่ผิดอะไรนะครับ
ผมว่าก็เหมือนกับ Uber , AirBNB นะครับ อารมณ์เดียวกันเลย เป็น Central App Service Hub
แบบนี้ต่างจากไกด์เถื่อนตรงไหนครับ
ผมว่าบางทีไม่ใช่กฎหมายจะต้องตามให้ทันยุคเสมอไปหรอกนะครับ
ธุรกิจใหม่ๆก็ควรศึกษาเรื่องกฎหมายบ้างนะ ยังไงกฎหมายก็ตรามาก่อน และเรื่องไกด์นี่เป็นปัญหาระดับชาติเลยนะครับ
เพราะลำพังปัจจุบันก็มีคนต่างชาติที่แฝงตัวมาทำหน้าที่นำเที่ยวแบบนี้ล่ะให้คนจากชาติตัวเอง
และยังมีไกด์ที่ไม่ได้มีใบประกอบวิชาชีพตามกฎหมายแฝงตัวอยู่เยอะแยะมากมายเลยครับ
ถ้าเป็นเว็บให้ไกด์ที่ขึ้นทะเบียนแล้วมาเสนอขายแพคเกจทัวร์น่าจะสมควรกว่านะครับ
"ถ้าเป็นเว็บให้ไกด์ที่ขึ้นทะเบียนแล้วมาเสนอขายแพคเกจทัวร์น่าจะสมควรกว่านะครับ"
เห็นด้วยครับ แต่บางทีก็เห็นใจนักท่องเที่ยวที่เจอไกด์ไม่น่าเชื่อถือ หลอกพ่วงให้ซื้อนั่นนี่กับร้านที่ co ไว้
ส่วนตัว เห็นไม่ต่างจาก Uber, AirBnB บริการสีเทาๆ
ถ้านักท่องเที่ยวเจอไกด์ตัวจริง แล้วไม่ประทับใจอะไร
ก็ใช้เว็บนี้ comment ก็ได้นี่ครับ มี verify comment ว่าเคยเป็นผู้ใช้บริการจริง
ก็น่าเชื่อถือมากขึ้นแล้ว
ทำไมมองแบบนั้นไปได้ล่ะครับ ผมว่าถ้าเจอไกด์เถื่อน ไม่มีใบประกอบฯ แล้วก็หลอกพาไปฟันหัวแบะน่าจะยิ่งแย่กว่านะครับ
ส่วนตัวคิดว่านอกจากจะผิดกฏหมาย พระราชบัญญัติธุรกิจนําเที่ยวและมัคคุเทศก์พ.ศ.๒๕๕๑
ในแง่ความปลอดภัยบริการนี้อันตรายมากครับ เพราะใช้แค่ชื่อยังใช้แบบตั้งมามั่วๆ หรือชื่อย่อได้เฉยเลย คือมีโอกาศที่ไกด์จับตีหัวแล้วอุ้มหายไปได้ง่ายๆ เลย = =")
Taxi ก็เช่นกัน โดนกันสารพัดถึงขนาดคนขับช่วยตัวเองก็มีมาแล้ว
คอร์สพาเที่ยว 2000 บาท ทางเวบหัก 10-30% สมมุติหัก 30% เลยอ่ะ เท่ากับว่า คนนำเที่ยวได้ 1400 บาท ทีนี้มันมีช่องโหว่ครับ เพราะลูกค้า สามารถติดต่อ chat กับ คนนำเที่ยวได้ ถ้าเค้าไปตกลงกันลับหลัง เป็นต้นว่า คนนำเที่ยวบอก ผมคิด 1400 บาท ลูกค้าก็ ok เพราะจ่ายถูกลง ส่วนคนนำเที่ยว ไม่ว่าจะ "ผ่านเวบ" หรือ "ไม่ผ่านเวบ" ก็ได้เท่าเดิมอยู่แล้ว แบบนี้ตัวเวบจะได้อะไรครับ
ผิดกฏหมายเต็มๆครับ เช็คแล้ว ถ้าไม่มีบัตรไกด์นะ
เห็นว่า ททท สนับสนุนนะครับตอนนี้สนับสนุน สตาร์ตอัพด้านการท่องเที่ยวของไทยหลายเจ้าเลยครับนี่ traveligo ก็ด้วยผมเห็นว่าเป็นสิ่งดีนะครับแถมได้เงินใช้ด้วย คนไทยควรช่วยกันสนับสนุน