แนวคิดของสตาร์ตอัพทุกวันนี้ คือนำระบบไอทีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนการแบบเดิมๆ ในอดีต ซึ่งก็แล้วแต่ความเชี่ยวชาญของผู้ก่อตั้งว่ามีพื้นเพจากธุรกิจด้านไหนมาก่อน สตาร์ตอัพรายล่าสุดที่ผมได้สัมภาษณ์เป็น สตาร์ตอัพด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องการนำระบบไอทีเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในบ้านเรา (ซึ่งเป็นวงการที่คนทำงานด้านไอทีอาจไม่คุ้นเคยหรือไม่รู้ข้อมูลเชิงลึกมากครับ สนุกดีครับ ได้เรียนรู้เยอะเลย)
ผู้ที่ให้ข้อมูลคือ คุณณัฐพล อัศว์วิเศษศิวะกุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของสตาร์ตอัพด้านอสังหาริมทรัพย์ ZmyHome (อ่านว่า ซีมายโฮม) หนึ่งในสตาร์ตอัพที่เข้ารอบสุดท้ายของโครงการ dtac Accelerate 2015 และเพิ่งเปิดทำการมาราวครึ่งปี (นับจากเดือนตุลาคม 2015)
คุณณัฐพล อัศว์วิเศษศิวะกุล (ที่สองจากขวา)
คุณณัฐพลมีประสบการณ์ในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยมานานถึง 14 ปี เล่าให้ผมฟังว่า แวดวงอสังหาริมทรัพย์ของบ้านเรายังด้อยกว่าในประเทศพัฒนาแล้วมาก โดยเฉพาะเรื่องฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เพราะในต่างประเทศ การซื้อขายบ้านจะมีระบบฐานข้อมูลกลาง เช่น ระบบ MLS ของสหรัฐอเมริกา หรือ REIN ของญี่ปุ่น ฐานข้อมูลเหล่านี้เป็นฐานข้อมูลกลางที่ทุกคนมาใช้ได้ เชื่อถือได้ อัพเดตตลอดเวลา ในบางประเทศถึงกับมีกฎบังคับว่าทุกๆ การซื้อขายแลกเปลี่ยนต้องอัพเดตในฐานข้อมูลกลางเสมอ
ข้อดีของการมีระบบฐานข้อมูลกลาง ช่วยให้ราคาบ้านเป็นข้อมูลเปิดเผย เราสามารถรู้ได้ว่าที่ดินหรือบ้านในละแวกที่เราอาศัยอยู่ ถูกซื้อขายเปลี่ยนมือในราคาเท่าไร เมื่อรับทราบข้อมูลตรงนี้แล้ว กระบวนการซื้อหรือขายจึงรวดเร็วขึ้นมาก เพราะทุกคนรู้ราคากลาง ไม่ต้องเสียเวลาสอบถามข้อมูลหรือต่อรองกันเยอะ ค่าเฉลี่ยของกระบวนการขายอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศอยู่ที่ราว 1-2 เดือนหลังลงประกาศเท่านั้น ในขณะที่คนไทยต้องใช้เวลานานเกือบปี (343 วัน
นอกจากเรื่องฐานข้อมูลกลาง ยังมีประเด็นเรื่องนายหน้าหรือโบรกเกอร์ ซึ่งเป็นผู้เจรจาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แทนเจ้าของ ในต่างประเทศ นายหน้าต้องมีใบอนุญาตและขึ้นทะเบียน นายหน้าชำนาญข้อมูลเฉพาะพื้นที่ของตัวเอง อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นระบบ exclusive คือบ้านหรือที่ดินจะมีนายหน้าเป็นตัวแทนได้เพียงรายเดียวเท่านั้น คุยกับนายหน้าคนเดียวจบ แต่เมืองไทยไม่มีระบบใบอนุญาต ใครๆ ก็เป็นนายหน้าได้ และเมื่อเจ้าของอยากรีบขาย ก็จะหานายหน้ามาจำนวนเยอะๆ เข้าไว้ เพื่อ (หวังว่า) เปิดช่องทางการขายให้มากที่สุด
สภาพนี้กลับเป็นปัญหาต่อผู้ซื้อ และยิ่งทำให้การซื้ออสังหาริมทรัพย์ยากขึ้นมาก
เมื่อนายหน้ารับงานมาแล้ว สิ่งที่นายหน้าหลายๆ คนทำคือระดมโพสต์ข้อมูลอสังหานั้น ลงในเว็บอสังหาริมทรัพย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงเป็นการสแปมข้อมูลแบบกลายๆ เพราะผู้ซื้ออาจเห็นห้องชุดในคอนโดแห่งหนึ่งประกาศขายถึง 50 รายการในเว็บเดียว แต่ถ้าลองโทรไปสอบถามจริงจัง ก็จะพบว่าแท้จริงแล้วอาจมีเพียงแค่ 2 ห้องเท่านั้น (นายหน้าหลายคน โพสต์ข้อมูลของห้องชุดเดียวกัน)
ในฝั่งของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นผลเสียเช่นกัน เพราะสมมติว่ามีลูกค้า 2 ราย สอบถามข้อมูลห้องชุดไปยังนายหน้าหลายๆ คน สิ่งที่นายหน้าทำคือโทรมาบอกเจ้าของว่ามีคนสนใจเยอะ ส่งผลให้เจ้าของสำคัญตัวผิด กล้าขึ้นราคาให้แพงขึ้น สุดท้ายกลายเป็นขายไม่ออกไปแทน
เมื่อข้อมูลซ้ำซ้อน แถมเมื่อขายได้แล้ว นายหน้าไม่กลับมาอัพเดตข้อมูล สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่อยากซื้อบ้านหรือคอนโดจริงๆ ต้องใช้พลังเยอะมากในการแยกข้อมูลที่เป็นประโยชน์ออกจากข้อมูลขยะ ซึ่งตอนนี้ต้องอาศัยการโทรถามเท่านั้น ซึ่งเสียเวลามาก
สิ่งที่ ZmyHome พยายามแก้ปัญหาคือสร้างเว็บประกาศขาย-เช่าอสังหาริมทรัพย์ ที่ข้อมูลเชื่อถือได้ ใช้งานได้จริง โดยเบื้องต้นจำกัดว่าต้องเป็นเจ้าของลงประกาศเองเท่านั้น ไม่เปิดให้นายหน้ามาลงเพราะป้องกันปัญหาข้อมูลซ้ำซ้อน และข้อมูลไม่อัพเดต (แต่ในอนาคตก็มีแผนว่าจะเปิดรับนายหน้าที่มีสัญญา exclusive กับเจ้าของมาให้ลงประกาศได้ด้วย)
จุดเด่นของ ZmyHome คือข้อมูลต้องใช้ได้จริง คุณณัฐพลบอกว่าเว็บบางแห่งประกาศว่ามีอสังหาถึง 1 ล้านรายการ (listing) แต่ของ ZmyHome ไม่ได้มองจุดนั้น ขอแค่มีสักหลักหมื่นแต่เป็นข้อมูลที่ใช้งานได้จริงก็พอ (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2559 มีประมาณ 2,500 รายการ) เมื่อข้อมูลเชื่อถือได้ คนซื้อก็สะดวก ดูข้อมูลที่เดียวแล้วจบ ฝั่งคนขายก็สะดวก เพราะลงประกาศไม่กี่ครั้งก็มีโอกาสขายได้สูงขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ZmyHome จึงจริงจังกับเรื่องข้อมูลมาก ทุกประกาศจะมีอายุ ไม่ใช่แปะค้างไว้ตลอดไป และถ้าใกล้หมดอายุจะมีระบบแจ้งเตือนให้เจ้าของมาอัพเดต และถ้าเจ้าของไม่มาอัพเดต ก็จะมีกระบวนการให้เจ้าหน้าที่เช็คข้อมูลเป็นระยะว่าขายได้หรือยัง มีอะไรอัพเดตข้อมูลหรือไม่
เว็บไซต์ของ ZmyHome ยังพยายามอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยมีแผนที่แยกตามทำเล มีราคาเฉลี่ยของอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณนั้น (ตอนนี้ยังมีเฉพาะคอนโด) และมีระบบฟิลเตอร์ที่ค่อนข้างละเอียด บอกได้ถึงระดับอายุของอาคาร ระยะห่างรถไฟฟ้า จำนวนห้องนอน ฯลฯ แนวคิดของ ZmyHome เป็นการแสดงรายการตามการค้นหา (search-based) ไม่ได้เป็นการลิสต์รายการอสังหาริมทรัพย์ตามเวลา เหมือนกับเว็บไซต์อื่นๆ บางราย
คุณณัฐพล เล่าว่าเป้าหมายของ ZmyHome คือสร้างเว็บอสังหาริมทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่แบบเดียวกับ Zillow ของสหรัฐอเมริกา โมเดลธุรกิจของ Zillow เลือกเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยน (marketplace) ของอสังหาริมทรัพย์ โดยหารายได้จากโฆษณา เจ้าของหรือนายหน้า (ที่มีใบอนุญาต) มาโพสต์โฆษณาเพื่อให้ประกาศของตนเด่นขึ้น ซึ่งคุณณัฐพล ประเมินว่าเป็นโมเดลที่ยั่งยืนและขยายตัวได้ดีกว่า Redfin เว็บอสังหาอีกรายของสหรัฐ ที่เลือกใช้โมเดลการทำตัวเป็นนายหน้ารายใหญ่ (super agent) ทำเงินจากค่าคอมมิชชั่น
แผนการของ ZmyHome ยังมองถึงการเข้าไปแก้โครงสร้างของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในระยะยาว โดยมีเว็บซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นศูนย์กลาง แต่จะเพิ่มบริการอื่นๆ เข้ามาในอนาคต เช่น การประเมินราคา (valuation) การเป็นตัวกลางพักการชำระเงินระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย (escrow) และการกู้บ้าน (home loan)
โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่า ZmyHome เป็นสตาร์ตอัพที่น่าสนใจ มีจุดเด่นที่ทีมงานเชี่ยวชาญและรู้จริงเรื่องอสังหาริมทรัพย์มาก รู้ปัญหาเชิงโครงสร้างว่าคืออะไร และพยายามนำระบบไอทีเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม ตัวธุรกิจ ZmyHome เพิ่งเริ่มต้นมาได้สักระยะหนึ่ง ระบบบางอย่างอาจไม่ลงตัวนัก ต้องรอดูเวลาอีกสักระยะว่าสตาร์ตอัพแบบ ZmyHome จะเข้ามา disrupt วงการอสังหาริมทรัพย์ไทยได้มากน้อยแค่ไหนครับ
Comments
เยี่ยมครับ
That is the way things are.
สุดยอดไปเลย
รอแอพแนวนี้มาดิสรัพระบบโครงสร้างนายหน้า ดูว่านายหน้าจะรับมือยังไง
รอมานานละ งงเหมือนกันว่าทำไมเว็บใหญ่ ๆ ก่อนหน้าถึงมองไม่เห็นปัญหานี้ เวลาไปค้นข้อมูลเจอแต่ขยะ
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
รายได้เค้าไม่มีปัญหาครับ เลยยังไม่สนใจปัญหานี้ก่อน
ลุ้นให้ ZmyHome ติดตลาดซักที จะได้ดิ้นกันบ้าง
แหล่มมากครัช
นายหน้าจะดิ้นยังไงล่ะทีนี้