Tags:
Node Thumbnail

หนึ่งในข่าวด้านการศึกษาที่ถูกพูดถึงมากใน Blognone คือการผลักดันให้การเขียนโปรแกรมเป็นหลักสูตรขั้นพื้นฐานที่นักเรียนในสหรัฐฯ ทุกคนต้องได้เรียน ประเด็นที่น่าสนใจคือการบังคับให้เด็กทุกคนต้องเรียนนั้นเหมาะสมหรือไม่ เมื่อฝ่ายหนึ่งมองว่าเด็กต้องเรียนเป็นพื้นฐานเพื่อตามโลกสมัยใหม่ให้ทัน และอีกฝ่ายมองว่าเด็กควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกเรียนวิชาที่ตนสนใจ ความเห็นที่แตกต่างนี้เกิดขึ้นมาจากการพยายามรักษาสมดุลของระบบการศึกษา ไม่ให้ก้าวก่ายการเรียนรู้ของนักเรียนจนเกินไป แต่ก็ยังสามารถให้ประโยชน์แก่ผู้เรียนได้

หนังสือ “โรงเรียนบันดาลใจ” ที่ผมจะแนะนำต่อไปนี้ เป็นหนังสือที่พูดถึงปัญหาของระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วโลก ซึ่ง Ken Robinson และ Lou Aronica สองผู้เขียนหนังสือ มองว่าระบบที่ใช้กันอยู่นั้นขาดสมดุล เพราะเคร่งครัดกับมาตรฐานกลางมากไป จนขัดขวางพัฒนาการของเด็ก กลายเป็นต้นเหตุของปัญหาการศึกษาในปัจจุบัน การเพิ่มรายวิชาบังคับโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมานั้นจะยิ่งทำให้ระบบการศึกษาเสียสมดุลหนักเข้าไปอีก

อนึ่ง ผมแนะนำในฐานะที่สนใจในปัญหาการศึกษาของประเทศ ไม่ได้มีตำแหน่งหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแต่อย่างใด

แนะนำหนังสือ

No Description

“โรงเรียนบันดาลใจ” (ชื่อภาษาอังกฤษ “Creative Schools: The Grassroots Revolution That’s Transforming Education”) เขียนโดย Ken Robinson และ Lou Aronica แปลไทยโดยคุณวิชยา ปิดชามุก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ openworlds

แนะนำผู้เขียน: Ken Robinson

No DescriptionSir Ken Robinson นักวิชาการด้านการศึกษา หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ “โรงเรียนบันดาลใจ” (ที่มาภาพ: Wikipedia)

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2006 นักวิชาการด้านการศึกษานาม Sir Ken Robinson ได้ขึ้นเวที TED Talk และพูดถึงประเด็นด้านการศึกษาไว้ในหัวข้อ “Do schools kill creativity?” ประเด็นนี้ได้รับการพูดถึงอย่างมาก และกลายเป็นคลิปที่มียอดชมสูงที่สุดในเว็บไซต์ ted.com

คุณ Ken พูดทิ้งไว้ว่า เด็กๆ ทุกคนต่างเกิดมามีพรสวรรค์ มีความคิดสร้างสรรค์ที่สูงล้น และมีความกระหายอยากจะเรียนรู้ แต่น่าเสียดายที่เมื่อเด็กๆ เข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว สิ่งเหล่านั้นกลับเหือดหายไป ทั้งที่สังคมให้ค่ากับมันเสมือนว่าเป็นของที่หายาก

No Description

ภาพนี้น่าจะเป็นข้อสรุปคลิปการบรรยายของ Ken Robinson ได้ดี อย่างไรก็ตาม ผมยังคงแนะนำให้ดูคลิปวิดีโอดังกล่าวครับ (ที่มาภาพ: Cinismoilustrado via Spill my beans)

โรงเรียนบันดาลใจ

พอมาถึงปี 2015 Ken Robinson ก็ได้ร่วมงานกับ Lou Aronica ช่วยกันเขียนหนังสือ “โรงเรียนบันดาลใจ” เพื่อต่อยอดประเด็นด้านการศึกษาที่พูดไปในครั้งนั้น โดยใช้ประสบการณ์จากการทำงานของเขาตลอดระยะเวลาหลายปี รวบรวมปัญหาของระบบการศึกษาทั่วโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นำเสนอโครงการการศึกษาและโรงเรียนที่สามารถสร้างกระบวนการศึกษารูปแบบใหม่ๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งเสนอแนะรูปแบบการศึกษาในความเห็นของผู้เขียน

เนื้อหาในหนังสือครอบคลุมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ตั้งแต่ตัวระบบการศึกษาเองที่เกิดขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม, ปัญหาที่เด็กนักเรียนต้องเผชิญในระบบการศึกษา, กระบวนการสอนของครู, บทบาทที่แท้จริงของครูใหญ่, ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน, หลักสูตรการศึกษา, การสอบและประเมินผลที่ต้องบอกมากกว่าเกรดและคะแนนสอบ, จนไปถึงนโยบายของรัฐที่หวังดีแต่ดันไปขัดขวางศักยภาพของเด็กเสียเอง

ในช่วงต้น หนังสือได้พูดถึงระบบการศึกษาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ว่าเพิ่งจะเป็นรูปเป็นร่างในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม เนื่องจากสมัยนั้นตลาดต้องการแรงงานที่มีฝีมือเป็นจำนวนมาก และรัฐมีรายได้มากพอจากการจัดเก็บภาษี จึงได้สร้างระบบการจัดการที่มีโครงสร้างแบบอุตสาหกรรม โดยจัดกลุ่มนักเรียนตามชั้นปี จัดแบ่งตารางเรียนสำหรับเด็กออกเป็นคาบๆ จัดการสอบเลื่อนชั้นเพื่อเรียนในระดับสูงขึ้น เป็นต้น และสร้างมาตรฐานกลางเพื่อให้ทุกสถานศึกษาปฏิบัติตาม คุณ Ken ชี้ว่าระบบแบบนี้จะประพฤติกับเด็กและตัดสินเด็กด้วยมาตรฐานเดียวกัน ไม่เหมาะสมกับความเป็นมนุษย์ที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง และมีความหลากหลาย

ช่วงหลังจะเป็นการพูดถึงองค์ประกอบต่างๆ ของระบบการศึกษา ซึ่งสามารถสรุปคร่าวๆ ว่า เราก็เลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบให้เข้มงวดมากขึ้นไปอีกโดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมา หนังสือจึงได้นำเสนอประเด็นต่างๆ ด้วยมุมที่ส่วนใหญ่มองข้ามไป เช่น ประเด็นข้อสอบกลาง หนังสือหยิบประเด็นการสอบ PISA ว่าทำให้การศึกษาในประเทศหลงทิศทางไปจากที่ควรจะเป็นอย่างไร และพูดถึงว่าแม้แต่มหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนที่ครั้งหนึ่งเคยได้คะแนนสอบ PISA สูงที่สุดในโลก ก็ยังเอาใจออกห่างจากการสอบนี้

โครงการต่างๆ และโรงเรียนที่หนังสือหยิบมาเล่าเป็นตัวอย่างแทรกในแต่ละบทนั้นก็น่าสนใจ ทั้งในแง่ของเบื้องหลังและผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งกว่าที่โรงเรียนเหล่านี้จะพัฒนามาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลหลายๆ ฝ่าย ไม่รอให้ภาครัฐมาออกนโยบายแก้ปัญหาเพียงฝ่ายเดียว ที่สำคัญ แต่ละโรงเรียนต่างก็แก้ไขปัญหาหรือสร้างสรรค์กระบวนการศึกษาในแบบของตัวเอง ไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว เรียกได้ว่า ได้รับแรงบันดาลใจทุกครั้งที่ได้อ่านเรื่องราวของโรงเรียนเหล่านั้นกันเลยทีเดียว

โรงเรียน High Tech High เป็นโรงเรียนหนึ่งที่ถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างหนึ่งในหนังสือ มีการเรียนการสอนแบบ project-based learning เน้นให้เด็กลงมือทำโครงการเพื่อชุมชน และใช้กระบวนการที่เรียกกันว่า Presentation of Learning แทนการสอบปลายภาค

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นทั้งความพยายามในการแก้ไขจุดบกพร่องของระบบการศึกษา และปัญหาของการที่รัฐออกนโยบายไปขัดขวางความพยายามนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ คือโครงการ Learning Record ซึ่งพัฒนาโมเดลการประเมินผลการอ่านและการเขียนของเด็กขึ้นเพื่อใช้แทนการทำข้อสอบ (standardized test) โดยครูจะต้องบันทึกพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กผ่านบันทึกแปดหน้าที่เรียกว่า Primary Language Record และจะต้องไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองเพื่อดูว่าพื้นเพของเด็กเป็นแบบไหน และการเรียนรู้แบบไหนที่เหมาะสมกับตัวเค้า โมเดลนี้แพร่หลายในสหราชอาณาจักร จนกระทั่งถูกนำมาปรับใช้ที่รัฐแคลิฟอร์เนียและได้รับอนุญาตให้เป็นโมเดลทางเลือก น่าเสียดายที่โครงการนี้ถูกยกเลิกไปเพราะนโยบาย NCLB (No Child Left Behind) ของสหรัฐฯ บังคับให้โรงเรียนต้องยึดมาตรฐานเดียวในการประเมินผล

ขอให้การศึกษาเป็นเรื่องของปัจเจกมากขึ้น

สิ่งที่ “โรงเรียนบันดาลใจ” นำเสนอมาโดยตลอดคือ การให้นักเรียนมีอิสระในการเรียนรู้มากขึ้น ครูและโรงเรียนมีโอกาสได้พัฒนาแนวทางการสอนที่เหมาะสมกับเด็กในโรงเรียนมากขึ้น และรัฐใส่ใจตัวระบบให้น้อยลง หันมาใส่ใจบุคคลที่อยู่ในระบบให้มากขึ้น

ในขณะเดียวกัน คุณ Ken ก็ไม่ได้ต้องการให้สิ่งที่เค้านำเสนอนั้นเป็นขั้วตรงข้ามกับระบบที่มีอยู่เดิม การศึกษาไม่มีวิธีการที่ดีที่สุด แต่ต้องปรับตัวกันไปเรื่อยๆ ตามสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในตอนนั้น สิ่งที่หนังสือนำเสนอจึงไม่ใช่การล้างระบบเดิมที่มีอยู่ออกไปเสียหมด แต่เป็นการปรับสมดุลของระบบการศึกษาที่ทุกวันนี้โน้มเอียงไปในทางที่ยึดติดกับมาตรฐานกลาง

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นใด เราทุกคนจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของมัน ไม่ว่าคุณจะเป็นครู นักเรียน ผู้บริหารโรงเรียน ศิษย์เก่า หรือผู้ปกครองของเด็ก การศึกษาจึงเป็นวาระที่ทุกคนควรให้ความสนใจ และผมเชื่อเหลือเกินว่าหนังสือเล่มนี้จะสามารถพาไปเปิดโลกทัศน์ทางการศึกษาจากทั่วโลกได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม

ชมตัวอย่างหนังสือได้ที่เว็บไซต์สำนักพิมพ์ openworlds
สั่งซื้อหนังสือได้ที่เว็บไซต์ readery.co

Get latest news from Blognone

Comments

By: gift099
Windows PhoneAndroidWindowsIn Love
on 30 May 2016 - 08:28 #915714

ผมมองว่า การเรียนแบบ problem based learning หรือ project based learning ความยากของมันคือการวัดผลว่า เด็กผ่านเกณฑ์ ตามหัวข้อการวัดผลต่างๆ และ ครูต้องทำงานหนักขึ้นแน่นอน

ถ้าหากเอามาใช้ในไทย คงจะต้องใช้แบบผสมผสาน คือยังเรียนระบบห้องเรียน + problem based learning + project based learning
ครูก็ต้องอบรมเตรียมความพร้อมใหม่

ก่อนหน้านี้เราเคยมี Child Center ตอนนี้ไม่รู้ว่ายังมีอยู่หรือเปล่า -> ปัญหาของ Child Center ผมมองว่าอยู่ที่ครู ครูไม่เปลี่ยน นักเรียนก็ไม่เปลี่ยน

By: Ginosty
AndroidWindows
on 30 May 2016 - 09:31 #915745 Reply to:915714

ในไทยมีหลายโรงเรียนที่ใช้ระบบนี้ครับ ....... ค่าเทอมๆนึงเท่ากับค่าเรียนตั้งแต่ อ.1 จนจบ ป.6 ของโรงเรียนทั่วไปเลย

By: littletail
ContributorTraineeWindows
on 31 May 2016 - 15:11 #916122 Reply to:915714

เรื่องการวัดผลนี่ของเค้าใช้ Presentation of Learning ครับ ประมาณว่าเค้าให้พรีเซนต์ว่าที่ผ่านมารู้อะไรมาบ้าง แล้วก็มีอาจารย์มานั่งฟัง แต่เรื่องเกณฑ์นี่ผมไม่ทราบเหมือนกันแฮะ แล้วก็เท่าที่อ่านมา ถ้าจำไม่ผิดเค้าก็มีติวหนังสือให้เด็กเอาไปสอบเข้ามหาลัยเหมือนกันครับ

ส่วนเรื่อง project-based ถ้าจะเอามาใช้ในไทยนี่ผมว่าต้องใช้แรงสนับสนุนเยอะมากเลยครับ โรงเรียนที่ผมยกตัวอย่างไว้นี่ได้มูลนิธิเกตส์สนับสนุนด้วย

By: gobman
iPhoneAndroidSymbianUbuntu
on 30 May 2016 - 16:13 #915881

มหา'ลัยส่วนใหญ่ในไทยตอนนี้เริ่มออกแนวนี้แล้วนะครับ
ให้เด็กเลือกตามความชอบว่าอยากเข้าอุตสาหกรรมก็ไปสหกิจ เรียนโดยเน้น Problem-Base Learning
อยากวิจัยก็ไปเรียนแบบ Project-Base Learning

วิชาพื้นฐานเริ่มไม่สอนในห้องเรียน สำหรับวิชาที่สามารถทำแบบนี้ได้ ให้เด็กไปมองปัญหาชุมชน แล้วเอามาทางแก้ไข วัดผลโดยการนำเสนอ(ปฏิบัติ)+สอบทฤษฎี
โดยสิ่งที่ทำต้องเกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชานั้น อาจารย์จะให้ทฤษฎีและแนวทางปฏิบัติ ส่วนที่เหลือ นศ. จะต้องเอาไปหาวิธีปฏิบัติเอง
เราจะทวนสอบด้วยการอ่านรายงาน (Back Log) ของนักศึกษาและให้ข้อแนะนำ

ข้อเสียคือต่อชั้นเรียนต้องมี นศ. น้อย (<20) อาจารย์ต้องมีเวลามากพอเพราะต้องให้ความใส่ใจต่อนักศึกษามากพอ (อาจารย์ปัจจุบันไม่ได้มีภาระงานแค่สอนหนังสือ)
ประเมินยากมากเพราะขึ้นกับความสามารถและความใส่ใจของ นศ. เอง
และ นศ.ส่วนใหญ่รับไม่ได้เพราะไม่เคยต้องคิดเองมากขนาดนี้ หรือไม่เคยมีกระบวนความคิดแบบคิดเองมาก่อน ผลที่ตามมาคือทุกคนได้ไม่เท่ากันมีคนที่ถูกทิ้งถ้าไปไม่ได้ (ซึ่งเจอในการศึกษาแบบเก่าเช่นกัน เด็กอ่อนมักถูกครูมองข้ามและทิ้งเค้าไว้หลังห้อง)
และวิิธีการนี้ขัดกับระบบที่ตีกรอบอุดมศึกษาไทยไว้ จะจริงๆทำให้ถูกได้ แต่ยิ่งเหนื่อยเข้าไปใหญ่เพราะระบบยุ่งยากขึ้นมาก

วิธีการที่ว่าก็เป็นลูกผสมระหว่างแบบดั้งเดิมและแบบใหม่นี้ละครับ ซึ่งแน่นอนว่ามันก็ยังไม่ใช่ว่าดีมากที่สุด และก็ไม่ได้หมายความจะทำแบบกับเด็กทุกชั้นเรียนได้
แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าระบบการศึกษาในบ้านเราพยายามเปิดกว้าง ถึงแม้จะมีระบบบางอย่างบีบไว้อย่างรุนแรงก็ตาม

By: littletail
ContributorTraineeWindows
on 31 May 2016 - 15:33 #916130 Reply to:915881

ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ

จริงๆ ในหนังสือมีอีกหลายตัวอย่างครับนอกเหนือจาก project-based ที่ภาควิชาผมเองสมัยที่ยังเรียนอยู่ก็เริ่มเอาแนวคิดอื่นๆ อย่างเรื่อง flipped classroom มาใช้บ้างแล้ว แต่ก็ยังต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ เหมือนกันครับ (ไม่รู้ว่าตอนนี้เป็นยังไงบ้าง) ผมว่าสำคัญที่สุดคือระบบการศึกษาต้องเปิดกว้างมากขึ้นเนี่ยแหละ

By: mrbank
iPhoneWindows
on 1 June 2016 - 18:43 #916480

ขอชื่นชมการเรียบเรียงบทความครับ ทำให้ผมรู้สึกอยากหาหนังสือเล่มที่ว่ามาอ่านตอนนี้เลยทีเดียว

ส่วนความเห็นส่วนตัวของผม คือ การประเมินเด็กโดยการใช้มาตรฐานเดียวกันกับเด็กทุกคน เหมือนจะเป็นการขีดเส้นให้เด็กเดินไปตามทางเดียวกัน โดยเด็กที่มีความสามารถตรงกับเส้นที่ขีดไว้จะทำได้ดี แต่เด็กที่มีความสามารถทางด้านอื่นและเดินไม่ตรงเส้นจะประสบปัญหาในการประเมินความรู้ความสามารถ และทำให้เสียโอกาศในการแสดงความสามารถด้านอื่นออกมา และอาจจะกลายเป็นปัญหาสังคมในเวลาต่อมา