ในรอบเดือนที่ผ่านมา บริการ PromtPay หรือ Any ID ที่ผลักดันโดยธนาคารในประเทศไทย ได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ในรายละเอียดแล้ว เชื่อว่าหลายคนยังมีคำถามอีกมากว่าตอนใช้งานจริงจะเป็นอย่างไร
Blognone มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณศุภนีวรรณ จูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงของการเปลี่ยนผ่านมาใช้ระบบ PromtPay ของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งจะมาให้ความกระจ่างกับเราในเรื่องนี้ครับ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้เงินสดทำธุรกรรมเยอะ การใช้เงินสดมีต้นทุนการบริหารจัดการมาก ตั้งแต่ค่าพิมพ์ธนบัตร ค่าขนย้าย ทุกอย่างมีต้นทุนหมด ดังนั้นในภาพรวม เราต้องขยับไปใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่ธนาคารต่างๆ ธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐบาลเห็นตรงกัน
ฝั่งของผู้ประกอบการธนาคารเอง อยากให้คนมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว เมื่อรัฐบาลมีนโยบาย National E-payment ก็เลยไปด้วยกันได้ ข้อดีของธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากช่วยป้องกันเรื่องการฟอกเงินในระดับชาติแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายย่อยด้วย เพราะธนาคารเห็นปริมาณธุรกรรมทั้งหมด ก็สามารถให้กู้ได้ง่ายขึ้น
แผนการ National E-payment มีหลายส่วน เช่น การใช้บัตรชิปการ์ด อันนี้เป็นเรื่องของการจ่ายเงิน นอกจากตัวบัตรแล้ว รัฐบาลยังอยากให้ร้านค้าติดตั้งเครื่องรูดบัตร หรือที่เรียกรวมๆ ว่า EDC (Electronic Data Capture) ให้มากขึ้น โดยพยายามลดค่าธรรมเนียมการรูดบัตรลง เพื่อกระตุ้นให้คนใช้จ่ายผ่านบัตรกันมากขึ้น
ส่วนเรื่อง Any ID หรือ PromptPay เป็นเรื่องการโอนเงินโดยเฉพาะ
คุณศุภนีวรรณ จูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
PromptPay คือวิธีการโอนแบบใหม่ที่ง่ายขึ้น แทนที่จะใช้เบอร์บัญชีแบบเดิม ก็ผูกเบอร์บัญชีไว้กับ 1) เลขประจำตัวประชาชน หรือ 2) เบอร์โทรศัพท์ แทน เวลาโอนก็อ้างอิงด้วยเลขเหล่านี้แทนเลขบัญชี เงินโอนก็จะไปเข้าบัญชีที่ผูกไว้ (เลือกได้ว่าจะผูกกับเลขประจำตัวประชาชน หรือโทรศัพท์ หรือทั้งคู่)
ตอนที่เราใช้งานจริงผ่าน ATM หรือเว็บ/แอพ จะเห็นเมนู "พร้อมเพย์" เพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งเมนู ส่วนเมนูโอนเงินแบบเดิมก็ยังอยู่ สามารถเลือกใช้ได้ทั้ง 2 แบบตามที่ลูกค้าสะดวก ถ้าคนที่โอนให้มีพร้อมเพย์แล้วก็ใช้พร้อมเพย์ได้เลย แต่ถ้าปลายทางยังไม่มี จะโอนแบบเดิมก็ได้เช่นกัน
ตัวอย่างหน้าจอตู้ ATM ที่มีเมนู "พร้อมเพย์"
ธนาคารกสิกรไทย มีช่องทางที่เปิดให้โอนเงินแบบ PromptPay ทั้งหมด 3 ช่องทางคือ ATM, Cyber Banking และ Mobile Banking ส่วนสาขาเรายังไม่รองรับในช่วงแรก เพราะต้องการให้คนย้ายไปใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการไปสาขา
ต้องย้ำว่าช่วงแรกจะยังใช้ได้เฉพาะการโอนเงินระหว่างบุคคลไปยังบุคคลเท่านั้น ยังไม่รองรับบัญชีนิติบุคคล และยังไม่รองรับการรับโอนเงินสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ
ส่วนช่วงเวลาจะเป็นดังนี้
การลงทะเบียน PromptPay สามารถทำได้ 4 ช่องทาง
ในกรณีที่เราต้องการผูกบัญชีธนาคารกับเบอร์มือถือ จะต้องยืนยันความเป็นเจ้าของเบอร์ผ่าน OTP ด้วย การไปลงทะเบียนที่สาขา เจ้าหน้าที่จะส่ง OTP มาเข้าเครื่องเราตอนนั้นเลย แล้วขอรหัส OTP ไปกรอกยืนยัน ส่วนการลงทะเบียนที่ตู้ ATM ก็จะมี OTP ส่งเข้ามาทันทีตอนที่เรายืนอยู่หน้าตู้
การลงทะเบียนไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และไม่มีกำหนดปิดรับลงทะเบียน สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป
หน้าจอสมัครบริการ PromptPay ผ่านตู้ ATM
หน้าจอสมัครบริการ PromptPay ผ่าน K-Mobile
กรณีที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน สามารถผูกได้แค่บัญชีเดียวเท่านั้น
กรณีที่ผูกกับเบอร์มือถือ บัญชีธนาคาร 1 บัญชี สามารถผูกกับเบอร์โทรศัพท์ได้สูงสุด 3 เบอร์ ถ้ามีหลายบัญชีก็คูณ 3 ตามจำนวนบัญชีที่มี (เช่น มี 10 บัญชี ผูกได้กับ 30 เบอร์) ในตอนนี้ ธนาคารยังไม่จำกัดจำนวนเบอร์โทรศัพท์ทั้งหมดที่สามารถผูกได้กับลูกค้าหนึ่งคน
แน่นอนว่า PromptPay ช่วยให้การโอนเงินระหว่างบุคคลสะดวกขึ้น แต่การใช้งานขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าสะดวกใจให้ข้อมูลส่วนตัวอย่างเบอร์มือถือ หรือเลขบัตรประชาชนกับคนแปลกหน้าหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ธนาคารมองว่าเป็น choice ของลูกค้า แต่ละคนคงมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นบัญชีส่วนตัวใช้เฉพาะครอบครัวหรือคนสนิทจริงๆ คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นเบอร์ที่รับเงินจากคนแปลกหน้าหรือลูกค้าอีกที ก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ส่วนประเด็นว่าเลขบัญชีธนาคาร นำไปผูกกับข้อมูลส่วนบุคคลอื่นอย่างเลขประจำตัวประชาชนหรือเบอร์มือถือ ต้องอธิบายว่าระบบการทำงานของ PrompPay จะมีบริษัทกลาง ITMX มีหน้าที่เก็บว่าเลขประจำตัวประชาชนกับเบอร์มือถือไหน อยู่กับธนาคารใด (ข้อมูลนี้ใช้ตอนโอน) แต่ ITMX จะไม่ทราบว่าผูกกับบัญชีใด ซึ่งตรงนั้นเป็นเรื่องที่ธนาคารแต่ละรายไปบริหารจัดการกันเอง
ค่าธรรมเนียมที่ประกาศออกมาคือ ต่ำกว่า 5,000 บาท โอนฟรี อันนี้ธนาคารยืนยันว่าโอนได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สมมติจะโอนเงิน 15,000 บาท ไม่อยากเสียค่าธรรมเนียม จะซอยเป็นโอน 3 ครั้ง ครั้งละ 5,000 บาทก็ทำได้แน่นอน
ตอนนี้ไม่จำกัดจำนวนครั้งในการโอนต่อวัน แต่ลิมิตจำนวนเงินรวมที่โอนได้ต่อวัน ขอดูพฤติกรรมการใช้งานก่อนว่ามีปัญหาเรื่อง fraud มากน้อยแค่ไหน
เมื่อ PromptPay ใช้งานร่วมกับเบอร์มือถือ ส่งผลให้ธนาคารต้องร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์อย่างใกล้ชิดเพื่อคุ้มครองลูกค้าจากปัญหาเหล่านี้
ตัวอย่าง E-Slip ของการโอนเงินด้วย PromptPay
ต้องยอมรับว่าธนาคารจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนน้อยลงจริง แต่ถือเป็นการลงทุนช่วยเปลี่ยนผ่านให้ประเทศไทยย้ายไปใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์เร็วขึ้น ถ้าเป็นไปตามแผนคือคนใช้เงินสดลดลง ธนาคารมีต้นทุนการดูแลเงินสดลดลงในระยะยาว ก็ถือว่าคุ้มค่า
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไม่ง่ายเพราะขึ้นกับพฤติกรรมคน อย่างก่อนหน้านี้คนพูดกันว่า Mobile Banking จะมาแทนการใช้บริการที่สาขา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือปริมาณการใช้ Mobile Banking เติบโตมาก แต่ปริมาณการใช้งานสาขาก็ไม่ลดลงเช่นกัน เป็นเพราะลูกค้าบางกลุ่มมีพฤติกรรมเลือกโอนเงินหลายรูปแบบ เช่น โอนเงินจำนวนน้อยๆ โอนผ่านมือถือ เยอะขึ้นมาหน่อยเลือกไป ATM และถ้าโอนเยอะๆ อยากได้ความอุ่นใจ อยากเห็นหน้าคนจริงๆ ก็เลือกไปสาขา แบบนี้ก็มี
ขอให้เลือกธนาคารที่จะใช้งานก่อน ว่าเราสะดวกใช้ธนาคารไหน ขอให้ผูกกับบัญชีที่ใช้งานบ่อยๆ
ต่อมาคือขอให้ลูกค้าเจ้าของบัญชี เลือกผูกบัญชีกับเบอร์ให้ตรงกับความต้องการ เช่น ผูกบัญชีส่วนตัวกับเบอร์ส่วนตัว ผูกบัญชีรับเงินกับเบอร์ที่ใช้ในการค้า เพราะถ้ามีบัญชีเยอะๆ มันจะงงว่าบัญชีไหนผูกกับเบอร์ไหน
ตอนที่โอนจริง ในเมนู PromptPay จะให้ใส่เลขประจำตัวประชาชนหรือเบอร์มือถือก่อน จากนั้นจะแสดงชื่อของผู้รับโอนขึ้นมาบนหน้าจอ ขอให้ตรวจสอบให้มั่นใจว่าโอนถูกคน เป็นชื่อที่ใช่จริงๆ เพราะถ้าโอนผิดไปแล้ว การทวงกลับมานั้นยากมาก
สุดท้ายคือถ้าเกิดในอนาคตเปลี่ยนเบอร์มือถือ เช่น ขายต่อหรือยกให้คนอื่นใช้งานแทน ขอให้ไปยกเลิกข้อมูล PromptPay กับธนาคารด้วย เจ้าของเบอร์คนใหม่จะได้ไม่มีปัญหายุ่งยากตรงนี้
Comments
ถ้าสะดวกขึ้น การฉ่อโกง/หลอกลวง เกี่ยวกับการขายสินค้า/บริการออนไลน์ ก็น่าจะเพิ่มขึ้นไปด้วย อยากทราบมาตรการ ที่ทางธนาคารแนะนำ แบบ Official จริงๆ เพราะเคยค้นหา หรือบางทีเจอใน Social Network อ่านๆ ดูบอกไม่เหมือนกัน อยากรู้ว่าระงับเงินปลายทางได้จริงมั้ย ได้เงินคืนจริงมั้ย
ผมชอบจับเงินสดครับ กลิ่นมันเป็นเอกลักษณ์ - -"
ชอบตรงรัฐเห็นยอดเงินของเราทั้งหมด พวกขายของออนไลน์ ร้านเล็ก ๆ อยากให้โดนบังคับใช้ทั้งหมด เพราะพวกนี้ รายได้เยอะ เสียภาษีน้อย ส่วนพวกผมกินเงินเดือน โดนเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย
ร้านส้มตำไก่ย่างแถวที่ทำงาน ขายดี ออก BMW X1 มาขับ ร้านขายหัวปลาออก Lexus RX กับ Benz C300 มาใช้ พวกนี้ภาษีปีนึงเสียน้อยกว่าผมอีกมั๊ง
+1
ร้านทางเท้าแถวสยามตอนเก็บร้านนี่แต่ละคนขับรถมาราคาเป็นล้านทั้งนั้น
เคยเห็นร้านขายรองเท้าตามตลาดนัดขับ bmw แฮชแบคขนรองเท้ามาขายเหมือนกัน
เรื่องภาษีคงไม่เกียวหรอกครับ เช่น ผมรับจ้างพรีออเดอร์มียอดเงินโอนเข้าทุกวันเลย แล้วผมใช้เงินสดชำระค่าสินค้า (ผมอาจจะมียอดเงินโอนเข้ามาเยอะเหมือนจะรวย แต่จริงๆ อาจจะขาดทุนย่อยยับก็เป็นได้)
เงินสดชำระค่าสินค้า ก็ต้องถอนออกจากบัญชีไงครับ ตอนไปซื้อของมาขายก็ต้องมีใบเสร็จจากร้านที่ไปซื้อมาเป็นหลักฐาน ตอนขายให้ลูกค้าก็ต้องมีต้นขั้วใบเสร็จให้ลูกค้าเป็นหลักฐานไว้อีก ถ้าขายขาดทุน ตอนยื่นภาษีก็ไม่ต้องเสียเพิ่ม ไม่เห็นมีปัญหาอะไร
ที่จริงผมแนะนำให้จัดตั้งเป็นบริษัทนะครับ จะได้ทำบัญชีให้เป็นระบบ ดูง่ายกว่า
ร้านไก่ย่างที่ไหนครับเนี่ย ผมจะได้แนะนำให้ร้านนี้ไปขายบ้าง เห็นว่าหาเงินไปวันๆ ไม่พอใช้
ปล. ผมว่าเมื่อเครื่อง EDC มันเริ่มแพร่หลายขึ้น เรามาทำ Campaign รณรงค์ไม่ซื้อของข้างทางที่ต้องจ่ายเงินสดกันดีมั้ยครับ?
มาดูร้านสมตำที่ทำงานผมเลยครับ สถารถไฟฟ้าเพลินจิตร คนต่อคิวทุกวัน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ ยืนยันว่ารวยและไม่เข้าระบบภาษีแน่นอน จะให้ผมพาทัวร์ก็ยินดีครับ
เอาจริงๆ นะ ถ้าเสียภาษีเงินได้สัก 30% แล้วเสีย VAT สัก 15% แล้วเป็นรัฐสวัสดิการ ทุกอย่างดี ยกตัวอย่างเอาเหมือน Finland ก็พอ ถ้าได้แบบนี้คนไม่อิดออดที่จะเสียภาษีมั๊งครับ อย่าดูถูกว่าเป็นคนไทยเลย แต่นี่เสียภาษีไปเหมือนหายไปในอากาศ เจ็บป่วยรักษาฟรี โรงพยาบาลรัฐก็แสนจะย่ำแย่ ไปติดต่อกลับราชการก็แย่ ทำงานเช้าชาม เย็นชาม โรงเรียนรัฐดีๆ ก็ต้องแย่งกันเข้า ค่าใช้จ่ายยุบยิบไปหมด
ที่ไม่แฟร์คือ คนที่ทำงานกินเงินเดือน เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย เรื่องลดหน่อย ซื้อกองทุน ก็ได้ลดนิดๆ หน่อยๆ อยากรู้ว่าถ้า epayment ของรัฐใช้งานแล้ว รัฐสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น เงินมันจะมาลงกลับมาที่ประชาชนจริงหรือเปล่า ต้องขอดูต่อไป ไม่ใช่ว่าเงินเอาไปซื้อเรือเหาะที่บินไม่ได้ เอาไปซื้อไม้ตรวจป่าช้า GT200 อะไรประมาณนี้เหมือนเดิม
ถ้าต้องการรีเซ็ตพาสเวิร์ด ต้องแฟ็กซ์ฟอร์มไปที่สำนักงานใหญ่อีกหรือเปล่าครับ :)
เปลี่ยนที่ตู้ได้นิครับ
ไม่แน่นะครับ ถ้าผูกกับบัญชี ธ.กรุงเทพ
ทำไมเหรอครับ ผมกะจะผูกกับธนาคารกรุงเทพอยู่พอดี
เมื่อก่อน ธ.กรุงเทพ จะอิงแบบฟอร์มกระดาษเยอะครับ
อย่างเปิด Internet Banking ต้องไปขอแบบฟอร์มที่สาขาเพื่อกรอกก่อน (4-5 ปีที่แล้ว)
แต่ปัจจุบันคล่องตัวมากขึ้นเยอะแล้วครับ
เมื่อวานผมลงแอพ Bualuang mBanking ใหม่แล้ว login ผิดจนโดนล๊อค
โทรเข้า Call Center ขอปลดล๊อคได้ทันที รอ 5 นาที Login ใหม่ได้เลย
เคยโดนล๊อคครั้งหนึ่ง แล้วไม่ได้สนใจปลดล๊อค เพราะไม่ค่อยได้ใช้บัญชีนี้ ผ่านไปหลายเดือน วันหนึ่งเดินห้าง เจอ ATM ของ ธ.กรุงเทพ ก็เข้าไปเสียบบัตร ATM ปลดล๊อคได้เลย ไม่ยุ่งยาก...
ตอนนี้ไม่จำกัดจำนวนครั้งในการโอนต่อวัน แต่ลิมิตจำนวนเงินรวมที่โอนได้ต่อวัน ขอดูพฤติกรรมการใช้งานก่อนว่ามีปัญหาเรื่อง fraud "มกา"น้อยแค่ไหน >>> มาก
มันยังไงๆอยู่นะ เหมือนมีเพเพลแห่งชาติ?อืมมมมมมมม
งงวุ้ยมันทะแม่งๆยังไงไม่รุ็บอกไม่ถูก(หาสาเหตุไม่ได้)
หน้าจอของตู้ธนาคารกรุงเทพก็แทบไม่ต่างแบบนี้เลยครับ ใช้งานง่ายเหมือนกัน แต่แรกๆคนจะงงเพราะตู้มันให้เลือกว่าจะใช้ระบบบัตรแบบไหน
ตอนนี้มีบริการหรือร้านไหนที่เตรียมรองรับแล้วบ้างหว่า
จะโชว์ชื่อว่าใครโอนมาให้หรือยัง แปลกใจที่โอนเงินผ่านธนาคารไม่ยอมบอกชื่อคนโอนมาซะที ปล่อยให้ส่งหลักฐานการโอนกันมากี่สิบปีละเนี่ย
บาย
ผมก็รู้สึกไม่ชอบนะ แต่นึกไม่ออกว่าควรใช้วิธีไหนแทนดี
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
มีที่ไหนที่ไม่โชว์ชื่อผู้รับบ้าง ? มันก็โชว์ทุกช่องทางอยู่แล้ว
น่าจะหมายถึงเรื่องความปลอดภัย
สมมติคนที่คิดไม่ดี เดาเบอร์โทรสักเบอร์ และกดโอนเงิน แต่ไม่โอนจริง ก็จะได้ชื่อ นามสกุลแล้ว
ที่นี้ก็แกล้งโทรไปหาและก็สามารถเรียกชื่อนามสกุลจริงได้ถูกต้องแล้วละครับ
ผมว่าจริงควรให้ตั้งข้อความเองได้นะ แบบเดียวกับ vbv/msc แต่ default เป็นชื่อก็ได้ไม่เสียหายอะไร
ไม่เข้าใจอะครับ มันมีอะไรไม่ดีตรงไหนหรอครับ?
ก็ใส่ reference id เข้าไป เค้าก็เซิจฐานข้อมูล ได้ชื่อมาก็แจ้ง ตรวจดูถ้าถูกต้องก็ค่อยโอน ก็ดูไม่มีอะไรนิครับ
บางคนอาจจะไม่ได้อยากแจกชื่อนามสกุลเต็มให้กับทุกคนที่รู้เบอร์โทรน่ะครับ
แก๊ง Call Center ระบาด คราวนี้มีชื่อ นามสกุล เป๊ะ
มันดาบ 2 คม อีกด้านคือพวกหลอกโอนเงินก็ไม่กล้าทำอะไรเช่นกัน มันต้องเลือกทางหล่ะนะ ว่าจะเน้นเก็บกวาดขยะสังคมทางไหนมากว่าหน่ะครับ เรื่องแก๊ง call center คงต้องหาอย่างอื่นมายืนยัน แล้วหล่ะเพราะ หมายเลขบัตรประชาชน วันเกิด ที่อยู่ มันใช้ไม่ได้อยู่แล้วมันเป็นข้อมูลเปิดไปหมดแล้ว
เอาเข้าจริงๆ คนที่รัฐอยากเห็น transaction เขาก็ไม่ใช้กันอะ ถ้ารัฐไม่ได้บังคับ (ซึ่งรัฐไม่มีสิทธิ์มาบังคับอยู่ดี)
มีสิครับ มีกฎหมายภาษีอยู่ แค่ไม่บังคับใช้เพราะคิดว่าไม่คุ้ม
เอาจริงๆ ผมว่าเลือกรายที่ดูรวยๆ สักสองสามรายมาเป็นตัวอย่างก่อน ปรับให้หนักๆ ก็น่าสนใจนะ
ถ้าแบ่งเป็นใช้เบอร์โทรศัพท์ผูกกับบัญชีที่ใช้รับเงินโอน
แล้วแยกผูกเลขประจำตัวประชาชนกับบัญชีที่ใช้โอนเงินออก
แบบนี้ได้มั้ย ในกรณีที่แต่ล่ะบัญชีอยู่คนล่ะธนาคาร
อ่านมาตั้งเยอะก็มาเจอคำถามว่า คนใช้ได้อะไรหรือครับ? บัญชีชื่อก็ต้องผูกกับธนาคาร ต้องรู้เลขบัตรประชาชนคนโอน(13หลัก) หรือเบอร์โทรศัพท์(10หลัก) และการถูกเปิดเผยตัวตนง่ายๆด้วยเบอร์โทรศัพท์ แถมยังใช้ได้แค่บัญชีเดียวผูกคอเอาไว้ด้วย ค่าธรรมเนียมก็ยอมรับว่าถูก แต่ถ้ามันดีแค่ค่าธรรมเนียมแล้วทำไมไม่ไปบีบคอธนาคารให้ลดค่าธรรมเนียมไม่ง่ายกว่า?!?
ผมว่าข้อมูลการเงินของเรามีค่ามากนะครับ ฝรั่งเขายังมีธรรมเนียมไม่ถามเรื่องเงินเดือนคนอื่นเลย แต่ตอนนี้เรากำลังให้นี้ข้อมูลกับรัฐซึ่งจะเอามาใช้จับผิดเราว่าเราโกงหรือเปล่า ผมรู้สึกว่าผมเป็นข้าทาสของรัฐหรอ เงินในกระเป๋าความเป็นส่วนตัวของผมยังอยากรู้ ที่คิดแบบนี้เพราะผมว่าการจัดเก็บภาษีมีอีกหลายวิธีครับ และการเก็บภาษีคนรวยไม่ใช่เพื่อเอารายได้มาเข้าประเทศ แต่เพื่อนำมาลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน และมันมีการลดหย่อนมากมายมหาศาล
ปล.บ้างคอมเมนต์บอกเขาเป็นมนุษย์เงินเดือนยังรวยน้อยว่าคนขายของตลาดนัด ก็ต้องใช้คำพูดแจ็กม่าครับ คุณกล้าลาออกมาขายและเสี่ยงที่ครอบครัวคุณจะอดมื้อกินมื้อไหม... เรื่องภาษีก็เรื่องหนึ่งครับแต่คุณจะอิจฉาหรือดูถูกเขาเพราะเราคือคนทำงานออฟฟิศแล้วเขาขายของข้างถนนผมว่ามันไม่ใช้ชุดความคิดที่ดีครับ
ผมว่าไม่มีใครดูถูกหรอกครับ
แต่ในเมื่อมนุษย์เงินเดือนต้องอยู่ในระบบ เสียภาษีทุกเม็ด แต่พ่อค้าแม่ค้า กลับแทบไม่ต้องจ่ายภาษี ผมว่าอันนี้มันก็ไม่แฟร์นะครับ
ผมยังไม่เห็นใครในนี้ดูถูกเขานะ มีแต่คนบอกว่าพวกนี้ (บางราย) รายได้ดีมาก ๆ แต่ไม่อยู่ในระบบภาษี (และระบบควบคุมของรัฐ) ซึ่งมันไม่แฟร์ต่างหาก
อยากเห็นตัวอย่างชัด ๆ ก็ตลาดนัดต่าง ๆ หรือฟุตบาทต่าง ๆ ที่อยู่ในแหล่งเศรษฐกิจดี ๆ เช่นอนุสาวรีย์ชัย สยาม เป็นต้น ไปดูเลยครับตอนซักหกโมงหรือทุ่ม กับตอนดึก ๆ เขาขนของมาและกลับด้วยรถราคาแพง ๆ กันทั้งนั้น ในขณะที่ตัวเองไม่เสียภาษี บุกรุกที่สาธารณะ สร้างขยะ แล้วยังเรียกร้องอะไรเยอะแยะ แบบนี้แหละครับที่เขาว่ามันไม่แฟร์
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ผมไม่พอใจพวกเขาเพราะเขาเป็นอาชญากรครับ ชัดเจนนะครับ
ที่สำคัญคือผมได้รับผลกระทบครับ วันๆ ต้องเดินไปทำงานบนทางเท้าแฉะๆ เปียกๆ สกปรกด้วยซากอาหาร โดนควันหมูปิ้งรมหน้าจนหัวเหม็น ต้องเดินหลีกแผงขายรองเท้าไปเดินบนถนนเสี่ยงรถเฉี่ยว ทั้งที่ทางเท้านั่นส่วนหนึ่งมาจากภาษีผม
เพิ่มเติมเรื่องที่เกี่ยวกับเนื้อหาข่าวนะครับ เพื่อช่วยตอบคำถาม
สำหรับประชาชนที่ซื้อขายของกัน "โดยสุจริต" การที่ผู้ขายเปิดเผยตัวตนให้ผู้ซื้อรู้ ย่อมสร้างความไว้ใจได้ดีกว่าครับ ระหว่างให้โอนเงินไปที่เลขบัญชี กับให้โอนไปที่เลขบัตรประชาชน อย่างหลังควรจะตามตัวได้มากกว่ากรณีโกงนะครับ เบอร์โทรศัพท์ก็เช่นกัน ถ้าบอกเบอร์นี้ โอนเข้าเบอร์นี้ ชื่อตรงกับคนขายก็สบายใจได้มากขึ้น
ถ้าหมายถึงเลขบัตรก็ใช่ครับ แต่เบอร์มือถือก็ผูกกับบัญชีอื่นอีกได้ มีหลายเบอร์ก็ได้หลายบัญชี และจะเพิ่ม ลด เปลี่ยน ยกเลิกอะไรเมื่อไหร่ก็ได้ ก็เสียเวลาทำตามขั้นตอนไปปกติ
ผมว่าอันนี้ที่ไทยก็เหมือนกันแหละครับ
รัฐมีอำนาจตามกฎหมายที่จะตรวจสอบรายได้ของคุณเสมอนะครับ เขาแค่ไม่ไล่จับเพราะไม่คุ้ม ตอนนี้เขามีหลายนโยบายออกมาเพื่อ "ให้โอกาสโจรกลับใจ" เช่นให้ SME หันมาทำบัญชีเดียว
มันเป็น "หน้าที่" ของพลเมืองทุกคน(ที่มีรายได้เข้าข่าย) ในการเสียภาษีนะครับ และถ้าเงินในกระเป๋าคุณได้เสียภาษีตามหน้าที่แล้วอย่างถูกต้อง รัฐก็คงไม่อยากไปเสียเวลาดูหรอกครับ
ไม่ว่าวิธีการจัดเก็บจะมีกี่วิธี ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะมาบอกว่า ไปเก็บคนนั้น ไม่ควรเก็บคนนี้ ตราบเท่าที่กฎหมายภาษีระบุไว้ก็ต้องเก็บหมดครับ ส่วนเรื่องว่ารายได้เท่าไหร่ควรเสียเรทไหนอะไรยังไง อันนั้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งครับ
ผมบ่น เพราะผมใช้ทางเท้าไม่สะดวก ต้องเดินหลบ หลายคนโดนพวกนี้ด่าเวลาไปเกะกะเค้า แล้วยังต้องทนกับความสกปรกโสโครกของทางสัญจร รวมไปถึงท่อระบายน้ำตัน (อืม แต่ข้อนี้คนผิดเยอะมากไม่เฉพาะพวกที่ว่ามา) ทั้งที่คนพวกที่ว่ามานี่เป็นต้นเหตุ และต่อให้จ่ายภาษีก็ไม่คุ้มค่าดูแลซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ แล้วยังออกมาว่าเลี่ยงภาษีกันเป็นจำนวนมากอีก
เอาจริงๆ ผมไม่อยากให้ทางออกเป็นดักจับการเงินขนาดนี้ครับ อยากให้กวาดล้างพวกนี้ออกไปเสียมากกว่า จะค้าจะขายที่ไหนผมไม่ว่าครับ แต่ไม่ใช่มาค้าที่ที่มันไม่ใช่ที่ค้า มาบีบคอเอาทุกอย่างไปจากคนอื่นแบบนี้ (ยึดที่สาธารณะไปค้าขาย ทำที่สาธารณะสกปรก แล้วไม่จ่ายเงินดูแลที่สาธารณะอีก สุดยอด)
เห็นคนอื่นทำไม่ถูกต้องแล้วรวย ผมต้องทำผิดตามด้วยหรอครับ
ตรง ปล. นี่คนละเรื่องแล้วครับ กล้าเสี่ยงเพื่อผลตอบแทนที่สูง เป็นเรื่องที่คนรับความเสี่ยงสมควรจะได้มากกว่าอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ได้สิทธิ์ไม่ต้องจ่ายภาษี หรือได้สิทธิ์ทำอะไรละเมิดกฎหมายได้ครับ
อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว
มันก็แค่ทางเลือกที่เพิ่มเข้ามา การโอนเงินแบบเดิมก็ยังคงอยู่ คนคนหนึ่งน่าจะมีบัญชีมากกว่าหนึ่งบัญชี
เรื่องนี่น่าสนใจตรงที่ค่าธรรมเนียมในการโอน ฟรีและถูก
ต้องยอมรับว่าธนาคารจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนน้อยลงจริง แต่ถือเป็นการลงทุนช่วยเปลี่ยนผ่านให้ประเทศไทยย้ายไปใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์เร็วขึ้น ถ้าเป็นไปตามแผนคือคนใช้เงินสดลดลง ธนาคารมีต้นทุนการดูแลเงินสดลดลงในระยะยาว ก็ถือว่าคุ้มค่า
ธนาคารได้ประโยชน์ : คนที่จะใช้ PromptPay จะต้องมีเงินใส่ไว้ในธนาคาร ทำให้ธนาคารมีสภาพคล่องมากขึ้น (มาตราการช่วยเหลือธนาคาร???)
รัฐ : มีข้อมูอย่างดี สำหรับตรวจสอบ ปชช.(ภาษี หรืออาจจะมีเรื่องอื่นด้วย???)
เงินล้นระบบอยู่นะครับตอนนี้
ล้นระบบยังไงครับ ขอข้อมูลเป็นความรู้หน่อยครับ
ดูดอกเบี้ยเงินฝากสิครับ ต่ำเตี้ยเรี่ยดินขนาดนี้แปลว่าล้นแล้วครับ ไม่มีใครมากู้
คนทั่วไปไม่ค่อยกู้เพราะดอกก็ไม่ใช่น้อยๆ ดังนั้น คนที่จะกู้ก็คือ รัฐบาล ซึ่งเมื่อสองสามปีก่อนมีแผนการกู้ครั้งใหญ่อยู่ ถ้าสำเร็จก็น่าจะช่วยดอกเบี่ยไม่ให้ต่ำลงมาขนาดนี้ได้อยู่บ้าง แต่ล้มไปซะละ
ไม่เชิงนะครับ ในธุรกิจธนาคารจะมีสิ่งที่เรียกว่าสัดส่วน CASA อยู่ ซึ่งหมายถึง อัตราส่วนเงินฝาก (Current+Saving)/เงินฝากทั้งหมด ซึ่งเงินฝาก CASA เหล่านี้จ่ายดอกน้อยมากครับเมื่อเทียบกับ Fixed ดังนั้นหากสามารถดึงคนให้เอาเงินมาฝากกองไว้ใน CASA มากๆ ธนาคารสามารถลดปริมาณเงินฝากประจำลงได้ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงมหาศาลครับ
ถ้าธนาคารไหนดึงคนมาใช้ (และกองเงินไว้ในบัญชี) ได้มาก ย่อมได้ประโยชน์ชัดเจนครับ
ตอนนี้ทุกเจ้า ก่อนทำบอกเปลี่ยนยากจะเป็นไปไม่ได้จริงหรอไม่มีธนาคารไหนสนใจ ทุกธนาคารพูดเหมือนกันหมด พอรัฐเอาจริงทำจริงเท่านั้นแหละ ออกโปรมาแข่งกันแทบทุกธนาคาร รับให้ลงทะเบียนล่วงหน้ากันใหญ่ อย่างของ SCB ถึงขั้นแจกทอง 1200 รางวัลให้คนมาสมัครของ SCB ทั้งไม่ทำกำไรให้บริษัท ไม่มีทางกล้าแจกหรอกคับ
จริงๆคือไม่ทราบว่ามันจะต่างจากการบอกเลขบัญชียังไงเพราะสุดท้ายแล้วเราก็ต้องบอกชุดตัวเลขหนึ่งๆให้กันอยู่ดี เรื่องค่าธรรมเนียมโอนเงินปกติ ธปท ก็ต้องกำหนดมาเลยว่าอัตราเป็นเท่าไหร่เท่ากันทุกๆธนาคาร จริงๆถ้าอยากส่งเสริมธุรกรรมอิเล็กทรอนิคส์ง่ายๆเริ่มต้นด้วยส่งเสริมการใช้บัตรอย่างบัตรเดบิตหรือบัตรเติมเงินจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เข้าใจง่ายกว่า
เรื่องค่าธรรมเนียมคงเป็นเพียงสิ่งที่เอาไว้ดึงดูดให้มาใช้งาน ส่วนเรื่องหลักจริงๆ คือรัฐบาลได้ข้อมูลทางการเงินของประชาชน