Tags:
Node Thumbnail

บทความโดย ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน)

เมื่อผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz รายหนึ่งไม่มาชำระเงินตามกำหนด เท่ากับสละสิทธิการใช้คลื่น ในความเป็นจริงแล้ว คลื่นความถี่ย่านนี้ถือเป็นคลื่นที่ขาดแคลนและสามารถสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่อประเทศได้มาก จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจัดประมูลคลื่นครั้งใหม่โดยเร็ว นอกจากนี้ การเก็บคลื่นไว้อาจทำให้มูลค่าคลื่นลดลงเนื่องจากในอนาคตจะมีการจัดสรรคลื่น 1800 MHz หรือคลื่นย่านอื่นๆ อีก ทำให้อุปทานคลื่นในตลาดเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่หลายฝ่ายจับตามองในการประมูลคลื่นครั้งใหม่ คือ ทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทิ้งคลื่นอีก และราคาคลื่นในการประมูลครั้งนี้ควรเป็นเท่าใด ต่างจากเดิมมากน้อยเพียงใด ด้วยสาเหตุใด ข้อเสนอของค่ายมือถือบางค่ายที่ให้เริ่มประมูลที่ระดับหนึ่งหมื่นล้านบาทเศษและห้ามผู้ชนะการประมูลและได้รับใบอนุญาตไปแล้วเข้าร่วมประมูลอีก ส่วนค่ายที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้วก็เสนอว่า หากราคาชนะประมูลคลื่นใหม่ต่ำลงต้องลดราคาให้ตนด้วยและห้ามค่ายอื่นใช้คลื่นที่กำลังจะจัดประมูล เป็นข้อเสนอที่เหมาะสมหรือไม่ และในที่สุดแล้วหากไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลเลยจะจัดการคลื่นนี้อย่างไร

การประมูลครั้งใหม่นี้จึงเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา และเป็นผลโดยตรงจากการทิ้งคลื่นของผู้ชนะการประมูลหน้าใหม่ แต่ที่หลายคนอาจลืมไปก็คือ ความยากหลายประการที่กล่าวมาแล้ว ส่วนหนึ่งจะไม่เกิดขึ้นเลย หากมีการจัดประมูลล่วงหน้าก่อนสัมปทานจะสิ้นสุด หากมีผู้ทิ้งคลื่นก็ยังจัดประมูลใหม่ได้ทัน และจะไม่เกิดปัญหาค่าเสียโอกาสจากการที่คลื่นไม่ถูกใช้งาน ไม่เกิดปัญหาที่จะมีผู้ให้บริการที่สิ้นสัมปทานยังคงใช้คลื่นโดยไม่ต้องชำระค่าตอบแทนตามมาตรการชะลอซิมดับ ในหลายประเทศจึงจัดสรรคลื่นล่วงหน้านานนับปี

และความยากบางส่วนก็จะไม่เกิดขึ้น หากเรามี Spectrum Roadmap ที่ชัดเจนว่า จะมีคลื่นใหม่ย่านใดจำนวนเท่าใดที่จะจัดสรรในปีใด ผู้ประกอบการก็จะสามารถวางแผนธุรกิจได้อย่างเหมาะสม ไม่ต้องแย่งชิงคลื่นที่จัดสรรเฉพาะหน้าอย่างที่ผ่านมา ก่อนการประมูลคลื่น 900 MHz เมื่อปลายปีก่อน สังคมรับรู้ว่าการประมูลครั้งถัดไปคือคลื่น 1800 MHz ที่จะสิ้นสัมปทานใน พ.ศ. 2561 แต่หลังการประมูลสิ้นสุดลง หน่วยงานจัดสรรคลื่นความถี่ก็ให้ข่าวว่า อาจมีการจัดสรรคลื่นย่าน 2600 ใน พ.ศ. 2560 ทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอุปทานของคลื่นความถี่

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงจุดนี้ที่เราไม่สามารถจัดสรรคลื่นล่วงหน้าได้ และเราต้องเปิดประมูลใหม่โดยยังไม่มี Spectrum Roadmap แต่การประมูลก็ควรต้องเดินหน้าต่ออย่างมีประสิทธิภาพ

No Description

บทสรุปจากการประมูลคลื่นครั้งที่ผ่านมา หลายฝ่ายประเมินว่า เหตุที่ราคาคลื่นสูงเกินคาดการณ์ นอกจากประเด็นเรื่องคุณสมบัติเฉพาะตัวของคลื่นนี้แล้ว น่าจะเกิดจากการมีผู้เล่นรายใหม่พยายามแทรกตัวเข้าสู่ตลาด เพราะหากมีแต่หน้าเดิมเพียง 3 ค่ายเข้าประมูล ราคาไม่น่าจะสูงขนาดนี้ อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ การแบ่งงวดการชำระเงิน ที่ให้ชำระครั้งแรกเพียง 8,040 ล้านบาท และในปีที่สองและสามอีกปีละ 4,020 ล้านบาท ที่เหลืออีกกว่าห้าหมื่นล้านบาทให้ชำระในปีที่สี่ จึงอาจเกิดสถานการณ์การวาดวิมานในอากาศ ประมูลไปก่อนหาเงินทีหลัง

หากเป็นในต่างประเทศที่อนุญาตให้คลื่นเปลี่ยนมือได้ เราอาจเห็นผู้ชนะการประมูลมาชำระเงินเพื่อรับใบอนุญาต แล้วเมื่อธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จก็ขายคลื่นให้ผู้ให้บริการรายอื่นเพื่อถอนทุนคืน แต่เนื่องจากกฎหมายไทยห้ามการเปลี่ยนมือคลื่น ทำให้ต้องตัดสินใจในทันทีว่าจะชำระค่าคลื่นหรือไม่ หากชำระแล้วธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่สามารถถอนทุนคืนได้ และเมื่อเทียบกับหลักประกันที่จะถูกริบ 644 ล้านบาทในกรณีไม่ชำระเงินแล้ว ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 1 ของราคาชนะประมูลด้วยซ้ำ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อผู้ทิ้งคลื่น หากแต่เป็นปัญหาใหญ่ต่อประเทศและต่อตลาดโทรคมนาคมโดยรวม

บทเรียนครั้งนี้จึงนำมาสู่การพยายามปรับหลักประกันในการประมูลให้สูงขึ้น แต่เดิมในการประมูลคลื่น 2100 MHz นั้น กสทช. กำหนดหลักประกันที่ร้อยละ 10 ของราคาตั้งต้น และปรับเหลือเพียงร้อยละ 5 ในการประมูลครั้งที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการวางหลักประกันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่โดยทั่วไปกำหนดที่ร้อยละ 5 แต่ที่ต่างกันก็คือในการประกวดราคาทั่วไป เมื่อกำหนดราคากลางและวางหลักประกันแล้ว การแข่งขันราคาในการจัดซื้อหรือจัดจ้างนั้น เอกชนจะแข่งลดราคา ใครเสนอราคาต่ำสุดในปริมาณงานเท่าเดิมจะเป็นผู้ชนะ ทำให้มูลค่าหลักประกันมักจะสูงกว่าร้อยละ 5 ของราคาชนะการประกวดราคา แต่กลับกันในการประมูลคลื่น เอกชนจะแข่งกันเพิ่มราคา ใครเสนอราคาสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ ดังนั้นมูลค่าหลักประกันจึงลดเหลือเพียงต่ำกว่าร้อยละ 1 ของราคาชนะประมูลคลื่นครั้งที่ผ่านมา

จึงมีผู้เสนอให้ปรับมูลค่าหลักประกันเป็นร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 30 แต่สิ่งที่พึงระวังก็คือหากราคาตั้งต้นสูงอยู่แล้ว เช่น หากกำหนดราคาตั้งต้นที่ 70,000 ล้านบาท ร้อยละ 30 เท่ากับ 21,000 ล้านบาท จะเป็นข้อกำหนดที่สูงเกินไปหรือไม่ ยิ่งหากบังคับว่าต้องเป็นเช็คเงินสดเท่านั้น จะมีใครนำเงินสดหลายหมื่นล้านมาเป็นหลักประกัน จึงอาจต้องพิจารณาหลักทรัพย์อื่นทดแทน เช่น หนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน เป็นต้น และในการประมูลครั้งต่อๆ ไป การกำหนดวงเงินที่สูงจะเป็นอุปสรรคในการเข้าร่วมประมูลของผู้ประกอบการรายเล็กหรือรายใหม่

ในส่วนราคาตั้งต้นการประมูลนั้น เดิมที กสทช. ไม่ทราบราคาตลาด จึงต้องประเมินมูลค่าคลื่นโดยเทคนิคการคำนวณ แต่หลังการประมูลครั้งที่ผ่านมา เราทราบว่า ผู้เข้าร่วมยินยอมสู้ราคาคลื่นนี้ที่ระดับใด ซึ่งถือเป็นราคาที่ตลาดยอมรับในขณะนั้น การตั้งราคาต่ำกว่าราคาตลาดจึงอาจทำให้รัฐเสียประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเอกชนไม่แข่งขันกันเสนอราคา นอกจากนี้ หลักความเป็นธรรมในการกำกับดูแลทำให้ไม่สามารถยอมรับการตั้งราคาตั้งต้นต่ำเช่นการประมูลครั้งที่ผ่านมา Martin Cave, Chris doyle และ William Webb ได้สรุปบทเรียนการกำกับดูแลการแข่งขันในตลาดคลื่นความถี่ไว้ในหนังสือ Essentials of Modern Spectrum Management อย่างชัดเจนว่า เมื่อมีการคืนคลื่น หน่วยงานกำกับดูแลจะมีข้อจำกัดไม่สามารถลดราคาคลื่นได้มาก เพราะจะทำให้ต้นทุนค่าคลื่นแตกต่างจากรายเดิมที่ชนะการประมูลไปแล้ว ทำให้ไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน จึงมีทางเลือกเหลือคือ การจัดสรรคลื่นในราคาที่ยอมรับได้ หรือการเก็บคลื่นไว้ไม่จัดสรร

ในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่แข็งแกร่ง การไม่นำทรัพยากรที่มีค่ามาจัดสรรอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก โดยเฉพาะกรณีที่เราต้องการเติบโตบนฐานเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรพื้นฐานที่สำคัญ จึงต้องกลับมาดูว่าราคาเดิมที่แต่ละรายเสนอในการประมูลครั้งที่ผ่านมาคือเท่าใด

ในภาพรวมการเสนอราคาของคลื่น 900 MHz ทั้งสองล็อต ผู้เล่นที่ออกจากการประมูลรายแรก เสนอราคาครั้งสุดท้ายที่ 70,180 ล้านบาท แต่หากดูเฉพาะการเสนอราคาของล็อตที่ถูกทิ้งนี้ รายที่หนึ่งเสนอสูงสุดที่ 62,130 ล้านบาทแล้วย้ายไปแข่งที่ล็อตอื่น รายที่สองเสนอราคาสูงสุดที่ 70,180 แล้วออกจากการประมูล รายที่สามเสนอราคาสูงสุดที่ 73,722 ล้านบาทแล้วย้ายไปแข่งที่ล็อตอื่นเช่นกัน ส่วนผู้ชนะการประมูลเสนอราคาสุดท้ายที่ 75,654 ล้านบาท จึงคงต้องหาคำตอบให้ได้ว่า ราคาที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร และคงต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เปลี่ยนไป เช่น การไม่มีผู้เล่นรายที่สี่มาแข่งขันราคา การที่ผู้ไม่ชนะการประมูลหาทางออกอื่นทดแทนการประมูลคลื่นไปแล้ว เป็นต้น ทางออกที่ดีที่สุดคือการสร้างการแข่งขันในการประมูล เพื่อให้ตลาดเป็นตัวกำหนดราคาที่เหมาะสมด้วยตนเอง จึงไม่สมควรกำหนดราคาที่เป็นการกันผู้เล่นรายใดรายหนึ่งไม่ให้เข้าร่วมประมูลครั้งใหม่นี้

อย่างไรก็ดี หากต้องเก็บคลื่นไว้โดยไม่จัดสรร และหากเราต้องการเห็นผู้ให้บริการรายใหม่แจ้งเกิด หลังจากเก็บคลื่นไว้ระยะหนึ่งแล้ว เราอาจต้องเปิดประมูลคลื่นนี้เฉพาะสำหรับผู้ให้บริการรายใหม่เท่านั้น ซึ่งไม่ทำให้ผู้ชนะการประมูลรายเดิมเสียเปรียบ เพราะเป็นมวยคนละรุ่นกันอยู่แล้ว และในต่างประเทศก็มีการจัดประมูลคลื่นเฉพาะรายใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค สำหรับในประเทศไทย หากการประมูลครั้งที่ผ่านมามีการกันคลื่นให้รายใหม่แข่งขันกันเองโดยไม่ต้องแบกน้ำหนักไปชกข้ามรุ่นกับรายเก่า เราอาจไม่เห็นการทิ้งคลื่นที่กระทบภาพลักษณ์ของประเทศเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมารายใหม่ที่เข้าร่วมประมูลหากจะชนะประมูล ต้องเสนอราคาให้สูงกว่ารายเก่าเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง รายเก่าได้เปรียบรายใหม่มากมายอยู่แล้ว ตอนจบของการประมูลอันเข้มข้นดุจดังเทพนิยายจึงไม่สวยอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง

แต่เรายังสามารถร่วมกันเขียนบทครั้งใหม่ เพื่ออนาคตของประเทศไทยร่วมกันได้ ทุกฝ่ายจึงควรร่วมเสนอความเห็นในการกำหนดกติกาการประมูลที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

Get latest news from Blognone

Comments

By: TeamKiller
ContributoriPhone
on 30 March 2016 - 18:33 #898944
TeamKiller's picture

รอๆ ต่อไป

By: wisidsak
AndroidIn Love
on 30 March 2016 - 19:05 #898957
wisidsak's picture

เคยมีสมาชิกในนี้บอกให้ค่อยๆ ลดจากราคาสูงสุดของ slot นั้น อันนี้ผมว่าแจ๋วนะ พอถึงราคาที่ตัวเองโอเค ก็กดเลย ได้เลย

By: xenogew
ContributorAndroidWindows
on 30 March 2016 - 19:23 #898959
xenogew's picture

สี่-สะ-ถาบ-รวง-สา

ขออภัย แวบแรกอ่านงี้แหละ orz

By: shelling
ContributoriPhoneAndroidUbuntu
on 30 March 2016 - 19:32 #898962
shelling's picture

ชอบแนวคิดการกันให้รายใหม่มาประมูลแข่งกันครับ แต่เสียดายที่ไม่ได้คิดได้ตั้งแต่ตอนแรก ผมว่า JAS เองต้องรู้สึกเสียโอกาสเหมือนกันถ้าจะเป็นหน้าใหม่รายเดียวที่ถูกตัดออกจากการแข่งขัน ถ้ากันคลื่นให้รายใหม่จริง

By: PriteHome
ContributorAndroidWindows
on 31 March 2016 - 03:00 #899078 Reply to:898962
PriteHome's picture

แต่ทำไมเราไม่รู้สึกสงสาร JAS นะ

By: thanyadol
iPhone
on 2 April 2016 - 11:54 #900064 Reply to:898962

แนวคิดนี้ไม่ควรเกิดกับคลื่น 900 ครับ ความต้องการสูง

By: takichi12
iPhone
on 30 March 2016 - 19:38 #898963

ผมไม่เคยเข้าใจว่าทำไมต้องประมูลคลื่น แค่ออกกฎหมายมาไม่ให้การใช้คลื่นตีกัน ใช้ให้ถูกประเภทและขออนุญาตเปิดบริการในช่วงคลื่นหนึ่งๆเท่านั้นน่าจะพอ ถ้าจะหารายได้ก็ไปหาจากภาษีเอาสิครับ
อีกประเด็นคือที่บอกว่ากฎหมายไทยห้ามขายคลื่นเมื่อประมูลได้ คุณก็แก้กฎหมายสิ ช่วงนี้ช่วงโปรอยากทำอะไรก็ทำ ปกติก็ไม่ได้โ_่ ถึงขนาดนี้นะ เห็นชอบหาช่องหารูจะตาย

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 30 March 2016 - 19:45 #898966 Reply to:898963
lew's picture

ประเด็นของการประมูลไม่ใช่การหารายได้ (เป็นหลัก) ครับ แต่เป็นประเด็นว่าควรให้คลื่นกับใคร ก่อนหน้านี้เราเห็นภาวะหน่วยงานได้คลื่นไปไม่ทำอะไรถือไว้เฉยๆ บางหน่วยงานมีคลื่นกว้างเป้นทะเลแต่มีคนใช้ไม่กี่แสน กระบวนการประมูลเลยเอามาเพื่อ "เลือก" ว่าคนที่สามารถทำรายได้ได้ดี หาลูกค้าได้เยอะ ก็น่าจะได้คลื่นจำนวนมากไป

ไม่ต้องแสดงว่า "ฉลาด" ขนาดชัดเจนขนาดนั้นครับ ทุกอย่างคุยกันดีๆ ได้ ไม่รู้ก็ถาม ถ้ายังคิดว่าจะคุยกันอยู่ในชุมชนนี้


lewcpe.com, @wasonliw

By: takichi12
iPhone
on 30 March 2016 - 19:55 #898969 Reply to:898966

ไม่ได้พูดว่าตัวเองฉลาดครับ แต่พยายามมองหาหนทางอย่างอื่นในการจัดสรรช่วงคลื่นที่พวกเขามีอำนาจทำมากกว่า เพียงแต่ว่าคำอธิบายเรื่องกฎหมายไม่อนุญาตนี่มันไม่ค่อยฉลาดครับเพราะจริงๆพวกเขาก็มีส่วนร่วมในการเขียนมันขึ้นมาเอง เขาก็ยกตัวอย่างเองว่าในต่างประเทศสามารถเปลี่ยนมือไปอยู่กับคนที่เหมาะสมกว่าได้ แล้วทำไมในไทยจะเปลี่ยนไม่ได้ล่ะ

By: mk
FounderAndroid
on 30 March 2016 - 20:02 #898973 Reply to:898969
mk's picture

"เขา" นี่ใครครับ

By: takichi12
iPhone
on 30 March 2016 - 20:03 #898974 Reply to:898973

องค์กรที่เจ้าของบทความนี้สังกัดน่ะครับ

By: takichi12
iPhone
on 30 March 2016 - 20:04 #898975 Reply to:898973

พวกเขา = องค์กร
เขา = เจ้าของบทความ

By: mk
FounderAndroid
on 30 March 2016 - 20:18 #898980 Reply to:898975
mk's picture

พวกเขาก็มีส่วนร่วมในการเขียนมันขึ้นมาเอง

ถ้าแบบนั้นก็เข้าใจผิดมากละครับ คนที่เขียนกฎหมายคือสภาครับ

By: takichi12
iPhone
on 30 March 2016 - 20:39 #898982 Reply to:898980

อันนี้ผมจำไม่แม่นว่าใครส่งร่างให้สภาก่อนประกาศใช้ปี 53

By: takichi12
iPhone
on 30 March 2016 - 20:01 #898972 Reply to:898966

ก็จริงตามเจตนารมณ์ที่คุณว่ามาครับ แต่ในทางปฏิบัติและวิธีการคิดก็ยังเอาตัวเงินและจากหลายๆข่าวก็มักจะมีการพูดถึงง"รายได้"เป็นตัวตั้งร่วมอยู่ดี คนธรรมดาทั่วๆไปก็ต้องคิดไปในแนวอย่างนั้น

By: McKay
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 30 March 2016 - 20:05 #898976 Reply to:898963
McKay's picture

ผมไม่เคยเข้าใจว่าทำไมต้องประมูลคลื่น แค่ออกกฎหมายมาไม่ให้การใช้คลื่นตีกัน ใช้ให้ถูกประเภทและขออนุญาตเปิดบริการในช่วงคลื่นหนึ่งๆเท่านั้นน่าจะพอ

มันไม่พอครับ เพราะคลื่นเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด แต่คนอยากใช้แบบไม่จำกัด(ใช้ให้มากที่สุด) ดังนั้นมันจึงจำเป็นต้องจัดสรรช่วงคลื่นและผู้ที่จะสามารถใช้งานช่วงคลื่นได้ครับ


Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.
someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)

By: proxima
iPhoneAndroid
on 30 March 2016 - 20:16 #898979 Reply to:898963
proxima's picture

คลื่น มันเป็น สินทรัพย์ในธรรมชาติ อะครับ
มันก็เหมือน เขาใหญ่ ที่ประเทศไทย มีแค่อันเดียว
มันก็เหมือน แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ประเทศไทย มีแค่อันเดียว

ปัญหาคือ การสร้างคลื่นความถี่เดียวกัน จากคนที่ไม่ใช่คนเดียวกัน มันจะรบกวนกัน

ประเทศเลยต้องเลือก เอ้าใคร จะปล่อยคลื่นความถี่ย่านนี้ ให้มาประมูลนะ

ทีนี้ พอมีคนมาประมูล
เขาก็ต้องจ่ายเงิน และ เขาต้องได้รับกรรมสิทธิ์ความคุ้มครอง

ก็เลยต้องมาทำกฏหมายต่าง ๆ

เรื่องมันก็เป็นแบบนี้ แล

By: takichi12
iPhone
on 30 March 2016 - 20:20 #898981 Reply to:898963

ขอแรงๆส่งท้ายก่อนโดนบล็อค ถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงเทคนิคทางกฎหมายและระเบียบต่างๆโดยใช้อำนาจที่องค์กรของตัวเองมี+กรีนพาวเวอร์ ก็ถือว่าจริงๆแล้วคนพวกนี้ไม่มีคุณสมบัติที่จะมาจัดสรรทรัพยากรของรัฐที่มีมูลค่ามหาศาลได้หรอกครับ เป็นพวกไม่มีกึ๋น (ไม่ได้บอกว่าสนับสนุนวิธีการแบบนี้นะครับ)

By: McKay
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 30 March 2016 - 20:40 #898983 Reply to:898981
McKay's picture

คุณกำลังจะบอกว่าคนทั่วโลกที่นำระบบประมูลมาใช้กับทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดแบบนี้ เป็นพวกไม่มีกึ๋นเหรอครับ?

คุณกำลังจะบอกว่าการใช้อำนาจเท่าที่ตัวเองมี ไม่ใช้อำนาจเกินหน้าที่(ที่เสี่ยงจะโดนฟ้องอีก) เป็นการไม่มีกึ๋นเหรอครับ?

แปลกๆนะ


Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.
someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)

By: takichi12
iPhone
on 30 March 2016 - 21:09 #898989 Reply to:898983

คนพวกนี้ != คนทั่วโลก

อำนาจเท่าที่ตัวเองมี? แต่พวกเขามีอำนาจในการแก้เรื่องพวกนี้ครับ อำนาจในการออกระเบียบการประมูลก็ของ กสทช อำนาจชงเรื่องแก้ กม ก็เป็นของ กสทช นอกจากนี้ยังมีกรีนพาวเวอร์ ถ้าคิดว่าระเบียบหรือกฎหมายตัวใดสร้างอุปสรรคก็แก้ครับ

ผมเห็นว่า ณ ช่วงเวลานี้พวกเขามีอำนาจนะครับ และ/แต่ต้องย้ำว่าผมไม่ได้สนับสนุนวิธีการใช้อำนาจแบบนี้และในช่วงนี้

By: McKay
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 30 March 2016 - 21:30 #898994 Reply to:898989
McKay's picture

อำนาจที่คุณบอกนี่เค้ามีแค่อำนาจเดียวครับ คืออำนาจในการออกระเบียบการประมูล

ส่วนอื่นๆนี่ไม่ได้เรียกว่าอำนาจครับ เรียกว่าคำร้องขอ ซึ่งจะได้หรือไม่ได้ไม่ได้ขึ้นตัวกสทชเองครับ

อีกอย่างการใช้อำนาจตามอำเภอใจตัวเองโดยปราศจากการศึกษาอย่างถี่ถ้วนเค้าไม่ได้เรียกว่ามีกึ๋นนะครับ บริหารแบบนี้ประเทศพังหมด ตัวอย่างก็เห็นๆกันอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลนี่แหละครับ


Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.
someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)

By: takichi12
iPhone
on 30 March 2016 - 21:41 #898997 Reply to:898994

เรื่องส่งแก้ กม ไม่ใช่อำนาจ แต่เป็นสิทธิ์ที่จะใช้ ผมใช้คำผิด
แต่ปัญหาก็มีให้เห็นแล้ว ถ้าระดมสมองมาใช้เพื่อประเทศชาติจริงๆตอนที่ตัวเองมีโอกาสทองอยู่ในมือ ผมว่านั่นแหละครับ กึ๋น

By: obnetarena
Windows PhoneWindows
on 30 March 2016 - 21:40 #898996 Reply to:898963

จัดสรรก็ได้ครับ แต่คำถามคือจัดสรรให้ใคร แล้วทำไมต้องให้คนนั้น ทำไม AIS DTAC TRUE ได้
ทำไมผมไม่ได้มั่งล่ะ? ผมก็เสียภาษีให้รัฐนะ

แล้วถ้าบอกว่า Provider เหล่านั้นทำเงินได้มากกว่า มันก็เข้ากระเป๋าเค้า ทั้ง ๆ ที่คลื่นเป็นสมบัติของชาติ ทำไมผมไม่สามารถเอามาทำเงินได้มั่งล่ะ?

แต่ถ้าประมูลเนี่ย โอเคจบ ผมคงประมูลไม่ได้ ก็ปล่อยให้ Provider ประมูลกันไป ผมไม่แย่งละ สุดท้ายอย่างน้อยตังค์เข้ากระเป๋าเค้าก็จริง แต่ส่วนนึงก็มาเข้าประเทศส่งออกมาเป็นสวัสดิการสังคม พอรับได้ครับ

จะไปเก็บภาษีการใช้คลื่นอย่างเดียวไม่ได้หรอกครับ ก็เหมือนน้ำมันนั่นแหละ เก็บไป เค้าก็ผลักภาระมาให้ผู้บริโภคอยู่ดี

By: takichi12
iPhone
on 30 March 2016 - 21:57 #899004 Reply to:898996

ไม่ได้หมายความตามประโยคแรกครับ ถ้าตัดการประมูลออกไป แต่ กสทช ก็ยังมีอำนาจในการกำหนดคุณสมบัติในการถือครองใบอนุญาตคล้ายๆกับการกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลครับ ยกตัวอย่าง การขายใบอนุญาตเป็นช่วง กี่ล้านก็ว่าไป แต่ละเจ้าไม่เกินเท่าไหร่ ถือครองได้กี่ปี ห้ามนอมีนิหรือไม่ ฯลฯ ราชการไทยทำได้อยุ่แล้วครับ เรื่องกำหนดกฎเกณฑ์จะพิศดารเท่าไหร่ก็ได้ แต่ถ้าจะยังคงการประมูลอยู่ คุณสมบัติต้องรัดกุมขึ้น การพิจารณาสภาพคล่องของผู้ขอเข้าประมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก

การเก็บภาษีกับการจ่ายเงินค่าประมูลก็มีการผลักภาระให้ผู้บริโภคไม่ต่างกันหรอกครับ ถ้ายึดเกณฑ์การกำหนดค่าบริการ ผู้ให้บริการมีวิธีแน่นอนครับ

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 30 March 2016 - 22:10 #899010 Reply to:899004
lew's picture

กี่ล้านดีล่ะครับ สองล้าน สามล้าน สองหมื่นล้าน? ผมบริการดีประเสริฐ ลูกค้าผมมีมหาศาลผมไม่ควรได้คลื่นเพิ่ม? กลับกันผมได้คลื่นมาไม่สนใจใคร วันๆ ขายๆ เล่นๆ ทำมั่งไม่ทำมั่งคู่แข่งก็มาแย่งคลื่นผมไม่ได้เพราะจำกัดคลื่นแบบที่คุณว่า?

นี่คือคิดมาแล้วใช่ไหมครับ


lewcpe.com, @wasonliw

By: obnetarena
Windows PhoneWindows
on 30 March 2016 - 23:11 #899021 Reply to:899004

ค่าสัมปทานเป็นต้นทุนที่ผลักภาระไปยากครับ เป็นเงินที่จ่ายไปแล้ว

ผิดกับภาษีขาย ที่ผลักได้ง่ายครับ ไม่ว่าจะเป็น VAT หรือภาษีสรรพสามิต ที่มันรู้ว่าต้นทุนต่อชิ้นเท่าไหร่ ขายมากขายน้อยต้นทุนก็ต่อราคาขาย

ผิดกับ ต้นทุนจำพวกสัมปทาน หรือค่าประมูล มันจะไปเหมือนการเช่าตึกที่มันจะลดลงถ้าราคาขายเพิ่มขึ้นหรือจำนวนเพิ่มขึ้น จะผลักภาระมาก็ไม่ได้มากครับ

By: devilblaze
iPhoneAndroidWindows
on 30 March 2016 - 23:06 #899020 Reply to:898963
devilblaze's picture

ถ้าการทำแบบนี้ขอบอกเลยว่า จะไม่เกิดการแข่งขันด้านการค้า แต่จะเกิดการแข่งขันทางการเมืองแทนครับ
เมื่อสิทธิในการมอบคลื่นอยู่ที่องค์กร นั้นหมายความว่าหากมีคนที่ผ่านหลักเกณฑ์มากมายจนไม่สามารถจัดสรรคคลื่นได้ ปัญหาต่อมาจะตามมาคือความเป็นธรรมในการจัดสรร เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะแห้วคลื่น การล็อบบี้ยิสจะเกิดขึ้นในระบบบริหารจัดการแน่นอน กลับเข้าสู่วงจรเลวๆพวกใครพวกมัน

การประมูลมันช่วยตัดปัญหานั้นไปได้เยอะครับ มีความเป็นธรรมต่อผู้เข้าชิงคลื่น เพียงเงินถึงก็ได้ไปครับ

By: zerocool
ContributoriPhoneAndroid
on 30 March 2016 - 21:25 #898992
zerocool's picture

น่าจะลงโทษ JAS ให้เข็ดหลาบนะ สร้างความเสียหายมากขนาดนี้


That is the way things are.

By: WoodyWutthichai
iPhoneAndroidRed HatSUSE
on 31 March 2016 - 10:17 #899131 Reply to:898992

ลงโทษตามหลังน่าจะยากนะครับ
แต่ถ้าให้ติดแบล็คลิสต์การประมูลภาครัฐ
ก็พอเป็นไปได้

By: 100dej
AndroidWindows
on 31 March 2016 - 08:24 #899093

สัญญาก็คือสัญญาครับ

ครั้งหน้าก็เขียนสัญญาให้รัดกุมกว่านี้แล้วกันนะ

ครั้งนี้ก็เป็นบทเรียนกับทุก ๆ ฝ่ายไป

By: waroonh
Windows
on 31 March 2016 - 09:00 #899108

ผมคิดแบบนี้นะครับ
ถ้า AIS, True, DTAC
มีคนใช้งาน 30 ล้านคนเท่าๆกัน

ทั้ง 3 บ. สมควรได้ คลื่น Fix ไปเลยโดยไม่มีการประมูล ค่า license เป็นค่าเฉลี่ยของรายได้โดยรวม
และมี road map ชัดเจนว่า คลื่นอะไร จ่ายเท่าไหร่ ล่วงหน้าไป 10 ปี แล้วค่อยมาคิดราคากันใหม่ เพราะ
ประชาชนใช้งานนะครับ แข่งขันด้านราคา และ บริการโดยธรรม

ไม่มีฮั๊วราคา ที่เราเห็นกันคือ ราคามันลดลงเรื่อยๆ ถ้าอยู่ๆ ยกเลิก AIS, True หรือ DTAC ไปเลย
แสดงว่า คุณไม่เห็นหัวประชาชนเลยครับ

ถ้ารัฐ ส่งเสริมให้มีเจ้าใหม่
ควรเขียนกฏหมายแบบนี้

  1. ให้แยก บ. ที่ให้บริการ โทรศัพท์มือถือ และ บ. บริการเสาสัญญาณ แยกออกจากกัน
    เหมือนที่ AIS เช่าเสาของ TOT ใช้งาน ใครได้คลื่นอะไร ก็ไปเช่าใช้จาก บ. บริการเสาสัญญาณนั้นๆ

  2. ค่า license ของ บ. ใหม่ที่ บ.ในเคลือไม่เคยทำธุรกิจโทรศัพท์มาก่อน ควรมีช่องความถี่น้อย
    ระยะสั้น มีราคาถูก และ สามารถ ขาย license คลื่นคืนรัฐ ได้ครับ

ประมาณนี้ครับ

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 31 March 2016 - 11:14 #899160 Reply to:899108
lew's picture

"คลื่นความถี่ระยะสั้นราคาถูก" แบบนี้จะคุ้มค่าลงทุนเครือข่ายไหมครับ ถ้าผมจะลงทุนเครือข่ายทั้งประเทศสามสี่หมื่นล้าน แต่ได้ใบอนุญาต 5 ปี จะมีคนลงทุนกับผม?


lewcpe.com, @wasonliw

By: Architec
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 31 March 2016 - 23:39 #899406 Reply to:899108

ถ้าอย่างนั้นมั่วตัวเลขลูกค้าเอาก็ได้นิครับ? ก็มาวนลูปเรื่องฮั๊วนั่นแหละ

By: WoodyWutthichai
iPhoneAndroidRed HatSUSE
on 31 March 2016 - 10:19 #899132

ส่วนตัวมองว่า
1. ถ้าจะห้ามทรูมาประมูลรอบนี้เพราะมองเป็นการประมูลครั้งเดียวกัน ควรต้องลดราคาให้ทรู
2. ถ้าจะให้ทรูจ่ายเต็มเหมือนเดิม ก็คิดซะว่าประมูลรอบนี้เป็นประมูลครั้งใหม่ไปเลย ให้สิทธิ์ทุกบริษัท (ยกเว้น JAS) เข้าประมูล

By: obnetarena
Windows PhoneWindows
on 31 March 2016 - 12:40 #899182

อย่างนึงที่พอจะช่วยรายเล็กได้ ผมว่าคือการกำหนดบริการครอบคลุมน่ะครับ คือรายใหญ่เงินเยอะลงทุนเสาได้เต็มที่

แต่รายเล็ก ไหนจะค่าคลื่น ไหนจะค่าเสา ที่ต้องลงทุนในปีแรก ๆ อีก เหนื่อยเหมือนกันครับ

ถ้าเป็นเจ้าเก่าที่มีความถี่เดิมอยู่แล้ว จำเป็นต้องลงทุนเรื่องเสาให้เร็วกว่าเจ้าใหม่ที่เข้ามา ซึ่งจะทำให้การประมูลเจ้าเก่ามองว่าเค้ามีต้นทุนเพิ่ม จะประมูลคลื่นในราคาไม่สูงนัก
ส่วนรายเล็ก ต้นทุนเรื่องเสาเฉลี่ยต่อปีลดลง ทำให้มีเงินสู้เรื่องราคาประมูลมากขึ้น

Bank ก็จะมองเห็นโอกาสกำไรมากขึ้น ส่งผลให้ออกแบงค์การันตีได้ง่ายกว่านี้ครับ

ประชาชนเสียประโยชน์นิดหน่อยตรงที่ว่าถ้าเจ้าเล็กได้ไปคลื่นจะครอบคลุมช้ากว่าเดิม แต่มันก็ดีกว่าไม่มีเลยแบบปัจจุบัน
อีกอย่างการมีหลายเจ้ามันจะช่วยให้ราคาบริการแข่งกันถูกลงไปอีกประชาชนได้ประโยชน์เพิ่มอีก

อีกทั้งประชาชนยังมีคลื่นอื่น ๆ ใช้งานอยู่ครับ มันก็น่าจะพอเป็นไปได้นะ