AMD รับช่วงทีมพัฒนาจากทางซันยกทีมเลยครับงานนี้ โดยถึงกับมีการเปิดศูนย์ออกแบบใหม่ในบอสตัน เพื่อรองรับทีมใหม่ที่จ้างเข้ามาเกือบ 60 คน
ทางซันเองเป็นผู้ปล่อยเกาะทีมพัฒนาชุดนี้เนื่องจากทางซันก็ลดการออกแบบชิปใหม่ๆ ลงไปมากแล้ว เช่นการยกเลิกการพัฒนา UltraSparc V สำหรับเหตุผลนั้น เข้าใจว่าทางซันเริ่มทำใจได้แล้วกับกระแส X86 ที่ไม่มีใครต้านมันอยู่ แม้ว่ามันจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบ CISC ซึ่งมีการพิสูจน์แล้วว่าช้ากว่าสถาปัตยกรรมแบบ RISC ที่ใช้อยู่โดย PowerPC ของ IBM ที่ใช้รันเครื่องแอปเปิลทุกวันนี้ และ UltraSparc ของซันเอง
ซันนั้นคงเริ่มทำใจได้กับการอำลาความยิ่งใหญ่ในอดีตของตนเองและเข้ามาสู่กระแสโลกปัจจุบัน โดยน่าจะเข้ามาใช้ X86 มากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งช่วงหลังๆ ซันเริ่มผูกมิตรกับค่ายโอเพ่นซอร์สอย่างจริงจัง
สำหรับทางฝั่ง AMD นั้น การซื้อทีมพัฒนาชุดนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เนื่องจากมีการเปิดศูนย์พัฒนาในช่วงหลังอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะคู่แข่งหลักคือ Intel นั้นใช้งบประมาณในการพัฒนาและวิจัยจำนวนมหาศาลกว่ามาก AMD จึงต้องไล่บี้อย่างไม่ลดละ เพราะตลาดนี้ไม่มีที่ว่างสำหรับที่สองอยู่แล้ว (ประโยคเด็ดจาก Antitrust) ซึ่งทาง AMD มีการเปิดศูนย์วิจัยในญี่ปุ่น และอินเดีย เมื่อไม่นานมีนี้เอง
ในตอนที่ผมอ่านหนังสือเรียนนั้น ผมจำได้ว่าสถาปัตยกรรม SPARC นั้น เป็นสถาปัตยกรรมที่เจ๋งมากๆ อันหนึ่ง ในยุคเริ่มต้นของไมโครโพรเซสเซอร์นั้น คงเรียกได้ว่าไม่มีใครทาบรัสมีสถาปัตยกรรมตัวนี้ได้เลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่โลกของเรานั้น การตลาดนำวิศวกรรม ทำให้เทคโนโลยีดีๆ หลายตัวขายไม่ได้ และตายไปจากโลกนี้ในที่สุด
ความจริงแล้วทาง Intel ก็เคยสนใจในสถาปัตยกรรมแบบ RISC เช่นกัน ในสมัยที่มีการพิสูจน์ได้ใหม่ๆว่า RISC เร็วกว่า CISC ทาง Intel ก็ยอมรับ และทำ RISC ออกมาขายในชื่อ i86 แต่ขายไม่ออก เนื่องจากกระแสของตลาดนั้นยอมรับ X86 เป็นมารตรฐานไปแล้ว Intel ขาย i86 อยู่ช่วงหนึ่งจนทาง Compaq ต้องออกมาขอให้เลือกเอาอย่างหนึ่ง เพื่อให้ตลาดมีความชัดเจน
เรื่องราวของ RISC ใน Intel สามารถหาอ่านได้ในหนังสือ Only The Paranoid Survive โดย Andrew S. Grove
ที่มา theINIQUIRER
Comments
ดูเหมือน G5 จะเป็นความหวังเดียวที่เหลืออยู่ของ RISC เลยหรอครับ