เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา dtac ได้เชิญคุณ Fadi Bishara ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการก่อตั้งสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จ รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้ง BlackBox ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพของตัวเอง มาพูดคุยและแสดงทัศนะ ผมมีโอกาสได้ไปฟังพบว่ามุมมองของคุณ Fadi ต่อวงการสตาร์ทอัพไทยค่อนข้างน่าสนใจและอาจมีประโยชน์เลยนำมาฝากกันครับ
คุณ Fadi Bishara มีประสบการณ์ในการบ่มเพาะสตาร์ทอัพในช่วง early-stage มาแล้วมากกว่า 100 สตาร์ทอัพตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ทั้งใน Silicon Valley และอีกหลากหลายประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จ รวมถึงเป็นวิทยากรในงานประชุมเกี่ยวกับสตาร์ทอัพมาแล้วทั่วโลก ก่อนจะก่อตั้ง BlackBox ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะของตัวเอง ที่เน้นไปที่การพัฒนาแนวคิด ทัศนะและให้คำแนะนำตัวผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ (founder) ขึ้น
คุณ Fadi แชร์ทัศนะให้ฟังว่า ในมุมมองของเขาสิ่งที่จะทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ ผู้ก่อตั้งจะต้องเข้าใจและรู้ว่าโปรเจ็คหรือสตาร์ทอัพนั้นเข้ามาแก้ปัญหาอะไร ซึ่งหากผู้ก่อตั้งเป็นได้ลงไปหรือเคยคลุกคลีกับปัญหานั้นและมีความรู้สึก empathy และอยากแก้ปัญหานั้นจริงๆ ก็มีโอกาสที่จะทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ ซึ่งมุมมองหรือแนวคิดตรงนี้ คุณ Fadi ระบุว่าเป็น unfair competitive advantage เลยทีเดียว
คุณ Fadi ที่เคยเดินทางมาประเทศไทยแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมามองว่า ระบบนิเวศน์และแนวคิดของการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) ในไทยมีพัฒนาการขึ้นมาก ทั้งสตาร์ทอัพและศูนย์บ่มเพาะก็มีความรู้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งลักษณะนี้เป็นคล้ายๆ กันทั่วโลก
และด้วยประสบการณ์ที่เคยบ่มเพาะสตาร์ทอัพใน Silicon Valley คุณ Fadi เล่าให้ฟังว่าความแตกต่าง (unique) อย่างหนึ่งของสตาร์ทอัพใน Silicon Valley คือจะมีแรงขับเคลื่อนเป็นของตัวเอง พยายามจะทำทุกอย่างเพื่อให้เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเป้าหมายมีเพียงการเป็น unicorn (มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญ) อย่างเดียว หากไม่ได้ตามเป้าหรือโตไม่เร็วพอก็พร้อมจะทิ้งทุกอย่างทันที เหมือนการไปเล่นการพนันในคาสิโนก็ไม่ผิด
แตกต่างกับสตาร์ทอัพในไทยและภูมิภาคนี้ ที่จริงจังกับโปรเจ็คของตัวเอง มีความรับผิดชอบ ตั้งใจจะทำให้โปรเจ็คสำเร็จและแก้ปัญหาได้จริง
คุณ Fadi มองว่ายังอยู่ในช่วงปรับตัว เรียนรู้ วิวัฒนาการ ก่อนที่จะเผชิญกับการคัดสรรตามธรรมชาติ (natural selection) ในที่สุด ผลิตผลของสตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่ใช้งานได้จริง (practical) รวมถึงตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้ง FinTech, e-Commerce และ Health Tech ในโมเดลแบบ Business-to-Customer ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ ซึ่งส่วนตัวคุณ Fadi เขาชอบสตาร์ทแบบนี้ ที่เข้ามาแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้จำนวนมากและจับต้องได้ มากกว่าสตาร์ทอัพประเภทที่เจาะตลาดเฉพาะกลุ่มหรือแบบ Business-to-Business
สำหรับข้อดี คุณ Fadi มองว่าระบบนิเวศน์ยังอยู่ในขั้น early-stage ซึ่งโอกาสยังเปิดกว้าง การแข่งขันไม่เยอะ สตาร์ทอัพยังสามารถเติบโตและพัฒนาได้อีกมาก
แต่ข้อเสียสำคัญสำหรับบ้านเรา คือกำแพงทางภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ที่อาจเป็นอุปสรรค ทำให้สตาร์ทอัพไทยไม่สามารถโตไปในระดับโลกได้ ประกอบกับสตาร์ทอัพไทยมีทัศนคติที่ปิดกั้นและจำกัดขีดความสามารถตัวเอง ไม่ทะเยอทะยานไม่คิดการณใหญ่ในสเกลระดับโลก
ขณะเดียวกันคุณ Fadi มองด้วยว่า (แต่ก็ออกตัวไว้ว่าอาจจะรู้ไม่จริง) บ้านเรายังขาดทรัพยากรมนุษย์ทั้งในแง่ของคุณภาพและปริมาณ ซึ่งมีสาเหตุมาจากโครงสร้างในระบบการศึกษา ที่ยังไม่เพียบพร้อมและครบเครื่องเท่ากับในประเทศอื่นๆ
รัฐบาลควรจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและสนับสนุน ทั้งสตาร์ทอัพและระบบนิเวศน์ ขณะที่สิ่งที่รัฐควรทำคือไม่ควรยื่นมือเข้าไปยุ่ง (คุณ Fadi ใช้คำว่า get out of the way) และไม่ควรเอาโครงสร้างการทำงาน ความคิดและวิธีการรัฐมาใส่หรือแทรกแซงให้สตาร์ทอัพ ปล่อยให้สตาร์ทอัพทำในสิ่งที่เขาเชื่อ และสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้สตาร์ทอัพเติบโต
คุณ Fadi เผยว่าเคยเห็นแค่ประเทศ Estonia เพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ภาครัฐไม่เข้ามายุ่งกับสตาร์ทอัพ อีกทั้งยังสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพด้วย
Comments
อะไรที่รัฐมายุ่งเจ๊งหมด