ช่วงนี้กระแสสตาร์ตอัพกำลังร้อนแรง เดินไปไหนก็เจอคนอยากเปิดสตาร์ตอัพของตัวเองกันเยอะมาก
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปพูดเรื่องสตาร์ตอัพให้กับชมรม CEO Chulalongkorn Entrepreneurs Organization คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีกลุ่มผู้ฟังเป็นนิสิต-นักศึกษาระดับปริญญาตรี จึงขอนำสไลด์เก่ามาเล่าใหม่ในรูปแบบบทความ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ที่กำลังจะเรียนจบ และสนใจงานด้านนี้ครับ
ช่วงนี้มีการถกประเด็นเรื่องนิยามของคำว่า "สตาร์ตอัพ" หมายถึงอะไรกันแน่ แต่ในบริบทของ Blognone สตาร์ตอัพในที่นี้ย่อมหมายถึง "tech startup" หรือไม่ก็สตาร์ตอัพที่มีเทคโนโลยีด้านไอทีมายุ่งเกี่ยว
เมื่อคิดจะเปิดสตาร์ตอัพสายนี้ สิ่งที่จำเป็นอย่างมากคือต้องรู้เรื่องเทคโนโลยีในระดับที่ปฏิบัติได้ นั่นก็แปลว่าตัวผู้ก่อตั้งต้องเขียนโปรแกรมได้นั่นเอง
ผมได้รับคำถามจากคนที่เรียนหรือมีประสบการณ์ทำงานสายธุรกิจ-การตลาดอยู่เรื่อยๆ ว่าอยากหา technical co-founder หรือผู้ร่วมก่อตั้งที่เขียนโปรแกรมได้ ไม่รู้จะไปหาที่ไหนดี (เป็นหนึ่งในคำถามยอดฮิตอมตะ) คำตอบของผมก็คือคุณต้องไปหัดเขียนโปรแกรมให้เป็นซะก่อน
เมื่อพูดประโยคนี้แล้ว ผู้ที่อยากเปิดสตาร์ตอัพแต่เขียนโปรแกรมไม่เป็นก็อาจร้องยี้ แต่มันเป็นเรื่องจำเป็นระดับพื้นฐานเลยทีเดียว (คงไม่มีใครเปิดร้านกาแฟ โดยที่ชงกาแฟไม่เป็น และหวังพึ่งฝีมือบาริสต้าลูกจ้างเพียงอย่างเดียวจริงไหมครับ?)
การเขียนโปรแกรมได้ ไม่ได้แปลว่าจะต้องทำงานด้านโปรแกรมเป็นหลัก แต่ช่วยให้เราไม่ต้องพึ่งพาผู้ร่วมก่อการฝั่งเทคนิคมากจนเกินไป (สมมติว่าทะเลาะกัน อีกฝ่ายลาออกไป เราก็ยังทำงานต่อได้) นอกจากนี้มันยังมีผลประโยชน์ทางอ้อม เพราะช่วยให้เราแยกแยะได้ว่าโปรแกรมเมอร์หรือคนสายเทคนิคที่รับเข้ามา มีฝีมือจริงแท้แค่ไหนด้วย
ปัจจุบันเรายอมรับกันในวงกว้างว่าทักษะการเขียนโปรแกรมเป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้ เสมือนเป็นภาษาที่สามรองจากภาษาแม่และภาษาอังกฤษ
ตัวอย่างคลาสสิคของคนที่เขียนโปรแกรมไม่เป็นมาก่อน แล้วมีมานะอุตสาหะ หัดเขียนโปรแกรมเองตอนกลางคืน จนสร้างสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จ ก็คือ Kevin Systrom ผู้ก่อตั้ง Instagram นั่นเอง (อ้างอิง: กว่าจะมีวันนี้ ซีอีโอของ Instagram ฝึกเขียนโปรแกรมเองในตอนกลางคืน)
เขาทำได้ เราก็ย่อมทำได้ จริงไหมครับ ถ้าคิดจะเปิดสตาร์ตอัพโดยที่เขียนโปรแกรมไม่เป็นและไม่คิดจะเรียนรู้ ผมว่าตัดสินใจเลิกแล้วไปทำอย่างอื่นยังน่าจะประสบความสำเร็จมากกว่า
การเขียนโปรแกรมได้อาจไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนที่เรียนจบมาด้านนี้โดยตรง ซึ่งถ้าคิดว่าเรียนจบแล้วไปเป็นโปรแกรมเมอร์หรือทำงานสายเทคนิค ก็คงไม่ลำบากอะไร แต่การเปิดสตาร์ตอัพย่อมมีอะไรมากกว่านั้น เพราะนอกจากทำงานเชิงเทคนิคแล้ว งานทางธุรกิจเราก็ต้องทำได้เช่นกัน
ถ้าไม่เคยทำธุรกิจ ไม่เคยขายของมาก่อน การออกมาทำสตาร์ตอัพแล้วขายสินค้าหรือบริการเลย คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ดังนั้นเราควรเตรียมความพร้อมให้ตัวเอง ให้มีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจซะก่อน การได้คุยกับลูกค้าจริงๆ ย่อมช่วยสร้างประสบการณ์การรับฟังความเห็นลูกค้า การเจรจาต่อรอง การบริการหลังขาย ฯลฯ ซึ่งมีค่าอย่างมากต่อการทำสตาร์ตอัพ
การทำธุรกิจในแง่นี้มีเป้าหมายเพื่อสั่งสมประสบการณ์เป็นหลัก (แต่ถ้าใครทำขึ้นจริงๆ จะทำต่อก็ยิ่งดี) ดังนั้นควรลงทุนให้น้อย เจ๊งมาจะได้ไม่เจ็บตัว ธุรกิจง่ายๆ ที่ใครก็เริ่มทำได้คือการขายของออนไลน์ (แต่จะทำให้สำเร็จนั้นไม่ง่าย เป็นแม่ค้าออนไลน์ลำบากกว่าที่คิด) แต่ถ้าใครจะเลือกทำธุรกิจอื่น เช่น ตั้งแผงขายของตามตลาดนัดหรืองานเทศกาล ทำก็ได้ทั้งหมด ยิ่งเรามีประสบการณ์กับธุรกิจที่หลากหลาย ยิ่งเป็นประโยชน์
การเปิดสตาร์ตอัพแปลว่าเราต้องรับบทเป็นเจ้าของกิจการ เป็นเถ้าแก่ใหญ่ที่ต้องแบกรับภาระทุกอย่างขององค์กร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ถ้ามาเปิดสตาร์ตอัพ ก็จะต้องเผชิญกับความท้าทายแรกในทันทีว่า
"ทำอย่างไรจะให้พนักงานที่แก่กว่าเรา เชื่อฟังเรา"
หรือต่อให้ใช้วิธีจ้างเพื่อนรุ่นๆ เดียวกันมาทำงานด้วย ทำอย่างไรเพื่อนของเราถึงจะเชื่อฟังคำสั่งของเราในฐานะเจ้าของกิจการ เรื่องพวกนี้ไม่ง่ายเลยสำหรับนักศึกษาที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานจริง (ซึ่งก็เป็นผลให้อายุเฉลี่ยของผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพแล้วประสบความสำเร็จ อยู่ที่ประมาณ 30-40 ปี)
ดังนั้นเพื่อให้การเปิดธุรกิจประสบความสำเร็จ ผมแนะนำว่าควรไปทำงานก่อนสัก 3-4 ปีเป็นอย่างน้อย (แต่ระหว่างนั้นจะทำธุรกิจเป็น side project ก็ไม่มีปัญหา)
ภาพจากภาพยนตร์ The Social Network
นอกจากตัวเนื้องานที่ต้องสร้างผลิตภัณฑ์ และงานด้านคุยกับลูกค้าเพื่อขาย-บริการหลังขายแล้ว ความรู้อีกประการหนึ่งที่สตาร์ตอัพควรต้องมีประดับสมองไว้คือการพูดคุยและเจรจากับนักลงทุน
วิธีคิดแบบนักลงทุนนั้นแตกต่างไปจากการเป็นเจ้าของธุรกิจด้วยตัวเองอยู่มาก (Return of Investment เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด) ดังนั้นไม่มีวิธีไหนช่วยให้เราเข้าใจนักลงทุนดีไปกว่าการไปเป็นนักลงทุนเอง
วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือไปหัดเล่นหุ้นครับ
การเล่นหุ้นในที่นี้มีเป้าหมายเพื่อสั่งสมประสบการณ์ว่านักลงทุนและตลาดหุ้นมีวิธีคิดอย่างไร ไม่ได้เล่นหวังรวย (แต่ถ้ารวยก็เป็นเรื่องดี) ดังนั้นเราควรหัดเล่นหุ้นในวงเงินที่ไม่ต้องเยอะมาก (เช่น 3-5 พันบาทในตอนแรก) แต่ควรเล่นด้วยเงินจริง เพื่อให้ได้ประสบการณ์จริง เจ๊งจริง (เล่นหุ้นเจ๊งได้ประสบการณ์เยอะกว่าเล่นแล้วรวย) ระหว่างทางเราก็ควรศึกษาข้อมูลของแวดวงการลงทุน เพื่อให้เข้าใจภาษา คำศัพท์ แนวคิด ฯลฯ ของนักลงทุนด้วย
สตาร์ตอัพคือการทำธุรกิจ ลูกค้าคือผู้กำหนดชะตาชีวิตของเรา การเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้กิจการมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น ดังนั้นเราต้องปรับวิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ของเราให้เหมือนกับกลุ่มเป้าหมาย
สมมติว่าเราต้องการสร้างสตาร์ตอัพแนวแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก เราก็ต้องหัดเรียนรู้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีไลฟ์สไตล์อย่างไร ถ้าหากสมาร์ทโฟนที่ลูกค้านิยมใช้คือ Android ราคาถูก เครื่องละไม่เกิน 3,000 บาท (พวกนี้หาสถิติดูได้ไม่ยาก) แต่ชีวิตของผู้ก่อตั้งใช้สมาร์ทโฟนตัวท็อป ราคาเหยียบสามหมื่นบาท ทำอย่างไรก็ไม่มีทางเข้าใจลูกค้าได้ (สตาร์ตอัพคือธุรกิจ ไม่ใช่ไลฟ์สไตล์)
ภาพจาก Internet.org
กรณีศึกษาที่น่าประทับใจคือ Airbnb ที่ทีมผู้ก่อตั้งใช้เวลาเกือบทั้งหมดในช่วงแรกไปกับการพูดคุยให้ห้องเช่าเข้าใจแนวคิดของธุรกิจ ถึงขนาดว่าผู้ก่อตั้งใช้วิธีอาศัยอยู่ในห้องพัก Airbnb แทนอพาร์ทเมนต์ของตัวเองอยู่ช่วงหนึ่ง เพื่อรับทราบประสบการณ์ของแขกด้วยตัวเอง และเปิดบ้านของตัวเองให้แขกมาเช่า เพื่อรับทราบมุมมองของแขกที่เข้ามาพักในบ้านของตัวเอง
สตาร์ตอัพรายหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในไทยคือ Ensogo ผมเคยฟังประสบการณ์จากคุณพอล ศรีวรกุล ผู้ก่อตั้งว่าช่วงที่กำลังสนใจเปิดเว็บดีลแบบ Ensogo ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใหม่มากในไทยตอนนั้น ทางทีมผู้ก่อตั้งก็ใช้วิธีเดินเคาะประตูร้านค้าไปทีละร้าน หาวิธีอธิบายแนวคิด ค่อยๆ เรียนรู้และจับจุดที่ร้านค้าสนใจไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหาวิธีการอธิบายที่ร้านค้าฟังแล้วเข้าใจ
กล่าวโดยสรุปคือ การเปิดสตาร์ตอัพเป็นเรื่องดี แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องเท่ ก่อนตัดสินใจควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อน เพราะเปิดแล้วจะไม่มีเวลาให้เรียนรู้เรื่องพวกนี้มากนัก
Comments
เยี่ยมครับ
ສະບາຍດີ :)
เนื้อหาดีมากครับ
ผมแอบสงสัยเรื่องการเรียกชื่อประเภทของธุรกิจนิดหน่อย tech startup นี่ความหมายครอบคลุมพวกการทำงานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ใช้เทคโนโลยีด้านไอทีเข้ามาช่วยใช่มั้ยครับ แต่เห็นอย่างวงการเกม (พวก Indie Developer) นี่กลับไม่มีคนเรียกว่า startup เท่าไร พอจะมีเกณฑ์อะไรมาใช้แบ่งมั้ยครับ
อยากให้คนจะทำ Tech Startup ได้ดูคลิปนี้ครับ รายการเสือติดปีก ตอนที่ Sellsuki หนึ่งใน Tech Startup ได้เข้าไปร่วมรายการ ไป Pitching ให้กูรู 4 คน + เสี่ยตัน ภาสกรนที ฟังถึงธุรกิจตัวเองแลกกับเงินลงทุน จะได้ดูว่าคนที่อยู่ใน Real Sector คนที่ถือเงินจริงๆ คนที่อยู่กับวงการธุรกิจมาเป็นหลัก 20 ปี+ เขาคิดกับ Tech Startup กันยังไงบ้าง
https://www.youtube.com/watch?v=Jbi5JInnuws
ผมสงสัยเหมือนกันว่า คนที่เขามาขอเงินลงทุนเนื่ย
ทำไมเขาขอกันเยอะมากๆทั้ง 2 ผู้เข้าแข่งขัน และให้หุ้นผู้ลงทุนเป็น % นิดเดียว
คำนวณกลับเป็นมูลค่าปัจจุบันของบริษัท กลายเป็น100ล้าน
ซึ่ง value จริงๆ+จินตนาการอนาคตแบบเพ้อสุดๆ มูลค่ามันยังไงก็ไม่ถึง
ถ้าอย่าง Sellsuki เขาใช้หลักว่าเขาเคยขายให้เจ้าอื่นไปแล้วด้วยสัดส่วนราคานี้ ก็เลยให้ราคาได้เท่านี้ คุณตันก็เลยไม่ให้เพราะว่ามันเป็นคนละนโยบายกับรายการ (รายการถือหุ้นเพื่อต้องการเงินปันผล ไม่ได้ต้องการถือเพื่อรอเอาหุ้นไปขายชาวบ้านต่อเหมือนพวก Venture Capital อื่นๆ ที่มาลงใน Startup) ส่วน Folk Rice การ Pitch ไม่ดีพอที่จะทำให้กรรมการเห็นราคา 100 ล้านบาทได้ครับ ก็เลยโดนกรรมการไม่ให้ผ่าน
ผมว่าคุณตันเขาจะลงทุนกับ SME มากกว่า Startup นะ ส่วนตัวผมนิยามว่า SME คือธุรกิจที่อยู่ได้ด้วยสินค้าของตนเองอยู่แล้ว แต่อยากลงทุนเพิ่ม ถ้ามาแนวเพ้อฝัน เป็นผม ผมก็ไม่ให้ แต่ถ้ามีสินค้าอยู่แล้ว มีลูกค้าซื้อขายกันอยู่แล้ว ถึงจะยังขาดทุนดูงบการเงินแป๊บเดียวก็ตีมูลค่าได้แล้ว ผมว่าเขาลงผิดสนามมากกว่า ยังมีนักลงทุนบางกลุ่มพร้อมจะลงทุนกับ Startup แต่ผมว่าคงไม่ใช่กับคนที่ล้มลุกคลุกคลานเล่นจริงเจ็บจริงแบบคุณตันแน่ๆ
1, 3 ได้แล้วครับ กำลังทำ 5 ไปพร้อมๆ กับว่าที่ลูกค้ารายแรก (ที่หวังว่าจะเป็นตัวจริง)
2 กับ 4 นี่สาหัสกับผมเลยแฮะ จะลองทางทางดูครับ
ชอบบทความแนวนี้มากเลยครับ
อ่านบทความนี้ได้รู้เรื่องดีจริง มีใจความที่ดี กินใจมาก ทักษะโปรแกรมก็สำคัญ แต่ชอบอันที่ 3 ภาพดูแล้วเข้าใจเลยว่าสื่ออะไรครับ