Tags:
Node Thumbnail

ถ้าพูดถึงหน่วยงานรัฐด้านไอซีทีที่มีบทบาทเด่นในช่วงหลังๆ หนึ่งในนั้นย่อมมี สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ องค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงไอซีที หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า สรอ. หรือ EGA

คนทั่วไปมักรู้ว่า สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ มีบทบาทหน้าที่ช่วยผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐของไทยมีบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ดีขึ้น และอาจเคยได้ยินผลงานบางอย่างของ EGA กันมาบ้าง (บริการล่าสุดคือ GovChannel และ G-Chat) แต่ในรายละเอียดแล้ว อาจไม่รู้ว่า EGA มีภารกิจครอบคลุมแค่ไหนอย่างไร ตกลงแล้วเมืองไทยมีความหวังแค่ไหนกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

Blognone มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ EGA ในประเด็นเหล่านี้ครับ

No Description

EGA คือใคร มีที่มาอย่างไร

เดิมที EGA มีที่มาจาก สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (สบทร. หรือ GITS) หน่วยงานภายใต้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2540 เพื่อให้บริการด้านไอทีกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งตอนนั้นต้องถือว่าความตื่นตัวด้านไอทียังมีน้อยมาก ผลงานชิ้นแรกๆ ของ GITS คือ GNet ซึ่งเป็นการเช่าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาให้บริการภาครัฐ เพื่อประหยัดทรัพยากร

ผลงานของ GITS ที่คนรู้จักมากที่สุดคือ TrueHits บริการเก็บสถิติเว็บไซต์ไทย ซึ่งกำเนิดมาจาก GITS แต่ภายหลังแยกตัวออกเป็นบริษัท น่าจะถือเป็นสตาร์ตอัพรายแรกๆ ของไทยด้วยซ้ำ

เมื่อรัฐบาลตั้งกระทรวงไอซีที GITS ก็เข้าไปช่วยทำระบบในฐานะผู้รับจ้างจากงบประมาณที่กระทรวงไอซีทีจัดหามาให้ ตอนนั้นคือระบบอีเมลกลางภาครัฐ MailGoThai และภายหลังเมื่อกระทรวงไอซีทีตั้ง EGA ก็เลยยกหน่วยงานของ GITS เข้ามาทั้งหมด

ถ้านับเฉพาะอายุของ EGA ตอนนี้เกิดมานาน 5 ปีแล้ว แต่ถ้าย้อนไปถึงประวัติองค์กรสมัย GITS ก็ยาวนานกว่านั้นมาก

No Description

ภารกิจของ EGA ทำอะไรบ้าง

ภารกิจแรกสุดของ EGA คือสืบทอดงานของ GITS ในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางไอที (infrastructure) แก่หน่วยงานภาครัฐ ต้องอธิบายก่อนว่าหน่วยงานภาครัฐในไทยมีเยอะมาก และ EGA ไม่ได้มีอำนาจสั่งการหน่วยงานเหล่านี้โดยตรง แต่สามารถให้คำแนะนำหรือให้ความช่วยเหลือได้ หน่วยงานภาครัฐเองก็มีทั้งหน่วยงานขนาดใหญ่ที่เก่งไอทีมาก สามารถจัดการทุกอย่างได้เอง และหน่วยงานขนาดเล็กที่ขาดทรัพยากร ขาดความเชี่ยวชาญตรงนี้

EGA จึงทำหน้าที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ โดยเลือกเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกหน่วยงานจำเป็นต้องใช้จริงๆ ถ้ามาใช้ระบบร่วมกันก็จะไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ ระบบที่สำคัญได้แก่

  • GIN (Government Information Network) ระบบเครือข่ายข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ
  • MailGoThai ระบบอีเมลกลางของหน่วยงานภาครัฐ
  • G-Cloud ระบบคลาวด์เซิร์ฟเวอร์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ แทนที่ภาครัฐจะซื้อเซิร์ฟเวอร์หรือโฮสติ้งเอง ก็มาใช้บริการ G-Cloud ดีกว่า

EGA ไม่ได้เป็นคนทำระบบทุกอย่างเองหมด เพราะไม่ใช่ภารกิจที่ EGA ต้องไปทำโซลูชันแข่งกับเอกชน หน้าที่ของ EGA จึงเป็นการหางบประมาณมาจ้างเอกชนทำ แล้ว EGA คอยควบคุมดูแลให้ได้มาตรฐาน สมกับที่เป็นหน่วยงานภาครัฐจริงๆ

ที่ผ่านมาเราเห็นข่าวเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐโดนแฮ็กบ่อย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการซื้อเซิร์ฟเวอร์เอง ลงซอฟต์แวร์เอง แต่ไม่อัพเดตหรือไม่มีคนดูแลประจำ เลยถูกแฮ็กได้ง่าย ตรงนี้ EGA สั่งให้หน่วยงานเหล่านี้ย้ายมาใช้ระบบของเราไม่ได้ แต่เราสามารถเสนอได้ว่าเรามีระบบที่ปลอดภัย มีคนบริหารจัดการให้ ส่วนระบบเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน EGA คงไม่ได้ไปรับทำให้ แต่ก็สามารถให้คำปรึกษาได้ ช่วยสนับสนุนทางเทคนิคได้

No Description

เมื่อทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ขั้นถัดมา EGA ก็ต้องเข้าไปทำงานในระดับที่สูงขึ้น เรื่องแอพพลิเคชัน เรื่องการเก็บข้อมูล เรื่องการเชื่อมโยงกันของบริการภาครัฐด้วย เราเรียกงานพวกนี้ว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล (Information Infrastructure) และ บริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Services)

ผลงานในกลุ่มนี้มีหลายอย่าง เช่น ระบบซอฟต์แวร์แบบ SaaS สำหรับภาครัฐ โดยเริ่มจากระบบงานสารบัญ (ระบบหนังสือและเอกสาร), พอร์ทัลรวมข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานรัฐ GovChannel ที่อยากให้ในอนาคตเปรียบได้กับ "กูเกิลภาคหน่วยงานรัฐ" และแอพพลิเคชันแชท G-Chat เป็นต้น บางอย่างก็ยอมรับว่ายังไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่ก็ต้องพัฒนาต่อไปให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ EGA ยังจัดทำ แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ระยะ 3 ปี (2559-2561) โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะโฟกัสให้เกิดบริการผ่านดิจิทัลมากขึ้น เช่น การเกษตร, แรงงาน, การท่องเที่ยว, การส่งเสริม SME, ระบบภาษี

No Description

เห็นมีแผนเรื่องการใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดด้วย ตรงนี้ประชาชนน่าจะมีคำถามกันเยอะว่าบัตรมีชิปตั้งนานแล้ว ทำไมยังต้องถ่ายเอกสารกันอยู่

ต้องอธิบายว่าในการรับบริการจากภาครัฐ ถือเป็นการทำธุรกรรมระหว่างประชาชนคนนั้นกับรัฐ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการเป็นตัวแทน จึงต้องมีหลักฐานว่าเกิดการทำธุรกรรมขึ้นจริงจากบุคคลตัวจริงทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่โดนสวมรอยจากคนอื่น ในมุมของฝั่งเจ้าหน้าที่จึงต้องการ "หลักฐาน" ยืนยันว่าประชาชนคนนั้นมาขอรับบริการจริงเพื่อไม่ให้ถูกฟ้องในภายหลัง ซึ่งในกระบวนการทำงานแบบกระดาษ หลักฐานที่ว่าคือสำเนาบัตรประชาชนพร้อมลงนามรับรอง

พอมาถึงยุคอิเล็กทรอนิกส์ ฝั่งของประชาชนมีบัตรฝังชิปเพื่อใช้บัตรเป็น "หลักฐาน" ยืนยันได้แทนสำเนามานานแล้ว กลับเป็นฝั่งของหน่วยงานรัฐเองที่ยังตามหลังอยู่ ทั้งในแง่เทคโนโลยี กระบวนการทำงาน และวิธีคิดหรือ mindset ของคนที่ชินกับการทำงานแบบเดิมๆ มานานแล้วด้วย

แต่สถานการณ์ความพร้อมเรื่องนี้ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะฝั่งของข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทยทำฐานข้อมูลเสร็จมานาน เปิด API ให้หน่วยงานอื่นเข้ามาใช้แล้ว แต่ส่วนใหญ่หน่วยงานอื่นดึงข้อมูลไปเพื่อ validate ข้อมูลเท่านั้น ยังไม่ค่อยนำไปต่อยอดเป็นบริการใหม่มากนัก

จริงๆ แล้วเริ่มมีบางหน่วยงานที่รองรับบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดแล้ว ไปขอรับบริการไม่ต้องใช้สำเนาบัตรเลย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กรมการกงสุล เวลาไปทำพาสปอร์ตไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชน อีกแห่งที่ทำได้คือการประปานครหลวง (กปน.)

จุดเปลี่ยนที่สำคัญจะเริ่มในปีนี้ เพราะกระทรวงมหาดไทยกำลังจัดซื้อเครื่องอ่านสมาร์ทการ์ด 2 แสนเครื่อง ซึ่งจะกระจายไปยังสำนักงานต่างๆ ทั่วประเทศ โดยจะเริ่มได้รับของประมาณเดือนตุลาคมนี้ อีกไม่นานเราก็จะได้เห็นการไปติดต่อมหาดไทยแล้วไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชน ต่อไปเวลาเราไปที่อำเภอ ก็เสียบบัตรประชาชนของเราที่เครื่องอ่าน ฝั่งเจ้าหน้าที่ก็เสียบบัตรพนักงานเพื่อยืนยัน และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่าเจ้าหน้าที่คนไหนเป็นผู้ให้บริการประชาชนคนไหนบ้าง

No Description

อีกเรื่องที่ต้องผลักดันตามแผนพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ คือการเชื่อมโยง บูรณาการข้อมูลกัน เราไปติดต่อหน่วยงานภาครัฐไม่ควรต้องกรอกแบบฟอร์ม เพราะข้อมูล 70-80% ที่เรากรอกในฟอร์ม สามารถดึงมาจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ได้อยู่แล้ว การกรอกฟอร์มไปก็เสียเวลาโดยใช่เหตุ หน่วยงานรัฐต้องดึงข้อมูลมาใช้ข้ามกันได้ สมมติว่าเราอยากจดทะเบียนบริษัท ไปที่กระทรวงพาณิชย์หน่วยงานเดียว ก็ต้องมีบริการ one-stop service ที่เดียวจบ ไม่ใช่ต้องวิ่งไปวิ่งมากับหลายหน่วยงาน

แสดงว่าเมื่อโครงสร้างพื้นฐานพร้อม แอพพลิเคชันพร้อม ต่อไปเรื่องข้อมูลจะสำคัญมาก

เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลพัฒนาขึ้น ราคาการเก็บข้อมูลถูกลงมาก เหลือแค่ว่าเราจะจัดการกับข้อมูลอย่างไร

ตอนนี้หน่วยงานภาครัฐระดับใหญ่ๆ มีตำแหน่ง CIO (Chief Information Officer) กันหมดแล้ว ขั้นต่อไปคือควรมีตำแหน่ง CDO (Chief Data Officer) เพิ่มเข้ามา เพราะหน่วยงานจำเป็นต้องรู้ว่าข้อมูลของตัวเองมีอะไรบ้าง จัดเก็บอย่างไร แล้วบริหารข้อมูลอย่างไร

ประเด็นเรื่องการจัดการข้อมูลยังมีเรื่องให้พูดถึงอีกมาก ทั้งเรื่องการดูแลข้อมูลส่วนตัวไม่ให้รั่วไหลออกไป ซึ่งต้องมีมาตรการอีกหลายอย่าง และในอีกทาง ภาครัฐเองก็ต้องเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ตามแนวคิด open government ซึ่งจะช่วยเรื่องความโปร่งใสด้วย

Get latest news from Blognone

Comments

By: StatusQuo
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 5 June 2016 - 18:12 #917294

แค่ให้โอกาสชิปที่อยู่บนบัตรประชาชนได้ทำงานบ้างก็เป็นประโยชน์มากแล้ว

By: plagapong
AndroidRed Hat
on 5 June 2016 - 18:30 #917297 Reply to:917294

+10 กะโหลก

By: phongphan117
AndroidWindows
on 5 June 2016 - 18:37 #917299 Reply to:917294

บางทีบัตรประชาชนก็อยากให้มี PIN บ้าง จะได้ไม่เสียบกันมั่ว

By: jarujit
ContributoriPhoneAndroid
on 5 June 2016 - 22:36 #917332 Reply to:917299
jarujit's picture

มีอยู่แล้วนะครับ แต่ต้องบอกคนออกบัตรว่าขอ pin ไม่งั้นเค้าไม่ยอมแจก ถ้าไม่มี pin ก็ใช้ลายนิ้วมือยืนยันตัวตนได้ แต่ข้อมูลพื้นฐานที่เห็นบนหน้าบัตรอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องใช้ pin


:-)

By: apkp
iPhoneAndroidUbuntu
on 5 June 2016 - 22:35 #917333 Reply to:917299

ตัวบัตรประชาชนมี PIN อยู่ครับ (4 หลัก) แต่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตอนทำบัตรเลยครับ สำหรับใช้งาน บริการอื่นๆ ของกรมการปกครองครับ

By: Elysium
ContributorWindows PhoneSymbianWindows
on 5 June 2016 - 18:14 #917296
Elysium's picture

ดีครับ

ปล. นึกว่า TrueHits เป็นของ True มาตลอดนะเนี่ย


คนขี้ลืม | คนบ้าเกม | คนเหงาๆ

By: Kittichok
Contributor
on 6 June 2016 - 00:59 #917341

เอ๋ TrueHits นี่ก็เป็นผลงานของสำนักงานนี้ด้วยหรือเนี่ย
ส่วนเรื่องบทบาท เสียดายที่ สรอ. ไม่มีอำนาจถึงขนาดไปบังคับให้หน่วยงานต่าง ๆ มาใช้งานระบบที่ สรอ. พัฒนา เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ทีไรก็ได้แค่หวังว่าหน่วยงานรัฐจะหันมาสนใจใช้ระบบเดียวกันมากขึ้น

By: LazarusSP1
ContributoriPhone
on 6 June 2016 - 01:58 #917345

ยุทธศาสตร์ที่ 4 นี่คือ Single Gateway ใช่ไหมครับ
ว่าแต่ข้อมูลปลอดภัยสาธารณะ นี่จะมาดูแลขนาดไหนกันเชียว
แล้วปลด SSL ออก ความปลอดภัยข้อมูลจะเกิดได้ยังไงกัน

By: TeamKiller
ContributoriPhone
on 6 June 2016 - 08:47 #917372
TeamKiller's picture

G-Cloud นี่น่าจะทำให้เป็น Cloud จริงๆ สักทีนะเนี่ย

By: jane
AndroidUbuntu
on 6 June 2016 - 13:34 #917459
jane's picture

ใครใช้ .NET แล้วอยากอ่านหน้าบัตร เชิญ ...
https://github.com/chakphanu/ThaiNationalIDCard/