ช่วงที่ผ่านมาเราอาจจะคุ้นเคยกับ Chromebook ในฐานะโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ราคาถูก แต่ในช่วงหลังเราจะเริ่มเห็น Chromebook หรือคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Chrome OS แบบใหม่ๆ ออกมามากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ASUS Chromebook Flip ที่เปิดตัวไปเมื่อเมษายนปีที่แล้วและวางจำหน่ายช่วงเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน โดยถือเป็นหนึ่งในโน้ตบุ๊กสาย 2-in-1 หรือ convertible รุ่นแรกๆ ของ Chromebook ซึ่งเราจะรีวิวกันในวันนี้ครับ
คุณสมบัติทั่วไปของเครื่องและแกะกล่อง
Chromebook Flip มีสเปกโดยทั่วไปแทบไม่ต่างจาก Chromebit เพียงแต่ว่าอยู่ในรูปแบบของคอมพิวเตอร์ที่มาพร้อมกับหน้าจอซึ่งพับได้แบบ 360 องศา เอาไว้ใช้เป็นแท็บเล็ตจอสัมผัสได้เป็นครั้งคราว (แนวทางเดียวกับ Lenovo Yoga หรือ HP Spectre X360) ส่วนสเปกของเครื่องมีดังต่อไปนี้
ตัวกล่องเครื่องถือว่าทำออกมาได้เรียบง่าย เมื่อเปิดแล้วจะเหมือนกับการยกฝากล่องเปิดของ ภายในจะเห็นเครื่องใส่ในซองกระดาษสีขาววางอยู่ในกล่องเรียบร้อย ในกล่องบรรจุแต่เพียงตัวเครื่อง ที่ชาร์จ และคู่มือบางๆ 2 เล่มเท่านั้น
แม้จะเป็นเพียง Chromebook แต่สิ่งที่ทำให้ Chromebook Flip เครื่องนี้โดดเด่นเป็นพิเศษ คือการใช้วัสดุของตัวเครื่องที่เป็นอะลูมิเนียม ทำให้ดูมีราคาแพงกว่าค่าตัวที่ 269 ดอลลาร์สหรัฐไปมากโข และให้สัมผัสเหมือนกับการใช้คอมพิวเตอร์ในระดับดีๆ เครื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตามจุดด้อยกลับมาตกอยู่ที่แป้นพิมพ์ ที่ถึงแม้ตัวแป้นจะมีการยุบรองรับน้ำหนักและให้สัมผัสการพิมพ์ที่ดี ทว่าแป้นแต่ละตัวอักษรนั้นเล็กมาก จนอาจทำให้พิมพ์พลาดได้ครับ (ผมต้องก้มมองดูแป้นบ่อยๆ เมื่อใช้ Chromebook ตัวนี้)
ด้านซ้ายของตัวเครื่องมีช่องสำหรับเสียบสายชาร์จ, ไฟแสดงแบตเตอรี่และการทำงานของเครื่อง ปุ่มปรับเสียง และปุ่มเปิดเครื่อง ซึ่งในตอนใช้งานจริง ถ้าเครื่องปิดฝาอยู่ แค่เปิดฝาออกมาเครื่องก็ติดทันที ดังนั้นปุ่มปิดเครื่องจึงใช้งานน้อยมากครับ ส่วนด้านขวามีพอร์ต Micro HDMI, USB 2.0 2 ช่อง, ช่องสำหรับ microSD และช่องหูฟังขนาด 3.5 มม. ด้านล่างเครื่องมีแค่ลำโพงกับข้อมูลบอกเกี่ยวกับเครื่องเท่านั้นครับ
สิ่งสำคัญของ Chromebook Flip ตัวนี้ ก็คงเป็นเรื่องของ "ท่า" ต่างๆ ที่สามารถปรับหน้าจอให้กลายเป็นแท็บเล็ตเพื่อใช้เป็นครั้งคราวได้ หรือจะใช้เพื่อดูหนังอย่างเดียวในสถานที่แคบๆ อย่างบนเครื่องบินก็ได้เช่นกัน
ประเด็นที่ควรเป็นข้อพิจารณานอกเหนือไปจากแป้นพิมพ์แล้ว ยังเป็นเรื่องของหน้าจอกระจกที่สะท้อนแสงมากอย่างร้ายกาจ แม้จะปรับแสงจากหน้าจอแข่งได้ แต่ก็พบว่าในสถานการณ์ที่แสงจัดมากๆ ก็ยังสู้ไม่ค่อยจะไหว อีกอย่างคือหน้าจอหากใช้งานเป็นโน้ตบุ๊กปกติ อาจจะถือว่าพอรับได้ แต่ถ้าใช้เป็นแท็บเล็ตแล้ว ถือว่ายังมีความละเอียดต่ำไปหน่อย (ว่าง่ายๆ คือหน้าจอแสดงผลได้ค่อนข้างหยาบนั่นเอง) รวมถึงในบางครั้งเครื่องมีอาการ ghost touch ซึ่งแก้ด้วยการปิดหน้าจอลงมาสัก 2-3 วินาที แล้วเปิดหน้าจอขึ้นมาใหม่ครับ (นานๆ จะเกิดที)
Chrome OS บน 2-in-1
ตามปกติแล้ว รีวิวของ Chromebook ผมมักจะไม่ค่อยเขียนถึงในส่วนของระบบปฏิบัติการมากนัก แต่มาครั้งนี้ที่ Chromebook มาในรูปแบบ 2-in-1 ผมจึงขอรีวิวความแตกต่างจากรุ่นปกติสักเล็กน้อยครับ
ถ้าหากกล่าวว่า Windows 10 มีคุณสมบัติ Continuum ที่ทำให้คอมพิวเตอร์รับรู้ว่าขณะนี้ใช้งานในโหมดแท็บเล็ตหรือโน้ตบุ๊ก และปรับระบบปฏิบัติการไปได้ Chrome OS ก็มีคุณสมบัติเช่นว่านี้ด้วย โดยในกรณีของ Chromebook Flip เมื่อเริ่มหักหน้าจอลงเกินแนวระนาบ 180 องศากับตัวเครื่อง โหมดดังกล่าวจะทำงานทันที โดย Task Switcher (ตัวเลือกหน้าจอแอพที่กำลังทำงานอยู่ คล้ายกับการกดปุ่ม Alt+Tab บน Windows) จะไปแสดงตัวอยู่ตรง shelf มุมขวาล่างแทน รวมถึงเคอร์เซอร์ของเมาส์ก็จะหายไป
นอกจากนั้นแล้ว หน้าจอที่แสดงผลต่างๆ ก็จะถูกปรับขนาดให้ใหญ่เต็มหน้าจอ เหมาะสมกับการใช้งานแบบแท็บเล็ตด้วยเช่นกัน
หน้าจอก่อนโหมดแท็บเล็ตทำงาน
หน้าจอหลังโหมดแท็บเล็ตทำงาน
เผื่อใครไม่เห็นภาพ ผมมีคลิปวิดีโอ 3 ชิ้นให้เลือกดูการทำงานของ Chromebook Flip ในโหมดแท็บเล็ตครับ
ในการใช้งานจริง ผมเองพบว่า Chromebook รับรู้และตอบสนองได้ดีต่อการเปลี่ยนโหมด รวมทั้งยังทำงานได้ดีไม่มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตามตัวระบบปฏิบัติการยังใช้ได้เฉพาะเว็บเป็นหลัก ยกเว้นว่าจะเลือกรับอัพเดตผ่าน Dev Channel เพื่อที่จะทำให้รันแอพของ Android ได้
สรุป: มันคือ Chromebook แบบ 2-in-1 ที่ดูหรูและดีที่สุดในขณะนี้
เท่าที่ทดลองใช้งานมา Chromebook Flip เองสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว เป็นที่น่าพอใจในการใช้งานปกติ อย่างไรก็ตามถ้าจะใช้มันในฐานะแท็บเล็ต อาจจะพอใช้ได้เป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น เพราะน้ำหนักในระดับ 0.89 กิโลกรัม ก็ถือว่าเยอะอยู่ในระดับหนึ่ง ส่วนปัญหาเท่าที่พบก็คือ แป้นพิมพ์มีขนาดปุ่มกดที่เล็กไป หน้าจอกระจกที่สะท้อนแสง และบางครั้งก็มี ghost touch เกิดขึ้น
แต่ทั้งหมดทั้งปวง ก็ต้องถามกับตัวผู้อ่านเองด้วยว่า หากราคาค่าตัว 269 ดอลลาร์สหรัฐ (249 ดอลลาร์สำหรับรุ่นแรม 2 GB) ที่แลกมาด้วยคุณสมบัติทั้งตัวเครื่องที่ดูดีมากเกินราคา ความสามารถในการใช้เป็นแท็บเล็ตได้ ทำงานได้รวดเร็ว และสำคัญที่สุดคือเรื่องใช้งานแอพ Android ได้แล้ว จะถือเป็นข้อยกเว้นที่ทำให้ยอมมองข้ามข้อเสียเหล่านี้ไปได้บ้างหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วถือว่าอยู่ในระดับที่ "ยอมรับได้" ครับ
ข้อดี
ข้อเสีย
Comments
โดยรวมดูดีเลยทีเดียว วัสดุดี น้ำหนักเบา ราคาไม่สูง
ประโยคนี้แปลกๆครับ "ทั้งหมดทั้งปวด" --> ทั้งหมดทั้งมวล หรือไม่ครับ
โน๊ต => โน้ต
บุ๊ค => บุ๊ก
คาดว่าเมืองไทยคงไม่มาวางขายแน่ ๆ เห็นมีแต่ True IDC กับ Acer ยังไม่ค่อยเห็นมีคนใช้เลยครับ
เห็นระบบ touch ใน video แล้วดู awkward ยังไงไม่รู้แหะ จอมันเล็กเกินไป -.-
ดูจากดีไซน์ทั้งหมดทั้งมวล ทำมาให้ลง osx เลยละกันนะ จะได้สบายใจ
เกือบโดนละ นับข้อดีได้เยอะ เบา ถูก สวย แต่มาตายตรง Chrome OS เนี่ยแหละ ทำมาให้ dual boot Windows ไปเลยเถอะไหนๆ แล้ว ไม่อยากได้แผ่นรอง Surface RT เพิ่มละ
ตรงข้ามกับผมเลยนะครับ มันน่าสนใจเพราะเป็น ChromeOs เลยเครื่องนี้ ราคาถูกสเป็คไม่ต้องแรงใช้งานลื่นสเถียร กลับกันถ้า windows ในราคานี้คงห่วยสุดๆ
ราคา ความสามาถ แปรผกผัน
เหมือนผมเลย ChromeOS คือจุดเด่น
Chrome OS มีจุดเด่นตรง
การดูแลรักษาต่ำ ไวรัสไม่มี
บูทพร้อมทำงานได้ใน 7 วินาที
ซึ่ง Windows ทำไม่ได้
และ SSD 16G นี่ลง Win10 ยังไม่พอเลยมั้งครับ
แล้วถ้าอยู่ในที่ๆ net ไม่มี หรือมีแต่ไม่วิ่ง มันจะง่อยแค่ไหนอ่ะครับ
เรื่อง SSD ไม่พอนี่ผมยอมจ่ายเพิ่มอีกถ้ามันทำให้ทำงานได้จริงในทุกสถานการณ์นะครับ
ตอนนี้เก็บข้อมูลเรื่อง ultrabook ไปเรื่อยๆ รอ Macbook Pro พัง ติดใจ Zenbook UX มากบาง เบา เร็ว
เท่าที่ทราบมันทำงาน offline ได้ในระดับนึงครับ
ถ้าเอาตามกลุ่มเป้าหมาย เครื่องนักเรียนหรือเครื่องพนักงานที่ไม่ใช่ power user
ถือว่าพอเเพียง ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลได้มาก
ตอนนี้มันรองรับแอพ Android แล้วนะครับ (ถ้าใช้ Dev channel) ซึ่งก็แปลว่าใช้งานแบบ offline พอได้บ้างแล้ว
I'm ordinary man; who desires nothing more than just an ordinary chance to live exactly what he likes and do precisely what he wants.
พอครับ พอแบบเหลือที่ด้วย ใช้ไปแค่เกือบๆ 10GB เอง แค่ลงอะไรเพิ่มไม่ได้เยอะเท่าไหร่
เอ่อ Rockchip มันรัน Windows ไม่ได้อ่ะครับ
Surface RT นี่ได้ข่าวว่าอนาคตมืดมนยิ่งกว่า ChromeOS อีกไม่ใช่เหรอครับ ผมว่าเอามาทำเป็นที่รองเมาจะเหมาะกว่าอีก
ใช้คำว่าหมดอนาคตไปแล้วจะตรงกว่าครับ แต่มันก็ยังมีดีตรงที่ใช้โปรแกรม microsoft office ได้นะ
ถ้ามีคนแฮกลง W10M หรือ Android ได้สมบูรณ์แบบ ก็ได้ไปต่อแน่นอนครับ สเป็คไม่ได้ห่วยอะไรแต่มาตายเพราะ OS จริงๆ แต่ต้องทำเองและไม่มีประกันให้ด้วย เพราะผ่านมาหลายปีแล้ว
Get ready to work from now on.
ถ้าใช้ไปนานๆ มันจะอืดแบบโครมบราวเซอร์มั้ยครับ สนใจแต่ยังไม่ค่อยกล้าเสี่ยง
กำลัง ลังเลระหว่าง Chromebook (ลง Android) หรือ หา Labtop ที่ลง RemixOS มาใช้งานจะดีกว่ากัน -_-