สมาชิก Blognone ที่ชอบเล่นแอพใหม่ๆ อาจเคยได้ยินชื่อแอพ TSquare กันมาบ้าง (ข่าวเก่าใน Blognone) แอพตัวนี้เป็นผลงานของบริษัท Toyota Tsusho Electronics (Thailand) หรือ TTET โดยใช้ข้อมูลสภาพจราจรจริงจาก GPS จำนวนหลายหมื่นตัวที่ติดในรถแท็กซี่ น่าจะเป็นบริษัทไทยไม่กี่รายที่มีข้อมูลสภาพจราจรแบบเรียลไทม์เยอะขนาดนี้ (สถิติล่าสุดคือ 6 หมื่นตัว)
ผมมีโอกาสสัมภาษณ์ คุณกรกต วงศ์ไพศาลสิน Assistant General Manager ของบริษัท TTET ถึงโครงการจราจรแบบเรียลไทม์อันนี้ครับ
บริษัท Toyota Tsusho Electronics (Thailand) อ่านว่า "โตโยต้า ทูโช" (ต่อไปจะย่อว่า TTET) มีศักดิ์เป็นบริษัท "เหลน" ของโตโยต้า เพราะ Toyota บริษัทแม่ตั้งบริษัทลูกชื่อ Toyota Tsusho ในญี่ปุ่น จากนั้นก็มี Toyota Tsusho Thailand ในไทยเกิดขึ้นตามมา แล้วค่อยตามด้วย Toyota Tsusho Electronics (Thailand) ที่เน้นเรื่องอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นมาอีกต่อหนึ่ง (หวังว่าคงไม่งงนะครับ)
บริษัท TTET ของไทยเองก็มีธุรกิจด้วยกัน 3 อย่าง ได้แก่ Embedded Software พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับอุปกรณ์ฝังตัว, Device เกี่ยวกับชิ้นส่วน ECB ในรถยนต์ ส่วนธุรกิจที่ทำ TSquare เรียกว่า Connected Content ซึ่งเกิดขึ้นทีหลังสุด
TTET เริ่มทำระบบ GPS เก็บข้อมูลจราจรในปี 2011 โดยได้ทุนจากกระทรวงเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น เพื่อติดตั้ง GPS จำนวน 700 ตัวเก็บข้อมูลจราจรของกรุงเทพ ข้อสรุปที่ได้จากโครงการนำร่องคือสภาพจราจรกรุงเทพแย่จริงๆ แต่ก็ส่งผลให้ TTET มองเห็นโอกาสธุรกิจ จึงลงทุนติด GPS เพิ่มเอง
ในปี 2012 บริษัทเริ่มทำแอพพลิเคชันเกี่ยวกับสภาพจราจรตัวแรก ร่วมกับ Toyota ในชื่อ Smart G-Book (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น T-Connect) ซึ่งใช้ร่วมกับคอนโซลของรถยนต์รุ่นที่รองรับได้ด้วย เพราะข้อมูลสภาพจราจรจะถูกแปลงเป็นคลื่นวิทยุ กระจายเสียงผ่านสถานีวิทยุ 3 แห่งที่เป็นพาร์ทเนอร์กัน ถ้าคอนโซลของเราสามารถถอดรหัสข้อมูลพวกนี้ได้ ก็สามารถดูสภาพจราจรเป็นตัววิ่งบนแผงคอนโซลได้ด้วย
ในปี 2014 บริษัทเริ่มนำข้อมูลจราจรมาวิเคราะห์ ดูความหนาแน่นของรถ ดูอุบัติเหตุ ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และกลุ่ม WBCSD ทำโครงการนำร่อง "สาทรโมเดล" เอาสถิติจราจรของถนนสาทรมาวิเคราะห์ปัญหา เพื่อวางแผนการแก้ปัญหาจราจร โครงการนี้ได้รับทุนจาก WBCSD จนถึงปี 2015 และหลังจากนั้น Toyota ก็ยังลงทุนต่อให้จนถึงปี 2016
นอกจากกรุงเทพแล้ว TTET ยังเริ่มเก็บข้อมูลในส่วนภูมิภาคด้วย โดยติดกับแท็กซี่ของภูเก็ตเป็นเมืองแรก (พบว่าแหลมพรหมเทพตอนเย็นรถติดสุดๆ) เป้าหมายคือเก็บข้อมูลจราจรของทั้งประเทศไทยให้จงได้
TTET ยังร่วมมือกับ Toyota บริษัทแม่ ขยายผลของโครงการเก็บข้อมูลจราจร นำเทคโนโลยีเดียวกันไปใช้กับเมืองอื่นๆ ในโลกที่ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อีกด้วย
ตัวโพรบ (probe) หรือ GPS Unit มีต้นทุนประมาณตัวละ 3-4 พันบาท ยังไม่รวมค่าซ่อมบำรุง และค่าแอร์ไทม์ของการส่งข้อมูลผ่านเครือข่าย 3G เนื่องจากมีต้นทุนค่าอุปกรณ์ค่อนข้างสูง เลยมีบริษัทมาทำระบบลักษณะนี้ไม่เยอะนัก
โพรบของ TTET จะต่างไปจาก GPS ทั่วไปที่ใช้ในวงการลอจิสติกส์ ตรงที่ส่งข้อมูลถี่กว่ามาก คือส่งทุก 3-5 วินาที ต่างจาก GPS ในวงการลอจิสติกส์ที่ส่งข้อมูลไม่ถี่เท่า อาจเป็นทุก 30 วินาที ความถูกต้องของข้อมูลอยู่ที่ 70% ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับระบบตรวจสอบสภาพจราจรในญี่ปุ่น และมีการตรวจวัด field test ตลอดเวลาว่าแม่นยำจริงหรือไม่
ปัจจุบัน TTET ใช้วิธีดีลกับอู่แท็กซี่แบบ B2B (ยังไม่รับลูกค้ารายย่อย) โดยอู่แท็กซี่ต้องการระบบ GPS เพื่อติดตามรถหาย-ถูกขโมย เป็นโอกาสให้ TTET นำระบบ GPS เข้าไปให้บริการ โดยอู่แท็กซี่จ่ายค่าใช้บริการเป็นรายปี ซึ่ง TTET ก็ให้ส่วนลดเพื่อแลกกับการได้ข้อมูลสภาพจราจรมาใช้งานต่อ
เมื่อ GPS ส่งข้อมูลกลับมา ก็ใช้คลาวด์ Amazon AWS คอยเก็บข้อมูล สถาปัตยกรรมในปัจจุบันใช้ EC2 ประมวลผล เก็บข้อมูลลง MySQL และ S3 โดยมี Elastic Load Balance (ELB) ช่วยเหลือ
นอกจากการวิเคราะห์สภาพจราจรแล้ว ระบบ TSquare ยังช่วยวิเคราะห์น้ำท่วมตอนปี 2554 ได้ด้วยว่าท่วมตรงไหนบ้าง (เพราะตรงที่น้ำท่วม รถเข้าไม่ได้) ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐมีข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมในเขตกรุงเทพแบบเรียลไทม์ด้วย
แน่นอนว่ากรุงเทพรถติดมาก อันนี้ไม่ต้องติด GPS ก็คงรู้ แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากการวิเคราะห์ พบว่าเมื่อฝนตกแล้ว รถจะไม่ติดทันที (ขัดกับความเชื่อว่า "ฝนตกรถติด") แต่จะมีช่วงเวลา lag time ประมาณ 0.5-1 ชั่วโมงก่อนรถจะเริ่มติด ดังนั้นถ้าใครจะกลับบ้านแล้วฝนเริ่มตก ต้องตัดสินใจว่าจะออกจากที่ทำงานตอนนั้นเลย หรือไม่ก็รอไปอีกนานๆ กว่ารถจะเริ่มซา
ข้อสังเกตอีกข้อคือ เรารู้กันว่าวันศุกร์เย็น รถจะค่อนข้างติด เพราะคนไม่รีบกลับบ้าน แต่ออกไปกินข้าวหรือเดินห้างกันต่อ แต่สิ่งที่ TSquare พบคือแพทเทิร์นการจราจรแบบนี้ เกิดขึ้นกับวันพฤหัสบดีตอนเย็นด้วย ไม่ใช่แค่วันศุกร์เพียงอย่างเดียว
ส่วนของข้อมูล ก็จะขยายให้ครอบคลุมทั้งประเทศไทย และอยากเปิดข้อมูลเป็น open data ด้วย เพราะพบปัญหาว่านักวิจัยในเมืองไทยไม่มีข้อมูลพวกนี้มาใช้วิเคราะห์
แอพ TSquare ก็จะออกเวอร์ชันใหม่ในเร็วๆ นี้ โดยปรับอินเทอร์เฟซให้ใช้งานง่ายขึ้น เป้าหมายคืออยากให้ง่ายถึงระดับว่าหยิบแอพขึ้นมาดู ควรตัดสินใจได้ภายใน 5 วินาทีว่าควรขับรถกลับบ้านได้หรือยัง
เรื่องการขยายออกต่างประเทศ ตัวโมเดลสามารถนำไปใช้งานในเมืองอื่นๆ ได้อยู่แล้ว แต่การออกต่างประเทศมีข้อจำกัดเรื่องการไปติด GPS ในประเทศนั้นๆ ด้วย ซึ่งบริษัทคงไปเองลำพังไม่ได้ ต้องหาพาร์ทเนอร์ในประเทศนั้นร่วมด้วย
ปัจจุบันทั้งทีม TSquare มีประมาณ 15 คน ก็ยังไม่รีบขยายทีมเพราะอยากรักษาทีมไว้ไม่ให้ใหญ่เกินไป คิดว่าระดับที่รับได้คือ 30 คน แต่อยากให้คนในทีมมีความเป็น multifunctional ทำงานได้ครบวงจร ทั้งงานด้านวิศวกรรมและการตลาดควบคู่กันไป
Comments
ส่วนจราจรของ Google maps นี่ แอบเก็บข้อมูลจาก Android ใช่เปล่าครับ
ไม่ได้แอบนะครับ ลองดู eula ก่อนนะ
ลองเล่นแล้วอยากบอกว่า ขอให้ออกเวอร์ชั่นใหม่มาเร็วๆครับ
มันดูเป็น Android 2.x มากก
ถ้าในตลาดตอนนี้ระบบใกล้เคียงกัน ก็คงเป็น inkaNet ของ MG
ภาครัฐควรเอาข้อมูลไปใช้สิไม่ใช่นักวิจัย แก้ปัญหารถติดนิสสสสสสนึงน่ะท่าน นายก
ศิษย์เก่า TTET Batch#5 รายงานตัว