เมื่อวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ สยามสแควร์วัน มีงาน TEDxBangkok ถูกจัดขึ้น งานนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม เราเห็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์แรงมาก ส่วนใหญ่บอกไปในทางเดียวกันว่า “ปีหน้าต้องไปดูสดให้ได้”
ถึงกระนั้น ผู้เขียนขอนำเสนอเรื่องราวอีกด้านของงานที่ประสบด้วยตนเอง และบางส่วนเป็นคำบอกเล่าจากคุณพ่อของผมที่ไปร่วมงานมา
งาน TEDxBangkok เป็นงานสัมมนาที่ได้รับลิขสิทธิ์มาจาก TED Conferences, LLC ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งสถานะของงาน TED Conference โดยปกติถือเป็นงานสำหรับ “ไฮโซ” หรือที่บางคนอาจจะเรียกว่า “elite” (อีลีท) นั่นเอง เพราะค่าเข้าแพงมาก
สำหรับงาน TED 2017 – The Future You ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24-28 เมษายนปีหน้า เปิดจำหน่ายบัตรปกติราคา 8,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.94 แสนบาท (จำหน่ายหมดแล้ว) โดยเป็นงานต่อเนื่อง 5 วัน จัดที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ตลอดงานนอกจากการพูดยาว 18 นาทีในแต่ละเซสชัน จะมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่นการจัดแสดงเทคโนโลยีต่างๆ, อาหารเครื่องดื่ม, งานปาร์ตี้ หรือแม้กระทั่งกิจกรรมโยคะตอนเช้า
นอกจากนี้ยังมีบัตรแบบ Donor ราคา 17,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.87 แสนบาท) ที่จะได้รับสิทธิพิเศษมากขึ้น เช่นได้เลือกที่นั่งก่อน, มีบริการจองที่นั่ง หรือบริการจองห้องโรงแรม และบัตรแบบแพงสุดชื่อ Patron ราคา 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.18 ล้านบาท) อันนี้จะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมงาน TED ยาว 5 ปี และได้รับสิทธิพิเศษเต็มที่
คำว่า TED ย่อมาจาก Technology, Entertainment, Design ซึ่งเป็นหัวข้อหรือธีมหลักของงานในยุคแรกตั้งแต่ปี 1990 แต่หลังจากนั้นก็ขยายมาครอบคลุมหัวข้ออื่นด้วย เช่นวิทยาศาสตร์, การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งในอดีตมีผู้พูด หรือที่เรียกว่า speaker ชื่อดังมากมาย เช่น Bill Clinton นักการเมืองสหรัฐฯ, Bill Gates ผู้ร่วมก่อตั้งไมโครซอฟท์, Jimmy Wales ผู้ร่วมก่อตั้ง Wikipedia หรือแม้กระทั่ง Larry Page และ Sergey Brin ผู้ก่อตั้งกูเกิล ก็เคยผ่านเวที TED มาแล้วทั้งสิ้น
อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ Bill Clinton บนเวที TED เมื่อปี 2007 || ภาพโดย advencap
แม้ค่าเข้าร่วมงานจะแพงมาก แต่การพูดกว่า 2,200 เซสชัน หรือที่เรียกว่า TED Talks ก็ถูกอัดวิดีโอไว้และเปิดให้คนทั่วไปเข้ารับชมย้อนหลังได้ฟรีทั้งหมด
เมื่อชื่อเสียงของงาน TED เริ่มแพร่กระจายออกไป ก็มีผู้ชื่นชอบทั่วโลกอยากจัดงานแนวนี้บ้าง จึงเป็นที่มาของ TEDx ในลักษณะการขอลิขสิทธิ์มาเพื่อจัดงานเองในเมืองต่างๆ ทั่วโลก เช่น TEDxMünchen ที่เยอรมนี หรือ TEDxHyderabad ที่อินเดีย
ในประเทศไทยเคยจัด TEDx ขึ้นหลายครั้งแล้ว โดยครั้งใหญ่เคยมีที่จังหวัดเชียงใหม่ และหลายปีก่อนก็เคยมี TEDxBKK ซึ่งเป็น TEDx ครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร แต่งานที่ถือว่าเป็นงานใหญ่คือ TEDxBangkok เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 โดยอาสาสมัครหลายท่าน และทีมงานของสองงานนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน
พิเชษฐ กลั่นชื่น หนึ่งในผู้พูดจากงาน TEDxBangkok ปี 2558
บัตรเข้าร่วมงาน TEDxBangkok มี 2 ประเภท คือ บัตรราคา 1,500 บาทสำหรับบัตรปกติ และราคา 3,000 บาทสำหรับบัตร Angel Ticket ที่จะนำสิทธิ์เข้าชม 1 สิทธิ์ไปมอบให้กับบุคคลที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม
ทีมงานอาสาสมัครเบื้องหลัง TEDxBangkok มีประสบการณ์การจัดงานมาแล้วถึง 2 ครั้ง ผู้เขียนพบว่าก็ยังมีการทำอะไรแปลกๆ ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น จะเขียนแยกเป็นข้อๆ
ข้อนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นไอเดียที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง โดยผู้จัดงานบอกว่าไม่ต้องการให้ผู้ฟังยึดติดกับตัวผู้พูด, อาชีพ และสถานะทางสังคมของผู้พูด เนื่องจากต้องการโน้มน้าวให้ผู้ฟังเชื่อว่าความรู้และไอเดียที่ดีสามารถมาจากใครก็ได้ ตามสโลแกนของ TED ที่ว่า Ideas Worth Spreading
ผู้เขียนคิดว่าสโลแกนนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์อย่างนั้น เพราะ TEDxBangkok ไม่เปิดเผยแม้กระทั่งรายชื่อหัวข้อที่จะพูดในงาน หากแต่ชูเพียงคอนเซ็ปต์ LEARN, UNLEARN, RELEARN ซึ่งไม่ได้ช่วยในการตัดสินใจจ่ายเงินค่าบัตรแม้แต่น้อย ลองคิดดูว่าหากงานนี้ไม่มีชื่อ TED จะสามารถทำแบบนี้ได้หรือ
การไม่เปิดเผยรายชื่อผู้พูด จึงเป็นเหมือนการโฆษณาชวนเชื่อว่าผู้ฟังจะได้รับ “สิ่งที่เป็นประโยชน์” โดยที่ผู้ฟังไม่ทราบรายละเอียดใดๆ เลย และต้องเสี่ยงนำเงิน 1,500 หรือ 3,000 บาทไปพนันไว้กับทีมเตรียมเนื้อหา หรือ curator ว่าพวกเขาจะทำหน้าที่ได้ดี และนำเนื้อหาที่ถูกใจเรามานำเสนอได้หรือไม่
การกระทำเช่นนี้เปรียบเหมือนกับการสั่งสินค้าล่วงหน้า หรือ "พรีออเดอร์" ที่คนขายชักชวนให้สั่งรองเท้าสักคู่ พร้อมโฆษณาว่าเป็นรองเท้าที่ใส่สบาย และดีไซน์สวยงาม แต่คนซื้อไม่มีโอกาสได้เห็นสินค้าก่อนเลย
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากให้เปิดเผยรายชื่อผู้พูดในงานครั้งต่อไป พร้อมทั้งรายการหัวข้อที่จะพูด เพื่อที่จะได้เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่อยากไปจริงๆ ได้เข้าร่วมงาน ส่วนคนที่ “เฉยๆ” กับหัวข้อและ/หรือผู้พูด ก็สามารถรับชมการถ่ายทอดสดอยู่ที่บ้านได้ ทั้งสองทางสามารถรับเนื้อหาได้อย่างเท่าเทียมกัน และยังคงคอนเซ็ปต์ Ideas Worth Spreading ไว้ได้ครบถ้วน
หากเข้าไปดูเว็บไซต์ TEDx ของที่อื่น เช่น TEDxStuttgart และ TEDxBerlin ทั้งสองที่ได้ประกาศรายชื่อผู้พูดไว้อย่างชัดเจน และไม่เห็นจะเป็นผลร้ายแต่อย่างใด
ถึงแม้งาน TED หลัก อย่าง TED 2017 – The Future You จะไม่เปิดเผยรายชื่อผู้พูด แต่บนเว็บไซต์ก็มีคำโปรยให้ผู้คนได้รับรู้ว่าจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์, จิตวิทยา, การแพทย์, สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ฯลฯ แต่ TEDxBangkok กลับไม่เปิดเผยอะไรเลย นอกจากวันเวลา และสถานที่
เนื่องจากงานนี้เป็นที่สนใจจากผู้คนหลากหลาย ทำให้ไม่สามารถขายบัตรให้ทุกคนได้ และไม่ต้องการใช้วิธีมาก่อนได้ก่อน หรือ first-come, first-served ทาง TED เลยมีวิธีการ “คัดคน” เข้าร่วมงานโดยการให้ตอบคำถามชุดหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นการขอให้เล่าเกี่ยวกับตัวผู้สมัครว่าเป็นใคร ทำอาชีพอะไร มีอะไรอยากบอกทีมงาน ฯลฯ ทีมงานจะอ่านคำตอบจากผู้สมัครทุกคน และตัดสินว่าใครมีสิทธิ์ซื้อบัตรเข้างาน
ระหว่างที่ผู้เขียนกำลังอ่านแบบฟอร์มผ่านๆ อยู่นั้นก็ได้สะดุดกับคำถามหนึ่งข้อ ผมจำคำถามเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่ถามประมาณว่า “คุณได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรไปแล้วบ้าง?” เนื่องจากผู้เขียนเป็นเพียงคนธรรมดาๆ ที่เพิ่งเรียนจบ ไม่เคยได้รับรางวัลอะไร ชีวิตไม่ได้มีกิจกรรมอะไรที่แปลกแตกต่างจากคนอื่น เพียงแต่สนใจเข้าร่วมงานเท่านั้น เลยลองคิดดูว่า “อืม เราเคยสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเนี่ย” และพบว่าคิดไม่ออก
คำถามนี้สร้างความรู้สึกแปลกๆ ขึ้นในใจ ว่าการที่เราไม่เคยสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร ทำให้เราไม่สามารถเข้าร่วมงานได้เชียวหรือ ผมมองว่ามันเป็นการสร้าง “กำแพง” ขึ้นระหว่างผู้สมัครและผู้จัดงาน ด้วยคำถามที่ดูดี แต่กลับกลายเป็นการขับไสผู้สนใจไปเสียอย่างนั้น ผมจึงเลื่อนเมาส์ไปกดปิดหน้าเว็บ TEDxBangkok และไม่คิดจะกลับไปสมัครอีก อันนี้เป็นอีกข้อที่ผู้จัดงานควรระมัดระวังและใส่ใจกับการตั้งคำถามมากกว่านี้
เมื่อคุณพ่อผมตอบคำถามได้ และได้รับเลือกให้เข้าร่วมงาน ก็ได้รับอีเมลหนึ่งฉบับเป็นลิงค์ให้เข้าไปจ่ายเงินที่เว็บไซต์ Eventpop เมื่อเข้ามาถึงหน้าจ่ายเงิน ก็พบกับกล่องสีชมพูแสบตาดึงความสนใจของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี ในกล่องเป็นนาฬิกานับถอยหลัง 15 นาที พร้อมกับข้อความ “ขู่” ว่าให้จ่ายเงินให้เรียบร้อยก่อนหมดเวลา มิฉะนั้นจะปล่อยตั๋วให้คนอื่น
การกระทำแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น นี่คืองานสัมมนาธรรมดาๆ ไม่ใช่การแย่งซื้อตั๋วเครื่องบินราคาถูก ไม่ว่าไอเดียการใส่นาฬิกานับถอยหลังแบบนี้จะเป็นของใคร (ทีมงาน TEDxBangkok หรือ Eventpop) ผู้ใช้ไม่สนใจหรอกครับเพราะคุณเป็นพาร์ทเนอร์กัน สิ่งที่ผู้ใช้สนใจคือ “ทำไมฉันต้องโดนขู่แบบนี้ด้วย” คุณพ่อผมรู้สึกไม่พอใจ และตัดสินใจไม่จ่ายเงิน
อย่างไรก็ตาม พวกเราพบว่านาฬิกานับถอยหลังนั้นเป็นแค่การ “หลอก” ผู้ใช้ให้รีบจ่ายเงิน เพราะมาลองเข้าลิงค์จ่ายเงินดังกล่าวในภายหลังก็ยังจ่ายได้เหมือนเดิม ไม่ได้ปล่อยบัตรให้คนอื่นตามที่บอกไว้แต่อย่างใด สุดท้ายคุณพ่อผมก็ตัดสินใจจ่ายเงิน เพราะอยากไปร่วมงาน และชอบ TED ของฝรั่งมานานแล้ว
ความน่าผิดหวังกับระบบชำระเงินยังไม่หมดเพียงแค่นั้น แต่เรายังเจอการเก็บค่าบริการหยุมหยิมแบบไม่น่าจะมีหากคุณอยากทำตัวให้เป็นมืออาชีพ นอกจากค่าบัตรราคา 1,500 บาทแล้ว เรายังถูกเก็บเงิน “ค่าบริการ” ที่บนเว็บเขียนว่า “Service Fee” เป็นจำนวน 26.75 บาท และ “ค่าดำเนินการ” (Processing Fee) เป็นจำนวน 50.53 บาท รวมแล้วต้องจ่ายทั้งหมด 1,577.28 บาท
แน่นอนว่าเงินเกือบ 80 บาทที่เกินมาเราสามารถจ่ายได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรารู้สึกว่า “ทีมงานไม่แสดงความเป็นมืออาชีพ” และเลือกที่จะทำธุรกิจแบบสายการบินต้นทุนต่ำบางราย (ทั้งๆ ที่อยากจัดงานตามรอย TED ของฝรั่ง) ก่อให้เกิดความรำคาญกับผู้ซื้อ สู้คุณคิดค่าบัตรเข้าชมงานเป็นจำนวนเงิน 1,600 บาทไปเลยยังดีกว่า
นี่เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ความสนใจเข้าร่วมงานของเราลดลงไปพอสมควร
เมื่อถึงวันงานกลับมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ผู้จัดงานน่าจะทำได้ดีกว่านี้ นั่นคือการให้ผู้เข้าร่วมงานนั่งรับประทานอาหารกับพื้น อย่าลืมว่ากว่าจะเข้าร่วมงานได้ต้องตอบคำถามแข่งกันก่อน ผู้สมัครมาจากหลากหลายอาชีพ บวกกับเก็บค่าเข้าร่วมงานสูงถึง 1,500 บาท จึงเป็นเรื่องของกาลเทศะที่ผู้จัดงานควรจัดหาสถานที่รับประทานอาหารให้เหมาะสมกว่านี้
ครั้งสุดท้ายที่ผู้เขียนนั่งกินข้าวกับพื้นน่าจะเป็นสมัยเข้าค่ายหรือไปทัศนศึกษาตอนมัธยมนะครับ หากสถานที่จัดงานไม่เอื้ออำนวยก็น่าจะหาสถานที่อื่นได้ไม่ยากนัก
โดยรวมแล้ว คุณพ่อผมชมผู้จัดว่าจัดงานได้ดี (ดีกว่าปีที่แล้วด้วย) ทีมงาน curator สรรหาผู้พูดมาได้น่าสนใจ ไม่ไหลไปกับกระแสสังคมที่มีคนจำนวนไม่น้อยเชิดชูคนเขียนคำคมที่เราก็รู้ว่าใคร และเชิญเขามาพูดในงาน รวมถึงก็ได้ข้อคิดและความรู้เพิ่มขึ้น (คนอื่นในงานจะสนใจเหมือนกันหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะทุกคนก็ซื้อบัตรมาโดยไม่รู้อะไรเลย) ทำให้เหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นกลายเป็นเพียง “เรื่องน่ารำคาญ” ไปแทน และไม่ใช่สิ่งที่จะนำมากล่าวโจมตีว่างานนี้จะแย่ไปเสียทุกอย่าง ซึ่งเรื่องน่ารำคาญเหล่านี้สามารถถูกปรับปรุงได้ในอนาคต (ทำไม่ยากด้วย) หากผู้จัดงานรับไปปฏิบัติ
สุดท้ายผู้เขียนขอชื่นชมอาสาสมัครทีมงาน TEDxBangkok ทุกคนที่ตั้งใจจัดงาน และขอให้นำปัญหาข้างต้นไปพิจารณาแก้ไขต่อไปครับ
อ้างอิง
Comments
ให้ผู้ซื้อบัตรเข้างานมานั่งรับประทานอาหารกับพื้น
ความเห็นผมคิดว่าใช้คำว่า ไม่รู้จักกาละเทศะยังน้อยไปครับ
ผมว่าแม้แต่ TED Talks ต้นตำหรับยังมี Misleading หรือ Fraud ออกมาให้เห็นเลยครับ
สำหรับผม ดูบน Youtube ยังคุ้มกว่าเลยครับ ดูเมื่อไหร่ก็ได้ แถมไม่ต้องไปเบียดคนอื่นด้วย ไม่เสียความรู้สึกแบบนี้
Get ready to work from now on.
จริงอยู่ที่สถานที่มันคับแคบไปหน่อย แต่ตรงด้านใน ถ้าเดินเข้ามาอีกหน่อย ก็มีโต๊ะให้ยืนกินได้นะครับ เพราะตอนที่ผมยืนกิน ที่ก็เหลือเยอะอยู่
"When I walk around I probably look like a street dog" - Daido Moriyama
แล้วคนที่มีปัญหาสุขภาพ คนสูงอายุ คนที่ไม่สะดวกนั่งพื้นหรือยืนโต๊ะหละครับ?
อ๋อ หรือคนพวกนี้ไม่เหมาะกับงานนี้อยู่แล้ว
อันนี้เห็นด้วยนะครับ ว่าสถานที่คับแคบไปจริงๆ น่าจะมีที่นั่งที่รองรับคนมากกว่านี้
แต่ทั้งนี้ คนเขียนบทความนี้ ยกประเด็นออกมาเหมือนกับว่า ในงานไม่มีที่สำหรับกินข้าวที่อื่นเลย ทุกคนต้องมานั่งพื้นกินกัน
ทั้งที่จริง ยังมีที่พอเหลือสำหรับไปยืนกินได้ครับ เลยมาคอมเมนต์ในฐานะคนที่ได้ไปร่วมงานครับ
"When I walk around I probably look like a street dog" - Daido Moriyama
เรื่องสถานที่คับแคบผมเข้าใจครับ จัดงานใหญ่ๆ แบบนี้ยังไงก็มีผิดพลาดกันได้อยู่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือผู้จัดงานจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันได้ดีแค่ไหน และครั้งต่อไปจะยังมีข้อผิดพลาดแบบเดิมอีกหรือเปล่า?
อันที่จริงผมก็งั้นๆ กับการนั่งกินกับพื้นนะ (บ้านผมก็ทำ) แต่ถ้าลองมองอีกมุม การนั่งเก้าอี้กินข้าวบนโต๊ะ มันก็เป็น de facto standard ของเมืองไทยไม่ใช่หรือครับ? เอาง่ายๆ ร้านข้าวในห้างแทบทุกร้านก็มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งกินทั้งนั้น (ร้านไอติมถ้วยกระดาษยังมีโต๊ะเก้าอี้เผื้อไว้ให้เลย) หรือว่าจะร้านบะหมี่ข้าวหมูแดงข้างถนนก็ยังมีโต๊ะเก้าอี้เลย
การจะท้าทายวัฒนธรรมเดิมๆ ว่าตอนกินข้าวเราไม่มีโต๊ะเก้าอี้ให้นะ มันก็เป็นไปได้ครับถ้ามีเหตุผลที่ดีพอ (เช่น ออกค่ายในป่า, ปาร์ตี้ริมสระน้ำ) แต่นี่มันไม่ใช่ครับ ดูก็รู้ว่าไม่มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งเพราะว่าเตรียมงานกันพลาด
สิ่งที่ผมสงสัยก็คือ
อนึ่ง ได้ยินมาว่าคุณ geekjuggler ไปร่วมงานในฐานะ staff นะครับ?
อ่า เข้าใจผิดละครับ
ผมได้บัตรไปในฐานะสื่อครับ ไม่ใช่ staff ครับ
เห็นด้วยครับ เรื่องปัญหาในงาน อันนี้ ตอบตามที่เห็นนะครับ
1. ไม่ได้ประกาศตั้งแต่แรกฮะ แต่ในงานมีโต๊ะเก้าอี้ปกติด้วย
2. มีประกาศตลอดเวลาครับ ว่ามีโต๊ะยืนให้กินได้
3. อันนี้ไม่ทราบครับ เพราะไม่ใช่ทีมงานครับ
"When I walk around I probably look like a street dog" - Daido Moriyama
สรุปว่าในงานมีโต๊ะเก้าอี้ให้กินข้าวตามปรกติ? แต่ว่ามีไม่พอ ส่วนที่เหลือเลยต้องใช้วิธีนั่งพื้น/ยืนกินสินะครับ
และจากที่บอกว่ามีการประกาศตลอดว่ามีโต๊ะยืนให้ แต่ก็ยังมีคนนั่งกันเยอะอยู่ งั้นคงตีความได้ว่าคนที่เลือกนั่งพื้นคงไม่อยากไปยืนกินเมื่อยๆ หละมั้ง
ขออภัยด้วยที่เข้าใจผิดว่าเป็น staff ครับ
เข้าใจว่าเป็นโต๊ะที่ใช้จัดกิจกรรม แต่สามารถนั่งกินได้ แต่โดยรวมทั้งหมดคือไม่เพียงพอครับ
"When I walk around I probably look like a street dog" - Daido Moriyama
อ่านข้างบนมาเรื่อยๆ ยังไม่เท่าไร พอเลื่อนลงมาเจอภาพให้กินข้าวโดยนั่งพื้น ผมนี่พูดไม่ออกเลย
อึ้งเหมือนกัน elite นั่งพื้น
เกือบซื้อบัตรไป แต่ดันติดตารางงานเสียก่อน พอเข้ามาอ่านบทความนี้แล้วก็เกิดความคิดว่า..
"ดีแล้ว ที่ฉันไม่ซื้อ..."
ขอชื่นชน ==> ขอชื่นชม
ขอบคุณครับ
Pitawat's Blog :: บล็อกผมเองครับ
จากที่ได้ไปงานนี้มา จริงๆก็มีที่นั่งอื่นที่รองรับอยู่ในงานนะ ไม่ใช่มีแต่ที่นั่งพื้นตามบทความกล่าว ส่วนกระบวนการอื่นๆ เช่นการรับสมัคร การจ่ายเงิน การบอกผู้พูด อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เลือกได้ว่าเราชอบไหม จะสมัครไปรึเปล่า
อ่านแล้วเห็นด้วยทุกข้อว่าไม่ควรเป็นแบบนี้
เรื่องค่าหยุมหยิมน่าจะมาจาก Eventpop เองนะครับ ตอนผมไปร่วมงานๆ นึง โดยซื้อบัตรผ่าน Eventpop ก็จะมี fee ของ ค่าซื้อตั๋ว และ fee บัตรเครดิตเพิ่มมาด้วย
แต่ของ TED นี่มี 2 Fee ไม่รู้ค่าอะไรเหมือนกัน
เรื่องการตั้งราคามันไม่ได้เกี่ยวกับ Eventpop หรือบริการใดๆ ที่ลูกค้าจะต้องมารับรู้ด้วย ซึ่งการทำแบบนี้เหมือนเป็นการผลักภาระมาให้คนซื้อแบบตอดเล็กตอดน้อยทีหลัง คนที่ตัดสินใจซื้อบัตรราคาขนาดนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่น่าจะมีปัญหากับค่าธรรมเนียมเล็กๆ น้อยๆ อยู่แล้วแต่มันเสียความรู้สึกอย่างที่เจ้าของบทความว่าไว้ ราคามันไม่ควรแตกย่อยออกมาแบบนี้ควรเป็นราคา Net แบบ all inclusive ไปเลยครับ
ประเด็นคือผมตั้งข้อสังเกตดูครับว่า ระบบของ eventpop มันอาจจะไม่มีช่องทางให้ทำแบบนั้น
เนื่องด้วยงานที่ผมไปมา ผมก็เจอคล้ายๆกัน
ถึงแม้อาจจะแก้ได้ตรงการตั้งราคา ที่ลบค่าหยุมหยิมออก คล้ายพวก super แต่ eventpop ก็น่าจะโชว์แค่ราคาก่อนรวมค่าจิปาถะอยู่ดี
ซึ่งทางแก้ก็คงทำได้แค่ทางเดียวคือ ไม่ใช้ eventpop
ของ eventpop ผู้จัดงานสามารถเลือกได้อิสระว่าจะเก็บ fee ที่ใคร หากเลือกเก็บที่ผู้จัด ราคาที่ผู้ร่วมงานจ่ายจะเป็นราคา net ตามที่คุณ GenerationZ โพสไว้ใน comment ด้านล่างครับผม #935437
ผมดูจากยูทูปรายการนี้ออกไปทางการพูดสร้างแรงบันดาลใจ
เทคนิคการพูดออกไปทางพวกขายตรงเป็นความคิดในมุมของคนพูดอย่างเดียว
ส่วนตัวชอบดูการดีเบตที่มีข้อมูลของทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่างมาเปรียบเทียบกันมากกว่า
+1 ผมดูแล้วนึกว่าเขาจ้างวิทยากรมาบรรยายงานขายตรงซะอีก
ค่อนข้างเห็นด้วยกับท่านนี้อีกคนครับ ถ้าหลายๆ เรื่องอยู่ก่อนแล้ว กลายเป็นเหมือนพูดโฆษณาไปเลย ได้แค่แรงบัลดาลใจ กับมุมมองของคนพูดแค่นั้นเองครับ TED มันควรจะเป็นอะไรที่ ว้าวกว่านะครับ (จากที่ดูของต้นตำรับ)
เห็นด้วยครับ อย่างน้อยก็ควรเป็นแรงบันดาลใจให้ไปศึกษาเพิ่มเติม ไม่ใช่แค่กล่าวอ้างความสำเร็จในวิชาชีพ
แบบนี้พอลตี10 ก็ไปพูดได้...
เห็นด้วยทุกข้อครับ
ขอมาแชร์ประสบการณ์ที่เคยใช้ Eventpop จัดงาน งานหนึ่ง (คนประมาณ 700 คน)
คำขู่ 15 นาที
อันนี้เข้าใจว่าทาง Eventpop เค้าเซ็ทมาแบบนี้เพราะ เป็นทุกงานตอนจะจ่ายเงินครับ
(แต่ Cancel จริงหรือเปล่านี้อันนี้ไม่แน่ใจ)
ค่าบริการหยุมหยิม
ส่วนนี้ทาง Organizer สามารถเลือกได้ครับว่าจะรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอง หรือจะผลักภาระนี้ไปให้ลูกค้า
งานนี้ก็ตามที่เห็นเลยครับผลักไปให้ลูกค้าเต็มๆ (ถ้าขายบัตร 1,600 บาท แล้วรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้เองจะดูดีกว่านี้เยอะ)
ส่วนของวันงานนี่รู้สึกว่าทางทีมงานยังขาดประสบการณ์ในการจัดการกับคนที่มีจำนวนมาก
เช่น
- ตอนลงทะเบียนวุ่นวายมากๆ (ทำไมไม่เอาถุงผ้าให้ตอนลงทะเบียนเลย ต้องให้เดินเข้าไปเอาข้างในอีกทำไม คนก็ออกันเข้าไปสิ)
- ตอนรับประทานอาหาร รับประทานของเบรค จัดแถวได้แปลกมากๆ คนก็แน่นไปตามระเบียบ
แต่จากภาพรวมๆของงานแล้ว ผมถือว่างานนี้จัดได้ออกมาดีมากครับ ขอชื่นชมทีมงานฮะ ( ยังเด็กๆกันอยู่เลย )
ขอบคุณครับ สำหรับ การแชร์ ประสบการณ์
เห็นด้วยกับทุกข้อเลยครับ
งานครั้งที่แล้วผมก็เคยจะสมัครแต่พออ่านเจอให้บรรยายว่าคุณมีประโยชน์อะไรกับคนอื่น เล่นเอารู้สึกผิดเลยครับ คิดว่าคงไม่มีเลยปิด Browser นั่งรอ Live แทนครับ lol
ปล. ผมนั่งดู Live ชอบเรื่องของน้าต๋อยกับพี่ผู้หญิงที่มาพูดเกี่ยวกับเรื่องแห่กันไปรักป่าไม้
มีลิงก์ของ Youtube ของพี่ผู้หญิงที่พูดเกี่ยวกับเรื่องแห่กันไปรักป่า ไหมครับ
ขอบคุณครับ
เพจตัวอย่างผลงานถ่ายภาพ / วีดีโอ
รอต้นเดือนหน้าเห็นว่าเค้าจะอัพลง Youtube ให้ครับ
ขอบคุณมากครับ มิน่าผมนั่งไล่หาดูก็ไม่เจอ
เพจตัวอย่างผลงานถ่ายภาพ / วีดีโอ
ลองไปอ่านเรื่อง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงดูครับ
องค์ความรู้เรื่องการแก้ปัญหาคนบุกรุกป่าของมูลนิธินี่ ผมว่ายอดเยี่ยมมาก
จริงๆ อาการตื่นตระหนก ของกลุ่ม "ปลูกเลย" เนี่ย
ถ้าเริ่มโดยการ เดินไปขอความรู้จาก มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง แล้วจะรู้เลยว่า
"ปลูกเลย" มันไม่ใช่ทางแก้ปัญหาเลยครับ
"ป่าหาย เพราะคนหิว" ไม่แก้เรื่องคนหิว จะปลูกอีกกี่ร้อยกี่สิบป่า ก็กลับมาที่เดิม