อุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพเป็นอุปกรณ์ที่มาแรงในช่วงหลังๆ จุดมุ่งหมายหลักๆ ของอุปกรณ์เหล่านี้คือนับปริมาณแคลอรี่ที่เผาผลาญไปในแต่ละวัน และเตือนผู้ใส่ว่าวันนี้เผาผลาญได้ตามเป้าหมายหรือไม่ จึงนิยมในผู้ที่พยายามที่จะลดความอ้วน แต่งานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ให้เห็นว่าความคิดนี้อาจได้ผลไม่ดีอย่างที่เราเข้าใจกัน
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Pittsburgh สหรัฐอเมริกา ทดสอบอุปกรณ์สวมใส่ BodyMedia Fit Core ซึ่งเป็นปลอกแขนที่วัดกิจกรรมที่ผู้ใส่ทำและคิดออกมาเป็นพลังงานที่ใช้ โดยรวบรวมอาสาสมัครจำนวน 471 รายที่ต้องการจะลดความอ้วนที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี มีดัชนีมวลกาย (BMI) 25-40 กิโลกรัมต่อตารางเมตร อาสาสมัครจะเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มที่มีคำแนะนำเกี่ยวกับการลดน้ำหนักทุกสัปดาห์ระหว่างช่วงหกเดือนแรก และหลังจากนั้นอาสาสมัครจะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มด้วยการสุ่ม กลุ่มหนึ่งจะได้รับอุปกรณ์สวมใส่ดังกล่าว ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้รับอุปกรณ์
ทีมวิจัยพบว่าเมื่อเวลาผ่านไปสองปี อาสาสมัครที่เหลืออยู่จนจบนั้น (ซึ่งคิดเป็น 74.5% ของอาสาสมัครทั้งหมด) ในกลุ่มที่ได้รับอุปกรณ์นั้นน้ำหนักลดลงกว่าเดิม 3.5 กิโลกรัม ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์กลับมีน้ำหนักลดลงมากกว่า โดยลดได้ถึง 5.9 กิโลกรัม ความแตกต่างนี้ยังพบอยู่แม้กระทั่งใช้วิธีการทางสถิติเพื่อชดเชยข้อมูลของอาสาสมัครที่ไม่อยู่ร่วมงานวิจัยจนจบ ผู้วิจัยจึงสรุปว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่น่าจะให้ผลอะไรมากไปกว่าเทคนิคในการลดน้ำหนักปกติ (กลุ่มที่ใช้นั้นใช้โดยเฉลี่ยเป็นจำนวน 170 วันตลอดการศึกษา วันละเฉลี่ย 241 นาที)
Dr. Jakicic ผู้วิจัยให้ความเห็นว่าเขาเองก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์ที่ตรงกันข้ามกันกับที่เราคิดแบบนี้ โดยมันอาจจะเกิดขึ้นจากผู้ที่ใส่นั้นพอใส่แล้วคิดว่าไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายเลยไม่มีอารมณ์ออกกำลังต่อ หรือคนที่ใส่มัวแต่สนในตัวอุปกรณ์จนไม่ได้ใส่ใจจริงๆ กับพฤติกรรมที่ส่งผลต่อน้ำหนักและอาจจะกินมากเกินกว่าปกติก็เป็นได้
ที่มา: Journal of American Medical Association, The New York Times
Comments
ถ้าจะลดน้ำหนัก การคุมอาหารสำคัญพอๆ กับการออกกำลัง อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ถ้ายังกินน้ำตาลมาก ดื่มน้ำอัดลม แอลกอฮอล์ ของทอดของมัน ขนมนมเนย ไม่กินผักผลไม้ น้ำหนักก็ลงยาก
ออกหนักพอก็ลงครับ ผมวิ่งอย่างเดียว ช่วงนั้นยังติดกินบุฟอาทิตย์ละ 3 วัน กินอาหาร 4-5 มื้อขึ้นไป 6 เดือนจาก 99 โลเหลือ 73 แต่พอน้ำหนักตัวลงระดับนึงแล้วกินแบบเดิมเอาไม่อยู่ครับต้องลดไม่ก็ออกกำลังกายเพิ่ม นาทีนี้ลดอาหารง่ายกว่า
อยู่ที่ออกหนักแค่ไหนครับ ผมซื้อคอร์สของ Trainerroad สองเดือน (ปั่น week ละ 8-10 ชม. แล้วแต่โปรแกรม) ช่วงที่ปั่น กินหนักกว่าเดิม คือกินแหลกเลย บุฟเฟ่นี่ไม่อั้น ถึงไหนถึงกัน
สองเดือนผ่านไปนน.หายไป 11 โลครับ
ประมาณนั้นครับ การคุมอาหารมีผล 70 ออกกำลังกายมีผล 30 อย่างที่เห็นนักวิ่งหรือนักปั่นหลายคนที่ออกกำลังกายเยอะแต่ก็ยังเห็นว่าทำไมถึงยังลงพุงอยู่
มันมีเยอะกว่านั้นครับกล้ามเนื้อก็เป็นส่วนสำคัญ วิ่งกับขี่จักรยานอย่างเดียวมันไม่หายง่ายๆหรอกครับพุงอะ ตอนผมลดไปต่ำกว่า 15 พุงยังยื่นอยู่เลยแถมน้ำหนักจะขึ้นง่ายมากถ้าหยุดออกกำลังยาวๆซักเดือน สุดท้ายต้องเล่นเวทช่วย พวกหุ่นดีไม่เล่นฟิตนิสคิดว่างานการเค้าคงไม่ใช่อะไรที่นั่งหน้าคอมพ์ทั้งวันแน่ๆ
เพราะมันไม่ง่ายแบบนั้นนั่นแหละครับ โภชนาการถึงได้สำคัญมาก การลดน้ำหนักในช่วงแรกๆ ที่ลดลงได้ฮวบฮาบตรงนี้ผมไม่แปลกใจสักเท่าไหร่ครับ อย่างที่คุณเข้าใจว่ามันมีเรื่องกล้ามเนื้อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งพอร่างกายลดไปได้ถึงจุดหนึ่งถ้ายังไม่คุมอาหารไม่เลือกกินมันก็จะยังมีพุงอยู่อย่างนั้น การเข้าฟิตเนสเพื่อสร้างกล้ามเนื้อก็เป็นอีกหนทางหนึ่งในเพิ่มการเผาผลาญแคลอรี่
ตรงนี้ไม่ใช่อะไรครับเป็นการสังเกตจากประสบการณ์ตรงจากการพยายามควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายรวมถึงข้อมูลที่ศึกษามาเป็นระยะเวลาราวๆ สี่ปีแล้วครับ
น่าจะแล้วแต่คนนะครับ ผมนอนกลิ้งทำงานอยู่ที่ห้องเดือนสองเดือนไม่ได้ปั่นจักรยานไม่ได้วิ่งเลยผมก็ไม่มีพุงอยู่ดี ถ้าไม่ใช่กินมื้อหลักวันละ 4-5 มื้อก็เจอมื้อย่อยแทรกเข้าไปเพียบ
ผมใช้คำว่า "หุ่นดี" นะครับไม่ใช่ไม่มีพุง จงใจใช้คำนี้เลยครับ ตรงนี้เราอาจเข้าใจไม่ตรงกัน ไม่มีพุงผมไม่ได้แปลว่าหุ่นดีในความหมายผมครับ การผอมไม่เท่ากับหุ่นดีในความหมายนี้ คนที่ผอมทั้งๆที่กินแต่ขนมกินเหล้ากินเบียร์แทบทุกวันมีเยอะแยะ แต่ถ้าหุ่นแบบพวกนายแบบกล้ามเนื้อสวยๆผมไม่เคยเห็น
"ออกกำลังกายเยอะแต่ก็ยังเห็นว่าทำไมถึงยังลงพุงอยู่"
จากข้อสังเกตุนี้ผมคิดว่า ธรรมชาติออกแบบมาให้ต้องมีพุงครับ (มันเป็นสิ่งจำเป็นที่ธรรมชาติออกแบบมาเพื่อสะสมไขมันไว้ใช้ในยามจำเป็น) ดังนั้นถ้าดัชนีมวลกายไม่ได้ระบุว่าอ้วน ก็ควรจะเก็บพุงไว้ดีกว่า
เรื่องธรรมชาติออกแบบมาให้มีพุงหรือเปล่านั้นไม่แน่ใจครับ แต่ที่แน่ๆ ธรรมชาติออกแบบมาให้คนเก็บพลังงานสะสมไว้ในตัวให้ได้มากที่สุดอยู่แล้วสืบเนื่องมาจากยุคก่อนที่อาหารการกินไม่ได้อุดมสมบูรณ์เหมือนในปัจจุบัน ส่วนมีพุงแต่ตรวจสุขภาพแล้วก็ยังแข็งแรงและอยากเก็บไว้ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของรสนิยมของแต่ละคนแล้วครับ >_<
คือหลักมันก็ง่ายๆ พวกออกกำลังกายเป็นประจำ วิ่งคุมอาหารอยู่แล้ว สมัยก่อนไม่มีพวกนี้ก็ผอมได้ แต่พวกที่คิดว่าชั้นจะผอมๆ ซื้อมาใช้แต่มำตัวเหมือนเดิม ยังไงก็ไม่ผอม
พวกนักวิ่งที่วิ่งประจำซื้อมาใช้ดูมีประโยชน์มากกว่า คำนวณเวลาวอ่ง pace ตั้งเป้าว่าอาทิตย์นี้เดือนนี้จะวิ่งกิโลแบบนี้
เห็นประโยชน์สุดก็ตอนวิ่งครับสำหรับคนที่ติดคุมความเร็วไม่ได้ชอบวิ่งเร็วกว่าที่ควรเป็น คุม HR ดีๆวิ่งได้ยาวกว่ามาก ส่วนพวกเอามาจับการเดินนั่งนอนไม่รู้จับทำไมสุดท้ายถ้ามันมีปัญหาอะไรจริงเครื่องมือแค่นี้ก็เชื่อถือไม่ได้ ซึ่งถ้ามีปัญหาเราก็ควรจะรู้สึกตัวอยู่แล้วต้องไปให้หมอตรวจอยู่ดี
+1 ครับ กลายเป็นว่าวันไหนจะวิ่งทำเวลาดีๆ นี่ผมต้องถอดพวกวัด HR ออกซะงั้น 5555
ถ้าคนวิ่งประจำนี่ได้ตามสบายครับ ระยะ 10 โลมันชิลๆอยู่แล้ว แต่ถ้าใครมือใหม่นี่เป็นไปได้ผมจะแนะนำให้ใส่แล้วคุมดีๆนะไม่งั้นเค้ามักจะเลิกวิ่งเพราะวิ่งไม่ไหวซะก่อน
ที่ผมพิมพ์ไปนั่นผมเห็นด้วยนะครับนั่น
ป่าวครับไม่ได้ว่าอะไร เสริมเฉยๆ บางคนมาวิ่งใหม่ๆจะคุมความเร็วไม่ได้หรืออะไรซักอย่างวิ่งไปโลเดียวก็หมดแล้วก็เลยบอกให้มองนาฬิกาไปเกินก็ลด ส่วนคนวิ่งมานานแล้วผมลาก 180 ครึ่งชม.ก็ไม่ตายครับแค่รู้สึกเหนื่อยมาก
ไม่มีอะไรมากครับ แสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้ทำมาเสริมๆกันไป
หลายคนเข้าใจว่าใส่แล้วผอมเลยสุขภาพดีเลย พอผลไม่ได้ดั่งใจก็ไปซื้อเหรียญควอนตัมแทน
ผมใส่ไว้แจ้งเตือนเฉยๆ
ส่วนตัวผมไม่เคยเชื่อตัวเลขเกี่ยวกับสุขภาพของอุปกรณ์วัดเหล่านี้ นอกจากใส่มันไว้เท่ห์ๆ เพื่อดูเวลา หรือ เป็นแค่ notification
ผมนี่แทบไม่ต้องลดความอ้วน
ขาดสารอาหารด้วยซ้ำ จำเป็นกินต้องเพิ่ม
หยุดใช้แล้วออกไปวิ่งซะ